Skip to main content

20080209 ภาพต้นไม้สีเขียวในป่า

บุญญฤทธิ์ ตุลาพันธ์พงศ์
นามนี้เป็นที่รู้จักกันมานาน และยังเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในวงการสื่อมวลชนภาคเหนือตอนบน ในฐานะนักหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นอาวุโสของจังหวัดเชียงใหม่ในปัจจุบัน แต่โดยส่วนตัวแล้ว ผมรู้จักเขามานาน ก่อนที่เขาจะเป็นนักหนังสือพิมพ์เสียอีก

นั่นคือ รู้จักเขาตั้งแต่เขายังเป็นเด็กหนุ่มเอวบางร่างน้อย จากดินแดนแห่งขุนเขาและม่านหมอกอินทนนท์ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ที่เดินทางจากบ้านเกิดหน้าที่ว่าการอำเภอ ไปบวชเรียนเป็นเณรอยู่ที่วัดธรรมมงคล ถนนสุขุมวิท ต.บางจาก อ.พระโขนง กรุงเทพฯ ภายใต้ร่มเงาพุทธธรรมของท่านอาจารย์วิริยังค์ ซึ่งเป็นพระนักปฏิบัติชื่อเสียงโด่งดัง สายหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต พระอาจารย์สายอรัญญวาสี

ซึ่งวัดนี้ เป็นวัดที่ผมมักจะวนเวียนเข้า ๆ ออก ๆ ไปอาศัยซุกหัวนอนและกินข้าวอยู่กับพระที่มาจากจังหวัดเชียงใหม่ หลายกุฏิและหลายองค์ เวลาผมตกงาน ในช่วงวัยหนุ่มที่ผมร่อนเร่พเนจรจากภาคเหนือ ไปแสวงหาความหมายของชีวิตในเมืองหลวงของประเทศในขณะนั้น และเขาเป็นพระเณรองค์หนึ่งที่ผมสนิทสนมด้วย

โอ้ ความหลัง
แม้วันเวลาจะผ่านไปนานแสนนาน เมื่อหวนคิดคะนึงถึง ผมยังจำตัวตนของเขาในขณะนั้นได้อย่างแจ่มชัด สมัยที่เขาเป็นเณรอยู่ที่วัดธรรมมงคล นอกจากเขาจะเป็นคนที่แลดูเอาจริงเอาจังในการศึกษาตามหลักสูตรแล้ว เขายังเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหนึ่งในการทำหนังสือวารสารของวัด และเป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือพิมพ์แบบติดงอมแงม เพราะเขาเป็นคนที่สนใจติดตามอ่านข่าวสารเกี่ยวกับการบ้านการเมือง ถึงขั้นสามารถวิเคราะห์สถานการณ์ความเป็นไปต่าง ๆ ให้มิตรสหายรับฟังได้  และเก่งกล้าถึงขนาดเคยเขียนบทความวิพากษ์วิจารณ์การเมืองไปให้หนังสือเกี่ยวกับการเมืองทื่ค่อนข้างใหญ่โตฉบับหนึ่ง และได้รับการตีพิมพ์หลายชิ้น ในขณะที่ยังครองผ้าเหลืองอยู่

ซึ่งเรื่องนี้ เขาได้เล่าให้ผมฟังด้วยความภาคภูมิใจและนึกขำตัวเองในภายหลังว่า หลังจากเขียนไปได้พักหนึ่ง เขาก็นุ่งห่มจีวรเรียบร้อยไปแสดงตัวกับบก.ถึงสำนักงาน และตั้งแต่นั้นมา พอส่งงานไปก็ไม่ได้ลงอีก เพราะบก.คงจะคาดไม่ถึงและยอมรับไม่ได้ ที่พระหน้าตาเด็ก ๆ องค์หนึ่ง ออกมาเขียนหนังสือวิพากษ์วิจารณ์การเมืองในขณะนั้น

