Myth of the Broken Heart Warriors
ทุกข์อย่างเป็นมิธ: เห็นทุกข์เป็นหนทาง
ณัฐฬส วังวิญญู เขียน
จากประสบการณ์การสอนคอร์สอบรม
The Myth of the Broken Heart
19-21 กรกฎคม 2562
ณ วัชรสิทธา
คอร์สอบรม "ตำนานศักดิ์สิทธิ์ของหัวใจที่แตกสลาย" The Myth of the Broken Heart ณ วัชรสิทธา ที่ผ่านมานี้ ถ้าจะถามว่ามีที่ไปที่มาอย่างไร ก็คงต้องขอบคุณตั้มที่พยายามชักชวนให้ผมได้สอนตามความสนใจตัวเอง โดยไม่ต้องเอาตลาดเป็นตัวตั้ง ความสนใจหนึ่งที่มีมาเสมอเป็นเรื่องของความเร้นลับของชีวิต ผมเป็นคนสนใจเรียนรู้เกี่ยวกับชีวิตผู้คนที่มีความแตกต่างหลากหลายมาก และผมสนใจว่าอะไรเป็นเงื่อนไขและปัจจัยที่ทำให้คนๆ หนึ่งต้องเลือกหรือดำเนินชีวิตในห้วงเวลาหนึ่งๆ และมีจุดพลิกผันหันเห มันน่าสนใจและน่าค้นหามากว่าอะไรคือแรงผลัก แรงจูง แรงดึงดูดของชีวิต แล้วชีวิตมันมีเป้าหมายอะไรในตัวมันเองไหม เราจะสามารถล่วงรู้หรือกำหนดมันได้มากน้อยเพียงใด ลึกๆ แล้วผมเชื่อว่าเราเลือกได้แต่ไม่ทั้งหมด เพราะการเลือกของเราก็มีที่ไปที่มาแล้ว เราไม่ได้เป็นคนเลือกที่ “อิสระ” จากปัจจัยในอดีตหรือความเป็นตัวเราหรอก หากเราไม่โกหกตัวเองอ่ะนะ
นอกจากผมสนใจชีวิตในเชิงมานุษยวิทยาแล้ว ก็สนใจในเชิงจิตวิทยาและจิตวิญญาณด้วย เพื่อจะค้นหาว่าอะไรทำให้ชีวิตมีความสุข หรือเป็นมีชีวิตที่มีคุณภาพ ทั้งทางกายภาพ ทางสังคม และทางจิตใจ และมากไปกว่านั้น อะไรคือโจทย์ของการมีชีวิตอย่างเต็มศักยภาพของการได้เกิดมาเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่มีลักษณ์ ความสามารถ สไตล์ นิสัยในแบบฉบับของตัวเอง ก็เลยเถิดมาสนใจงานของโจเซฟ แคมป์เบล ที่ศึกษามุมมองเหล่านี้ในวัฒนธรรมต่างๆ ทั่วโลกที่ทำให้เห็นว่า ตำนานเรื่องเล่าล้วนมีเป้าหมายการพัฒนาชีวิตไปสู่จุดที่สูงสุดของตัวเอง นั่นคือจุดที่คนๆ หนึ่งจะค้นพบแก่นสารที่แท้จริงของตัวเองและเอื้อเฟื้อสร้างประโยชน์ให้กับสังคม แต่การที่จะไปถึงจุดที่จะซื่อตรงต่อธรรมชาติและธาตุแท้ของตัวเองได้จำต้องผ่านการทดสอบและอุปสรรคมากมายที่เข้ามาปะทะชีวิต จนจำต้องผ่านจุดตีบตันและอาศัยพละกำลังทั้งทายกายและทางใจของตัวเองอย่างยิ่งยวด
นี่จึงเป็นที่มาของความเชื่อส่วนตัวที่ว่า บนเส้นทางของการแสวงหาและเข้าถึงความจริงแท้ของตัวเองนั้น บททดสอบของจริงจะนำมาซึ่งความทุกข์และความยากลำบากอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ พูดง่ายๆ คือ ไม่มีเส้นทางลัดที่สะดวกสบายสำหรับการเติบโตทางจิตวิญญาณ เพราะสิ่งที่จำเป็นต้องเกิด คือการ “ล่มสลาย”หรือ “ตายลง” ของตัวตน รวมถึงวิธีการหรือมุมมองความเชื่อเดิมเกี่ยวกับตัวเองและโลกที่กรอบกั้นการขยายออกของชีวิต