Skip to main content

ถนอมรัก  เดือนเต็มดวง

 

 

 

 

น่าชื่นใจ

ที่เราเกิดเชียงใหม่ ดินแดนแห่งต้นแม่น้ำปิง แต่จะชื่นใจและภูมิใจยิ่งกว่า หากเราเกิดมาแล้วรักแม่น้ำปิง รักแล้วดูแลรักษาน้ำให้สะอาด ไม่ให้คนอีกกลุ่มรุกล้ำทำลายโดยวิธีการต่างๆ โบราณกาลนั้น เราจะสร้างบ้านแปงเมืองตามแนวริมแม่น้ำ อาศัยแม่น้ำในการดำรงชีพ ไว้อาบไว้ใช้ เดินทางและขนส่งสินค้า อาจเป็นกฎหรือหลักเหตุและผลง่ายๆ คนทำลายน้ำทำลายป่า ทำลายสิ่งแวดล้อม ผลตามมาจะย้อนทำลายคน ลูกหลาน บ้านเรือน นี่คือหลักของอริยสัจ 4 ที่พระพุทธองค์ค้นพบ เป็นหลักของผลย่อมมาจากเหตุ

วันนี้

เราจึงต้องย้อนกาลเวลา เพื่อรับรู้ความเป็นมาของแม่น้ำปิง อันเป็นรากเหง้าส่วนหนึ่งของลูกหลานลูกแม่ระมิงค์รุ่นต่อรุ่น...หลัง พ.ศ.1 หรือมากกว่า 2,500  ปีมาแล้ว มีชนเผ่าพื้นเมืองตั้งมั่นบริเวณน้ำแม่กวง ในที่ราบลุ่มน้ำแม่ปิงเขต จ.ลำพูน ยังไม่มีหลักฐานบอกได้ว่า คนพวกนี้เป็นบรรพชนชาวลุ่มน้ำปิง ที่จะเติบโตเป็นรัฐหริภุญชัย รัฐเชียงใหม่ รัฐล้านนา ต่อไป ตำนานและนิทานที่แต่งขึ้นสมัยหลังๆ เรียกชื่อบรรพชนชาวล้านนาพวกนี้ว่า เมงคบุตร แปลว่า ลูกหลานเชื้อสายของ เมง คือรามัญหรือมอญ และเรียกชื่อดินแดนในยุคนี้ว่า  มิคสังครนคร และสมันตรประเทศ

อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม อธิบายว่า

“กลุ่มชนที่เจริญพวกแรกในที่ราบลุ่มเชียงใหม่คือ พวกเมงคบุตร ซึ่งตั้งหลักแหล่งอยู่บริเวณที่ราบเชิงดอย

สุเทพ ใกล้กับลำน้ำแม่ขาน อันเป็นสาขาแม่น้ำปิง ลักษณะสังคมของชนพื้นเมืองนี้เป็น แบบเผ่า(Tribal Society) แต่ว่าแบ่งเป็นหลายตระกูล(Totemic Groups)...”

บริเวณที่ราบลุ่มเชียงใหม่

มีประชาชนอาศัยอยู่หลายเผ่า แต่ที่สำคัญได้แก่พวก เมง(มอญหรือรามัญ)และพวก ลัวะ(ลวะหรือละว้า)

เม็งและลัวะเป็นชาติพันธุ์ดั้งเดิมในที่ราบลุ่มน้ำปิง ตำนานจามเทวีวงศ์เรียกชาติพันธุ์เม็งว่า เมงคบุตร

อาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม วิเคราะห์ว่า กลุ่มเมงคบุตร เป็นกลุ่มชนพื้นเมืองที่เจริญเป็นพวกแรกในแถบที่ราบเชียงใหม่ มีลักษณะสังคมชนเผ่า แบ่งออกเป็นหลายตระกูล แต่ละตระกูลใช้สัตว์เป็นสัญลักษณ์ของตน ลักษณะการตั้งถิ่นฐานของชาติพันธ์เม็ง มักกระจายตัวอยู่บนที่ราบลุ่มแม่น้ำปิง จึงพบคำเก่าแก่ในภาษาเม็งเรียกแม่น้ำปิงว่า “แม่ระมิง.”(มาจากคำว่า รเมญ ในภาษามอญโบราณและกร่อนมาเหลือ เมญ หรือ เม็ง ในภาษาล้านนา) หรือแม่น้ำเม็ง หมายถึงแม่น้ำที่ชาวเม็งอาศัยอยู่ แต่เม็งมีประชากรน้อยกว่าลัวะ

ต่อมามีชาวต่างถิ่นที่รับวัฒนธรรมอินเดีย คือฤาษีวาสุเทพอพยพเข้ามา ได้แต่งงานกับหญิงพื้นเมืองที่นับถือเนื้อเป็นสัญลักษณ์ ฤาษีวาสุเทพกลายเป็นผู้นำชาวพื้นเมืองเหล่านี้ทั้งหมด ต่อมาจึงได้สร้างบ้านเมืองขึ้นให้ลูกหลานปกครอง(หนังสือ “จังหวัดเชียงใหม่มาจากไหน.” โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ)

มีข้อมูลที่น่าสนใจ

“ บริเวณที่ราบลุ่มเชียงใหม่(Chiang Mai Valley)  เป็นที่อุดมสมบูรณ์ เป็นศูนย์กลางของสังคมและวัฒนธรรมแต่อดีต มีชื่อเรียกกันตามความสำคัญของลำน้ำปิงที่ไหลหล่อเลี้ยงพื้นที่ราบนี้ว่า พิงครัฐ...”

 อีกตอนหนึ่งว่า

“...ลงเรือมาตามแม่น้ำพิงค์ 7 เดือน จึงบรรลุถึงเมืองนี้ ท่านวาสุเทพและท่านสุกกทนต์พร้อมด้วยชาวเมืองทั้งปวงได้อัญเชิญพระนางจัมมเทวีนั้นนั่งบนกองทองคำ แล้วอภิเษก อาศัยเหตุที่พระนางนั่งบนกองทองคำอภิเษก นครนั่นจึงชื่อว่า หริปุญชัย สืบมาจนถึงวันนี้.”(หนังสือ  “เชียงใหม่มาจากไหน.” โดยสุจิตต์ วงษ์เทศ)

เชื่อมเรื่องราวต่ออีกว่า

พระเจ้ามังรายพระชนม์ได้ 23 ปี ทรงสร้างเมืองเชียงราย เมื่อ พ.ศ.1806...ต่อจากนั้นทรงสร้างกุสนคร เมื่อ พ.ศ. 1817(เข้าใจว่าคือเมืองฝาง)...พระเจ้าเมืองรายมีพระชนม์มายุ 53 ปี พ.ศ.1836 ได้เข้ายึดหริปุญชัยจากพระเจ้าญีบาได้สำเร็จ จากนั้นพระองค์ทรงสร้างนครเชียงใหม่ปี พ.ศ.1839 ในท้องที่ภูเขาอุจฉุคิรี(ดอยสุเทพ)กับแม่น้ำพิงค์( หนังสือ ชินกาลมาลีปกรณ์ หน้า 93-94)

มีคำว่า “แคว้นพิงค์.”

ปรากฏในสมัยพระเจ้ามังรายครองเมืองเชียงใหม่ และมีคำว่า “นครพิงค์.” ปรากฏในสมัยเจ้าครามซึ่งเป็นพระราชบุตรของพระเจ้ามังรายครองเมืองเชียงใหม่ (หนังสือ ชินกาลมาลีปกรณ์ หน้า 94-95)

มีคำสำคัญคือ พิงค หรือ พิงค์ เป็นชื่อเรียกทั้งเมืองและแม่น้ำ  และคำนี้ยังปรากฏในชื่อเมืองที่พญามังรายมหาราช พ่อขุนรามคำแหงมหาราช และพญางำเมือง ขนานนามเมืองใหม่นี้ว่า “ นพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่.”

สรุปได้ว่า

แม่น้ำที่ราบลุ่มนี้เดิมชื่อ แม่น้ำระมิงค์ ต่อมาเปลี่ยนเป็น แม่น้ำพิงค์ แล้วแปรเปลี่ยนเป็นแม่น้ำปิงในปัจจุบัน จะมีลำดับการเปลี่ยนแปลงอย่างไรนั้น ยังค้นหาหลักฐานเชื่อมต่อที่น่าเชื่อถือไม่ได้ คงต้องค้นคว้าแสวงหาจากหลักฐาน ปราชญ์  ผู้รู้ ต่อไป.

 

                                                ....................................................................

