Skip to main content
           เชื่อแน่ว่าหนึ่งในหัวข้อที่เป็นที่ถกเถียงกันในหมู่นักวิชาการเกี่ยวกับรัฐบาลของรัฐบาล..คงไม่พ้นโครงการรับจำนำข้าวที่มีทั้งผู้เห็นด้วยและผู้ไม่เห็นด้วย ในฝั่งของผู้ไม่เห็นด้วยก็มีนักวิชาทางนิด้าและทีดีอาร์ไอเข้ามาเป็นแกนหลัก และในส่วนของผู้เห็นด้วย แน่นอนว่าย่อมเป็นรัฐบาลผู้ออกนโยบายเองอีกทั้งเกษตรกรที่ได้รับผลประโยชน์ (beneficiary) จากการอุดหนุนตลาดนี้
           โครงการรับจำนำข้าวในทัศคติของตัวกระผมนั้น มีอยู่ 2 ด้านคือ ทั้งเห็นด้วย และ ไม่เห็นด้วย แต่จะเอนไปฝั่งไม่เห็นด้วยเสียไปเป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้เพราะการรับจำนำข้าวถือเป็นการแทรกแซงตลาดที่ทำโดยรัฐ โดยมีวัตถุประสงค์มุ่งหวังเพื่อให้ผู้รับมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จากราคาพืชผลทางการเกษตรที่สูงขึ้นอันนำมาซึ่งรายได้ที่สามารถนำมาจุนเจือ ครอบครัวได้มากขึ้นนั่นเอง แต่ก็มีข้อเสียบางอย่างที่น่าสนใจ โดยกระผมขอแยกเป็นประเด็นต่างๆ ดังนี้
 
      1. ในทางทฤษฏีเศรษฐศาสตร์ โครงการรับจำนำข้าวเป็นการแทรกแซงตลาด (Government Intervention) เป็นการกำหนดราคารับซื้อที่สูงเกินกว่าราคาตลาด เกษตรกรมีแรงจูงใจ (Incentive) ที่สูงกว่าความต้องการที่แท้จริงของตลาด(Demand) ก่อให้เกิด “ของเหลือ” เกิดขึ้น และจะเหมือนกับโครงการหอมแดงโดยอคส.  ในปี พ.ศ. 2554 การกระทำดังกล่าวทำให้ตลาดออกากจุดดุลยภาพ (Equilibrium) คำถามก็คือว่า แล้วจุดดุลยภาพที่ว่า มันอยู่ตรงไหน ? ไม่มีใครตอบคำถามข้อนี้ได้ เพราะตลาดเมื่อเข้าสู่รูปแบบของการแข่งขันสมบูรณ์แล้ว ราคาของตลาดจะตอบสนองตามแรงแห่งอุปสงค์และแรงแห่งอุปทาน สิ่งนี้เรียกว่า Price Mechanism (Smith) การแทรกแซงดังกล่าวเป็นการทำลายรูปแบบของ Laissez – Faire ที่ปล่อยให้อุปสงค์และอุปทานทำงานกันไปตามหลักมือที่มองไม่เห็น (Invisible Hand) ถามว่า แล้วมันสำคัญอย่างไร ? มันสำคัญก็เพราะเมื่อรัฐบาลชุดใหม่เข้ามา หรือรัฐบาลชุดนี้ล้มเลิกโครงการดังกล่าวนี้ ตลาดจะมีต้นทุนในการกลับคืนสู่สภาวะเดิม ต้นทุนดังกล่าวอยู่ในรูปของค่าเสียโอกาสนั่นเอง อย่างไรก็ตาม ใช่ว่ารัฐจะไม่สามารถแทรกแซงตลาดได้เลย เมื่อไหร่ก็ตามที่ตลาดเกิดความล้มเหลว (Market Failure) รัฐบาลสามารถเข้าแก้ไขด้วยการเก็บภาษี หรือการอุดหนุน แต่เมื่อใดที่ตลาดไม่ได้เกิดความล้มเหลว หากแต่สมบูรณ์ตามวิถีทางอยู่แล้วนั้น การแทรกแซงตลาดด้วยการอุดหนุนหรือภาษีจะกลายเป็นความล้มเหลวทางตลาดเสียเอง เพราะฉะนั้น รัฐควรให้ความสำคัญกับองคภาวะของตลาด (Market Condition) เพราะมันมีส่วนสำคัญต่อสวัสดิการของประชาชนโดยรวม คนที่มีส่วนได้ส่วนเสียแน่นอนว่าจะต้องมีทั้งคนที่พอใจและไม่พอใจ การรับมือดังกล่าวจะถูกถ่ายโอนจากตลาดมายังรัฐบาล หากรัฐไม่มีการไตร่ตรองให้ถี่ถ้วนถึงธรรมชาติของตลาดเสียก่อนออกโครงการ
