Skip to main content

กระดาษแผ่นแล้วแผ่นเล่า กำลังถูกประทับด้วยตราปั๊มสีแดงเพื่อบอก “อนุญาต” ให้ผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองไปยังพม่า

ผู้คนจำนวนนับร้อยนับพัน ต่อแถวกันอยู่ที่ท่าขี้เหล็กในเขตแม่สายด้วยใบหน้ารอคอย ตั้งแต่ขั้นตอนการทำบัตร ชำระเงิน ตรวจเอกสาร จนกระทั่งพวกเขาจะได้ข้ามพ้นประตูด่านของเจ้าหน้าที่

เมื่อนั้น ใบหน้าที่บึ้งตึงก็จะเปลี่ยนเป็น “โล่งอก”

ฉันและเพื่อนยืนรออยู่ที่ทำบัตรเช่นเดียวกับคนอื่นๆ ขณะที่เพื่อนกำลังวาดฝันว่าเขาจะซื้ออะไรบ้างจากฝั่งพม่า ไม่ทันที่จะอ้าปากพูดว่า “เกาะกันไว้นะเดี๋ยวหลง” เพราะคนเยอะขนาดจนมีประกาศหาคนตลอดเวลา ไม่ทันไรฉันก็ถูกดันจากคนข้างหลังให้ขยับเข้าไปข้างหน้า ทั้งที่แถวมันเต็มแล้ว คนที่ดันเข้าไปพูดอย่างอารมณ์เสียว่า
“ทำไมมันช้าแบบนี้ รีบๆ หน่อย จะได้เร็วๆ”

เมื่อการต่อแถวกลายเป็นเรื่องน่ารำคาญ พวกเขาก็เริ่มแตกแถว แทรกมาจากทางซ้ายที ขวาที คนทำดีแต่ต้นเริ่มไม่พอใจ ต่างกระทบกระทั่งกันทั้งด้วยวาจา และร่างกาย เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งถึงขั้นตอนการรับบัตรผ่าน ผู้คนแยกย้ายกันไปกรอกชื่อ เซ็นเอกสาร เราก็จะไปแออัดยัดเยียดกันอีกครั้ง ณ ประตูผ่านข้ามแดน

แรกเริ่มเดิมที ฉันตั้งใจว่า เมื่อมีโอกาสแวะมาฝั่งพม่าแล้ว จะใช้บริการรถโดยสารไปเที่ยวที่วัด และตลาดของชาวบ้าน เพื่อนที่เคยไปแล้วบอกฉันไว้ว่า มองหารถสองแถวก็ได้ สามล้อก็มี หรือจะมอเตอร์ไซค์ ค่าโดยสารไม่เกินคนละ 50 บาท อยากไปที่ไหนก็บอกเขาได้ แต่ไปได้ไม่เกิน 5 กิโลเมตร และต้องกลับออกมาก่อนพลบค่ำ

ฉันใช้เวลาระหว่างยืนต่อแถว ชะเง้อชะแง้หารถโดยสารที่ว่า มองผ่านผู้คนทะลุเข้าไปอีกฝั่ง ด้วยหวังว่า จะได้ไปเที่ยวก่อนกลับมาซื้อของ

“มันมีแต่รถแบบนี้เหรอ” ชายคนหนึ่งส่งเสียงมา ฉันหันขวับไปดู เขาถือเอกสารไว้เป็นกำ เดินนำหน้าคณะญาติมิตรของเขา พลางใช้ร่างกายใหญ่โตนั้นเบียดเสียดคนเพื่อเร่งเร้าเจ้าหน้าที่ ทั้งที่เรายังอยู่ห่างจากด่านอีกตั้งหลายสิบเมตร

