Skip to main content

ยศพนธ์ เกิดวิบูลย์ เขียน

จริง ๆ แล้วไม่ควรมองแค่ว่า การเกิดขึ้นของ “เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์” (Artificial Intelligence) “เครื่องจักรกลอัฉจริยะ” (Automation) “หุ่นยนต์” (Robots) ที่ใส่ระบบจำลองความคิด การกระทำที่มีเหตุผลเลียนแบบมนุษย์ผ่านการควบคุมด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้น ที่จะเข้ามาแย่งงานมนุษย์ จนอาจทำให้งานบางประเภทที่มนุษย์เคยใช้แรงงานทำต้องถูกแทนที่โดยแรงงานเครื่องจักรกลอัจฉริยะ หุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ แล้วนำมาสู่การสูญเสียอาชีพ ตกงาน ไม่มีรายได้เพียงเท่านั้น

แต่อยากชวนมองให้ลึกไปกว่านั้นว่า การเกิดขึ้นของ “เทคโนโลยี” ที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งจะเข้ามาใช้แรงงานแทนมนุษย์นั้น อาจทำให้โครงสร้างทาง “ความคิด” “ความเชื่อ” ที่หลอมรวมจนกลายเป็น “วิถีชีวิต” ของมนุษย์ใน “สังคมทุนนิยม” ให้สั่นคลอนและหมดศรัทธาลงไปด้วย

ลองใช้ใช้แนวคิดการครองอำนาจนำ (hegemony) ของ อันโตนิโอ กรัมชี่ ในการวิเคราะห์ให้เห็นถึงกลไกการทำงานของในโครงสร้างของความคิด ความเชื่อ วัฒนธรรม ประเพณีในการใช้ชีวิตในสังคมทุนนิยมซึ่งถูกสร้างขึ้นโดย “ชนชั้นผู้ปกครอง” ในทุกหน่วยการปกครองของสังคมทุนนิยม

สำหรับชนชั้นปกครองในที่นี้ผู้เขียนหมายถึงรัฐ, รัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น, นายทุน, นายจ้าง, ครูอาจารย์, หัวหน้างาน, ผู้ปกครอง, พ่อแม่ ฯลฯ พูดง่าย ๆ ก็คือคนที่มีส่วนการผลิตซ้ำความคิด ความเชื่อในการใช้ชีวิตแบบ “วิถีทุนนิยม” ที่สวยงาม ให้คงอยู่ในสังคมและให้อุดมการณ์ทุนนิยมขับเคลื่อนต่อไปได้ในสังคม และสถาบันรัฐคือหนึ่งในผู้สร้างและผลิตซ้ำความเชื่อ “วิถีทุนนิยม” ผ่านกลไลของรัฐด้านอุดมการณ์ความเชื่อ โดยมีสถาบันทางการเมือง กฎหมายเป็นภาคปฏิบัติของอุดมการณ์ดังกล่าว จึงทำให้ความเชื่อเหล่านี้สามารถเข้าถึงจิตสำนึก (conciseness) ที่มีผลต่อพฤติกรรมของคนในสังคมได้

โดยเฉพาะสิ่งที่กรัมซี่เคยวิเคราะห์ไว้ว่า ในสังคมทุนนิยมรัฐจะทำหน้าที่คอย “อำนวยความสะดวก” ให้ชนชั้นนายทุนในการกดขี่ขูดรีดส่วนเกินจากคนชั้นล่าง รัฐทำหน้าที่อำนวยความสะดวกให้นายทุนในที่นี่คงหมายถึงการที่รัฐช่วยสร้างความคิด ความเชื่อ วัฒนธรรมให้อุดมการณ์ทุนนิยมทำงานกดขี่ขูดรีดแรงงานของคนชนชั้นล่าง กรรมกรต่อไปได้ จนทำให้กรัมซี่ต้องเสนอวิธีการจะโค่นล้มอุดมการณ์ทุนนิยมแบบใหม่ที่ไม่เพียงแค่ชนชั้นล่าง กรรมากรรวมตัวต่อสู้แย่งชิงอำนาจรัฐเท่านั้น แต่ต้องทำสงครามโค่นล้ม รื้อถอนความคิด ความเชื่อแบบวิถีทุนนิยมที่ฝังรากลึกในจิตสำนึกของคนในสังคมด้วย เพื่อสถาปนาอำนาจนำทางสังคมใหม่ให้เกิดขึ้น ซึ่งก็คือ “สงครามช่วงชิงพื้นที่ทางความคิด” (War of Position)

ความฝันของคนอเมริกัน (American Dream) ถือเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจนของ “วิถีชีวิตแบบทุนนิยม” หรืออาจกล่าวได้ว่ามันคือความฝันของคนในสังคมทุนนิยมทุกสังคมก็คงไม่ผิดอะไรที่ผลิตซ้ำวิถีชีวิตแบบทุนนิยม ความฝันของคนอเมริกันเกิดขึ้นประเทศทุนนิยมเต็มขั้นอย่างสหรัฐอเมริกาที่ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมนั้น ซึ่งความเชื่อนี้เกิดขึ้นในสังคมอเมริกันหลังจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของโลกเมื่อปี 1930 เป็นต้นมา

โดยมีความเชื่อที่ว่ารัฐบาลต้องให้ความเท่าเทียมทางโอกาสและเสรีภาพภายใต้การปกครองแบบประชาธิปไตยกับคนทุกคนที่อยู่แผ่นดินอเมริกา ไม่ว่าจะเกิดที่ไหน ชาติพันธุ์อะไร สีผิวสีอะไร มีความคิด ความเชื่อทางการเมืองอย่างไร สามารถเลือกเส้นทางในการดำเนินชีวิตและสร้างความมั่งคั่งในชีวิตให้กับตัวอย่างได้อย่างอิสระเสรี เพียงแค่ทำงานหนัก ประหยัดอดออม และมีความเชื่อมั่นในตัวเอง เพื่อความสำเร็จในชีวิตและเลื่อนชนชั้นเป็น “ชนชั้นกลาง” ในสังคม เช่น การมีบ้าน มีรถ มีเงินซื้ออาหารที่ ชีวิตมีความสุข เป็นต้น

