Skip to main content

ยศพนธ์ เกิดวิบูลย์ เขียน

ขอออกตัวก่อนเลย ผู้เขียนไม่ใช่นักวิจารณ์หนัง เป็นแค่ผู้ดูหนังเพื่อความบันเทิงเท่านั้น ซึ่งเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา ผู้เขียนได้เรียนวิชาการเมือง เศรษฐกิจ สังคมผ่านโลกภายนตร์ในปี 3 ที่คณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลราชธานี แล้วอาจารย์ประจำวิชามอบการบ้านให้ดูหนังเรื่อง “สาวเครือฟ้า” (2523) แล้ววิเคราะห์ตัวบทหนังว่ามีประเด็นทางการเมืองซ่อนอยู่หรือไม่ เวลาผ่านไปจนกว่า 5 ปี บทวิเคราะห์หนังเรื่องนี้ถูกจัดเก็บไว้ในคอมพิวเตอร์ผู้เขียน แต่หลังจากมีข่าวผู้สร้างหนังเรื่องนี้คนแรก (ผู้สร้างหนังคนนี้นำบทละครมาทำเป็นหนังฉายครั้งแรก) เสียชีวิต ผู้เขียนจึงนำบทวิเคราะห์หนังเรื่องนี้ที่เคยเขียนไว้เมื่อ 5 ปีก่อน มาเรียบเรียงเขียนเพิ่มเติมใหม่ แล้วเอาเผยแพร่ในบล็อคส่วนตัว หวังว่าเผื่อมีคนสนใจร่วมถกเถียงแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับประเด็นที่ผู้เขียนวิเคราะห์ไว้

เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2561 มีข่าวการเสียชีวิตของ “แท้ ประกาศวุฒิสาร” ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ผู้สร้างภาพยนตร์) ปี 2542 เนื่องจากหัวใจวาย ถือเป็นการสูญเสียบุคคลสำคัญด้านการสร้างภาพยนตร์ (หนัง) ของไทย ผลงานภาพยนตร์หนึ่งที่แท้สร้างขึ้นจนและเป็นที่รู้จักอย่างมากคือ หนังเรื่อง “สาวเครือฟ้า” ที่ออกฉากครั้งแรกในปี พ.ศ. 2496 และถูกนำมาสร้างเป็นหนังอีกครั้ง พ.ศ. 2508 รวมถึงละครโทรทัศน์ พ.ศ. 2514 และสร้างหนังอีกครั้งในปี พ.ศ. 2523 และละครโทรทัศน์ พ.ศ. 2534 และพ.ศ. 2539    

งานวิเคราะห์บทละครร้องเรื่องสาวเครือฟ้า ของเกศนี คุ้มสุวรรณ (2554) ระบุว่า แท้จริงแล้วเรื่อง “สาวเครือฟ้า” นั้นเป็นบทละครร้องในพระนิพนธ์พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์โดยใช้นามแฝงว่า “ประเสริฐอักษร” เพื่อใช้แสดงละครร้องสลับพูด บทละครเรื่องนี้เกิดขึ้นจากการดัดแปลงจากบทละครโอเปร่า เรื่องมาดามบัตเตอร์ฟลาย ของจาโกโม ปุชชีนี ซึ่งได้ต้นเค้ามาจากนวนิยายของจอห์น ลูเธอร์ ลอง อีกต่อหนึ่ง ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้รับชมครั้นเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2450 ณ เมืองปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จนิวัติพระนครแล้ว ทรงเล่าเรื่องให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ฟัง หลังจากนั้นกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์จึงดัดแปลงเป็นบทละครร้องในเรื่องสาวเครือฟ้าถวายหน้าพระที่นั่ง

ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าหนัง สาวเครือฟ้าถูกสร้างขึ้นมาจากบทละครที่ถูกประพันธ์ขึ้นโดยชนชั้นนำไทย ต้องมีนัยยะทางการเมืองอะไรแอบซ้อนไว้ในบทหนังเรื่องนี้อย่างแน่นอน เมื่อผู้เขียนได้ดูหนังและรู้ถึงที่มาของบทหนังเรื่องนี้ทำให้ผู้เขียนตั้งสมมุติฐานว่า นัยยะทางการเมืองที่ซ้อนอยู่ในบทหนังเรื่องนี้คือชนชั้นนำหรือชนชั้นปกครองไทยสมัยนั้นพยายามจัดความสัมพันธ์อำนาจทางการเมืองของสังคมไทยสมัยนั้น (สมัยที่หนังนี้ฉากครั้งแรก) โดยเฉพาะการจัดความสัมพันธ์อำนาจทางการเมืองระหว่างชนชั้นปกครองกับชนชั้นผู้ถูกปกครองในสังคมไทย เพื่อตอบสนองผลประโยชน์ทางการเมืองอะไรบางอย่างให้กับชนชั้นนำปกครองไทย 

เรื่องย่อ สาวเครือฟ้าพอสังเขป

“สาวเครือฟ้า” เป็นธิดาของคนเลี้ยงช้างเชียงใหม่ มีความงดงามซื่อใสเป็นที่รักใคร่ของคนที่ได้พบเห็น

ครั้งนั้นนายทหารหนุ่มจากบางกอกชื่อ “ร้อยตรีพร้อม” ขึ้นมารับราชการที่นครเชียงใหม่ เมื่อได้พบสาวเครือฟ้าก็ผูกสมัครรักกันและได้แต่งงานอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข จนสาวเครือฟ้าตั้งครรภ์ ต่อมาเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ไทยเข้าร่วมรบกับฝ่ายพันธมิตรมีการระดมทหารไปรบที่ยุโรป ร้อยตรีพร้อมได้อาสาไปร่วมรบ โดยให้สัญญากับเครือฟ้าว่าจะกลับมาในเวลาไม่นาน

ร้อยตรีพร้อมไปร่วมรบอย่างกล้าหาญ เมื่อกลับเมืองไทยก็ได้รับพระราชทานเลื่อนยศเป็น “พันตรีหลวงณรงรักษ์ศักดิ์สงคราม” แต่เนื่องจากในระหว่างสนามรบ เขาได้รับบาดเจ็บจากเหตุเครื่องบินตก สมองถูกกระทบกระเทือน ความทรงจำเลอะเลือน แต่หลังจากนั้นเขาได้รับการดูแลเป็นอย่างดีจากพยาบาลสาวชื่อ “จำปา” ความใกล้ชิดทำให้นายทหารหนุ่มกับพยาบาลสาวรักใคร่ชอบพอกันจนได้แต่งงานกัน ด้วยความเห็นชอบของผู้ใหญ่ทั้งสองฝ่าย

ระหว่างนั้น “สาวเครือฟ้า” ภรรยาของพันตรีหลวงณรงรักษ์ศักดิ์สงคราม หรือ คุณหลวงพร้อม (ร้อยตรีพร้อม) ได้ให้กำเนิดบุตรชื่อ “เครือณรงค์” เครือฟ้าตั้งใจจดจ่อรอเวลาที่สามีจะกลับมาเชียงใหม่เพื่อพบเธอและลูก

กาลเวลานั้นก็มาถึง คุณหลวงพร้อมได้รับบัญชาให้นำเครื่องบินมาบินแสดงที่เชียงใหม่ เครือฟ้าดีใจเป็นที่สุด เธอจึงอุ้มลูกน้อยไปพบคุณหลวงพร้อม แต่คุณหลวงพร้อมจำเธอไม่ได้ มิหนำซ้ำยังถูกจำปา สาวพยาบาลที่ดูแลคุณหลวงพร้อมเมื่อตอนได้รับบาดเจ็บจากการทำสงครามขัดขวางและขับไล่รวมถึงดูหมิ่นดูแคลนต่าง ๆ นานา

ความน้อยเนื้อต่ำใจ ความโศกสลดเสียใจสร้างความสะเทือนใจที่แสนจะหนกหน่วง เกินกว่าที่ดวงใจน้อยๆ ของสาวเครือฟ้าจะรับได้ เธอตัดสินใจหลีกทางรัก ปาดคอตายในเวลาต่อมา