ผมจึงไม่รู้สึกแปลกใจ
เมื่อเขาบวชเรียนจบตามหลักสูตร และเลือกสิกขาบทกลับบ้านมาต่อสู้ชีวิตทางโลก เพื่อดูแลแม่และส่งเสียน้องสาวที่กำลังเรียนไล่กันมา เขาจึงไม่ลังเลใจที่จะเดินทางเป็นเส้นตรงจากบ้านเกิด อ.จอมทอง มุ่งตรงเข้าตัวเมืองเชียงใหม่ เพื่อสมัครงานเป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ซึ่งมีอยู่หลายฉบับในเชียงใหม่ และไม่เคยเปลี่ยนงานหนังสือพิมพ์ไปเป็นอย่างอื่น

พูดได้เลยว่า หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นทุกฉบับในจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่ยุคที่เขาเริ่มต้นเข้าไปทำงานเป็นนักข่าว ตราบจนเท่าทุกวันนี้ แทบไม่มีฉบับใด ที่ไม่มีเขาเข้าไปร่วมเป็นพลังขับเคลื่อนข่าวสารในท้องถิ่น  นับตั้งแต่ ถิ่นไทย ซึ่งเป็นก้าวแรกของเขา และติดตามมาด้วย นครพิงค์ เชียงใหม่เดลี่ ข่าวสยาม ระมิงค์ ประชากร ไทยนิวส์ ธุรกิจภาคเหนือ ฯลฯ

เขาเริ่มต้น และผ่านมาหมดทุกตำแหน่งงานของคนหนังสือพิมพ์ แม้กระทั่งในฐานะที่เป็นเจ้าของ เขาก็เป็นมาแล้ว นั่นคือหนังสือ “เม็งราย”รายปักษ์ ที่เขาทำควบคู่กับการเป็นคอลัมนิสต์ของหนังสือพิมพ์ไทยนิวส์รายวัน ก่อนจะปิดตัว เม็งราย หลังจากทำมานานได้สิบกว่าปี คงเหลือไว้แต่โรงพิมพ์บุณย์ศิริ ที่ยังรับงานพิมพ์อยู่จนถึงปัจจุบันที่ ต. หนองหอย อ.เมือง

แต่ผู้คนส่วนใหญ่มักรู้จัก บุญญฤทธิ์ ตุลาพันธ์พงศ์ และอีกนามหนึ่งที่เป็นนามปากกา นั่นคือ บุณย์ มหาฤทธิ์ จากคอลัมน์ประจำในหนังสือพิมพ์ไทยนิวส์รายวัน ซึ่งเป็นคอลัมน์ที่คอยจับตาวิพากษ์วิจารณ์ระบบการทำงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับความทุกข์สุขของประชาชนในท้องถิ่น ด้วยน้ำเสียงที่อ่อนโยน และเข้าใจระบบราชการอันซับซ้อนพร้อมด้วยข้อมูลที่แม่นยำ และเป็นปากเสียงให้กับชาวบ้านที่เดือดร้อน เพราะไม่ได้รับความเป็นธรรมมาอย่างต่อเนื่อง...

โดยส่วนตัวผมแล้ว
ผมเชื่อว่า ภาพบทบาทของนักหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นภาพนี้ของเขา เป็นภาพที่เป็นรูปธรรมที่แจ่มชัดและโดดเด่นที่สุด ทั้งในสายตาของผมและคนทั่ว ๆ ไปในจังหวัดเชียงใหม่ เพราะเขายืนหยัดทำหน้าที่นี้ให้กับสังคมมานานเกินกว่า 20 ปี และผมคิดว่าเขาคงไม่เปลี่ยนไปเป็นอื่น...

แต่แล้วเขาก็ทำให้ผมแปลกใจ เมื่อมีการเลือกตั้ง ส.ว.ใน 2544 วันหนึ่ง จู่ ๆ เขาก็ฝากข่าวกับน้องชายของผมที่เป็นนายดาบตำรวจมาบอกว่า เลือกตั้ง ส.ว.คราวนี้เขาลงสมัครด้วยนะ และหลังจากตรวจสอบข่าวด้วยตัวเองจนแน่ใจ ผมก็บอกกับตัวเองว่า ไม่ว่าเขาจะเอ่ยปากให้ช่วยเหลือหรือไม่ ผมก็ยินดีที่จะสนับสนุนเขาตามอัตภาพ และไม่รู้สึกกระดากใจที่จะให้เครดิตเขากับสังคมอย่างเปิดเผย