      2.  โครงการรับจำนำข้าว เป็นการช่วยเหลือชาวนา ชาวนาในประเทศไทยมีจำนวน 4 ล้านคน 1 ล้านคนเป็นเกษตรกรผู้ร่ำรวยซึ่งมีปริมาณข้าวให้ตลาดข้าวถึง 52% คำถามที่เกิดขึ้นคือ ทำไมรัฐต้องเลือกอุดหนุนชาวนา ? แน่นอนว่าชาวนามีความสำคัญของระบบเศรษฐกิจไทย แม้ไม่ใช่อันดับหนึ่งแต่ก็ไม่น้อยกว่ากว่าภาคอื่น อย่างไรก็ตาม จากหลัก Maximin ของ John Ralws ที่กล่าวว่าสวัสดิการของสังคมสามารถเพิ่มขึ้นได้โดยการไปเพิ่มสวัสดิการของผู้ที่ได้ส่วนแบ่งของความมั่งคั่งของชาติน้อยที่สุด พูดอีกทีก็คือ คนจนที่สุด รัฐควรช่วยเหลือคนจนที่สุด ปัญหาก็คือว่า แล้วคนจนที่สุดในประเทศไทยคือใคร ? ใช่ชาวนาหรือไม่? หรือเป็นแรงงานในโรงงาน? หรือว่าเป็นภาคการก่อสร้าง คนจนในประเทศไทยที่ใช้ชีวิตภายใต้เส้นความยากจนที่ 1,678 บาทต่อเดือน มีมากกว่า 5 ล้านคน (สำนักงานสถิติแห่งชาติ) แล้วคนเหล่านี้ ได้รับประโยชน์จากนโยบายแห่งรัฐแล้วหรือยัง ? ไล่ตั้งแต่นโยบายรถคันแรก คนที่ซื้อรถ มีความสามารถในการผ่อนชำระคือคนจนที่รายได้สุทธิน้อยกว่า 150,000 บาทต่อปีใช่หรือไม่? หรือว่าคนที่ได้รับประโยชน์คือคนชั้นกลาง ที่พร้อมจะซื้อรถกันอยู่แล้ว นี่เป็นคำถามที่รัฐบาลจะต้องหาคำตอบ หรือนโยบายบ้านหลังแรก ที่ออกกฎว่าสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ คำถามคือ คนจนเสียภาษีไหม? คำตอบว่า ไม่ ตามประมวลกฎหมายรัษฎากร คนไทยที่มีรายได้ต่อปีน้อยกว่า 150,000 บาท ไม่ต้องเสียภาษี แล้วอย่างนี้ คนจนจะสามารถใช้ประโยชน์จากโครงการบ้านหลังแรกได้อย่างไรในเมื่อเขาไม่ได้จ่ายภาษี และกลายเป็นผู้ผิดเกณฑ์ (Ineligilbility) ของโครงการไป ถัดมาที่โครงการแทปเล็ต คนที่ได้ประโยชน์จากนโยบายถลุงเงินนี้คือเด็กป. 1 ที่ยังไม่มีงานวิจัยใดที่การันตีถึงประโยชน์ของแท็ปเล็ต ยกเว้นคำกล่าวอ้างของรมว.ไอที (ทำไมไม่ใช่กระทรวงศึกษา?) ที่ว่าดีอย่างนู้น ดีอย่างนี้ ต่างชาติเขาทำกัน คำถามคือ งานวิจัยที่รองรับอยู่ที่ไหน? นโยบายของรัฐบาลชุดนี้ต้องยอมรับว่าสามารถดึงดูดให้ประชาชนที่เข้าคูหานั้น กาเลือกให้ได้อย่างสบายๆ เพราะมันคือนโยบายประชานิยม แต่มันไม่ใช่นโยบายสังคมนิยม สังคมนิยมคือทุกคนในสังคมต้องได้เหมือนกัน แต่จากนโยบายปีแรกของรัฐบาลดังกล่าว เห็นได้ชัดว่ามีเพียงคนบางกลุ่มเท่านั้นที่ได้รับประโยชน์ไป ซึ่งเป็นจุดที่รัฐควรให้ความสำคัญอย่างยิ่ง  และในแง่ของความคุ้มค่า ภายใต้จุดประสงค์หรือผลประโยชน์ใดใด