ชนชั้นนำกรุงเทพฯ มีอำนาจเหนือคนต่างจังหวัดเสมอ

สำหรับผู้เขียน หนังเรื่องนี้พยายามตอกย้ำความแตกต่างระหว่างคนเมืองที่เป็นตัวแทนของชนชั้นนำไทยกับคนต่างจังหวัด ชนบทที่เป็นตัวแทนของกลุ่มคนชาติพันธ์ลาวล้านนาได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการนำเสนอภาพของวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ รวมไปถึงวัฒนธรรม ความเชื่อ ความศรัทธาของกลุ่มคนชาติพันธุ์ลาวล้านนา - แต่ผู้เขียนไม่ยืนยันว่าภาพความเป็นชาติพันธุ์ของลาวล้านที่ถูกนำเสนอในหนังเป็นของแท้จริง ดั้งเดิมหรือเพิ่งถูกประดิษฐ์ขึ้นมา

หากใครได้ชมจะพบว่าเนื้อเรื่องหลักในหนังเรื่องนี้เป็นเรื่องราวของเจ้านายกรุงเทพ ฯ ซึ่งผูเขียนกำหนดให้เป็นตัวแทนของคนในเมืองหลวง ชนชั้นนำ ชนชั้นปกครองกรุงเทพฯ กับชาวบ้าน คนต่างจังหวัด คนกลุ่มชาติพันธุ์อื่นที่ไม่ใช่คนไทย โดยในหนังเรื่องนี้เป็นชาวบ้านในภาคเหนือ ชาติพันธุ์ลาวล้านนาเป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นภาพของเหล่าเจ้าคุณ เจ้าขุน ในกรุงเทพฯ ต้องการอะไร ชาวบ้านก็ต้องจัดหาเตรียมการให้ การแสดงการต้อนรับโดยการรำ ฟ้อน ความถือตัวไม่กล้าทักทายเหล่าเจ้านายของชาวบ้านหรือค่านิยมของชาวบ้านด้วยกันที่มองคนเมืองเป็นคนมีคุณค่า ฯลฯ

จึงไม่ผิดที่ผู้เขียนจะมองว่าผู้สร้างบทหนังนี้พยายามสร้างและเสริมอำนาจทางสังคม การเมืองให้กับคนเมืองหลวง ชนชั้นนำ ชนชั้นปกครองกรุงเทพฯ เหนือชาวบ้าน คนต่างจังหวัด คนกลุ่มชาติพันธุ์อื่นที่ไม่ใช่คนไทยผ่านบทหนัง เหมือนเป็นการตอกย้ำว่าคนเมืองหลวง ชนชั้นนำ ชนช้นปกครองกรุงเทพฯ มีสิทธิ มีอำนาจที่ชี้นิ้ว สั่งการชาวบ้าน คนต่างจังหวัด คนกลุ่มชาติพันธุ์อื่นที่ไม่ใช่ ‘’คนไทย’’ ได้

ตัวอย่างเช่น ภาพที่เห็นได้ชัดถึงความเป็นชนชั้นนำที่สามารถเดินทาง ท่องเที่ยว หาความสุข สำราญใจในคราบของข้าราชการ ซึ่งเห็นได้ตั้งแต่เปิดเข้าภาพยนตร์ ภาพของพ่อและแม่ของ “พร้อม” ลูกชายเจ้านายที่กรุงเทพฯ ได้สนทนากับเจ้าคุณตำแหน่งใหญ่ เรื่องที่ลูกชายเพิ่งกลับมาจากเรียนต่างประเทศกำลังมองหาหญิงสาวคนไทย จากนั้นเจ้าคุณจึงรับสั่งว่ากลางเดือนหน้าจะเดินทางขึ้นเหนือแล้วจะหาสาว ๆ สวย ๆ ให้ หรือ คุณ “พร้อม” พระเอกของเรื่องสั่งให้เพื่อนคนสนิทที่อยู่ภาคเหนือพาไปทำความรู้จักกับ สาวเครือฟ้า ถึงชายคาบ้านเรือน หรือคุณพร้อมแสดงความรักแบบวัฒนธรรมตะวันตก ตอนเมื่อได้พบเจอมากับสาวเครือฟ้าที่เป็นหญิงสาวบ้านนอกผ่านการกอดจูบ ปลุกปล้ำ จนทำให้ฝ่ายหญิงกลัวที่จะผิดขนบความเชื่อของตนเอง รวมถึงกรณีคุณพร้อมขอเครือฟ้าเป็นภรรยา โดยไม่คบหาดูใจกัน เป็นต้น

