Skip to main content

โอม มณีปัทเมหุม เขียน


ธรรมชาติของมนุษย์นั้นดีอยู่แล้วโดยพื้นฐาน คำสอนศาสนาเพียงเข้ามาชี้ให้ตระหนักและเชื่อมั่นในศักยภาพนั้น ศาสนาไม่ได้มีหน้าที่สั่งสอนให้มนุษย์มองเห็นความชั่วร้ายเป็นธรรมชาติพื้นฐานแล้วให้มนุษย์มีศาสนาเพื่อที่จะถูกช่วยให้รอดพ้นจากความชั่วร้ายนั้น โอ้.. หรือนี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของคุณค่าศาสนธรรมที่ส่งเสริมความเป็นมนุษย์ก็เป็นได้
ง่ายมาก ที่เราจะตกสู่กับดักของ Guilt หรือความรู้สึกผิดที่ศาสนามอบให้ เรารู้สึกว่าการเกิดมาเป็นมนุษย์ "เป็นบาป" การมีอารมณ์ทางเพศ "เป็นบาป" การไม่เชื่อฟังพ่อแม่ "เป็นบาป" ฯลฯ ทั้งนี้ยังไม่ต้องพูดถึงสถานการณ์ข้อผิดพลาดในชีวิตอื่นๆ ที่ไม่อาจให้อภัยตัวเองได้จาก "บาปกรรม" ที่ตนเคยกระทำมาในอดีต 

สังคมที่มีศาสนาเป็นความเชื่อหลักมาเป็นเวลายาวนาน ได้ใช้อำนาจศาสนาลักษณะนี้เป็นเครื่องมือสำคัญในการปกครอง มนุษย์เกิดมาไม่สมบูรณ์และมีบาปติดตัว ดังนั้นมนุษย์จึงต้องมีศาสนา คนไม่มีศาสนาเป็นคนไม่ดี การมีศาสนาช่วยขัดเกลาให้มนุษย์เป็นคนดีและปกครองได้ คำว่า "อิสรภาพ" จึงเป็นคำที่อันตราย เพราะการให้อิสรภาพคือการให้อิสระแก่กิเลสตัณหา และศาสนาต้องทำหน้าที่ควบคุมสัญชาตญาณอันชั่วร้ายของมนุษย์ 

เมื่อเป็นเสียแบบนี้ เราก็มอบ inner authority ให้นักบวชทางศาสนาไปจนหมด ศาสนาไม่เคยบอกว่าเราสามารถเป็นตัวเองหรือรักตัวเองอย่างที่เป็นได้
 



ความดีพื้นฐาน กับการปฏิบัติทางจิตวิญญาณ

จริงอยู่ที่มนุษย์มีกิเลสตัณหา มีความต้องการ ความอยาก ซึ่งนำเราไปสู่ปัญหาและความทุกข์ไม่มีที่สิ้นสุด... 

กระนั้นชัมบาลาก็ยืนยันว่า กิเลสตัณหาหรือความสับสนเหล่านั้นไม่อาจทำให้ธรรมชาติของความดีพื้นฐานในตัวคนเราแปรเปลี่ยนไปได้ มันเป็นเพียงแค่เมฆหมอกที่มาบดบังแสงอาทิตย์ชั่วคราว ทว่าผืนฟ้าหรือดวงอาทิตย์ก็จะคงอยู่ตรงนั้นเสมอไม่ไปไหน

การฝึกปฏิบัติทางจิตวิญญาณคือการฝึกฝนให้เรามีความเชื่อมั่นในธรรมชาติความดีพื้นฐานนั้นที่มีอยู่ในตัวเรา "อยู่แล้ว"...

แทนที่เราจะมองว่าการปฏิบัติทางจิตวิญญาณเป็นไปเพื่อ "แก้" หรือ "เปลี่ยน" นิสัยหรือสิ่งที่ไม่ดีในตัวเราเพื่อให้เรากลายเป็นคนที่ "ดีขึ้น" เรากลับให้พื้นที่สำหรับการยอมรับและทำความเข้าใจสิ่งต่างๆ ตามที่เป็น ไม่ว่าจะเป็นความกลัว ความโกรธ ความอยาก อารมณ์หรือสภาวะจิตต่างๆ โดยที่ผลลัพธ์ของการปฏิบัติยิ่งทำให้เราเชื่อมั่นว่าโดยพื้นฐานแล้วมีท้องฟ้าอันกว้างใหญ่และดวงอาทิตย์ส่องสว่างอยู่หลังเมฆหมอกเสมอ...