“นั่นไงๆๆ ตรงโน้นมีรถแท็กซี่”
อีกคนชี้ชวนให้ดู ชายร่างใหญ่ทำหน้าครุ่นคิด
“เออ น่าสนใจๆ เพราะคนขับแต่งตัวดี น่าจะเป็นคนไทย จำไว้นะอย่าไปกับพม่า!”
อ้าว ทำไมล่ะ ก็เรากำลังข้ามไปพม่าไม่ใช่เหรอ
นี่เป็นเสียงของฉันภายใต้ความคิด สงสัยพลังจิตเราจะสื่อถึงกัน เขาก็พูดออกมาอีก
“พวกพม่าไว้ใจไม่ได้ อย่างมากเราก็ไปกับไทยใหญ่ เผลอๆ มันเอาไปปล่อยแล้วไม่ให้ออก เรียกเงินเพิ่มอีกจะลำบาก”
อ้อ อย่างนี้นี่เองหรือ? ฉันนิ่งงันในความคิด ถามตัวเองว่า มันจะเป็นอย่างนั้นจริงๆ หรือ
ย้ายสายตามามองผู้คนที่ต่อแถว ใกล้จะถึงคิวแล้ว ไม่น่าจะเกิน 10 คน
“ผู้ถือบัตรอยู่ชิดซ้ายมือ รวมเอกสารกันได้ คนไม่ถืออยู่ขวามือค่ะ”

เสียงประกาศจากด่านตรวจดังผ่านไมโครโฟน คณะทัวร์ของชายร่างใหญ่หัวเราะคิกคักๆ ในเสียงพูดไม่ชัดของเธอ เขาแอบล้อเลียนเสียงพม่ากันอยู่ในกลุ่ม ขณะที่สังเกตเห็นคนหนึ่งในนั้นมีสีหน้าสุดเซ็ง หัวหน้าทีมโยนคำปลอบใจ
“ไม่ต้องเซ็งน่า รออีกนิดเดี๋ยวก็ได้เข้าแล้ว”
“ถ้ารู้คนเยอะขนาดนี้จะไม่มาเลย”
“อย่าคิดมากน่า เดี๋ยวเข้าได้แล้วก็อารมณ์ดี เพราะของโคตรถูกมาก เดี๋ยวซื้อเหล้าให้ขวดหนึ่งอะ”
“จิงอะ”
“จริ๊งง ซื้อไปแจกยังได้เลย ไม่งั้นไม่ข้ามมาหรอก”
“อ้อ แต่ว่าบุหรี่อย่าซื้อนะ มันของปลอม ที่พวกพม่าหิ้วๆ มาน่ะอย่าซื้อ เดี๋ยวพาไปซื้อร้านคนไทย ส่วนนาฬิกาก็ต่อเยอะๆนะ มันขาย 400 นี่ขอไปเลย 60 ยังไงมันก็ขายให้”

“เดี๋ยวเขาด่าตาย” อีกคนออกความเห็น
“มันด่าเราก็ไม่รู้เรื่อง ช่างมันเถอะ นี่เรานำเงินมาให้เขานะตั้งเท่าไหร่ ดูคนสิ”

อาจจะจริงอย่างเขาว่า เงินจำนวนมากคงสะพัดอยู่ในบริเวณนี้ ในอากาศที่มองไม่เห็นนั้นเต็มไปด้วยความต้องการ เฝ้ารอ ปรารถนา ตื่นเต้น และเบื่อหน่าย ขณะเดียวกัน ในฝั่งที่ห่างออกไปไม่กี่ก้าวนั้น จะมีความคิดใดบ้างอยู่ภายใต้ชุดผ้าถุง กระบุงหาบ

หรือท่าด่านจะมีก็แต่การแลกเปลี่ยนเงิน หรือว่าเราไม่อาจจะแลกเปลี่ยนอย่างอื่นแก่กันได้ ไม่ว่าจะวัฒนธรรมหรือทัศนคติใดใด?