แต่เขาก็ไม่ผ่าน อย่างที่ผมแอบคาดหมายเอาไว้ เพราะการเมืองในท้องถิ่นที่ระบบสังคมแบบอุปถัมภ์ยังแข็งแกร่งอยู่ มันยากแสนยากที่จะเปิดช่องทางให้คนใหม่ ๆ ที่ขาดอำนาจเงิน ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ยิ่งกว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใด ๆ ในโลกนี้ ผ่านเข้าไปได้...

ผมรู้ผลแล้ว ก็ได้แต่บอกกับตัวเองว่า บุญญฤทธิ์ ไม่ได้ก็ดีเหมือนกัน เพราะภาพของคนที่เป็นนักหนังสือพิมพ์อันยาวนานของเขา เป็นภาพที่ได้รับความเชื่อถือและงดงามอยู่แล้ว บางที...ความโชคดีทางการเมือง ถ้าหากเขาได้รับ มันอาจจะกลายเป็นความเสี่ยงต่อความสูญเสียชื่อเสียง และเกียรติภูมิของนักหนังสือพิมพ์ ที่เขาสั่งสมมาตลอดชีวิตในภายหลังก็ได้

และผมคิดว่าเขาคงเลิกสนใจมันแล้ว...
    
ผ่านมาจนกระทั่งถึงปี 2551 ปีนี้
หลังการเลือกตั้ง ส.ส และการจัดตั้งรัฐบาลที่เราต้องทำใจยอมรับ ผ่านไปเรียบร้อยแล้ว และถึงฤดูกาลเลือกตั้ง ส.ว.อีกครั้งหนึ่งในวันที่ 2 มีนาคม ที่กำลังจะมาถึงภายในไม่กี่อาทิตย์ เมื่อวานนี้ ขณะผมกำลังอยู่เพียงลำพังในกระท่อมทุ่งเสี้ยว น้องชายของผมที่เคยมาบอกข่าวการลง ส.ว.ของเขาเมื่อปี 2544 ก็ขับรถเข้ามาตะโกนบอกผมว่า

“พี่ ๆ บุญญฤทธิ์ ตุลาพันธ์พงศ์ มิตรสหายของพี่ลง ส.ว.อีกแล้ว”
ก่อนจะลงจากรถ นำใบปลิวหาเสียงแผ่นขนาดฝ่ามือผู้ใหญ่ ซึ่งมีรูปครึ่งตัวของเขาใส่สูทและผูกเน็คไทร์เรียบร้อย พร้อมหมายเลขเบอร์ที่เขาลงสมัครพิมพ์อยู่ด้านหน้า และด้านหลังเป็นประวัติย่อ ยื่นให้ผมปึกหนึ่ง

ครับ เมื่อเขายังยืนยันที่จะเดินไปบนวิถีทางนี้ ผมจึงยังย่อมควรเอาใจช่วยเขา ถึงแม้โดยใจจริงของผมแล้ว ผมอยากจะเห็นภาพของ บุญญฤทธิ์ เป็นนักหนังสือพิมพ์อย่างที่เขาเป็นตลอดไปจนชั่วชีวิต แต่เมื่อหันหลังกลับไปมองจากมุมมองของส่วนรวม ผมก็ได้คิดขึ้นมาอีกชั้นหนึ่งว่า ถ้าสังคมในท้องถิ่นของเรา ไม่ว่าจะเป็นที่นี่...หรือ ณ ที่แห่งใดในประเทศนี้ ได้นักการเมืองสักคนหนึ่งจากนักหนังสือพิมพ์คนหนึ่ง ที่ทำงานด้วยจิตสำนึกเพื่อสาธารณะชนมาโดยตลอด ย่อมเป็นเรื่องที่น่ายินดียิ่งกว่ามิใช่หรือ

ถ้าหากสังคมในวันนี้ ยังพอจะมีช่องทาง เปิดโอกาสให้คนที่เหมาะสมอย่างยิ่งคนหนึ่งเช่นเขา     ก้าวเข้าไปพิสูจน์ตัวเองสักครั้ง     

พื่ขอเอาใจช่วย บุญญฤทธิ์ คนดี.
            