การปฏิบัติทางจิตวิญญาณเพื่อเข้าถึง BASIC GOODNESS ส่งผลต่อความสัมพันธ์ที่มนุษย์มีต่อกัน เพราะความไม่ไว้วางใจในธรรมชาติของมนุษย์นี่เองที่ทำให้เราต้องใช้กำลัง ควบคุม ออกคำสั่ง หรือกดขี่มนุษย์ด้วยกัน เพื่อเป้าหมายของการปกครองสังคมให้มีสันติสุข พื้นฐานของการฝึกใจเพื่อการเข้าถึงความดีอันเป็นสากลของมนุษยชาติส่งผลต่อความเปิดกว้างและการเปิดใจที่เราสามารถมีต่อกันได้ และนั่นคือหัวใจของมนุษย์ที่มีศักยภาพที่จะรัก

ความอยากที่จะออกจากปัญหา แก้ไขตัวเอง แก้ไขคนอื่น หรือความหวังที่จะพัฒนาตัวเองให้กลายเป็นคนดีขึ้น คือตัวอย่างของความคิดที่จำเป็นจะต้องถูกปล่อยวางในการฝึกปฏิบัติทางจิตวิญญาณ เราไม่จำเป็นต้องพยายามทำให้ตัวเองเป็นคนพิเศษหรือทำให้มีประสบการณ์ที่พิเศษเกิดขึ้นในการภาวนา ทว่าด้วยความเต็มใจที่จะ "ปล่อย" และ "stay present" หรืออยู่ตรงนั้นกับตัวเอง อย่างปราศจากเป้าหมายหรือสิ่งเร้าใจ นั่นอาจเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการมีประสบการณ์ของการเป็นตัวเองอย่างแท้จริง

การพัฒนาความอ่อนโยนกับตัวเองทำให้เรามองเห็นทั้งปัญหาและศักยภาพของเรา เราไม่จำเป็นต้องเพิกเฉยปัญหาหรืออวดโอ่ศักยภาพที่มีเกินจริง ความสามารถในการอ่อนโยนกับตัวเองและชื่นชมสิ่งที่เราเป็นได้เสมอ เป็นพื้นฐานที่จำเป็นมากๆ ต่อการช่วยเหลือตัวเองและผู้อื่น


ความจริงแท้ในตนเอง

การปฏิบัติทางจิตวิญญาณบนหลักความดีพื้นฐานไม่ได้เรียกร้องให้เรา "เป็นคนดี" หรือ "เป็นคนดีขึ้น" แต่ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า "ความจริงแท้ในตนเอง" (Authenticity)  ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องอาศัยความกล้าอย่างมาก ในทุกลมหายใจเข้าออก เราพร้อมที่จะเปิดต่อทุกสภาวะจิต ทุกอารมณ์ ทุกความคิดที่ผ่านเข้ามา เรานั่งเฉยๆ และทำความรู้จักมันอย่างที่เป็น พร้อมที่จะปล่อยให้มันเป็นไป แล้วกลับมาอยู่กับร่างกายและลมหายใจอีกครั้ง ความกล้ายังสะท้อนอยู่ในความเต็มใจที่จะปล่อยวางจากการยึดมั่นทางความคิดทั้งหลาย ทั้งที่เรามีต่อโลกและต่อตัวเราเองอีกด้วย 

ความกล้าที่จะยอมให้โลกเข้ามาสัมผัสใจเราอย่างไม่ต่อต้านขัดขืน คือหนทางแห่งนักรบชัมบาลา โดยปกติแล้ว ความกลัวได้สร้างโลกจากการยึดมั่นทางความคิด เราสร้างโลกในหัวจาก conceptual framework  ซึ่งซ้อนทับโลกแห่งความเป็นจริงอยู่อีกชั้นหนึ่ง เราไม่ต้องการสัมพันธ์กับโลกที่มีชีวิตเพราะมันคาดไม่ถึง เดาไม่ได้ แล้วกลไกดังกล่าวก็ย้อนกลับมาเราใช้ชีวิตอย่างน่าเบื่อหน่าย จำเจ ซังกะตาย จากการพยายามควบคุมบงการให้โลกเป็นอย่างที่เราอยากให้เป็น

ยิ่งทำเช่นนี้ เราก็ยิ่งค้นพบว่าเราต้องเผชิญหน้ากับความกลัวภายใน เป็นความกลัวต่อ unknown หรือความไม่รู้ ผลของการปฏิบัติภาวนาจะนำพาเราไปสู่โลกอีกแบบนึง เป็นโลกที่ไม่ได้ถูกขับเคลื่อนด้วยความหวังและความกลัว หรือความเคยชิน สำหรับอัตตา unknown เป็นสิ่งที่น่าหวั่นกลัว แต่สำหรับนักรบชัมบาลา ความกล้าที่จะสัมพันธ์กับ unknown นำไปสู่โลกแห่งการตื่นรู้และอิสรภาพ  

