อาจารย์ชูชัย
อธิบายตัวอย่างพีชคณิตบนกระดานอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ท่านหันมามองพวกเราสลับกับการบอกความเป็นมา เมื่อได้คำตอบของโจทย์แล้ว ท่านโยนเศษชอล์กกะให้ลงในกล่อง มันลงกล่องได้พอดิบพอดี เป็นครั้งแรกในการโยนราวสิบกว่าครั้ง ท่านยิ้มพอใจในผลงาน ขยับแว่นตานิดหนึ่ง หันมามองพวกเราอีกครั้ง
“แค่นี้แหละ...เข้าใจไหม ? ใครไม่เข้าใจตรงไหนถามได้”
ไม่มีใครกล้าบอกว่าไม่เข้าใจ หากจะถามต้องถามให้ดูดี ต้องแสดงให้ท่านรู้ว่า ได้รับความรู้จากท่านมาบ้างแม้ไม่หมดเปลือกจากที่ท่านเพิ่งสอนจบ มีเสียงผู้กล้า ถือว่าเป็นหน่วยลาดตระเวนกล้าตาย
“ ตอนใกล้จะถึงบรรทัดสุดท้าย...” ผู้กล้าลุกไปชี้ที่กระดาน
“ ทำไมต้องเป็นอย่างนี้ เพราะอะไรครับ ?” นักเรียนที่กล้าถามชื่อ “เพทาย” มีผลการเรียนอยู่ในเกณฑ์ดีกลับมานั่งที่โต๊ะของตน
ท่านจะอธิบายให้ฟังถึงความเป็นมา ทำเช่นนั้นเพราะอะไร ครู่หนึ่งท่านจะเดินสุ่มดูการบ้านที่สั่งให้พวกเราทำ ร่างสูงโปร่งดูสง่าน่าเคารพและยำเกรงยิ่งนัก เดินมาทางซ้ายของห้อง การบ้านมี 8 ข้อ ทุกคนนั่งนิ่ง ใครไม่ทำการบ้านหนาวๆ ร้อนๆ หากทำไม่เสร็จอาจหนาวร้อนไม่มาก บางคนแกล้งใจดีสู้เสือเก็บอาการไว้
พวกเราพอรู้ตื้นลึกหนาบางของทุกคน คาดเดาไม่ยากว่าใครทำไม่ทำ ใครมีโอกาสถูกเคาะหัว ที่อาจารย์ชิงชัยเรียกว่า เคาะเทนชั่น (tension) ซึ่งแปลว่า “ตึงเครียด” นั่นเอง หรือใครจะถูกดุด่า นายวิทยากับนายวัชระโดนสมุดของตนฟาดหัวคนละที พวกเก่งๆในกลุ่มนั้นได้รับคำชมเชยหลายคน ท่านเดินมายังกลุ่มผมที่อยู่ซีกขวาตรงกลางห้อง มาถึงผมตอนแรกก็ทำเสียงพอใจในคอ ที่สุดหนังสือพีชคณิตเล่มหนาก็ถูกยกฟาดโครมลงบนหัวผมกับเพื่อนๆคนละที พร้อมกับเสียงบ่นของท่าน เดินมาหน้าห้องทำหน้าเครียด พวกเราดูออกท่าทางไม่ได้เครียดจริงจังมากมายหรอก เป็นการแสดงสีหน้าเพื่อให้เรารู้ว่า ท่านไม่พอใจนัก พวกเรารู้สึกสำนึกกัน เพียงแต่ไม่พูดออกมาเท่านั้น เวลาผ่านไปอย่างอึดอัด ครู่เดียวท่านเดินมายืนที่หน้าต่างข้างห้อง แล้วเดินเลียบช้าๆไปกลางอาคาร ลงบันไดกลับห้องพักครู
พอท่านลับตาไป
พวกเพื่อนๆที่กะล่อน ลุกบิดขี้เกียจ ท่าทางหงอยๆหน้าเศร้าแบบผู้สำนึกบาปหายไป กลายเป็นอีกคนหนึ่ง ร่าเริงสดชื่น แสดงท่าเดินไปมาทำท่าอาจารย์ชิงชัยตรวจการบ้าน แล้วยกสมุดฟาดหัวเพื่อนแรงพอประมาณ ผู้ถูกฟาดลุกขึ้นโต้ตอบพอไม่ให้เสียเชิง อย่างไรก็ตาม อาจารย์ชิงชัยเป็นผู้ที่พวกเราเคารพและเกรงท่านมาก ท่านสอนวิชาคำนวณซึ่งถือว่าสำคัญ ท่านจบปริญญาตรี เอกคณิตศาสตร์ ยุคนั้นผู้ที่จบปริญญาตรี โดยเฉพาะคณิตศาสตร์มีน้อยมาก ใครจะเรียนปริญญาตรีต้องไปเรียนที่กรุงเทพฯ พวกเรายกย่องคนที่เก่งคณิตศาสตร์ เราเชื่อว่า คนนั้นสมองดี ต้องใช้สมองใคร่ครวญ ต้องคิดย้อนไปมา หากไม่เข้าใจก็คิดแก้โจทย์ไม่ได้ ขยันอย่างไรก็ไร้ผล คณิตศาสตร์ไม่ใช่วิชาท่องจำเป็นนกแก้วนกขุนทอง ดังนั้น จึงมักเห็นว่า คนเก่งคณิตศาสตร์ชอบคิด ใช้เหตุผล แต่มักขี้เกียจ…พวกเราต่างมีครูในดวงใจกันทุกคน
“กันชอบอาจารย์ศิลปะชัย ที่สอนวิชาหน้าที่พลเมืองและวิชาวาด ชั่วโมงวาดกันมีความสุข รู้สึกเป็นอิสระ ท่านบอกว่า อยากวาดรูปอะไรก็วาดไป ท่านไม่บังคับต้องวาดรูปนั้นรูปนี้ ท่านจบจากธรรมศาสตร์นะโว้ย ! ไม่ธรรมดา” เพื่อนผมชื่ออานนท์ออกความเห็น
“แต่ระวังให้ดีนะ...ถ้าท่านกำลังอธิบายแล้ว ใครไม่ฟัง แปรงลบกระดานจะปลิวเฉียดหัวเลย มึงเอ๋ย !”
