Skip to main content

การค้าระหว่างประเทศ VS การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

ศัตรูหรือกัลยาณมิตร

วรรณพงษ์  ดุรงคเวโรจน์

นักวิจัยสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง

            ในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาได้มีการตระหนักถึงความสำคัญของความขัดแย้งระหว่างการค้าระหว่างประเทศกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ได้จัดตั้งโครงการ Green Economy[1] โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์ ความเท่าเท่ากันในสังคม ลดความเสี่ยงทางสิ่งแวดล้อมและการขาดแคลนความสมบูรณ์ของระบบนิเวศวิทยา ในทางปฏิบัติ UNEP สนับสนุนให้การเติบโตของรายได้และการจ้างงานถูกขับเคลื่อนโดยการลงทุนของภาครัฐและภาคเอกชนที่ช่วยลดการปล่อยมลพิษ ส่งเสริมการใช้พลังงานและทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และป้องกันความสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและนิเวศบริการ ทั้งนี้ จากรายงานประจำปี 2556 ของ UNEP[2] พบว่ามีการรณรงค์ให้กลยุทธ์ด้านการค้าระหว่างประเทศแบบยั่งยืน (Sustainable international trade) ที่สนับสนุนเศรษฐกิจสีเขียว ประกอบด้วยมาตรการหลายด้าน เช่น  การลดอุปสรรคทางการค้าเป็นภาษีและไม่เป็นภาษีในสินค้าและบริการที่มีการผลิตด้วยกระบวนการที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม การใช้เทคโนโลยีที่ไม่สร้างมลพิษ และการลดการสนับสนุนจากรัฐบาลในเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมประมงที่ส่งผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

          ประเด็นด้านผลกระทบของความตกลงการค้าเสรี (FTA) ต่อสิ่งแวดล้อมเป็นประเด็นสำคัญที่จะต้องมีการพิจารณา เพราะการจัดทำวามตกลง FTA อาจนำมาสู่การเพิ่มขึ้นหรือลดลงของการผลิตสินค้าที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัยของประชาชนภายในประเทศ[3] หลายประเทศได้มีการศึกษาผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมต่อการทำ FTA เช่น สหภาพยุโรปกับยูเครน[4] ไทยกับสหรัฐอเมริกา[5] เป็นต้น จากการศึกษาข้างต้นที่พบว่าการทำความตกลงการค้าเสรีภายใต้สถานการณ์จำลองต่างๆ ได้ก่อให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เมื่อประเทศมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจย่อมหมายถึงการขยายตัวของการผลิตในภาคส่วนต่างๆ และการผลิตย่อมต้องใช้ทรัพยากรซึ่งมีส่วนทำให้เกิดปัญหาทางสิ่งแลดว้อมโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาวะโลกร้อน การเพิ่มขึ้นของการผลิตสินค้าได้กระตุ้นให้เกิดการปล่อยก๊าซพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  และสภาวะโลกร้อนนี้ไม่เพียงส่งผลต่อด้านสุขภาพ หากแต่รวมถึงด้านเศรษฐกิจและนิเวศวิทยา

.

         เมื่อพิจารณาปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ พบว่าในปี 2556 ไทยปล่อยก๊าซดังกล่าวทั้งสิ้น 295,282 kt เมื่อพิจารณาจาก GTAP database สาขาการผลิตของไทยที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมามากที่สุด 5 อันดับแรกถูกแสดงดังตารางที่ 5.29 

 

ตาราง: สาขาการผลิตของไทยที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุด             

สาขาการผลิต

 

การผลิตและการกระจายไฟฟ้า

(63.33 Mt[6])

การขนส่งทางบกและราง

(29.41 Mt)

การขนส่งทางอากาศ

(20.47 Mt)

การกระจายและส่งก๊าซธรรมชาติ

14.33 (Mt)

การขนส่งทางอากาศ

(3.99 Mt)

 

ที่มา: ประมวลจาก GTAP database รุ่นที่ 8.0

          จากตารางที่ 5.29 จะเห็นว่าการผลิตและการกระจายไฟฟ้าเป็นสาขาการผลิตที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมามากที่สุดของไทย ทั้งนี้ ไฟฟ้าเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดปัจจัยหนึ่งของการดำรงชีวิตเพราะมีส่วนเกี่ยวข้องกับมนุษย์ในทุกช่วงเวลา นอกจากนั้นยังเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิต เครื่องจักรกล สายพานการผลิต คอมพิวเตอร์ หรือการผลิตในช่วงระยะเวลากลางคืนล้วนต้องอาศัยไฟฟ้าด้วยกันทั้งสิ้น ดังนั้นจึงปฏิเสธไม่ได้ว่าการเพิ่มผลผลิตของสาขาการผลิตหนึ่งๆจำเป็นต้องใช้อาศัยไฟฟ้า และเมื่อใช้ไฟฟ้ามากขึ้น การผลิตไฟฟ้าย่อมต้องมีมากขึ้นเพื่อรองรับอุปสงค์ดังกล่าว และท้ายที่สุด ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะถูกปล่อยออกสู่โลกมากขึ้น นอกจากไฟฟ้าแล้ว การขนส่งทั้งทางบก ทางเรือ และอากาศยังเป็นสาขาที่ปล่อยก๊าซชนิดนี้มากเป็นพิเศษเนื่องจากมีเผาไหม้เชื้อเพลิงอยู่ตลอดเวลา เมื่อการขนส่งเป็นการบริการที่ให้ผู้บริโภคได้รับสินค้า การเพิ่มขึ้นของการส่งออกหลังการบรรลุข้อตกลง FTA จึงส่งผลโดยตรงต่อปริมาณผู้ให้บริการด้านการขนส่ง และจะเกิดผลกระทบเชิงลบทางอ้อม (Negative externality) สู่โลก

          นอกเหนือจากปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ใช้วัดคุณภาพของสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังมีดัชนีอื่นๆที่มีความสำคัญเช่นกัน เช่น ทรัพยากรป่าไม้ น้ำเสีย มลพิษทางเสียง เป็นต้น ดังนั้น การประเมินมูลค่าผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจำเป็นต้องเปรียบเทียบก่อนและหลังระยะเวลาการบรรลุข้อตกลง FTA และเมื่อเรื่องของสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องสำคัญ จึงไม่น่าแปลกใจที่จะเห็นการระบุมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมให้อยู่ในความตกลงหรืออยู่ในกรอบการเจรจาการค้าเสรี เช่น FTA สหรัฐอเมริกากับสิงคโปร์[7] เป็นต้น โดยเครื่องมือที่ใช้ในการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการค้ามีอยู่หลายประเภท[8] เช่น Life cycle assessment และ UNEP’s Integrated Assessment of Trade Related Policies (IATRP) เป็นต้น ทั้งนี้ การศึกษาล้วนใช้ระยะเวลา งบประมาณ และผู้เชี่ยวชาญหลากหลายด้าน แต่ผลการศึกษาอาจจะคุ้มค่าเมื่อเทียบกับสิ่งแวดล้อมที่ถูกใช้ไปแล้วไม่อาจนำกลับคืนใหม่ได้

          เมื่อผลการศึกษาระบุว่าไทยจะได้รับประโยชน์จาก FTA ในหลายสาขาการผลิต เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์จากเหล็ก อาหารแช่แข็ง น้ำตาล ยาง เคมีภัณฑ์อินทรีย์ เป็นต้น ภาครัฐควรให้ความสำคัญเรื่องปัญหามลพิษที่เกิดจากกระบวนการผลิตและขนส่งสินค้าซึ่งอาจกระทบระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม อันเป็นการป้องกันไม่ให้ผลประโยชน์จากความตกลงการค้าถูกริดรอนด้วยต้นทุนในการจัดการสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้น ควรมีการสนับสนุนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green production) เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระยะยาว

 

 

 

 

………………………………………………………………………………….



[1] ข้อมูลเพิ่มเติมของ Green Economy ภายใต้ UNEP สามารถสืบค้นได้จาก http://www.unep.org/greeneconomy

[2]  UNEP. (2013). Green economy and trade – trends, challenges, and opportunities.

[3] ตัวอย่างงานวิจัยที่พบว่า FTA ส่งผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น Commission for Environmental Cooperation (1999), Kang (2004), Mukhopadhyay & Thomassin (2008), Fauchald & Vennemo (2011)

[4] European Commission. (2007). Trade sustainiability impact assessment for the FTA between the EU and Ukrain within the enhanced agreement.

[5] บัณฑูร  เศรษฐศิโรฒม์. (2551). การเมืองของการเจรจา FTA ในประเด็นสิ่งแวดล้อม: กรณี FTA สหรัฐอเมริกา. เข้าถึงได้จาก http://www.measwatch.org/project/3056

[6] หน่วยของคาร์บอนไดออกไซด์คือ Mt และ Kt โดย 1Mt = 1,000 Kt

[7] The United States Trade Representative. (2003). Final environmental review of the U.S.-Singapore Free Trade Agreement.

[8] เครื่องมือด้านเศรษฐศาสตร์ที่ใช้ประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมถูกรวบรวมโดย Ferretti, J., Guske, A., Jacob, K., & Quitzow. (2012). Trade and the environment: Framework and methods. Free University of Berlin.

 

บล็อกของ วรรณพงษ์ ดุรงคเวโรจน์

วรรณพงษ์ ดุรงคเวโรจน์
       เปรียบ สมัยก่อนมี “เพลงแก้” วรรณกรรมนี้ขอเรียกเป็น “บทความแก้” ก็แล้วกัน หากเพลงแก้ไม่มีวัตถุประสงค์อันตรายแอบแฝงฉันใด บทความแก้ย่อมไม่มีเป้าหมา
วรรณพงษ์ ดุรงคเวโรจน์
การค้าระหว่างประเทศ VS การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมศัตรูหรือกัลยาณมิตรวรรณพงษ์  ดุรงคเวโรจน์นักวิจัยสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง
วรรณพงษ์ ดุรงคเวโรจน์
                  ส่งท้ายปี 2556 ในคืนสิ้นปีด้วยบทความสรุปสภาวะเศรษฐกิจตลอดปี 2556 
วรรณพงษ์ ดุรงคเวโรจน์
           เชื่อแน่ว่าหนึ่งในหัวข้อที่เป็นที่ถกเถียงกันในหมู่นักวิชาการเกี่ยวกับรัฐบาลของรัฐบาล..คงไม่พ้นโครงการรับจำนำข้าวที่มีทั้งผู้เห็นด้วยและผู้ไม่เห