เรียบเรียงจากประสบการณ์ที่ได้จาก
คอร์สอบรมดอกไม้สื่อใจ
กับ อ.เชค ดิเรก ชัยชนะ
17-18 สิงหาคม 2562
ณ วัชรสิทธา
บทความโดย ชัยณภัทร จันทร์นาค
ผมนึกถึงข้อความหนึ่งในวีดิโอที่พูดถึงเรื่องการคัดลอกงานออกแบบกับการได้รับแรงบันดาลใจ ซึ่งผมคงไม่รู้สึกว่ามันเกี่ยวกันเลย หากผู้เข้าเรียนท่านหนึ่งไม่บอกว่ามีเพื่อนเขาทักมาว่า
“แบบนี้ไม่ต้องเรียนก็จัดได้”
อันที่จริงแล้วเพื่อนของผู้เรียนท่านนั้นเพียงแค่แซวเล่นๆ แต่คำแซวนี้ทำให้ผมได้มาเชื่อมโยงกับข้อความบางส่วนจากวีดิโอที่ผมเกริ่นไว้ข้างต้น ซึ่งมีเนื้อความทำนองว่า กราฟฟิคดีไซน์เนอร์ในไทยกว่า 90% เปิด Pinterest ดูเพื่อเป็น reference รูปแบบงานที่ออกมาจึงมีแนวโน้มจะเหมือนกันเป็นอย่างมาก แต่เราจะรู้ได้เลยว่างานชิ้นไหนเกิดจากไอเดีย ชิ้นไหนก๊อปมา
การจัดดอกไม้ อิเคบานะ (Ikebana) มีส่วนคล้ายกับเรื่องงานออกแบบ แต่เป็นในทางกลับกันคือ เราจะรู้ได้ทันทีว่างานไหนเกิดจากความพยายามในการสร้างความงาม และงานไหนเกิดจากการหยิบจับความงามที่มีอยู่แล้วในธรรมชาติขึ้นมาแสดง
ขั้นตอนการจัดดอกไม้อิเคบานะเน้นไปที่การตระหนักรู้ถึงสิ่งที่เป็นอยู่ตามธรรมชาติ ทั้งในรายละเอียดของพืชพันธุ์ ภาชนะ และพื้นที่
ความงามที่เกิดขึ้นจึงเกิดจากสภาวะจิตของผู้จัดที่เป็นหนึ่งเดียวกันกับผลงาน พื้นที่ และผู้ชม โดยปราศจากความก้าวร้าวในการบังคับให้ผลงานแสดงผลบางอย่าง
สิ่งที่ผมสงสัยเป็นอย่างแรกๆ เลย คือการตัดแต่งกิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นการบังคับธรรมชาติ
เมื่อเริ่มคิดถึงวิธีในการอธิบายก็พบว่า สิ่งที่อธิบายได้ดีที่สุดน่าจะเป็นความเป็นธรรมชาติที่ปรากฏให้เห็นในตัวผลงาน ซึ่งความเป็นธรรมชาติที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากสภาวะของการเปิดพื้นที่การรับรู้ การตัดแต่งกิ่ง ริดใบ ที่เกิดจากสภาวะจิตที่เปิดรับอย่างเต็มที่ จึงเหมือนกับว่าผู้จัดได้สื่อสารกับธรรมชาติแล้วว่า ธรรมชาติต้องการแสดงความงามในทิศทางไหน
การชื่นชมความงามในการจัดดอกไม้อิเคบานะนั้นแสนเรียบง่าย เพราะเราแค่รับรู้ความงามในแบบที่มันเป็นตรงๆ โดยไม่ต้องอาศัยการตีความใดๆ
ฟังดูง่ายและเหมือนว่าจะทำแบบมั่วๆ ก็ได้ แต่ความจริงมันมีจุดที่ท้าทายอยู่ คือเมื่อตัวผู้จัดเริ่มปฏิสัมพันธ์กับดอกไม้ ภาชนะ และพื้นที่ที่ไม่คุ้นเคย
การสังเกตเห็นความงามในสิ่งที่เราไม่คุ้นเคยนั้นท้าทายในระดับหนึ่ง และที่ท้าทายขึ้นไปอีกคือการมองให้เห็นความงามในสิ่งที่เราไม่ชอบ ซึ่งจะมาในรูปแบบของพืชพันธุ์ ภาชนะ และสถานที่ที่เรารู้สึกว่ายากต่อการจัดให้สวย
ผู้จัดต้องทำงานกับการออกจากความเคยชินในการพยายามคิดหาวิธี และฝึกฝนที่จะขยายขอบเขตการรับรู้ใหม่ๆ การเรียนจัดดอกไม้สองวันจึงเป็นการฝึกที่กินพลังงานมากกว่าที่คิดไว้ เป็นการภาวนาที่มีผลงานให้สามารถสะท้อนผลของการฝึกได้เป็นอย่างดี
ในคลาสเรียนจะมีช่วงที่ผู้เรียนทุกคนนำผลงานขึ้นมาวางบน Shrine เพื่อนำเสนอและให้ทุกคนชื่นชมความงาม ในครั้งแรกๆ และแทบทุกคนมักจะมีแนวคิดประกอบการจัดมาอธิบาย แต่พอจัดไปได้สักพัก คำอธิบายประกอบผลงานก็กลายเป็นสิ่งที่เรียบง่าย ตรงไปตรงมา และบางทีก็แทบไม่มีคำอธิบายใดๆ
เมื่อชื่นชมผลงานเป็นที่เรียบร้อย องค์ประกอบทุกอย่างก็ถูกแยกคืนกลับเข้าที่ และผลงานที่งดงามก็กลับสู่ความว่าง