Skip to main content

ยศพนธ์ เกิดวิบูลย์ เขียน

ภาพโดย Mike Eckel ผู้เขียนตั้งคำถามมานานถึงวิธีการที่กลุ่มนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อม รวมถึงกลุ่มเคลื่อนไหวเรื่องวัฒนธรรมชุมชน ที่ทำงานในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการถูกแย่งชิงทรัพยากรจากรัฐและทุนมักเลือกใช้วิธีการต่อสู้/ต่อรองกับอำนาจรัฐและอำนาจทุน โดยใช้ “ทุนทางวัฒนธรรมท้องถิ่น” โดยเฉพาะการหยิบเอา “ประเพณี” “ท้องถิ่น” “ความเชื่อท้องถิ่น” “วัฒนธรรมชุมชน” มาเป็นเครื่องมือในต่อสู้เพื่อเข้าถึงสิทธิ์ในการบริหารจัดทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกันอย่างแพร่หลายนั้นอาจไม่ได้ผลในปัจจุบัน ก่อนอื่นขอสรุปแนวคิด วัฒนธรรมชุมชนตามที่ผู้เขียนเข้าใจก่อน เข้าใจว่าแนวคิดนี้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่ถูกขับเคลื่อนด้วย “ลัทธิทุนนิยม” ซึ่งลัทธิทุนนิยมถูกว่าเป็นลัทธิที่ทำลายสังคม ทำลายสิ่งแวดล้อม ทำลายคุณค่าที่สังคมยึดถือ โดยนักคิด/นักพัฒนาสายวัฒนธรรมชุมชม มักส่งเสริมให้ใช้ทุนทางเชิงวัฒนธรรมท้องถิ่นในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงเพื่อรักษาคุณค่าที่ดีงามของสังคมนั้น ๆ เอาไว้ สำหรับผู้เขียนคำว่า “วัฒนธรรม” นั้น ขอใช้ในความหมายของสำนักคิดกรัมเชี่ยน (Gramscian) ที่พูดไว้ว่า “วัฒนธรรม” ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเพียงวิถี การแสดงออก การทำกิจกรรมที่คนในสังคมนั้น ๆ ร่วมกันทำเท่านั้น แต่ “วัฒนธรรม” สำหรับนักคิดสายนี้หมายถึงการส่งผ่านความคิด ความเชื่อจนนำไปสู่ปฏิบัติการในสิ่งต่าง ๆ โดยใช้วิธีการ ปลูกฝังความคิด “ความเชื่อ” เพื่อครองอำนาจนำ (hegemony) สังคมในระดับโครงสร้าง โดยคำว่า “โครงสร้าง” ในที่นี่ ผู้เขียนให้มันเป็นโครงสร้างทางสังคมระดับใดก็ได้ เช่น ระดับครอบครัว หมู่บ้าน โรงเรียน กลุ่ม สมาคม หรือระดับรัฐ ฯลฯ - ผู้เขียน) โดยมีกลไกปฏิบัติการภายในโครงสร้างของสังคมคอยตอบสนองสิ่งที่ “ผู้สร้าง” วัฒนธรรมนั้นต้องการ เช่น ผู้นำชุมชนสร้างเรื่องราวความเชื่อจนกลายเป็นวัฒนธรรมเพื่อครอบงำความคิดของคนในชุมชนให้ทำตามสิ่งที่ตนต้องการจนนำมาสู่การเป็นเผด็จการในชุมชนก็เป็นได้ เข้าใจอยู่ว่าการใช้ทุนทางวัฒนธรรมท้องถิ่นในการต่อสู้นี้ นักวิชาการสายวัฒนธรรมชุมชนมักจะพูดว่า การต่อสู้แบบนี้เป็นการใช้แนวคิด “การเมืองเชิงวัฒนธรรม” กล่าวคือ คนที่ถูกรัฐและทุนเอาเปรียบ อย่างกรณี คนชายขอบ คนด้อยโอกาส โดยร่วมหมายถึงคนที่มีอำนาจในการต่อรองกับรัฐและทุนน้อย - ถ้าพูดในคำศัพท์ลัทธิมาร์กซ์ คือกลุ่มคนชนชั้นล่างนั้น ก็มักใช้ “วัฒนธรรม” เป็นเครื่องมือในการต่อสู้ คล้ายกับกลุ่มชนชั้นสูง กลุ่มคนผู้มีอำนาจในการต่อรองกับรัฐและทุนสูง กลุ่มคนมีเงิน กลุ่มผู้ปกครอง ก็จะใช้วัฒนธรรมในการอ้างถึงสิทธิ์การครอบครองทรัพยากรเช่นกัน รวมถึงการใช้ วัฒนธรรม ในการอ้างเพื่อขอให้ผู้มีอำนาจ (รัฐ) กระจายทรัพยากรมาให้กับกลุ่มตน เป็นต้น อย่างในกรณีที่กำลังพูดถึง “กลุ่มคนไร้อำนาจต่อรองกับรัฐและทุน” ก็ใช้วัฒนธรรมเป็นเครื่องมือในการต่อสู้เพื่อแย่งชิงทรัพยากร สิทธิ์ การมีตัวตนในพื้นที่ทางสังคม เพื่อให้รัฐและทุนรู้ว่า พวกตนก็มีที่มา มีประวัติศาสตร์ มีรากเหง้าทางวัฒนธรรม ประเพณี เช่นกัน ซึ่งหมายถึงวันพวกเราก็มีสิทธิ์ที่จะเป็นเจ้าของสิทธิในการจัดการฯ ทรัพยากรในพื้นที่นั้น ผู้เขียนมองว่า “วัฒนธรรม” ที่เอ็นจีโอสายสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมใช้ในการต่อสู้ แย่ง/ยื้อ/ต่อรอง/ เพื่อให้ชุมชนได้มาซึ่งสิทธิ์ในการจัดการทรัพยากรของชุมชน โดยใช้ความเชื่อ ประเพณีของชุมชน หรือการใช้ความเชื่อประเพณีที่ผูกติดกับ “ความเชื่อทางศาสนา” และ “ศีลธรรมอันดีงามที่ถูกสร้างขึ้น” - ความชอบธรรมเชิงศีลธรรมของวิถีชีวิตชนบทที่เรียบง่าย มาเป็นเครื่องมือการต่อสู้ อาจมีข้อจำกัดอะไรบางซึ่งไม่สอดคล้องกับค่านิยมเรื่องเสรีภาพ ความเท่าเทียมและการมีส่วนร่วมตาม “หลักการเสรีประชาธิปไตย”

