ถนอมรัก เดือนเต็มดวง
ศาสตราจารย์สรัสวดี อ๋องสกุล
เขียนในหนังสือ “ประวัติศาสตร์ล้านนา” กล่าวถึง “เวียงเถาะ” ในหน้า 82-83 ว่า
“ เวียงเถาะ ตั้งอยู่ที่ตำบลสองแคว อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ห่างจากเวียงท่ากานลงไปทางใต้ 6 กิโลเมตร และห่างจากเมืองลำพูนลงไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ 19 กิโลเมตร ใกล้กับบริเวณที่ลำน้ำแม่ขานไหลมาบรรจบกับแม่น้ำปิง จากการสำรวจพบว่าแม่น้ำปิงกัดเซาะจนเวียงเถาะหายไปเกือบครึ่งเมือง เพราะน้ำปิงเซาะมาถึงบริเวณหน้าวัดสองแควซึ่งตั้งอยู่กลางเวียง ในปัจจุบันแม่น้ำปิงเปลี่ยนเส้นทางไปทางทิศตะวันออกไกลจากเวียงเถาะแล้ว สภาพคันดินที่เหลืออยู่ขาดเป็นตอนๆ เนื่องจากถูกไถออกเพื่อใช้พื้นที่ทำการเกษตร พื้นดินพบเศษเครื่องปั้นดินเผาลายขูดศิลปะหริภุญไชยเล็กน้อย ส่วนร่องรอยโบราณสถานร้างต่างๆในเวียงเถาะ มีปริมาณน้อยกว่าเวียงมะโน เวียงเถาะจึงเป็นเมืองขนาดเล็ก(เล็กกว่าเวียงท่ากานและเวียงมะโน) คงเป็นทางผ่าน เมื่อวิเคราะห์ที่ตั้งเวียงเถาะจะอยู่ค่อนไปทางปลายแอ่งเชียงใหม่-ลำพูน ภูมิประเทศเป็นเนินคั่นกับที่ราบเป็นตอนๆ ย่อมไม่สะดวกต่อการทำเกษตรกรรม เป็นไปได้ว่ามีผู้คนเบาบาง
หลักฐานสำคัญมีศิลาจารึกภาษามอญ พบที่หลังวิหารสองแคว ปัจจุบันเก็บไว้ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเชียงใหม่ การพบศิลาจารึกอักษรมอญที่เวียงเถาะ เวียงมโน เวียงกุมกาม และที่ลำพูน แสดงความสัมพันธ์ของกลุ่มบ้านเมืองในแคว้นหริภุญไชย น่าเสียดายที่ไม่พบหลักฐานประเภทตำนานที่กล่าวถึงประวัติความเป็นมาของเวียงเถาะ การศึกษาเวียงเถาะจึงอาศัยจากหลักฐานโบราณคดีที่มีไม่มากนัก ร่องรอยที่เหลืออยู่คือวัดสองแควศูนย์กลางเมือง วัดนี้มีมาแต่ครั้งสมัยหริภุญไชย เพราะมีโบราณวัตถุศิลปะ หริภุญไชย ได้แก่ พระพุทธรูปหินทรายเป็นพระประธาน พระพุทธรูปองค์นี้เป็นหินทรายศิลปะหริภุญไชยที่ใหญ่ที่สุดและมีสภาพสมบูรณ์ เนื่องจากเป็นหินทราย มีความคงทน จึงไม่ถูกบูรณะต่อเติม.”
ปัจจุบันกาล
เราใช้ชีวิตโลดแล่น หายใจเข้าออก ดำรงชีวิตอยู่บนผิวดินชั้นบนสุด ขุดลึกลงไปในดินนั่นคืออดีตกาล ความเป็นมา รากเหง้า เป็นแหล่งของโบราณวัตถุ เมืองโบราณที่ล่มสลาย เป็นพิพิธภัณฑ์ใต้ดินของโลกที่ดีที่สุด ป้องกันภัยต่างๆได้แสนวิเศษ ไม่ว่าเป็น ไฟไหม้ น้ำท่วม พายุรุนแรง แผ่นดินไหว และมนุษย์บางคน แต่ละชั้นดินบอกจำนวนปีแห่งกาลเวลา เป็นร้อยเป็นพันๆปี ยิ่งลึกยิ่งเนิ่นนาน ย้อนหลังไกลออกไปทุกที.
...................................................................................