วิถีในทางโลกและทางธรรม
มันเป็นเรื่องที่ตรงกันข้ามและสวนทางกันแทบทุกกรณี เช่น ในขณะที่ทางโลกสอนให้เรายึดมั่นถือมั่นเอาโน่นเอานี่ แต่ทางธรรมกลับสอนให้เราลดละปล่อยวางทั้งสิ่งที่เป็นวัตถุธรรมและนามธรรม เพื่อจะนำชีวิตไปสู่การหลุดพ้นจากความทุกข์ จากมุมมองของผม ซึ่งเป็นคนที่ยังมีกิเลสค่อนข้างหนาหนัก ผมว่ามันเป็นเรื่องที่ยากแสนยากที่ปุถุชนคนธรรมดาอย่างเราๆท่านๆที่ยังติดข้องอยู่ในโลก จะเดินเข้าไปสู่ทางธรรมได้ ถ้าหากไม่มีเหตุปัจจัยอะไรสักอย่าง ทำให้เกิดความศรัทธาและแรงบันดาลใจอันใหญ่หลวง ดึงดูดให้เข้าไป
โดยเฉพาะการเดินเข้าไปสู่ทางธรรมในฐานะนักปฏิบัติ เพราะมีแต่เรื่องที่ต้องฝืนใจและฝืนความเคยชินที่เราคุ้นเคยไปแทบทุกอย่าง
เมื่อพระผู้เริ่มฝึกหัดปฏิบัตินั่งวิปัสสนากรรมฐานองค์หนึ่ง
ณ สำนักปฏิบัติธรรมของหลวงพ่อชา วัดหนองป่าพง จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นพระอาจารย์สายวิปัสสนากรรมฐานชื่อดัง และเป็นที่รู้จักกันทั่วไปทั้งประเทศ ได้เกิดความหงุดหงิดและรำคาญเพื่อนพระที่เริ่มมาฝึกหัดปฏิบัติด้วยกัน เพราะไม่เอาใจใส่ในการปฏิบัติ และได้ปรารภกับหลวงพ่อชาในเชิงขอความเห็นว่า
“มีหลายครั้งหลายหน ที่ดูพระหลายรูปที่นี่ไม่ฝึกปฏิบัติ ดูท่านไม่ใส่ใจจะทำหรือขาดสติ เรื่องนี้กวนใจผม”
คำตอบจากหลวงพ่อชา แทนที่จะเป็นคำตอบที่ผมคาดหมายเอาไว้ตามฐานและกรอบการคิดที่เราคุ้นเคยกัน กลับเป็นคำตอบที่ตรงกันข้าม และทำให้ผมรู้สึกเหมือนถูกตบหน้าจนแน่นิ่ง…และหยุดคิดว่า
“มันไม่ถูกต้องที่จะคอยจับตาดูผู้อื่น นี่ไม่ช่วยการฝึกปฏิบัติของท่านเลย ถ้าท่านรำคาญใจก็จงเฝ้าดูความรำคาญในใจของท่าน ถ้าศีลของคนอื่นบกพร่องหรือเขาเหล่านั้นไม่ใช่พระที่ดี ก็ไม่ใช่เรื่องของท่านที่จะไปตัดสิน ท่านจะไม่เกิดปัญญาจากการจับตาดูผู้อื่น ไม่มีใครสามารถปฏิบัติให้ท่านได้ หรือท่านก็ไม่สามารถปฏิบัติให้ผู้อื่นได้ จงมีสติในการปฏิบัติของตัวท่านเอง และนี่คือแนวทางของการปฏิบัติ”
เช่นเดียวกันกับเมื่อครั้งแม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต
ตัดสินใจบวชชี เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2523 เมื่อเกือบสามสิบกว่าปีก่อนโน้น จนกระทั่งเติบโตเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางในทุกวันนี้ ในฐานะเจ้าของสำนักเสถียรธรรมสถาน ที่เต็มไปด้วยคุณูปการต่อผู้ยากไร้และผู้ด้อยโอกาสทางสังคมอย่างใหญ่หลวง เมื่อท่านพระครูภาวนาพิธาน เจ้าอาวาสวัดศิริพงษ์ธรรมนิมิตร ผู้ทำพิธีบวชให้ ได้ถามว่า
“มาบวชทำไม”
อดีตนางแบบสาวสวยชื่อดังของเมืองไทย ผู้กำลังหันหน้าเข้าไปหาทางธรรมในขณะนั้น เพราะเป็นทุกข์และเหน็ดเหนื่อยทางใจจากความสำเร็จในชีวิต แล้วไม่รู้จักคำว่าพอ ทำอย่างหนึ่งสำเร็จ ก็ยังอยากทำสิ่งอื่นต่อไปให้สำเร็จ จนกระทั่งเกิดคำถามกับตัวเองขึ้นมาว่า เมื่อไหร่จึงจะพอ และเกิดความสงสัยขึ้นมาว่า ชีวิตคืออะไร ได้บอกกับท่านพระครูว่า
“อยากรู้ค่ะว่าชีวิตคืออะไร”
และได้รับคำตอบจากท่านพระครูในทันทีทันใดว่า
“ถ้าคุณอยากรู้ว่าชีวิตคืออะไร คุณต้องหยุด หยุดดูคนอื่น หยุดเพ่งโทษคนอื่น อยากรู้ว่าชีวิตคืออะไรให้ดูที่ตัวเอง”
ครับนี่คือบทแรกในทางธรรมที่ต้องปฏิบัติของแม่ชีศันสนีย์ และคงเป็นบทแรกที่ยากจะปฏิบัติของใครต่อใครอีกหลายคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนที่มีอุปนิสัยสันดานชอบเพ่งโทษ ชอบหาเรื่องจับผิด ชอบตำหนิติเตียน ชอบนินทาว่าร้ายคนอื่น คงยากที่จะปฏิบัติ ซึ่งเป็นหนทางเดียวที่จะเข้าถึงตัวธรรมะ ที่ไม่สามารถจะเข้าถึงได้ด้วยความรู้ ด้วยความเข้าใจ หรือด้วยตรรกะที่เกิดจากการคิดด้วยเหตุด้วยผลใดๆ ทั้งสิ้น นอกจากการลงมือปฏิบัติเพียงประการเดียวเท่านั้น ทางธรรมจึงไม่ใช่ทางที่ปุถุชนคนธรรมดาอย่างเรา จะเดินเข้าไปได้ง่ายๆ เหมือนเราเดินเซเข้าไปในร้านเหล้าข้างถนน ด้วยประการฉะนี้นี่เอง.
26 มีนาคม 2551
กระท่อมทุ่งเสี้ยว เชียงใหม่