รัฐควรดูว่ามีวิธีการอื่นอีกไหมที่จะถึงซึ่งจุดประสงค์โครงการด้วยวิธีอื่น ที่ใช้ค่าใช้จ่ายถูกกว่า ลักษณะนี้เรียก Cost- Effectiveness Analysis เช่น กรณีช่วยเหลือชาวนาจำนวน 4 ล้านคน ใช้เงิน 1 ล้านล้านบาท โดยหากใช้วิธีรับจำนำข้าวแล้ว จะทำให้ชาวนามีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยคนละ 1,000 บาทต่อเดือน ยังไม่รวมต้นทุนค่าเก็บรักษาข้าว ค่าดำเนินการต่างๆ รวมถึงต้นทุนค่าเสียโอกาส เปรียบเทียบกับวิธีแจกจ่ายเงินโดยตรง คนละ 1,000 บาท ชาวนา 4 ล้านคน รัฐก็จะใช้เงินแค่ 4 พันล้านบาท ต้นทุนในการดำเนินงานยังถูกกว่าเพราะไม่ต้องมีค่าเสื่อมของข้าวหรือค่ารักษา ข้าว นี่คือเรื่องสำคัญเพราะจะเป็นการยืนยันว่ารัฐบาลมีประสิทธิภาพในการบริหาร เงินภาษีของราษฎรมากน้อยแค่ไหนนั่นเอง
     3.  ทั้ง นี้ ผู้เขียนก็เห็นด้วยกับโครงการรับจำนำข้าวในบางประการเช่นกัน โครงการรับจำนำข้าวนั้นเป็นการกระตุ้นตลาดในอีกทางหนึ่ง ทำให้ชาวนามีความตื่นตัวในการทำการเกษตร การทำนาเป็นสิ่งที่คู่กับสังคมไทยมาตั้งแต่สมัยโบราณ ถึงแม้ว่าประเทศที่พัฒนาแล้วจะทำอุตสาหกรรมมากกว่าเมื่อเทียบกับเกษตรกรรม แต่ประเทศเกษตรกรรมก็สามารถหล่อเลี้ยงชาติได้เหมือนกัน เพราะอย่าลืมว่าชีวิตมนุษย์ แม้จะอาศัยความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตแค่ไหน แต่ก็ต้องกิน และสิ่งที่กิน ย่อมหมายถึงสินค้าเกษตรกรรมนั่นเอง เพราะเราบริโภคอุตสาหกรรมเป็นอาหารไม่ได้ การให้ความสำคัญกับสินค้าเกษตรเป็นสิ่งที่ทุกประเทศให้ความสนใจ นโยบายของรัฐก็เช่นกัน เมื่อกระทบกับราคาตลาด ย่อมมีผลในวงกล้างไม่เพียงเฉพาะผู้ปลูกหรือผู้ขายเท่านั้น จากโครงการดังกล่าว เมื่อเห็นว่าราคาข้าวสูง ชาวบ้านก็หันมาทำนากันมากขึ้น การเปลี่ยนภาคการเกษตรไปยังพืชไร่ก็น้อยลง หากรัฐบาลมีการบริหารจัดการที่ดี ไม่ว่าจะซื้อขายผ่านรัฐแบบ จีทูจี หรือ เอ็มโอยู ประเทศไทยก็จะยังคงรักษาตำแหน่งแชมป์ส่งออกข้าวในโลกได้อย่างในอดีต เงื่อนไขที่มาพร้อมภาระหน้าที่ของรัฐบาลในการดูแลทุกข์สุขประชาชนนี้ย่อมติด ตัวรัฐบาลตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาบริหารประเทศจนกระทั่งถึงวันสุดท้าย
     4. การประเมิณค่าใช้จ่ายหรือบางคนอาจเรียกว่าค่าความเสียหายของโครงการรับจำนำข้าว การที่เรารู้จำนวนตันของข้าว แล้วนำไปคูณกับ 15,000 บาทต่อตันนั้น เป็นตัวเลขที่เกินจริงไปเสียหน่อย เพราะชาวนาทุกคนที่เข้าโครงการรับจำนำพืชผลทางการเกษตรนี้ไม่ใช่ว่าได้ 15,000 กันทุกคน ข้าวที่นำมาจำนำ ต้องมีการตรวจสอบคุณภาพ ตรวจสอบความชื้น และโรงสีมีหน้าที่ออกใบประทวน ชาวนาจึงจะนำไปใบประทวนนี้ไปให้กับธกส