เพื่อนผมชื่อทวีพงษ์ ฉายาจอมโวจนลิงเคลิ้ม กล่าวแล้วแสดงท่ายกไหล่บอกอาการหวาดหวั่น อาจารย์ศิลปะชัย จะตัดผมสั้นเกรียน สวมแว่น มาดขึงขัง พูดจาช้าหนักแน่น ท่าทางไม่ผิดนายทหารชั้นนายพลทีเดียว ท่านใช้แปรงลบกระดานปาหัวนักเรียนหลายครั้ง แต่แปลกมาก ไม่ปรากฎว่าใครถูกปาหัวแตกเลือดอาบสักรายเดียว กว่าจะรู้คำตอบว่าเพราะอะไร เราก็เรียนจบกันหมดแล้ว คำตอบก็คือ ท่านปาไม่ให้ถูกหัวลูกศิษย์ของท่าน ปาให้ถูกฝาห้องข้างหลัง เป็นการขู่ขวัญเท่านั้น โอ...ช่างจิตวิทยาสูงจริงๆ
“กันชอบอาจารย์พิบูลย์ที่สอนวิชากลศาสตร์มาก ใครฟังไม่ฟัง ท่านไม่ดุไม่ด่าว่าอะไร ตากวาดมองไปทั่วห้อง ปากก็อธิบายการคำนวณการหาคำตอบ เกี่ยวกับพื้นที่ลาดเอียง รอกเดี่ยว รอกคู่ ใช้คำพูดง่ายๆ จากนี่ไปนั่นเพราะอะไร บอกเหตุผล เข้าใจง่าย อารมณ์สม่ำเสมอในการสอน…เวลาเราสงสัย ยกมือถามท่านก็ไม่ดุ อธิบายด้วยน้ำเสียงปรกติ กันเรียนวิชานี้เข้าใจมากกว่าตอนเริ่มเรียนใหม่ๆ...ชักชอบคำนวณเสียแล้ว มันมีที่มาที่ไป มันใช้เหตุผล”
“ส่วนกันชอบอาจารย์ประภาศรี ท่านสอนเรื่องมารยาท ห้ามนั่งไขว้ขาขณะนั่งฟังครูสอน ห้ามล้วง แคะ แกะเกา เขย่าแข้งขาในที่ชุมชน มันน่าเกลียด พวกเราจำท่าทางการพูดของท่านได้ไหม? พูดช้าๆปากเผยอยิ้มตลอดเวลา”
“แกล่ะ ! ชอบใคร เจ้ายศศักดิ์ ?” เพื่อนถามผม
“กันชอบ อาจารย์สุจิตต์โว้ย ! ท่านมีความรับผิดชอบสูง ตรงเวลา มีระเบียบ เป็นผู้ใหญ่ พูดย้ำพวกเราให้เห็นประโยชน์ของการศึกษา และให้พยายามสอบเข้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ให้ได้”
“กันชอบอาจารย์ศรีวราโว้ย ! สวยก็สวย สูงโปร่งผิวขาวอมชมพู...”
“เขาพูดกันถึงคุณสมบัติการเป็นครู เช่นการสอนเป็นอย่างไร อะไรทำนองเนี้ยะ...ไม่ใช่สวยไม่สวย โธ่ !...อ้ายสากกะเบือยันเรือรบ”
“เอ่อๆ เข้าใจๆ... นั่นเป็นการเกริ่นนำ เป็นคุณสมบัติพิเศษแถมเข้ามา อาจารย์ท่านสอนเรขาคณิต บอกวิธีพิสูจน์สามเหลี่ยม 2 รูปให้เท่ากันว่า ต้องทำอย่างไร โดยไม่บอกให้เราท่องจำ ให้ใช้การคิดพิจารณา จำเฉพาะสาระที่สำคัญ เช่น มุมแย้งย่อมเท่ากัน มุมประชิดเท่ากับ 180 องศา ไม่ต้องจำทฤษฎีบททุกถ้อยคำ...บางครั้งใช้การวาดรูปสามเหลี่ยมหน้าจั่ว แสดงมุมที่ฐานย่อมเท่ากันแทนคำอธิบายด้วยวาจาทุกถ้อยคำ...ท่านบอกเหตุผลจากบรรทัดหนึ่งไปอีกบรรทัดหนึ่ง กันเข้าใจดีกว่าก่อนเสียอีก”