หนทางอันศักดิ์สิทธิ์แห่งนักรบ

วิสัยทัศน์แห่งชัมบาลาสะท้อนอยู่ในวิถีชีวิตของผู้ฝึกตนที่เชื่อมั่นในความดีพื้นฐานของมนุษย์ พวกเขาไม่กลัวที่จะเป็นตัวเองและมีความจริงแท้ต่อทุกประสบการณ์อย่างเปลือยเปล่า เราเรียกผู้คนที่มีความจริงแท้ในตัวเองเช่นนี้ว่า "นักรบ" ไม่ใช่นักรบที่ใช้ความรุนแรงหรือเอาอาวุธไปสู้รบกับใคร แต่มีความอ่อนโยนและกล้าหาญในการเผชิญตัวเองอย่างถึงที่สุด และด้วยความจริงแท้นี่เองที่ทำให้นักรบชัมบาลามีศักยภาพในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่สิ่งแวดล้อมที่พวกเขาอยู่

การสัมพันธ์กับสถานการณ์ชีวิตบนพื้นฐานของการเปิดใจต่อ unknown ทำให้นักรบชัมบาลาค้นพบ "MAGIC" ซึ่งเป็นธรรมชาติอีกประการหนึ่งของสังคมแห่งการตื่นรู้ เมื่อเปิดใจ เราก็ค้นพบความเป็นไปได้ในทุกสถานการณ์ที่เปิดกว้างไปพร้อมๆ กัน ราวกับมีเวทมนตร์หรือความมหัศจรรย์เกินกว่าที่จะคาดคิดได้ล่วงหน้า

การปฏิบัติทางจิตวิญญาณไม่ได้เป็นการกดข่มหรือควบคุม sense perception แต่กลับช่วยทำให้การรับรู้ผ่านประสาทสัมผัสมีความละเอียดอ่อนและปราศจากเครื่องกั้นขวางทางความคิดยิ่งขึ้น โลกภายนอกผ่านการเปิดตาเปิดใจจะยิ่งเป็นสิ่งที่เข้ามา "ช่วย" ปลุกให้เราตื่น ดังนั้นการภาวนา แม้จะไม่ใช่อะไรที่เร้าใจ แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่ตายซากน่าเบื่อ เพราะเราเปิดประสาทรับรู้ต่อโลกตามที่เป็นจริงให้เข้ามาปลุกเราอยู่ตลอดเวลา

DECONSTRUCT เป้าหมายการตรัสรู้

วิถีชัมบาลารื้อสร้างเป้าหมายการตรัสรู้ ที่อาจถูกมองว่าเป็นการปล่อยวางจากโลกและถอยห่างไม่สัมพันธ์กับชีวิตทางโลกย์ๆ โดยสิ้นเชิง ด้วยการเชื้อเชิญให้เรา "ใส่ใจ" ต่อรายละเอียดของการดำเนินชีวิตเราในแต่ละขณะยิ่งขึ้น ไม่มีสิ่งใดจำเป็นต้องถูกปฏิเสธหรือผลักออกไป เพราะหากสามารถสัมพันธ์กับโลกปรากฏการณ์ทั้งหลายด้วยใจที่เปิดกว้าง โลกก็จะมีชีวิตราวกับเวทมนตร์ เป็นโลกอันศักดิ์สิทธิ์ที่จะช่วยปลุกเราให้ตื่นอย่างเหมาะเจาะ 

ตัวอย่างเช่น หากเราเดินเข้าไปในห้องห้องหนึ่งที่มีการจัดวางสิ่งต่างๆ ไว้อย่างเป็นระเบียบ สิ่งแวดล้อมในห้องนั้นก็จะมีผลกระทบต่อจิตใจเรา อาจทำให้เราใจเย็นลงหรือรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น หรือการที่เรารักษาความสะอาดร่างกาย สวมใส่เสื้อผ้าที่มีกลิ่นหอมและสะอาด ก็จะมีผลต่อสภาวะจิตของเราในวันนั้นด้วยเช่นกัน เราแต่ละคนสามารถแสดงออกซึ่งการดำเนินชีวิตอย่างสง่างามในแบบของเราเอง เป็นการแสดงออกซึ่งความใส่ใจต่อโลก ผู้คน และสิ่งแวดล้อมที่เราอยู่ 