จะเห็นได้ว่าความเชื่อเรื่อง “ความฝันของคนอเมริกัน” นั้นถูกผลิตซ้ำเพื่อให้สังคมทุนนิยมขับเคลื่อนต่อไป ด้วยความเชื่อ “วิถีชีวิตแบบทุนนิยม” ที่ทุกคนต้องทำงานหนัก หาเงิน อดออมเงินเพื่อตัวเองและครอบครัว พูดง่าย ๆ คือ “ทุกคนต้องทำงาน” ถ้าไม่มีงาน ก็ไม่มีเงิน อาจจะกลายเป็นคนจน คนชายขอบของสังคมได้ และถ้าทุกคนทำงานหนัก มีเงินไว้ใช้จ่าย ระบบการเงิน กลไกตลาดซึ่งเป็นโครงสร้างหลักของทุนนิยมก็ทำงานต่อไปได้

ไม่กี่ปีมานี้สังคมอเมริกันมีการถกเถียงกันว่า ความเชื่อแบบ “ความฝันของคนอเมริกัน” เป็นแค่ความฝันลม ๆ แล้ง ๆ เป็นแค่มายาคติ ไม่สามารถเกิดขึ้นจริงได้ บางคนบอกความเชื่อนี้ในสังคมอเมริกันได้ตายไปแล้ว เพราะเหตุผลที่ว่า เช่น ความเป็นธรรมและความเท่าเทียมด้านรายได้ของคนอเมริกัน, ปริมาณการผลิตสินค้ามีมากขึ้นแต่ค่าจ้างแรงงานต่ำลง, อาชีพหลายอาชีพต้องการแรงงานที่มีความสามารถเฉพาะ และมีทักษะการทำงานที่สูงขึ้น จึงทำให้แรงงานในปัจจุบันต้องเรียนจบจากสถาบันการศึกษาที่สูงตามไปด้วย แต่ในปัจจุบันค่าใช้จ่ายในการเรียนหนังสือมีจำนวนสูงสวนทางกับรายได้, รัฐบาลขัดขวางการทำธุรกิจทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ผ่านการออกกฎหมายและกฎระเบียบในการดำเนินการเปิดกิจการในประเทศ รวมถึงธุรกิจขนาดเล็กไม่สามารถเติบโตได้ในประเทศเนื่องจากมีการผูกขาดการทำธุรกิจโดยบริษัทขนาดใหญ่

อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ความเชื่อเรื่อง “ความฝันคนอเมริกัน” เสื่อมลงก็คือ วิถีการผลิตในโครงสร้างการผลิตแบบทุนนิยมที่เปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์, เครื่องจักรกลอัฉจริยะ, หุ่นยนต์ เข้าเปลี่ยนแปลงวิถีการผลิต โดยเข้ามาเป็นแรงงานทำงานแทนแรงงานมนุษย์ จนทำให้เกิดการลดจำนวนคนงานในโรงงานอุตสาหกรรมลง ทำให้แรงงานมนุษย์อยู่ในสภาวะว่างงาน ไม่มีรายได้เป็นต้น ซึ่งเมื่อไม่มีงานความทะเยิอทะยานในการประสบความสำเร็จในชีวิตตามวิถีแบบทุนนิยมอาจจะลด แล้วทำให้ความคิด ความเชื่อที่ขับเคลื่อนให้กลไกของระบบทุนนิยมทำงานอาจสั้นคลอนได้

แต่สำหรับนักมาร์กซิสม์แล้ว การที่มีหุ่นยนต์เข้ามาทำงานแทนมนุษย์นั้นถือเป็นที่ดี เพราะทำให้มนุษย์ไม่ต้องทำงานหนักเพื่อแลกกับค่าจ้างอีกต่อไป หรือถ้าจะให้ในอนาคตควรมีหุ่นยนต์เข้ามาทำงานทุกอย่างแทนมนุษย์โดยที่มนุษย์ไม่ต้องทำงานเลย แต่อย่างไรก็ตามนักมาร์กซิสม์ยังให้ความเห็นไว้ว่า นายทุน นายจ้างโรงงานนั้นอาจจะจำกัดการใช้แรงงานจากเครื่องจักรและหุ่นยนต์ในการผลิตสินค้าในช่วงแรกของการเปลี่ยนผ่านวิถีการผลิตจากแรงงานมนุษย์เป็นแรงงานหุ่นยนต์ เพื่อที่จะทำการปรับค่าจ้างงานของแรงงานมนุษย์ใหม่ เหมืองช่วงที่เกิดการจ้างงานในโรงงานอุตสาหกรรมช่วงการปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุคแรก เพื่อที่จะขูดรีดมูลค่าส่วนเกินของแรงงานเหมือนเดิม ซึ่งแรงงานมนุษย์อาจจะต้องมีทักษะที่สูงขึ้นเพื่อควบคุมเครื่องจักรและหุ่นยนต์ในการผลิตก็เป็นได้ ซึ่งมันคือการปรับตัวของทุนนิยม และในที่สุดทุนนิยมอาจสร้างความฝันใหม่ให้คนในสังคมดิ้นรนตามฝัน

อ้างอิง:

- Sam Becker. (2017). “America in Decline? 8 Reasons the American Dream Is Dying”