บล็อกของ ถนอมรัก เดือนเต็มดวง

ถนอมรัก เดือนเต็มดวง
พอได้จังหวะ ผู้ชายที่ห้อยหัว ก็เหวี่ยงผู้แสดงชายที่จับเขาอยู่ กลับคืนมาหาบาร์เดิมของเขา คนดูบางคนทนไม่ไหวส่งเสียงร้อง เขาจับบาร์ได้ เสียงปรบมือให้กำลังใจดังขึ้น ผู้แสดงที่ห้อยหัว หกตัวขึ้นนั่งบนบาร์พักร่างกายครู่หนึ่ง จากนั้นเขาก็ห้อยหัวลงมาอีก แข็งแรงและทรหดมาก ผู้หญิงสาวสวยจับบาร์เหวี่ยงตัวเข้าหาบ้าง ผู้ชมคงเอาใจช่วยมากขึ้น เธอปล่อยมือจากบาร์ พุ่งเข้าหาผู้แสดงที่หัวห้อยรออยู่ มือเกือบถึงแต่ไม่ถึง เธอลอยหล่นลงมา คนดูส่งเสียงฮือ บางคนลุกขึ้น เธอตกลงมาตาข่ายปลอดภัย ตัวลอยเด้งขึ้นสองสามครั้ง ตามแรงดีดของตาข่าย เธอรีบลุกขึ้น…
ถนอมรัก เดือนเต็มดวง
  ผมสอบถามเรื่องราว จากลูกของป้า ซึ่งย้ายมาปลูกบ้านหลังสนามกีฬาเทศบาลนครเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2500 เล่าว่า ราวปี พ.ศ. 2503-2504 มีละครสัตว์มาแสดงในงานฤดูหนาวเชียงใหม่ 2 ปีติดต่อกัน ละครสัตว์คณะนี้เป็นชาวภารตะ ละครสัตว์น่าดูและน่าตื่นเต้นมาก หลังคาโรงละครสัตว์เป็นรูปโดมสูง ภายในมีอัฒจันทร์คนดูเรียงรายเป็นวงกลม
ถนอมรัก เดือนเต็มดวง
    ก่อนงานวันแรก มีเครื่องบินโปรยใบปลิว เชิญเที่ยวงานฤดูหนาวเชียงใหม่จากท้องฟ้า ท้องฟ้ายามนั้นเต็มไปด้วยใบปลิวมันค่อยลอยต่ำลงมา พลิกตัวเล่นลมน่าดู ชวนให้ผู้คนคึกคักไม่น้อย ภาพเด็กวิ่งไล่เก็บใบปลิวที่ลอยลงสู่พื้น บางทีเรานั่งอยู่ในบริเวณบ้าน ใบปลิวหล่นกระจายทั่วบ้าน หลังคาบ้านเอย ลานบ้านเอย นั่งมองขึ้นไปดูใบปลิวสีสวย ยังลอยมาสู่มือให้รับอย่างสบายๆ ตอนบ่ายจะได้ยินเสียงคำรามของรถจักรยานยนต์ตามถนน ถนนสายโน้นสายนี้ มุ่งสู่สนามกีฬาที่จัดงานฤดูหนาว
ถนอมรัก เดือนเต็มดวง
สว่างแล้ว ผมค่อยเปิดหน้าต่างห้องนอน ซึ่งอยู่ชั้นล่างของบ้านเช่า ลมเย็นสะอาดพัดเข้ามา ผมรู้สึกสดชื่น ปอดขยายตัวเต็มที่ สูดหายใจเข้าไปเต็มปอด รู้สึกปลอดโปร่งกระปรี้กระเปร่า เป็นลมพัดจากทุ่งนากว้างข้างบ้าน มองเห็นนาข้าวผืนใหญ่ จากทิศใต้หักมุมฉากทอดไปทิศตะวันตก ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นไทยใหญ่ มีบ้างเป็นคนไทย อาชีพก็ทำนาทำสวน ไม่กี่รายมีอาชีพค้าขาย ทางซ้ายมือผมเป็นถนนดิน พุ่งตรงไปทิศใต้ของหมู่บ้านเวียงแหง มีบ้านปลูกเรียงรายไปตามถนน สูงขึ้นไปเป็นดอยซ้อนๆ กัน ยอดดอยสูงสุดเป็นดอยสามหมื่น แนวดอยนี้อ้อมโค้งไปทางซ้ายและขวาเป็นวงกลม หมู่บ้านเวียงแหง เหมือนถูกล้อมด้วยดอยสลับซับซ้อน…
ถนอมรัก เดือนเต็มดวง