แล้วธกส. ที่จะโอนเงินเข้ามาในบัญชีของเกษตรกร ข้าวของเกษตรกรที่มีความชื้นสูงกว่ากำหนด คุณภาพไม่ได้ตามที่วางไว้ ย่อมไม่ได้ 15,000 บาท อาจจะเป็น 12,000 หรือ 13,000 ลดหลั่นกันตามคุณภาพของข้าว ทั้งนี้การนำ 15,000 เข้าไปคูณจำนวนที่รัฐรับเข้ามานั้นถือว่าเป็นตัวเลขประมาณที่ค่อนข้างสูงเกินจริง ทั้งนี้จากขั้นตอนของการรับจำนำข้าวดังกล่าว เป็นการเปิดโอกาสให้เกิดการทุจริตเกิดขึ้น ในขั้นตอนของการออกใบประทวนโดยโรงสี  ตามหลักเศรษฐศาสตร์นั้น เกษตรกรอาจมีแรงจูงใจมากพอที่จะฮั้วกับโรงสีให้ออกใบประทวนที่เขียนถึงคุณภาพของข้าวถึงเกณฑ์ 15,000 บาท โดยเกษตรกรจะสามารถจ่ายให้กับโรงสีในจำนวนสูงสุดเท่ากับส่วนต่างของราคาจริงกับเพดาน 15,000 บาท เช่น หากข้าวของเกษตรกรมีคุณภาพแค่ 12,500 บาท เกษตกรอาจเสนอให้โรงสีออกใบประทวนที่การันตีคุณภาพข้าว 15,000 บาท โดยเสนอเงินให้กับโรงสีเป็นจำนวนตั้งแต่ 0 – 2,500 บาท (เพราะถ้าเกิน 2,500 บาท ก็จะมากกว่าประโยชน์ที่ได้รับจากการฮั้ว) ดัง นั้น คนที่ได้ประโยชน์จากการกระทำดังกล่าว ก็คือ เกษตรกรที่ได้รับเงินมากกว่าเงินที่ควรจะได้หักลบด้วยค่าใช้จ่ายในการฮั้ว กับโรงสี และโรงสีก็ได้รับประโยชน์จากการออกใบประทวนเช่นกัน ส่วนคนทีเสียหายย่อมเป็นรัฐบาล และอย่าลืมว่า ความจริงแล้ว รัฐบาลเองก็ไม่ได้เสียประโยชน์อะไร เพราะเงินที่รัฐบาลนำมาบริหารประเทศก็มาจากเงินของราษฏรอันมาจากภาษีทั้ง สิ้น พูดง่ายๆก็คือว่า คนที่เสียหายที่แท้จริง ย่อมเป็นประชากร 2 ล้านกว่าคน จาก67 ล้านคนที่เสียภาษีในแต่ละปีนั่นเอง ทั้งนี้ เรา ในฐานะผู้เสียภาษีจะมีความเสียหายมากกว่านี้หลายเท่า หากนักวิชาการ และผู้มีความรู้ทั้งหลายนิ่งเฉย ไม่ยอมออกมาแสดงความคิดเห็นหรือตอบโต้นโยบายแห่งรัฐต่างๆ การปล่อยปะละเลยนั้น เอื้อประโยชน์แก่ผู้มีสถานะเหนือกว่าให้ทำการโดยมิชอบได้อย่างง่ายดาย ถึงเวลาแล้วที่เราควรหันมาให้ความสำคัญกับการทุจริตในบ้านเมือง
             ปัญหาของประเทศกำลังพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศส่วนมาก ประกอบด้วย การที่มีราคาสินค้าเกษตรไม่แน่นอนอันเนื่องมาจากการมีอุปสงค์และอุปทานที่ยืดหยุ่นต่อราคาต่ำ เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงในองคภาวะตลาด (Market Condition) แล้ว ราคาย่อมเปลี่ยนมาก เมื่อราคาเปลี่ยนมากย่อมหมายถึงความไม่แน่นอน (Volatile) และนำไปสู่รายได้ที่ไม่แน่นอน นอกจากนั้นเรื่องของ Terms of Trade ก็สำคัญ เมื่อ TOT สูง ขึ้น สวัสดิการโดยรวมของคนในประเทศย่อมสูงขึ้นเพราะหมายถึงการที่ราคาสินค้าส่ง ออกมีราคาสูงขึ้นเมื่อเทียบกับราคาสินค้านำเข้าที่ผู้บริโภคภายในประเทศจะ ต้องแบกรับเอาไว้ บางคนก็เลยบอกว่า งั้นก็ดีแล้วสิที่ราคาข้าวจะสูงขึ้น เพราะ TOT จะได้สูงขึ้น ทั้งนี้ การอ้าง TOT กับราคาสินค้าส่งออกนั้น สามารถอธิบายด้วยเส้น Offer Curve ในเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ บางครั้งเส้น Offer Curve มีลักษณะ Backward-Bending หรือวกกลับ นั่นคือ ในช่วงแรกที่ราคาสูงขึ้น แน่นอนว่าสวัสดิการโดยรวมจะสูงขึ้น แต่ในระยะเวลาต่อมา ราคาสูงขึ้นกลับมีผลทำให้สวัสดิการลดน้อยถอยลง Volume of trade ลดน้อยลง นอกจากนั้นปัญหาที่สำคัญของประเทศกำลังพัฒนาอีกประการนั่นคือการเข้าถึงตลาดประเทศพัฒนาแล้วนั้นทำได้ยาก อันเนื่องมาจากการกีดกันทางการค้าผ่าน Tariff, Quota, Anti-dumping policy, Countervailing dutiesเป็นต้น แน่นอนว่าสินค้าเกษตรต้องออกมามากกว่าภายใต้เงื่อนไขราคาดุลยภาพเดิม ทั้งนี้การแก้ไขดังกล่าว อาจเป็น Buffer Stock หรือ Multilateral Contract ก็ได้เพื่อการันตีว่าสินค้าของชาวนาที่ผลิตออกมานั้นจะมีตลาดไว้รองรับ ผู้ผลิตก็มั่นใจว่าจะขายสินค้าได้ ผู้บริโภคก็มั่นใจได้ว่าจะมีสินค้าให้บริโภคกันแน่นอน ภายใต้ระดับราคาหรือช่วงราคา (Market floor and ceiling) ที่กำหนดไว้นั่นเอง เชื่อแน่ว่า นโยบายแห่งรัฐไม่ว่าจะมีลักษณะอย่างไร หากมุ่งเน้นประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแล้วนั้น ย่อมส่งผลดีให้กับประเทศ สวัสดิการโดยรวมของชาติ (National Welfare) ย่อมสูงขึ้น ชีวิตความเป็นอยู่ คุณภาพชีวิตย่อมดีขึ้นและนำไปสู่ความกินดีอยู่ดีที่ทุกคนถวิลย์หาอย่างแน่นอน
 
 
แหล่งอ้างอิง
Hyman, D. N. (2010) Public Finance. CT: Cengage Learning. 
Yarbrough V. B. and Yarbrough M. R. (2002).  The world Economy. CT: South - Western College.

บล็อกของ วรรณพงษ์ ดุรงคเวโรจน์

วรรณพงษ์ ดุรงคเวโรจน์
       เปรียบ สมัยก่อนมี “เพลงแก้” วรรณกรรมนี้ขอเรียกเป็น “บทความแก้” ก็แล้วกัน หากเพลงแก้ไม่มีวัตถุประสงค์อันตรายแอบแฝงฉันใด บทความแก้ย่อมไม่มีเป้าหมา
วรรณพงษ์ ดุรงคเวโรจน์
การค้าระหว่างประเทศ VS การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมศัตรูหรือกัลยาณมิตรวรรณพงษ์  ดุรงคเวโรจน์นักวิจัยสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง
วรรณพงษ์ ดุรงคเวโรจน์
                  ส่งท้ายปี 2556 ในคืนสิ้นปีด้วยบทความสรุปสภาวะเศรษฐกิจตลอดปี 2556 
วรรณพงษ์ ดุรงคเวโรจน์
           เชื่อแน่ว่าหนึ่งในหัวข้อที่เป็นที่ถกเถียงกันในหมู่นักวิชาการเกี่ยวกับรัฐบาลของรัฐบาล..คงไม่พ้นโครงการรับจำนำข้าวที่มีทั้งผู้เห็นด้วยและผู้ไม่เห