7 กุมภาพันธ์ 2551
กระท่อมทุ่งเสี้ยว เชียงใหม่

บล็อกของ ถนอม ไชยวงษ์แก้ว

ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
    เมื่อยังมีชีวิต จงหายใจเข้าไว้ หายใจแรงๆ และหายใจอย่างสดชื่น เพราะภาระหน้าที่ของชีวิตคือการมีชีวิต ชีวิตที่กระปรี้กระเปร่า และถ้าเป็นไปได้ควรต้องรื่นรมย์กับชีวิต บาปอันยิ่งใหญ่ของมนุษย์ (บางทีสำหรับสิ่งมีชีวิตทั้งปวง) คือการปฏิเสธชีวิต   การมีชีวิต
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
    ฉันเป็นเท่าที่ฉันเป็น ฉันทำเท่าที่ฉันหวัง ฉันหวังเท่าที่ฉันเห็น ฉันง่ายฉันงามฉันแจ่มชัด ฉันเชื่อหนึ่งมากกว่าร้อย ฉันเชื่อคนมากกว่าลัทธิ ฉันเชื่อดินมากกว่าฟ้า ฉันเชื่อต้นหญ้ามากกว่าขุนเขา ฉันเชื่อสวนหลังบ้านมากกว่าป่าหิมพานต์ ฉันเชื่อวันนี้มากกว่าวันวาน ฉันง่ายฉันงามฉันแจ่มชัด ฉันไม่เชื่ออำนาจรัฐจากกระบอกปืน   ฉันเป็นเท่าที่ฉันเป็น.  
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
  อิสรภาพ   ฉันต้องการอิสรภาพ ที่จะได้เห็น ที่จะได้ยิน ในสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
  เป็นที่ทราบกันดีว่า กฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นกฎหมายที่สร้างความทุกข์สาหัสให้แก่ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่า “หมิ่นสถาบัน” มามากมายหลายคน เพราะกฎหมายนี้ถูกตราขึ้นมาอย่างกว้างๆไม่ระบุขอบข่ายความผิดให้ชัดเจน รวมทั้งกระบวนการจับกุม สอบสวน ดำเนินคดี ก็มิได้เป็นไปตามปกติทั่วไป มิหนำซ้ำการตีความบังคับใช้มาตรานี้ ว่ากันว่า เจ้าหน้าที่สามารถตีความใช้ได้อย่างกว้างขวาง และนักการเมืองมักจะใช้เป็นเครื่องมือในการทำลายฝ่ายตรงกันข้ามอยู่เสมอ และผู้ต้องคดีนี้นอกจากจะติดคุกติดตะรางแล้ว ยังถูกซ้ำเติมจากสังคมที่จงรักภักดีต่อสถาบันอย่างรุนแรง    
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
    คือแม่น้ำและขุนเขาอันขรึมขลัง คือพลังคีตกานท์อันหวานไหว คือหนึ่งจิตวิญญาณล้านนาไทย คือดอกไม้สวยสะคราญบานนิรันดร์  
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
  ย้อนกลับไปทบทวนดู คำประกาศหลังจากรับพระราชทานโปรดเกล้าฯของคุณยิ่งลักษณ์ตอนหนึ่งที่กล่าวว่า “อุปสรรคข้างหน้ายังรอเราอยู่มาก ทั้งที่ควบคุมได้และควบคุมไม่ได้ แต่ทั้งหมดมิใช่อุปสรรคขวางกั้นมิให้ทำงาน พร้อมที่จะอุทิศตัวด้วยความทุ่มเท เสียสละอดทน ทำงานแข่งกับเวลา ไม่เกรงต่อความลำบากใดๆ”
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