 ขอมองย้อนหลัง เกี่ยวกับงานฤดูหนาวเชียงใหม่ แล้วค่อยมายืนกอดอก มองภาพที่เห็นในปัจจุบัน งานฤดูหนาวเชียงใหม่ จะจัดระหว่างปลายเดือนธันวาคม ถึงต้นเดือนมกราคม เป็นงานออกร้าน และงานรื่นเริงประจำปีของจังหวัด ถือว่าเป็นงานใหญ่ประจำปีของเชียงใหม่ทีเดียว กิจกรรมสำคัญของงานคือ การออกร้านของเอกชนและรัฐ และกิจกรรมการกุศลของกาชาด ในยุคแรกงานนี้ จัดที่โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย จนถึงปี พ.ศ. 2491 คงมองออก พื้นที่หลักในการจัดงาน เป็นสนามฟุตบอลของโรงเรียน ผู้เขียนนึกภาพงานไม่ออก ไล่อายุคงราว 8-9 ขวบ มันเลือนราง เหมือนเห็นภาพตนเอง กำลังยืนซื้อโรตีสายไหมกับพ่อ ตรงใกล้ประตูฟุตบอลด้านทิศใต้…
ถนอมรัก เดือนเต็มดวง
เพื่อนผมเรียนหนังสือรุ่นเดียวกัน อาชีพล่าสุดเป็นข้าราชการครูเหมือนกัน แต่เขาอยู่สายผู้บริหารสถานศึกษา ผมอยู่สายนักวิชาการ อยู่คนละอำเภอ เมื่อแยกย้ายไปเรียนต่อ ไปประกอบอาชีพ เราจึงไม่ได้พบไม่ได้ติดต่อกัน ทราบข่าวอีกครั้ง เสียชีวิตเสียแล้ว จากสาเหตุต้นยางโค่นล้มลงมาทับ ขณะขับรถยนต์มาตามถนนสายเชียงใหม่-สารภี ยังไม่พอ ต่อมาน้องสาวคนสวยแสนดีของเพื่อนเสียชีวิตขณะยืนรอรถโดยสารใต้ต้นยาง ไม่มีวี่แววฝนจะตก ลมพัดมาก่อน ลมอะไรไม่ทราบกระโชกมาอย่างรุนแรงวูบหนึ่ง กิ่งต้นยางหักโครมลงมาบนร่างบอบบาง น้องสาวของเพื่อนเสียชีวิตไปอีกคน
ถนอมรัก เดือนเต็มดวง
ราวเดือนพฤศจิกายน เป็นวันขึ้น 15 ค่ำ กับแรม 1 ค่ำ วันแรกลอยกระทงเล็ก วันที่สองลอยกระทงใหญ่ มีบริษัท หน่วยงานต่างๆ ส่งเข้าประกวด งานลอยกระทงก็อาศัยแม่น้ำปิงเป็นสถานที่จัดงาน พอหัวค่ำ หน้าเทศบาลนครเชียงใหม่ พระจันทร์กลมโตกว่าปรกติ ทอแสงสีนวลอ่อนโยน เหนือยอดไม้ด้านทิศตะวันออก แสงสีเหลืองอ่อนอร่ามทั่วฟ้า ยังกระจายไปทั่วลำน้ำและเหนือสะพานนครพิงค์ ในแม่น้ำสว่างไสวด้วยแสงไฟจากเทียนในกระทง ที่ผู้คนมาลอยกระทงพร่างพราวตา ดูละลานตาทั่วแม่ปิง ผิวน้ำสะท้องแสงไฟเหมือนมีไฟใต้น้ำ บอกไฟวี้พุ่งขึ้นท้องฟ้าตลอดเวลา ขีดฟ้าเป็นทางขาว เหมือนสายแพรสีขาวสะอาด บางเบา ของเหล่าบริวารนางฟ้า สะบัดเริงระบำ…
ถนอมรัก เดือนเต็มดวง
  ผมสามคน ธาตรี วิชาญ และผม กินข้าวเดือนที่ร้านอาโกกับเจ๊อิ้ดทุกวัน อาหารมื้อละ 3 อย่าง มีข้าราชการอำเภอเวียงแหง มากินข้าวเดือนเช่นเดียวกันอีกหลายชุด เรากินไปคุยกันไป ฟังโต๊ะอื่นคุยกันแบบไม่ตั้งใจฟังเท่าไร ด้วยเสียงที่คนนั้นพูดดังพอสมควร บางเรื่องทำให้เราตื่นเต้น อยากรู้ ตั้งใจฟังจนเอียงตัวเข้าไปใกล้ แกล้งเคี้ยวอาหารทำไม่สนใจ บางเรื่องก็ธรรมดาทั่วๆไป
ถนอมรัก เดือนเต็มดวง