ที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือ ชีวิตส่วนใหญ่ก็อาจไม่ได้มีอุดมคติหรือเป้าหมายที่จะต้องมาเติบโตทางจิตวิญญาณ และอาจมีเป้าหมายอื่นๆ ที่จับตัองได้อย่างเป็นรูปธรรมมากกว่า ไม่ว่าจะเป็นเป้าหมายทางโลกหรือแม้แต่ทางธรรม ในขณะเดียวกันโลกทางจิตวิญญาณหรือกระแสแห่งกรรมของคนๆ หนึ่งอาจนำพาเราไปสู่เส้นทางที่ต้องเผชิญหน้ากับบททดสอบทางจิตวิญญาณโดยที่เจ้าตัวไม่เคยรู้มาก่อน อันนี้แหละคือสิ่งที่ผมสนใจว่าเราจะสามารถถอดรหัสเส้นทางชีวิตในแต่ละช่วงของเราได้อย่างไรบ้าง ว่าชีวิตของเราทำไมต้องเติบโตมาในเงื่อนไขแวดล้อมนั้นๆ ต้องพบเจอเหตุการณ์หรือผู้คนแบบนั้นๆ เหตุการณ์ทั้งหลายเหล่านี้ตระเตรียมเราไปสู่การเปลี่ยนแปลงอะไร และไปสู่อะไร และเพื่ออะไร ความทุกข์หรืออุปสรรคชีวิตที่เราเผชิญอยู่นั้นมีเป้าประสงค์ทางจิตวิญญาณหรือความหมายพิเศษอันใดไหม เพราะหากได้รู้ เราจะได้ยอมรับทุกข์ได้อย่างรู้ความหมาย (แม้จะไม่ทันใจก็ขอให้มีแนวทางของการค้นหาความหมายนั้น) และวางใจที่จะยอมรับ เรียนรู้ไปกับมัน รวมทั้งค้นหามิตรหรือครูที่จะช่วยทำให้เราได้พัฒนาเปลี่ยนแปลงตัวเองตามที่จักรวาลปรารถนาที่จะเห็นในชีวิตของเรา
ผมอยากขอบคุณตั้ม วัชรสิทธาที่ชักชวน และผู้เข้าเรียนทุกคนที่ได้ร่วมกันสร้างพื้นที่เรียนรู้ที่เปิดรับ มุ่งมั่น ใฝ่รู้อย่างจริงใจ ทำให้ได้ร่วมกันค้นหาผ่านมิติอันเร้นลับของชีวิต เพื่อถอดรหัสธรรมที่แฝงอยู่ในชีวิตธรรมดาของเราแต่ละคน ว่าเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิต ไม่ว่าจะสุขหรือทุกข์นั้นมีความประสงค์ทางจิตวิญญาณอันใดแฝงอยู่ ที่ตรงกับเงื่อนไขหรือภาวะภายในของเราในตอนนั้นและความเป็นไปได้ในตัวเรา
สิ่งที่น่าสนใจเป็นพิเศษของครั้งนี้ คือผมเป็นเก้าท์ ข้อเท้าขวาบวมและเจ็บจนต้องเดินกระเผลก ซึ่งไม่ได้เป็นมานาน เคยเป็นแค่ครั้งเดียวเมื่อสี่ห้าปีก่อน
นอกจากจะเอะใจไปว่า “ครู” เขาช่วยทำให้เราช้าลง เพื่อจะได้มีสภาพที่ไม่มั่นคงเหมือนเคย เราจะได้ค้นหาและพึ่งพาสิ่งที่เหนือกายานุภาพไปอีก แล้วยิ่งได้เข้าไปพบกับรูปของคุรุทั้งสองท่าน คือท่านตรุงปะและเร้จจี้ เรย์ ก็ยิ่งทำให้รู้สึกนอบน้อมในงานทางจิตวิญญาณที่ท่านได้ทำมา ในยามที่คารวะครู ผมรู้สึกว่ามีพลังงานส่งผ่านมา ที่ให้คำสำคัญๆ คือ อิสรภาพ ความหลุดเป็นธรรมชาติ (Wild) ความดิบเดิม ความไว้วางใจ และการยอมรับความไม่สมบูรณ์ในตัวเองและในโลก