แม้คำสอนชัมบาลาจะพูดถึงเรื่องการฝึกตน แต่ท้ายที่สุดมันก็ไม่ใช่สิ่งที่เกี่ยวกับเราทั้งหมดเสียทีเดียว ด้วยความเชื่อมั่นในความดีพื้นฐานและความสัมพันธ์ที่มีต่อผู้คนและต่อโลก เราตระหนักได้ถึงความเร่งด่วนของการมีส่วนร่วมในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นแก่โลกใบนี้ เราสามารถทำอะไรบางอย่างในแบบของเรา ช่วยเหลืออะไรบางอย่างแก่ผู้คนและแก่โลกใบนี้  การช่วยเหลือของเราไม่ได้ถูกขับเคลื่อนจากความคิดที่ว่า เราต้องเป็นอะไรบางอย่างเสียก่อนจึงจะไปช่วยคนอื่นได้ เช่น ถ้าเรารวย... ถ้าเรามีเงิน... ถ้าเราจบด็อกเตอร์ ถ้าเรามีความสามารถกว่านี้... ถ้าเราเข้มแข็งกว่านี้... เราไม่จำเป็นต้องรอให้ตัวเองดีกว่านี้ จึงจะมีประโยชน์ต่อโลกใบนี้ได้ ด้วยการตระหนักในความดีพื้นฐาน เรามีทุกสิ่งทุกอย่างที่จำเป็นอยู่ในตัวเองอยู่แล้วตอนนี้ การเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นและต่อสังคมที่เราอยู่ คือ การเริ่มต้นจากสิ่งที่เราเป็น (Start Where We Are)













 

 

 

บล็อกของ วัชรสิทธา • vajrasiddha

วัชรสิทธา • vajrasiddha
" ถ้าคุณไม่เห็นแหล่งอำนาจ คุณจะดูพฤติกรรมคน เช่น คนๆ นี้ไปอยู่ที่หนึ่งทำพฤติกรรมแบบหนึ่ง ไปอยู่อีกที่ก็ทำอีกแบบหนึ่ง คุณจะหลุดจากการตีตราพฤติกรรมคนก็ต่อเมื่อคุณวิเคราะห์แหล่งอำนาจของคนนั้นทันที นี่คือวิธีการที่พยาบาลและนักจิตวิทยาทำงานกับคนที่ใช้ความรุนแรง เมื่อเราบอกว่าเด็ก
วัชรสิทธา • vajrasiddha
วัชรสิทธา • vajrasiddha
ท่องจักรวาลจิตใต้สำนึก (1)กับ ถิง ชู ศิรดา ชิตวัฒนานนท์ ถอดความ/เรียบเรียง
วัชรสิทธา • vajrasiddha
เปิดเปลือยตัวตน ค้นพบตัวเองกับ ปรีดา เรืองวิชาธร30 ตค - 1 พย 2563ศิรดา ชิตวัฒนานนท์ ถอดความ / เรียบเรียง“กล่องใบใหญ่ใส่ใจ เล็ก หนัน นกฮูก ป้อย อัน นา เปิ้ล แพร์ งี้ อ้อย ดิว เหม ออย บิ๋ม เอิร์ธ จี๋ ณี วีณ ขนุน สุรินทร์ ต้น ตั้ม”
วัชรสิทธา • vajrasiddha
 ศ.ดร.สุวรรณา สถาอานันท์ บรรยายเนื้อหาจากเสวนา "เราจะรักกันไปทำไม? : ภราดรภาพในฐานะพลังในการขับเคลื่อนสังคม"
วัชรสิทธา • vajrasiddha
เนื้อหาจากคอร์สอบรม ตั้งหลัก: พื้นฐานการดูแลจิตและใจ รุ่น 4สรุปความโดย ชัยณภัทร จันทร์นาคPART 1 เสียหลัก
วัชรสิทธา • vajrasiddha
 Drawing Unconscious…เส้น สี ชีวิต และจิตใต้สำนึกที่ถูกหลงลืมบทความ โดย ฝน กนกพร ตรีครุฑพันธ์จากประสบการณ์ในการเข้าร่วมกิจกรรม “วาดจิตใต้สำนึก”22-23 กุมภาพันธ์ 2563 ณ วัชรสิทธา  
วัชรสิทธา • vajrasiddha
 หัวใจสุขาวดีเข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกแห่งสุขาวดีของคนบาปแต่มีหัวใจกับ อ.ดอน ศุภโชค ชุมสาย ณ อยุธยา
วัชรสิทธา • vajrasiddha
 WUJI : Unlock Potentialกำลังแห่งสุญญตาธรรมอ.ต้น ร่วมด้วย หมอดิน ถ่ายทอดและนำกระบวนการชัยณภัทร จันทร์นาค เรียบเรียงเนื้อหา 
วัชรสิทธา • vajrasiddha
มหายาน: "เพื่อเพื่อนมนุษย์และสรรพสัตว์" บนหลักเสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ
วัชรสิทธา • vajrasiddha
 ขับเคลื่อนใจไปพร้อมกับสังคม Subtle Activism: การเปลี่ยนแปลงสังคมทางพลังงาน เรียบเรียงเนื้อหาจากงานเสวนา Subtle Activism โดย Mary Englisแปลไทย โดย กฤตยา ศรีสรรพกิจ4 ตุลาคม 2562 ณ วัชรสิทธา