แล้วเราก็ข้ามเข้ามาจนได้ ฉันหายใจยาวๆ เมื่อหลุดพ้นจากความแออัดและความชุลมุน
อดไม่ได้จริงๆ ที่จะเหลือบไปมองชายร่างใหญ่และคณะทัวร์ของเขาคนนั้น คนที่พูดข้างหูอยู่ตลอดเวลาว่าเขาคิดอย่างไรบ้าง

เหลือบไปดู ไม่น่าจะเกินหนึ่งนาทีเขาก็คงเข้ามาได้แล้ว แต่เขาก็ยังทำตัวเบียดเสียดและดันคนข้างหน้าอยู่ตลอดเวลา ชั่วเวลานั้นเมื่อเห็นขายาวๆ ของเขาตามหลังฉันมาติดๆ และรีบพับเก็บใบผ่านด่านยัดใส่กระเป๋าไว้

บางคนก็กระโดดโลดเต้นแสดงความดีใจ ที่ไม่มีรั้วเขตใดมากั้นกลางพวกเขาเอาไว้อีก เหลือก็แต่ความตั้งใจมุ่งมั่น

ใครไปก่อน ก็ได้ซื้อก่อน ในเมื่อเสียเวลาไปมากกับการต่อแถว เวลาที่เหลืออยู่คือ ทำอะไรก็ได้ที่อยากทำ แต่ก็ไม่เสมอไป เมื่อผ่านด่านตรวจของเจ้าหน้าที่มาแล้ว ก็ต้องมาเจอกับฝูงชนมหาศาล ที่เบียดกันอยู่หน้าร้านค้า

“ขอทางหน่อยค่ะ ขอทางหน่อย”
คำพูดตามมารยาทดังซ้ายทีขวาที พูดเสร็จก็เบียดเลย บางคนโดนชนจนกระเด็น ก็ไม่มีโอกาสได้รับการขอโทษ พ่อแม่จูงมือลูกไว้แน่นเพราะกลัวพลัดหลง กระเป๋าถือถูกเกาะกุมให้มิดชิด ไม่มีใครไว้ใจกันไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือพม่า คนแก่บางคนคงรู้สึกเหมือนจะเป็นลม ถูกประคองโดยลูกหลานให้มาอยู่ในมุมที่พอจะตั้งหลักได้

การจับจ่ายใช้สอยมีอยู่ทุกวินาที ทุกถนน ทุกร้านค้า การต่อรองที่ติดปาก แลกเปลี่ยนกับความอ้อนวอนเห็นใจกันไปมา จวบจนจะได้ราคาที่พอใจ ต่างคนได้ข้าวของที่ต้องการ หรือแม้จะไม่ต้องการก็ยังอดซื้อไม่ได้ เพื่อนที่ไปด้วยกับฉัน คว้ากระเป๋าสะพายมาใบหนึ่ง บอกด้วยสีหน้าดีใจว่า
“ใบละสองร้อยเอง ดูสิ ถูกมากๆ”
“ร้านโน้นต่อได้ใบละร้อยห้าสิบเองน้อง”

คนไทยด้วยกันแวะแสดงความเห็น เรายิ้มจางๆ ให้ ก่อนจะเห็นเขาปราดเข้าไปต่อราคาเสื้อกันหนาวต่อไป

อากาศที่สดใสของฤดูหนาว คงจะมีส่วนช่วยให้ทุกอย่างเย็นลงได้บ้าง

บทเพลงแว่วมาจากร้านขายซีดี ขับกล่อมชีวิตที่หมุนเวียนเข้าออกตลอดวัน ยังโชคดีที่บนพื้นที่แอดอัดนั้นยังพอมีที่ว่างให้ชายหญิงตาบอดได้นั่งขอทาน เด็กน้อยปั่นจักรยานเล่น หรือพ่อค้าชาวพม่าได้พักนั่งกินข้าว

เหลือบมองนาฬิกาแล้ว เวลาช่างผ่านไปรวดเร็ว นักท่องเที่ยวที่ได้ของถูกใจแล้วก็เริ่มทยอยกันกลับ บางคนมีจุดมุ่งหมายไปต่อ บางคนถึงเวลาต้องกลับภูมิลำเนาแล้ว ผู้คนทบทวนของที่ซื้อหามา ดูว่าขาดเหลืออะไร และท้ายสุด ก็ก้มลงควานหากระดาษสีขาวซึ่งเป็นใบผ่านชั่วคราวนั้นออกจากกระเป๋า