การได้สอน ได้ถ่ายทอดความคิดทำให้เราได้ยินเสียงของตัวเองและได้ทบทวนความเข้าใจในเนื้อหาของเรื่องนี้ให้ชัดเจนขึ้น การได้เล่าเรื่องของตัวเองในความสัมพันธ์กับพ่อที่ป่วยตั้งแต่ล้ม กระดูกขั้วสะโพกหักพร้อมกับอาการเส้นเลือดตีบในสมองที่ส่งผลให้กระบวนการฟื้นตัวช้ากว่าปกติ ทำผมได้พบกับความกลัว ความเป็นห่วงกังวล และหวั่นไหวเปราะบางอย่างใกล้ชิด ทำให้เห็นการปฏิเสธความชราภาพ ความไม่จีรังยั่งยืนและความเสื่อมสภาพอย่างขัดขืนและดิ้นรน เป็นความทุกช์ที่ชัดเจน ในขณะเดียวกันก็ได้ย้อนกลับไปสัมผัสห้วงเวลาอันมีค่าเมื่อเราได้ร้องเพลงกล่อมนอนให้พ่อ เป็นบทเพลงเดียวกันที่เราเคยได้ยินพ่อขับกล่อม อุ้มนอนตอนเราเด็กๆ การได้สลับบทบาทให้เราได้แสดงออกความรักและความอ่อนโยนระหว่างลูกชายกับพ่อนี้ทำให้ความอ่อนโยนละเอียดอ่อนก่อตัวขึ้นในตัวเราและในความสัมพันธ์กับผู้ชายคนแรกในชีวิตที่เรารู้จัก
หากมองเรื่องนี้จากมุมมองของจิตวิญญาณก็จะเห็นว่าเหตุการณ์นี้ทำให้ผมได้กระโจนข้ามขอบแดนของความเขินอาย ความกลัว และการเป็นผู้ชายที่แสดงออกกับพ่อได้อย่างจริงแท้และเต็มที่ ผมถอดรหัสหรือความหมายของเหตุการณ์นี้ว่า อุปสรรคที่เกิดขึ้นอาจทำให้เราได้ “เข้าสู่” เส้นทาง มากกว่าการฉุดรั้งหรือเตะเราให้กระเด็น “ออกนอก” เส้นทาง
ชีวิตจะตามหาเราและหาทางให้เราค้นพบสิ่งใหม่ๆ และขยายศักยภาพของเรา แต่หนทางนี้อาจไม่ราบเรียบหรือสะดวกสบายอย่างที่เราคุ้นเคย จนบางทีเราจะมองว่าเรามาผิดทาง เพราะอาจเต็มไปด้วยอุปสรรคที่เกินขีดความสามารถเดิมที่เรามีมาและท้าทายเราให้ขับเอาสิ่งภายในออกมามากกว่าที่เราเคยทำ หรือไม่ก็เผชิญหน้ากับความรู้สึกล้มเหลวและรวดร้าวครั้งแล้วครั้งเล่า จนสิ้นเนื้อประดาตัวและรู้สึกว่ามาผิดทาง แต่ถ้าดูให้ดี สิ่งที่ขวางเราอยู่นั้นอาจคือคำตอบหรือเส้นทางที่จะนำเราไปสู่ตัวตนอย่างใหม่ก็เป็นได้ (What’s in the way is the way!)
ในวันแรกเราจึงมาเล่าเรื่องเส้นทางชีวิตไปพร้อมกับถอดรหัสที่มีคุณค่าหรือความหมายทางจิตวิญญาณของแต่ละคนผ่านการบอกเล่าแบบบุคคลที่ ๓ ที่ทำให้แยกตัวเองออกมาจากความรู้สึกส่วนตัวที่เกิดขึ้นในตอนนั้น เหมือนการเล่านิทาน ในฐานะผู้เล่าเรื่อง แยกออกจากผู้ที่อยู่ในเรื่อง ก็น่าสนใจนะครับว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร สำหรับบางคนอาจได้มุมมองใหม่ หรือเห็นบางอย่างใหม่ รวมทั้งเห็นความหมายใหม่ในเรื่องราวเดิม
วันที่สองเราได้เดินข้ามเส้น มีหลายโจทย์หลายข้อที่ทำให้เราหลายคนได้เผชิญกับความจริงของตัวเอง หลายคนสั่นไหวแต่ก็กล้าหาญก้าวเท้าย่างอย่างยอมรับและมั่นคง เราได้ให้เกียรติและยอมรับเส้นทางชีวิตที่หลากหลายของแต่ละคน ยิ่งได้จับกลุ่มกับคนที่โดนใจก็ยิ่งได้ค้นพบความเข้มแข็งที่ถูกหล่อหลอมมาจากใจกลางของอุปสรรคชีวิต สิ่งที่เราอาจคิดว่าเป็น “บาดแผล” (Wound) หรือปมชีวิต