ชนชั้นนำสร้างความเป็นไทยทางวัฒนธรรมเหนือวัฒนธรรมชาติพันธุ์อื่น

ผู้เขียนลองนำแนวคิดเรื่อง ชาตินิยมกับการสร้างวัฒนธรรมความเป็นไทย ของ สายชล สัตยานุรักษ์ (2548) มาลองอธิบายเหตุผลที่ชนชั้นนำผู้สร้างบทหนังเรื่องนี้พยายามสร้างและตอกย้ำความแตกต่างระหว่างคนเมืองหลวง ชนชั้นนำ ชนชั้นปกครองกรุงเทพฯ กับชาวบ้าน คนต่างจังหวัด คนกลุ่มชาติพันธุ์ลาวล้านนานั้น อาจเป็นเพราะได้รับอิทธิพลในยุคที่ชนชั้นปกครองไทยรุ่งเรืองในการ สร้างความเป็นไทยในวัฒนธรรมแห่งชาติไทยภายใต้อุดมการณ์ “ชาตินิยม” ที่ได้รับการสถาปนาขึ้นมาเพื่อตอบสนองความจำเป็นทางการเมืองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งได้รับการถ่ายทอดปลูกฝั่งอย่างเข้มข้นในทศวรรษ พ.ศ. 2490 ก็เป็นได้ และอีกประเด็นนี้หากลองสังเกตดูจะพบว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ฉายครั้งแรกเมื่อง พ.ศ. 2496 ซึ่งผู้เขียนก็ไม่แน่ใจว่าการนำภาพยนตร์เรื่องออกฉายครั้งนั้นมีนัยยะทางการเมืองอะไรแฝงหรือไม่อีกด้วย

แนวคิดนี้สายชลอธิบายอีกว่า ชาตินิยมกระแสหลักของไทย ซึ่งแกนกลางอยู่ที่ความหมายของ “ชาติไทย” และ “ความเป็นไทย” ที่นิยามโดยปัญญาชนสำคัญจำนวนหนึ่ง มีส่วนในการหลอมวัฒนธรรมไทย ให้มีอิทธิพลอย่างลึกซึ้งต่อวิธีคิด พฤติกรรมทางสังคม และระบบความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นและชาติพันธุ์ที่ปราศจากความเสมอภาคและเต็มไปด้วยอคติ

สายชลอธิบายอีกว่า การรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลางบรรลุผลสูงสุด ช่วงสมัย ร.5 ซึ่งท่านทรงเน้นการนิยาม “ความเป็นไทย” การสร้างสัญลักษณ์ที่ทำให้พระมหากษัตริย์ทรงเป็นศูนย์กลางของรัฐที่มีพระราชอำนาจเด็ดขาดสูงสุด มีเจ้านาย ข้าราชการระดับต่าง ๆ และราษฎรทุกชนชาติ มีพระราชอำนาจเด็ดขาดสูงสุดเหนือ “สยามเหนือ สยามใต้ สยามกลาง...ลาวประเทศ...มลายูประเทศ”

“...กระบวนการรวมอำนาจถูกสร้างผ่าน อุดมการณ์ ชาตินิยมทางวัฒนธรรมเนื่องจากเมื่อมีการขยายอำนาจของรัฐสยาม ออกไปปกครองคนหลายชาติพันธุ์ซึ่งมีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมแตกต่างกัน ก็ทำให้มีความจำเป็นต้องทำการนิยามความหมายของ ชาติไทยและความเป็นไทยเพื่อทำให้ ชนชาติไทยหรือชาติพันธุ์ไทยมีสถานภาพเหนือชาติพันธุ์อื่น ๆ และจะต้องพยายามกลืนชาติพันธุ์อื่น ๆ ให้ กลายเป็นไทย ในทางวัฒนธรรมด้วย... สายชลอธิบายไว้