อีกครั้ง ที่เรากลับมายืนต่อแถวเพื่อข้ามด่านไปยังเมืองที่เรียกว่าประเทศไทย

ฉันเผลอมองหาชายหนุ่มร่างใหญ่พร้อมคณะของเขา ป่านนี้ยังนั่งแท็กซี่ไปชมเมืองอยู่ด้านใน หรือไม่ก็จับจ่ายซื้อของกันอย่างสนุกสนาน อย่างไรเสีย ก่อนพลบค่ำ เขาก็คงจะเดินออกมาเช่นเดียวกับฉัน เรามีเวลากันเพียงคนละ 1 วัน สำหรับการข้ามด่านที่นี่ แต่จะแปลกอะไร หากใครจะใช้เวลามากกว่านั้น หรือจะกลับเข้าไปใหม่

ฉันรู้ว่า ธนบัตรและเงินตราจะพาเราผ่านด่านพรมแดนที่ไหนก็ได้ทั่วโลก เท่าที่เงินจะอำนวยให้ได้ เพื่อการข้ามไปเหยียบผืนดินอื่น โดยเฉพาะรั้วกั้นที่มีสนนราคาเพียงแค่ไม่กี่สิบบาทแบบที่นี่
อีกฟากหนึ่งของถนน ยังมีผู้คนรอคอยเพื่อจะข้ามเข้าไป ยามนั้น เมื่อออกมาแล้ว อดหันกลับไปมองอีกครั้งไม่ได้ มองทะลุผ่านด่านกั้น รั้วสีฟ้า ป้ายประกาศ และเจ้าหน้าที่แปลกหน้าเหล่านั้น ฉันยังเผลอมองเห็น รั้วสีขาวใสที่อาจมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่คงต้องใช้หัวใจในการพินิจพิจารณา

ว่ายังมีอีกบางพรมแดน รออยู่ตรงนั้น พรมแดนที่กั้นกลางระหว่างอาณาจักรใจ และเป็นแบบทดสอบของเราอยู่เสมอๆ ที่ซึ่งไม่มีกฎหมายกำหนด และไม่จำเป็นต้องใช้ใบผ่านประทับตราในการก้าวข้าม

พรมแดนที่อยู่ในโลกอุดมคติ ที่หวังไว้สักวันว่าเราจะไปมาหาสู่กันอย่างมิตรและเท่าเทียมกัน พรมแดนนั้น ไม่มีใครมองเห็นมันได้นอกจากหัวใจของเราเอง.

000

000

000

000

000

000

000

000

 