    แล้ว ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย หมายเลข 1 ก็ได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 28 และ เป็นนายกหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์การเมืองของเมืองไทย และเป็นคนที่ 52 ของโลก อย่างสมบูรณ์ โดยได้รับการโหวตเสียงจากที่ประชุมสภาฯ เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2554 ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 296 เสียง ไม่เห็นด้วย 3 เสียง และงดออกเสียง 197 เสียง ก่อนจะได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ในวันที่ 8 สิงหาคม 2554 เวลา 18.40 น. ณ บริเวณตึกชั้น 7 ที่ทำงานพรรคเพื่อไทย ท่ามกลางความยินดีของคนจำนวนมากมาย ที่สนับสนุนคุณยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทย  
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
    คราวที่แล้ว ผมนำเรื่อง “คนดีของคนเมือง และ คนดีของชนบท” ที่แตกต่างกัน จากบทสัมภาษณ์ที่ชื่อว่า “ความคาดหวังและความจริงของประชาธิปไตยแบบไทยๆ” ของ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ ซึ่งให้สัมภาษณ์ลงนิตยสารสารคดี ฉบับเดือนตุลาคม 2543 ผมคิดว่าจะหยุดเพียงแค่นั้น แต่ก็หยุดไม่ได้ เพราะพบว่ายังมีประเด็นที่ผมคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์แก่ท่านผู้อ่านอีกสองประเด็น ที่ยังเป็นเรื่องราวที่ยังดำรงอยู่ในปี 2544 และต่อไปอีกนานเท่าไหร่ ก็คงไม่มีใครรู้ เพราะมันเป็นรื่องของอนาคต  
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
      ผมมักจะได้ยิน ผู้คนและสื่อต่างๆเกี่ยวกับการเมือง มักจะพูดกันให้ได้ยินอยู่เสมอว่า “คนชนบทเป็นคนเลือกตั้งรัฐบาล คนเมืองเป็นคนล้ม” ซึ่งดูเหมือนจะเป็นความจริงมาโดยตลอด แต่ก็ไม่มีใครให้คำอธิบายที่ฟังดู สมเหตุสมผลและชอบธรรม ให้ฟัง ว่าทำไมคนเมืองที่หมายถึงคนชั้นกลาง จึงไม่ชอบรัฐบาลที่ได้มาจากเสียงส่วนใหญ่ที่เป็นคนชนบทในประเทศ และช่วยกันล้มรัฐบาลที่เขาเลือกตามกติกา 
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
      ถึงแม้ คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะได้รับการรับรองจาก กกต. ให้หลุดพ้นจากข้อหาไปช่วยขบวนแห่ที่เชียงราย ให้พ้นจากข่ายความผิดด้วยมติ 5 ต่อ 0 ท่ามกลางความโล่งอกของใครต่อใครมากมายหลายคน ที่ว่ากันว่า เป็นเพราะโพลเสียงจากประชาชน 80 เปอร์เซ็นต์ ต้องการคุณยิ่งลักษณ์นายกฯ (รวมทั้ง นปช.) เป็นกระแสกดดัน กกต. หรือเพราะเหตุใดก็ช่างเถิด แต่เราก็สามารถฟันธงกันได้เลยว่า อีกไม่นาน เราจะต้องได้นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศอย่างแน่นอน 
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
      ผมไม่แน่ใจว่า ก่อนที่คุณยิ่งลักษณ์ ว่าที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์ คนสวย และกลุ่มมันสมองของพรรคเพื่อไทยจะชูนโยบายประชานิยม เพิ่มค่าแรงงานขั้นต่ำให้กรรมกรผู้ใช้แรงงานจาก 221 บาท เป็น 300 บาท และเพิ่มเงินเดือนให้แก่ผู้จบปริญญาตรีที่เริ่มเข้าบรรจุงานจาก 11,028 บาท เป็น 15,000 บาท
ถนอม ไชยวงษ์แก้ว
ผมกำลังจะชวนใครต่อใคร เข้ามาคุยเรื่องปัญหาที่รัฐบาลใหม่จะต้องเข้ามาสะสางและแก้ไข จากข้อมูลของนักวิเคราะห์การเมืองท่านหนึ่งที่รวบรวมและชี้แนะเอาไว้ล่วงหน้าแก่รัฐบาลของคุณยิ่งลักษณ์เอาไว้