 ผมขับรถจักรยานยนต์ยามาฮ่าสีแดง ซึ่งเป็นรถสำหรับผู้หญิงใช้งาน จากบ้านที่อำเภอแม่แตง เดินทางสู่กิ่งอำเภอเวียงแหง สวมรองเท้าผ้าใบหุ้มข้อ เสื้อกางเกงเนื้อหนาราคาถูก สีทึมทึบ หมวก แว่นตา และถุงมือ เป็นอันว่าครบชุดออกเดินทางเวลาบ่ายโมงเศษ กินข้าวที่เชียงดาว แล้วพารถสู่ปากทางบ้านแม่จา ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นสู่เส้นทางไปกิ่งอำเภอเวียงแหง นำรถจักรยานยนต์ไปครั้งนี้ เพื่อไว้ใช้งานในเรื่องต่างๆ เช่น เยี่ยมโรงเรียน ไปเยี่ยมครูตามบ้านพักหลังเวลาราชการ ครูพักค้างกันตามบ้านพัก เราไปเยี่ยมพูดคุยกับเขา บรรยากาศแบบกันเอง มีอะไรก็นำมารับประทานด้วยกัน พูดคุยกันเรื่องผ่อนคลาย โดยหัวหน้าการของผมนำคณะเราไป…
ถนอมรัก เดือนเต็มดวง
ผมนั่งรถประจำทาง จากตัวเมืองเชียงใหม่ มุ่งสู่อำเภอแม่ริม รถวิ่งราว 16 กิโลเมตรก็ถึงอำเภอ ผมลงตรงหน้าสถานีตำรวจภูธรแม่ริม เดินเข้าซอยข้างๆ สถานีตำรวจ มือหิ้วกระเป๋าเดินทาง เพื่อเข้าไปในค่ายดารารัศมี ซึ่งเป็นค่ายของตำรวจตระเวนชายแดน โดยมีจุดมุ่งหมาย จะขอโดยสารไปกับเฮลิคอปเตอร์ของตำรวจ ที่มีราชการไปอำเภอเวียงแหง โดยเราเพียงบอกว่า เป็นข้าราชการทำงานในอำเภอ ทางเจ้าหน้าที่รับทราบก็จะอนุเคราะห์ทุกครั้ง เป็นการช่วยเหลือในวงราชการด้วยกัน ผมเดินไปครู่เดียวก็ถึง เห็นเฮลิคอปเตอร์ลายเขียวน้ำตาลจอดอยู่ลำหนึ่ง ผมชำเลืองดูรอบบริเวณ เห็นมีผู้คนจะขึ้นไปด้วย 3-4 คน กระเป๋าและสัมภาระวางบนพื้นระเกะระกะ…
ถนอมรัก เดือนเต็มดวง
เมื่อถึงช่วงสงกรานต์ หน่วยงานที่รับผิดชอบจะปล่อยน้ำ ทำให้ระดับน้ำแม่ปิงสูงขึ้นเล็กน้อย เพื่อให้คนตักน้ำแม่ปิงไปรดน้ำได้สะดวก จุดศูนย์กลางเล่นน้ำสงกรานต์อยู่ที่ขัวเหล็ก (สะพานนวรัฐ) คนจะยืนข้างสะพานทั้งสองข้างเต็มไปหมด กลางขัวเหล็กนั้น คนเดินสวนกันไปมาหนาแน่น ใส่เสื้อม่อฮ่อมเป็นส่วนใหญ่ มือถือขัน กระป๋องน้ำ ปืนฉีดน้ำ บางคนใช้เชือกผูกกระป๋อง หย่อนจากสะพานลงตักน้ำแม่ปิงด้านล่างมารดกัน ด้านล่างของขัวเหล็ก จะเห็นคนนั่งแช่น้ำแม่ปิง สาดน้ำกัน ชายหนุ่มหญิงสาวยืนคุยกันด้วยท่าทีเปี่ยมไมตรีจิต ถ้อยคำพิเศษที่รับรู้เพียงสองคน บางแห่งก็ชกต่อยกันประปราย ที่เล่นน้ำขยายมาถึงถนนหน้าพุทธสถาน ตลอดถนนท่าแพ…
ถนอมรัก เดือนเต็มดวง
ผมยืนขึ้นก้าวไปข้างหน้า น้ำถึงราวนม เท้าจับทรายไม่อยู่ รู้สึกทรายเคลื่อนตัวลง ตัวผมจมลงไป รู้ทันทีว่าทรายดูดหรือ "ทรายมาน" ใจหายวาบ รีบใช้มือตีน้ำ ผ่อนน้ำหนักที่เท้า บิดตัวถอยหลังอย่างฉับพลัน ใช้เท้ายันพื้นทราย เท้าจับทรายได้แล้ว ถอยเท้าอย่างรวดเร็ว รีบขึ้นหาดทราย ประมาทไม่ได้เลยกับภัยในน้ำ เหลียวดูเพื่อน เขากลับลงเล่นน้ำกันอีก