ในงาน ‘’ชาตินิยม วัฒนธรรมและความขัดแย้ง ของสายชล’’ (2551) ยังอธิบายประเด็นนี้ต่อว่า เครื่องมือที่ใช้ในกระบวนการสร้างความเป็นไทยผ่านอุดมการณ์ชาตินิยมและวัฒนธรรมแห่งชาติ มีทั้งในด้านศาสนาพุทธ การปกครองแบบไทย ผ่านการใช้ภาษาไทย ศิลปะไทย ขนบธรรมเนียมประเพณีไทย มารยาทไทย ฯลฯ  เครื่องมือเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นโดยกลุ่มปัญญาชนชั้นนำไทยที่พยายามปลูกฝั่ง “ความเป็นไทย” อย่างเข้มข้นเพื่อให้ทุกคน “กลายเป็นไทย” แต่ความซับซ้อนของความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างมิติต่าง ๆ นั้นทำให้การสร้างความเป็นไทยอย่างสมบูรณ์นั้นเป็นไปได้ยาก

หนังชนชั้นนำ เพื่อผลประโยชน์ชนชั้นนำ

อาจพอสรุปได้ว่า บทละครก่อนที่จะกลายมาเป็นบทหนังเรื่อง “สาวเครือฟ้า” ที่เอามาฉายต่อ ๆ กันนั้นได้ถูกสร้างโดยชนชั้นนำ ชนชั้นปกครองในยุคนั้นแถบทั้งสิ้น จึงไม่แปลกที่เนื้อเรื่อง การแสดง ล้วนตอบสนองความต้องการของชนชั้นนำ ชนชั้นปกครองไทย สิ่งเหล่านี้จึงสะท้อนนัยยะทางการเมืองเรื่องของการจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างชนชั้นปกครองกับชนชั้นผู้ปกครองในสังคมไทยได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะในแง่ที่ชนชั้นปกครองกรุงเทพฯต้องการสร้างความเหนือกว่าและกลืนชาติพันธุ์ลาวล้านนาให้กลายมาเป็นคนไทย  

เช่น ในฉากที่มีการพูดถึงทุกคน ทุกชนชั้นคือคนไทย ไม่มีใครเป็นลาวหรือคนอื่นอีกแล้วในสังคมไทย , ค่านิยมต่าง ๆ ที่สะท้อนในหนังก็ล้วนแต่เป็นค่านิยมภายใต้ความหมายของวัฒนธรรมความเป็นไทยแถบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น ค่านิยมเรื่องผู้ใหญ่ ผู้น้อย , สาวเครือฟ้ามีความถ่อมตัว อ้อนน้อม แทนตัวเองเป็นผู้น้อย ลูกจ้างนายใหญ่ เป็นต้น

งานของ เกศนี คุ้มสุวรรณ (2554) ยังอธิบายอีกว่า บทละคร สาวเครือฟ้า มีการสร้างพฤติกรรมของตัวละครให้คล้ายพฤติกรรมของคนภาคเหนือมีลักษณะที่อ่อนน้อมยอมเชื่อฟังต่อผู้มีความรู้และมีอำนาจ เชื่อฟังเจ้าหน้าที่รัฐมาก โดยเฉพาะกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายอำเภอและผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งชาวบ้านมักเกรงกลัวและให้ความเคารพเชื่อฟังมาก ซึ่งงานของ สายชล ยังอธิบายกรณีนี้ว่า วัฒนธรรมแห่งชาติไทยยังเน้นเรื่อง “ที่สูง ที่ต่ำ” หรือ “ผู้ใหญ่ ผู้น้อย” ได้ทำให้ "ความไม่เสมอภาค" เป็นเรื่องที่ถูกต้องหรือเป็นเรื่องธรรมชาติและความเสมอภาคเป็นเรื่องที่เป็นไม่ได้ คนในวัฒนธรรมไทยจะเห็นว่าคนที่มีฐานะสูงมีความเหนือกว่า คนที่มีฐานะต่ำ ในทุกด้าน เช่น มีอุดมคติ สามารถเข้าถึงความจริง ความดี ความงามได้มากกว่า มีคุณธรรมสูงส่งกว่า มีความสะอาดทางกายภาพและจิตใจมากกว่า ฯลฯ ซึ่งทำให้สมควรที่จะเป็นชนชั้นอภิสิทธิ์และเป็นผู้ปกครอง