ก็อาจมีฐานะเป็น “ครรภ์” (Womb) ที่ให้กำเนิดศักยภาพบางอย่างให้งอกออกมาก็เป็นได้ การได้เดินข้ามเส้นเพื่อยืนยันและะยอมรับนี้นอกจากจะได้ทำกับตัวเองแล้ว พอได้ข้ามเส้นแล้วหันหน้ากลับมาพบกับเพื่อนที่ยืนอีกฝั่งหนึ่งของห้องซึ่งเป็นเหมือนตัวแทนของสังคม มันทำให้เราได้ “เผชิญหน้า” กับ “สังคม” หรือหากเป็นสัญลักษณ์ในตำนาน คือการเผชิญหน้ากับ “มังกร” ที่คอยควบคุมพฤติกรรมและศักยภาพของเราด้วยกลไกแห่งความกลัว
หลังจากนั้นเราได้เรียนรู้เรื่อง ต้นแบบทางจิต (Archetypes) หรือบทบาทต่างๆ ที่ไม่ว่าจะอยู่ในสังคมไหน ก็จะพบบทบาทเหล่านี้ เช่น พ่อ แม่ เจ้าชาย โจร นักบวช เด็กน้อย ชนกลุ่มน้อย นักจัดการ โสเภณี นักรบ เป็นต้น ซึ่งบทบาทเหล่านี้มีหน้าที่ของตัวเอง และมีทั้งด้านบวกและด้านลบ บางบทบาทที่เราอาจตัดสิน เช่น โสเภณี ก็เป็นตัวแทนของบทบาทที่ทำงานเพื่อดูแลความอยู่รอด ซึ่งเป็นความต้องการพื้นฐานของชีวิต
นอกจากนั้นเรายังได้เห็นกฎเกณฑ์หรือกรอบคิดของสังคมที่ชี้คุณค่าไปในทิศทางหนึ่ง เช่น ความดีทั้งหลาย จนเราไม่กล้าจะเดินไปอีกด้านหนึ่งของค่านิยมนี้ เช่น ถ้าเราถูกสอนให้รักนวลสงวนตัว เราอาจจะไม่อยากนุ่งน้อยห่มน้อย แล้วแอบตัดสินคนที่มีพฤติกรรมเช่นนั้น เราอาจมองไม่เห็นว่ามันมี “แก่นสาร” อะไรในการกระทำแบบนั้น ซึ่งหมายถึง การมีอิสรภาพในร่างกายของตัวเอง การไม่กดขี่พลังชีวิตด้านในที่แสดงออกผ่านเนื้อหนัง เป็นต้น โดยสรุปแล้ว งานชิ้นใหญ่ที่ต้องทำบนเส้นทางจิตวิญญาณ คือการปลดแอกตัวเองออกจากภาวะพึ่งพิงทางอารมณ์ที่เรามีกับสังคมหรือครอบครัวที่ฝังลึกและแน่นหนามาก แต่ไม่ใช่เพื่อจะกลายเป็นจิ๊กโก๋หรือฮิปปี้ที่จะทำอะไรตามอำเภอใจ แต่เป็นเพื่อการค้นพบธาตุแท้หรือตัวตนที่แท้จริงของเราที่ไม่ขึ้นกับกฎเกณฑ์หรือระบบคุณค่าใดๆ เมื่อนั้นเราจึงจะสามารถปลดปล่อยตัวเราในเวอร์ชั่นที่เป็นตัวของตัวเองจริงๆ กลับไปยังประโยชน์ต่อสังคมได้
วันสุดท้ายเราเรียนเรื่องฤดูกาลที่เปลี่ยนผ่านของกงล้อชีวิต (Teaching of the Medicine Wheel) ที่ทำให้เห็นช่วงชีวิตช่วงต่างๆ ที่มีโจทย์ของมันเอง เช่น ชีวิตวัยเด็กจะเป็นไปตามสัญชาตญาณมากกว่าเหตุผลหรืออารมณ์ ความต้องการทางกาย วัยรุ่นก็เป็นวัยที่ต้องการเข้าใจตัวเองและแสวงหาคุณค่าในตัวเอง ไม่แปลกที่ต้องติดเพื่อน ติดเฟส ผละตัวเองออกจากเหย้าเรือนหรือพ่อแม่ ผู้ใหญ่ก็เป็นวัยที่เป็นวัยของการสร้างฐานะ ครอบครัว สังคม ชาติ เป็นวัยของการใช้เหตุผลแบบไม่ต้องสนใจอารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง วัยชราก็เป็นวัยที่ละจากการกระทำมาสู่การทบทวนใคร่ครวญ ถอดความรู้ และแบ่งปันประสบการณ์ เอื้อประโยชน์ให้กับตนอื่น เชื่อมหลอมประสานกับสิ่งต่างๆ เป็นต้น ช่วงชีวิตเหล่านี้ไม่ได้ขึ้นกับอายุของเรา แต่ขึ้นอยู่กับความปรารถนาภายในของชีวิตต่างหาก ที่จะนำพาให้เราต้องค้นหาว่าเราอยู่ในภาวะอะไร และต้องการจะไปต่อแบบไหน หลายๆ คนที่ได้เห็นวัฎจักรอันนี้ถึงกับรู้สึกโล่งใจและชัดเจนกับตัวเองมากขึ้นว่า อะไรนะที่ขาดหายไปในช่วงที่ผ่านมา เช่น บางคนไม่ได้มีชีวิตวัยเด็กหรือวัยรุ่นกับเขาเลย เพราะเงื่อนไขชีวิตที่ลำบากทำให้ต้องกระโดดข้ามไปสู่วัยของการทำงานมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน แนวคิดนี้ทำให้เราสามารถเข้าใจภาวะว้าวุ่นหรือแปรปรวนภายในของเราเองหรือคนอื่นได้มากขึ้น ว่าบางอย่างต้องการการเปลี่ยนแปลง ไม่ได้ผิดปกติในตัวมันเอง หรืออาจไม่ได้เป็นจิตเภท แต่เป็นเพราะบางอย่างที่ควรจะได้รับ กลับไม่เคยได้รับ แต่ขาดพร่องหรือถูกพรากจากไปในช่วงเวลานั้นๆ
สุดท้ายเรามาจบลงที่วงจรการเดินทางของฮีโร่ ที่ช่วยให้เราได้เห็นว่าวิกฤติหรือปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นกับเราอาจจะเป็นเสียงเรียก (Calling) จากจิตวิญญาณให้เราต้องกระทำการอะไรบางอย่างที่อาจต้องใช้พละกำลังมากมายและต้องเผชิญกับโจทย์หรือปีศาจที่มีฤทธิ์มากจนวิธีการเดิมๆ ที่เราทำมา หรือเป็นมา ใช้ไม่ได้ จนต้องยอมตายหรือศิโรราบให้กับการปะทะนี้ แต่แล้วก็จะมีบางอย่างก่อกำเนิดขึ้นมาใหม่และให้ชีวิตใหม่กับเรา เพื่อจะฝึกฝนและอยู่กับชีวิตใหม่นี้จนคุ้นเคย คล่องแคล่วหรือชำนาญ เพื่อจะสามารถกลับไปเผชิญหน้ากับมังกรตัวเดิมได้อย่างมั่นคงและมีชัย แบบแผนชีวิตที่ต้องเผชิญทุกข์เหล่านี้หากนำมาเป็นกรอบโครงในการกลับมาดูชีวิตของเราเองอาจช่วยให้เราเห็น “เส้นทาง” และ “ความหมาย” ของมันมากขึ้น จนสามารถอยู่กับทุกข์ได้อย่างวางใจและมีปัญญา
งานนี้ต้องบอกว่าเป็นการเดินทางในดินแดนของความไม่รู้จริงๆ ไม่รู้ว่าวันนี้จะเกิดอะไรขึ้น หรือห้านาทีข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น เหมือนกับเดินในความมืดด้วยเทียนไขหนึ่งดวงในมือ โดยอาศัยพลังงานและความสนใจ จริงใจและการค้นหาที่จริงแท้ของผู้เรียนนั่นเองที่นำทางผมให้ถอดรหัสความรู้ที่ตัวเองได้สั่งสมผ่านการทำงานมาในชีวิต
ผมรู้สึกดีใจกับหลายๆ คนที่สามารถก้าวข้ามความกลัวในตัวเองและแสดงออกได้ราวกับเป็นคนละคน ผสมผสานระหว่างความอ่อนโยนหรือเปราะบางสุดๆ มาสู่ความเข้มแข็งมั่นคงที่หักโค่นมิได้ (The Unbreakable Power of Vulnerability) อันนี้วิเศษสุดๆ ที่เกิดโมเม้นท์นี้ในเวิร์คชอปของเรา ขอบคุณคุณครูที่มาช่วยดูแลพวกเราทุกคนรวมทั้งผมด้วยครับ
ณัฐ ณ วัชรสิทธา