มิหน้ำซ้ำอาจเป็นตัวขัดขวางความเข้าใจในเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ความเท่าเทียมและการมีส่วนร่วมของประชาชนในชุมชนตามหลักการ “เสรีประชาธิปไตย” อีกด้วย

 

โดยเฉพาะกรณีการใช้ความเชื่อเรื่องความเป็นกลุ่ม วิถีปฏิบัติของกลุ่ม การสร้างเรื่องราว ประวัติศาสตร์ชุมชน (อาจจะประดิษฐ์ขึ้นมาจากการปะติดปะต่อคำบอกเล่า เอกสาร นิทานพื้นบ้าน) รวมถึงขนบธรรมเนียมประเพณีหมายถึงที่กลุ่มนั้นประพฤติปฏิบัติตามกันมา โดยไม่เคยตั้งคำถามว่าสิ่งที่ทำนั้นถูกต้องในเชิงหลักการเสรีนิยมประชาธิปไตยหรือไม่

หากเรายอมรับว่า วัฒนธรรม มันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มันไม่หยุดนิ่งตายตัว ความคิด ความเชื่อที่ประกอบสร้างขนบธรรมเนียมการปฏิบัติของสังคมนั้น ๆ อาจได้รับการ ปะทะ ประสาน ผสมกับวัฒนธรรมจากที่อื่น ๆ ด้วยเช่นกัน ซึ่งนั้นก็หมายความว่า ในช่วงที่มันเกิดการปะทะ ประสาน ผสมต้องมี “ผู้ใด ผู้หนึ่ง” ซึ่งอาจมีอำนาจในสังคมนั้นร่วมสร้างนิยาม ความหมาย วิถีปฏิบัติใหม่ขึ้นเพื่อเป้าหมายทางการเมืองอะไรบ้างอย่าง

ถึงแม้จะมีความพยายามอธิบายวิธีการใช้ทุนทางวัฒนธรรมในทางการเมือง โดยการอธิบายผ่านแนวคิดเรื่อง “การเมืองเชิงวัฒนธรรม” ที่พูดว่า สิ่งนี้คือการเมืองที่เน้นการใช้วัฒนธรรมเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ทางการเมืองเพื่อแย่งชิงอำนาจและผลประประโยชน์การเมืองของผู้ที่ใช้มัน

ชูศักดิ์ วิทยาภัค (2558) กล่าวถึงแนวคิดนี้ว่า การเมืองเชิงวัฒนธรรมเป็นการต่อสู้เชิงอำนาจทางการเมืองโดยใช้วัฒนธรรม เช่น การบอกเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ การแสดงถึงอัตลักษณ์ร่วม เป็นเครื่องมือในการต่อสู้เพื่อแย่งชิงทรัพยากร สิทธิ การมีตัวตนในพื้นที่ทางสังคมของคนชนชนชั้นล่าง ซึ่งเกิดขึ้นในสังคมทุกระดับ เช่น คนตัวเล็กตัวน้อย หรือ คนชนชั้นล่างที่ถูกอำนาจของโครงสร้างทางการเมืองของชนชั้นนำ หรือโครงสร้างทางเศรษฐกิจของทุนนิยมครอบงำและกดขี่ เอารัดเอาเปรียบ เนื่องจากคนตัวเล็กตัวน้อยเหล่านี้ ไม่ใช่ว่าจะสยบยอมต่อการถูกครอบงำจากอำนาจดังกล่าว

แต่พวกเขาต่างพยายามแสวงหาวิธีการต่อสู้ ต่อรองและแสดงออกเชิงอำนาจเพื่อไม่ยอมถูกครอบงำและถูกเอารัดเอาเปรียบจากพวกชนชั้นนำหรือนายทุนเสมือน

“วัฒนธรรมชุมชน” กับข้อกล่าวหาว่าโลกสวย

ผู้เขียนขอเพิ่มประเด็นนี้เพื่อผู้อ่านจะเข้าใจสิ่งที่ผู้เขียนกำลังพูดถึง

ผู้เขียนเห็นว่า “วัฒนธรรมชุมชน” ถือเป็นวาทกรรมหนึ่งที่เอ็นจีโอกลุ่มหนึ่งที่สมาทานความเชื่อนี้ในการทำงานกับชุมชนซึ่งมองชุมชนแบบหยุดนิ่ง ไม่เปลี่ยนแปลง แล้วทำให้เข้าใจว่าชุมชนในลักษณะนี้มีความเชื่อที่ยึดถือร่วมกันอย่างเหนียวแน่นมั่นคง เล็ก อภิเดช (2553) วิเคราะห์ไว้ได้อย่างน่าสนใจว่า วาทกรรม “วัฒนธรรมชุมชน” มักจะพบกับวัฒนธรรมชุมชนที่สุดแสนโรแมนติค ที่ปลอดจากการต่อสู้ทางการเมือง วัฒนธรรมชุมชน-ตามแนวคิดสำนักวัฒนธรรมชุมชนนิยม-จึงกลายเป็น “คุณค่า/สิ่งจริงแท้” ที่ติดตัวชาวบ้านมาแต่กำเนิด มีอยู่แต่ดั้งเดิมในอดีตและสืบทอดมาถึงปัจจุบันอย่างไม่เสื่อมคลายไม่มีที่มาที่ไป รวมถึงพูดถึงว่า ชุมชนชาวบ้านเต็มไปด้วย “น้ำใจ” ความสมานฉันท์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ประหนึ่งว่า “ชาวบ้าน/ชุมชน” เป็นกลุ่มคนที่มีสายพันธุ์พิเศษที่สืบทอดทางสายเลือดมาแต่บุพกาล