สำหรับผู้เขียนมองว่ากรณีที่บทละครเรื่องนี้เขียนบทให้ชาวบ้าน คนต่างจังหวัด คนต่างชาติพันธุ์ที่ไม่ใช่ไทยตามภูมิภาคห่างไกลจากกรุงเทพ ฯ ในลักษณะนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดลำดับความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างในสังคมไทยในช่วงนั้นเพื่อจรรโลงผลประโยชน์ให้กับชนชั้นนำ ชนชั้นปกครองกรุงเทพฯ แถบทั้งสิ้น  กรณีการจัดลำดับความสัมพันธ์ในโครงสร้างทางสังคมเพื่อจรรโลงผลประโยชน์ของชนชั้นนำ ผู้เขียนขอนำคำอธิบายของ สายชล (2551) มาอธิบายกรณีนี้โดยสายชลอธิบายว่า กรณีการจัดตำแหน่งแห่งที่ของประชาชนชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในไทยใหม่ในช่วง ร. 5 เป็นต้นมานั้น  ในแง่หนึ่งเป็นการจำแนกลักษณะนิสัยประจำชาติพันธุ์ เพื่อประโยชน์ในการกำหนดนโยบายด้านการปกครองและเศรษฐกิจ  เช่น ในภาคอีสานรัฐบาลต้องการให้ราษฎรส่วนใหญ่ที่เป็นชาติพันธุ์ ลาว และ เขมรป่าดง ขยายการทำนา การทอผ้าไหม การเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น

ดังนั้นผู้เขียนเห็นว่าบทภาพยนตร์เรื่อง “สาวเครือฟ้า” เป็นเครื่องมือของชนชั้นนำ ชนชั้นปกครองไทยกรุงเทพฯ ในการสร้างและนิยามความหมายของชาติและความเป็นไทยเพื่อจัดความสัมพันธ์ทางอำนาจภายในโครงสร้างทางสังคมสมัยนั้นใหม่ โดยเฉพาะการจัดความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับผู้ที่ถูกปกครองในสังคม และมีชนชั้นนำ ชนชั้นปกครองยังสร้างความเหนือกว่าทางชาติพันธุ์ โดยมีเป้าหมายเพื่อผลประโยชน์ของชนชั้นนำ ชนชั้นปกครองอีกด้วย ผลประโยชน์ในที่นี่ผู้เขียนคงหมายถึง เพื่องานต่อการควบคุมและรีดไถ่แรงงาน ทรัพยากรจากต่างจังหวัดเข้าสู่ส่วนกลางหรือกรุงเทพฯ ก็เป็นได้

อ้างอิงข้อมูลในการวิเคราะห์

เกศนี คุ้มสุวรรณ (2554).“การศึกษาวิเคราะห์บทละครร้องเรื่องสาวเครือฟ้า” ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (ภาษาไทย) สาขาวิชาภาษาไทย ภาควิชาภาษาไทย. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

สายชล สัตยานุรักษ์. (2551). ชาตินิยม วัฒนธรรมและความขัดแย้ง. ใน บทความแนวคิดประชุมวิชาการชาตินิยมกับพหุวัฒนธรรม วันที่ 22-23 ธันวาคม 2551. กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์.

สายชล สัตยานุรักษ์. (2548). การสร้างความเป็นไทยกระแสหลักและความเป็นจริงที่ความเป็นไทยสร้าง. ฟ้าเดียวกัน.