บล็อกของ วาดวลี

วาดวลี
“พี่ไม่มีอะไรจะเสียแล้ว ใครจะฟ้องร้องเอาอะไร ก็ไม่มีให้เขา มันเสียไปหมดแล้ว” รถโดยสารของความอึดอัดกำลังเคลื่อนขบวน โดยมีเราอยู่ในนั้น ฉัน และเขา “ผู้เช่าบ้าน” และ “ผู้ให้เช่า” ตามภาษาในเอกสารสัญญาของเรา กำลังยืนอยู่ตรงหน้ากัน  ด้วยท่าทีที่เปลี่ยนไปจากเดิมที่เคยเป็น และอย่างที่ไม่เคยคิดมาก่อน..........จำได้ว่าเมื่อ 1 ปีก่อน ตอนที่ฉันพบเขาครั้งแรก เขาไขกุญแจรั้วบ้านหลังหนึ่งซึ่งมีป้ายติดประกาศว่า “ให้เช่า” ด้วยท่าทีอ่อนโยน ดวงตาเป็นประกาย พาฉันเดินเยี่ยมชมอย่างต้อนรับขับสู้ ริมฝีปากนั้นไม่เคยขาดรอยยิ้ม เขาเล่าว่า ทาวเฮาส์หลังนี้ซื้อไว้เมื่อ 10 ปีก่อนเพื่อให้แม่อาศัย…
วาดวลี
----------ภายใต้แสงจันทร์  ที่ริมฝั่งนั้นพี่ยังจำได้ จงกลับคืนมาหารักดังเก่า  ลืมเรื่องร้ายคลายเศร้า เจ้าอย่าทำเมินไฉน พะเยารอเธอ  รอรักด้วยความห่วงใย  จะนานแสนนานเท่าไหร่  ขอให้เธอนั้นกลับมา----------“เพลงแปลกหูดีนะ ร้องเพลงอะไรเหรอ” “เพลงของเมืองที่เรากำลังจะไปนี่ไงล่ะ”คนตอบหักพวงมาลัย ซ้ายที ซ้ายที ขณะรถของเรากำลังไต่อยู่บนเส้นทางคดโค้งโอบล้อมไปด้วยภูเขา ฉันพยายามเอียงตัวเพื่อจะถ่ายรูป ฟ้ายามบ่ายสดใสเหมือนไม่มีเค้าฝน ฟังเพลงนั้นอย่างตั้งใจ “อ๋อ เพลงพะเยารอเธอ ใช่ไหม” ฉันถามอีกครั้งให้แน่ใจ คนร้องพยักหน้าหงึกหงัก ความทรงจำเก่าๆ ของเพลงต้นฉบับล่องลอยมาแต่ไกล…
วาดวลี
ระหว่างทุ่งนาเขียวขจีของฤดูฝน หรือ ถนนดินแดงเต็มไปด้วยผงฝุ่นฤดูแล้ง ยามหนึ่งในอดีตกาล ในความนึกคิดวัยเยาว์จำความได้ว่า ถึงเวลาเลิกเรียนแล้ว ฉันและเพื่อนต่างจ้ำอ้าวออกจากประตูโรงเรียนแทบไม่คิดชีวิต เปล่าหรอก เราไม่ได้เกลียดโรงเรียนขนาดนั้น ไม่ได้เบื่อคุณครู เพียงแต่เราคิดถึงพื้นที่อิสระ ที่เราไม่ต้องใส่ชุดกระโปรงแล้วกลัวเปื้อน มีที่วิ่งเล่น ได้ทำอะไรก็ได้ที่อยากทำ มีขนมกิน  มีคนดูแล และมีหนังสืออ่าน และพื้นที่ที่ว่านั้น ก็คือบ้านของเราเองบ้านของฉันห่างจากโรงเรียนไม่ถึงกิโลเมตร แค่ออกจากบ้านมาสัก 10 ก้าว ก็เห็นเสาธงตั้งโด่เด่ติดกับวัดของหมู่บ้าน ดังนั้น…
วาดวลี
“อีกนานเลยสินะ กว่าจะได้เจอกัน”สุ้มเสียงคนพูดเจือปนความอาวรณ์ ขณะโยนถุงใบเล็กใหญ่ใส่หลังรถกระบะสีขาวเก่าๆ ของเพื่อนผู้มีน้ำใจ เจ้าของรถหยอกเอินในฐานะเพื่อนสนิทว่า“ตอนมามีเสื้อผ้าชุดเดียว ขากลับทำไมมีของเยอะนัก”เขากำลังจะกลับบ้านชายหนุ่มรูปร่างผอมบาง ตัวเล็กๆ ที่รู้จักกันมาได้ปีกว่าแล้ว เขาเล่าว่า สมัยที่มาอยู่เชียงใหม่แรกๆ เพิ่งเรียนจบมัธยมสาม หางานทำในอำเภอไม่ได้ก็ลองเข้าเมืองมาเสี่ยงโชค เวลานั้น กราบลาพ่อแม่ แล้วนั่งรถโดยสารมาด้วยราคา 45 บาท กับระยะทาง 100 กว่ากิโลเมตรมาอาทิตย์แรก ตระเวนขออาศัยยังหอพักเพื่อนที่พอรู้จัก จะอยู่บ้านใครนานก็เกรงใจคนอื่น ตะลอนหางานทำ ตั้งแต่พนักงานขนของ…