คำว่า “ชุมชน” ในที่นี่ผู้เขียนจะยึดคำนิยามชุมชนตามที่งานของ ธร ปีดีดล “แนวคิดเรื่องชุมชนกับการสร้างเสริมเสรีภาพ” อ้างคือ กล่าวคือเป็นความสัมพันธ์ที่มีอยู่จริงระหว่างกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เดียวกัน มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันอย่างแนบแน่น และมีรากฐานความเป็นมาร่วมกัน และชุมชนมักตั้งอยู่ในในฐานะที่เป็น"อุดมคติ" เป็นจินตภาพของความสัมพันธ์อันเป็นที่ถวิลหา แสวงหาสถานะของการเป็นสมาชิกในสังคมที่ให้ความอบอุ่นและความปลอดภัย และการสร้างคุณค่าให้กับอัตลักษณ์ร่วม ซึ่งถือเป็นหัวใจหลักของแนวคิด “ชุมชนนิยม"

งานชิ้นเดิมอธิบายสิ่งที่สามารถตอกย้ำความเชื่อของเล็ก ที่ว่าแนวทางการพัฒนาตามแนวคิดวัฒนธรรมชุมชนที่เหล่าเอ็นจีโอบางกลุ่มเชื่อนั้นมักจะวนเวียนอยู่กับการมองเห็นรัฐและทุนเป็นสิ่งที่เลวร้าย มุ่งแต่เอารัดเอาเปรียบและทำลายชาวบ้าน และพยายามเสนอถึงแนวทางการพัฒนาที่หันหลังให้กับสิ่งเหล่านี้ผ่านการพึ่งพาตนเองและการกลับสู่รากเหง้าทางวัฒนธรรมของชุมชน ถ้าจะยกตัวอย่างให้ชัดเจนคือ แนวคิดต้นแบบ แนวทางพัฒนาแบบพึ่งพาตนเอง หรือ เศรษฐกิจพอเพียง เป็นต้น ผู้เขียนยังคงเชื่อมั่นว่า การมองภาคปฏิบัติทางวาทกรรมของคำว่า “วัฒนธรรมชุมชน” ที่เล็ก มองนั้นยังคงอธิบายให้เข้าใจถึงความคิด ความเชื่อในการทำงานของเอ็นจีโอบางกลุ่มได้จนถึงปัจจุบัน “วัฒนธรรมชุมชน” ถือเป็นวาทกรรมหนึ่งที่เอ็นจีโอกลุ่มหนึ่งที่สมาทานความเชื่อนี้ในการทำงานกับชุมชนซึ่งมองชุมชนแบบหยุดนิ่ง ไม่เปลี่ยนแปลง แล้วทำให้เข้าใจว่าชุมชนในลักษณะนี้มีความเชื่อที่ยึดถือร่วมกันอย่างเหนียวแน่นมั่นคง

ทั้ง ๆ ที่ งานชนบทศึกษาหลายชิ้น จากนักวิชาการต่างวิเคราะห์ชนบทไปในทางเดียวกันว่า การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจทำให้วิถีชีวิตของคนในชนบทเปลี่ยนแปลงไปด้วย นักวิชาการบางคณะเรียกว่า “สำนึกชนบทเปลี่ยนแปลงไป” และการมีส่วนร่วมทางการเมืองของคนในชนบทนั้นมีมากขึ้นจนทัดเทียมกับคนในเมือง มีการเรียกร้องหาการเลือกตั้ง การเข้าใจระบบการเมือง กฎหมาย และการต่อรองผลประโยชน์ในระดับท้องถิ่น เพื่อกำหนดชีวิตของตนเอง รวมกรณีที่คนชนบทในปัจจุบันมีข้อมูลเพื่อใช้ในการ วิเคราะห์/วิจารณ์ นโยบายของรัฐที่กระทบกับผลประโยชน์ของตนหรือวิจารณ์ และแสดงการต่อต้านนโยบายการพัฒนาที่ทำลายวิถีชีวิต เศรษฐกิจ ทรัพยากร และสายสัมพันธ์ ทางสังคมและวัฒนธรรมของพวกเขา

มาถึงตรงนี้บางคนอาจแย้งว่า การใช้วัฒนธรรมชุมชนมาเป็นเครื่องมือในการต่อรองผลประโยชน์กับรัฐและทุนนี้ จะถูกนำมาใช้หลังจากที่กระบวนการมีส่วนร่วมของชาวบ้านในระบบการเมือง กฎหมายล้มเหลว เหตุผลนี้ก็ถูกต้อง

แต่ลึก ๆ แล้วผู้เขียนเชื่อว่า “วัฒนธรรม” ที่กลุ่มนักเคลื่อนไหวเรื่องนี้ใช้กันนั้นอาจเป็นวัฒนธรรมประดิษฐ์เพื่อใช้เป็นยุทธวิธีในการระดมทรัพยากรทั้งมวลชน ระดมเงินทุนและการสนับสนุนจากสังคมให้มามีส่วนร่วมกับการต่อสู้ แย่ง/ยื้อ/ต่อรอง/ เพื่อให้ชุมชนได้มาซึ่งสิทธิในการจัดการทรัพยากรของชุมชนเท่านั้น มันอาจจะสำเร็จก็ได้ แต่ความสำเร็จของชุมชนนั้นอาจจะไม่ใช่ความสำเร็จที่เกิดจากความเข้าใจหลักการสิทธิชุมชนอย่างแท้จริงก็เป็นได้ โดยเฉพาะหลักการเสรีภาพและความเท่าเทียม เป็นธรรม เป็นต้น

พูดให้ง่ายอีกครั้ง เมื่อพูดถึงการใช้วัฒนธรรมในการต่อสู้เพื่อแย่งสิทธิฯ ควรเป็นวัฒนธรรมที่ไม่ใช่แบบ อนุรักษ์นิยม ต่อการความเปลี่ยนแปลง มุ่งแช่แข็งความเป็นวัฒนธรรมที่สวยงาม หรือไม่ชอบพูดถึงขอเสียของวัฒนธรรมนั้นเท่านั้น แต่ควรจะเป็นการใช้วัฒนธรรมที่ยึดหลักการเสรีภาพ ความหลากหลาย ความเท่าเทียม เป็นธรรม และความเท่าทันความเปลี่ยนแปลง ความทันสมัย เป็นต้น

เพื่อเปิดโอกาสให้ชุมชน กลุ่มได้มีทางการเลือกในการต่อสู้ที่เข้ากับบริบทความเปลี่ยนแปลงของสังคมและเวลา

อ้างอิง

  • ชูศักดิ์ วิทยาภัค. “วัฒนธรรมคืออำนาจ : ปฏิบัติการแห่งอำนาจ ตัวตน และชนชั้นใหม่ในพื้นที่วัฒนธรรม” บรรณาธิการ.พิมพลักษณ์ เชียงใหม่ : ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2558. 
  • จักรกริช สังขมณี. "ย้อนคิดว่าด้วยชีวิตทางการเมืองของชาวบ้าน : การเมืองในชนบทที่มากกว่าการเลือกตั้งและขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม". วารสารสังคมวิทยามานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,  2554.