Skip to main content

ยศพนธ์ เกิดวิบูลย์ เขียน

 

จุดเด่นหนังสือประเทศเล็กที่สมบูรณ์ ของ อ.ประทีป สุธาทองไทย คือเขาพยายามเสนอเป็นนัยว่า ต้องการเสนอวิธีการ “ค้นคว้าและศึกษา” ประวัติศาสตร์สังคม วัฒนธรรม วิถีชีวิตและการเมืองอีสานในรูปแบบเฉพาะ “สิ่ง” โดยค้นคว้าและศึกษาผ่าน “ปกหนังสือ” "ภาพถ่าย" "เรื่องเล่า นิทานพื้นบ้าน ความเชื่อท้องถิ่น" 

 

รูปแบบเฉพาะ “สิ่ง” ยังไง แปลว่าอะไร เดี๋ยวผมจะลองอธิบายตามที่ผมที่เข้าใจ

 

เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้คร่าวๆ (แบบไม่พูดเยอะ เพราะอยากให้ผู้สนใจซื้อหามาอ่าน) พูดถึงประวัติศาสตร์การเมืองอีสานในช่วงสงครามเย็น บทที่ 1 เรื่อง ประเทศเล็ก : ใต้เงาสีแดง ของ ภิญญพันธุ์  พจนะลาวัณย์, บทที่ 2 จากนาข้าวสู่ดาวแดง: เรื่องราวการต่อสู้ด้วยอาวุธของชาวอีสานที่ไม่ถูกเล่า ของฟาเบียน ตระมูน นักข่าวและนักมานุษยวิทยา, บทที่ 3 ภาพ/ที่/ต่าง ของอนุสรณ์ ติปยานนท์, บทที่ 4 ความรู้และการเก็บรวบรวมเอกสารในฐานการปกครอง ของเก่งกิจ กิติเรียงลาภ, บทที่ 5 เรื่องเล่าเล็กๆ ที่ไม่เสร็จสมบูรณ์ในชนบทอีสาน ของ ชานนท์  ไยทองดี, บทที่ 6 ชาวนาอีสานหลากมิติ: การเปลี่ยนแปลงภายใต้โลกาภิวัตน์ และสุดท้าย สัตว์มนุษย์: ดุจดาว วัฒนปกรณ์  

 

ขอเริ่มด้วยเรื่องนี้ก่อน อ.ประทีปเคยกล่าวไว้ในบทความเกี่ยวกับ นิทรรศการจิตรกรรมประเทศเล็กที่สมบูรณ์ของเขาใน เดอะอีสานเรคคอร์ด ประมาณว่า เขาอยากชวนย้อนดูร่องรอยประวัติศาสตร์สังคมอีสานช่วงทศวรรษ 2520 ซึ่งถูกเรียกว่า “ยุคเฟื่องฟูของงานเขียนประวัติศาสตร์อีสาน” ผ่านปกหนังสือ เช่นหนังสือแบบเรียน ท่องเที่ยวและวิทยานิพนธ์หลาย 10 เล่ม ที่รัฐและสื่อมวลชนยุคนั้นสร้างไว้ให้คนอีสานมีความคิด ความเชื่อและภาพจำอะไรบางอย่างผ่านสื่อสิ่งพิมพ์ หนึ่งในเครื่องมือที่รัฐใช้ครอบงำความรู้ ความคิดของคนในสังคม 

 

โดย “ปกหนังสือ” ก็คือ “สิ่ง” ที่ผมคิดว่า อ.ประทีป ยกให้มันเป็นวัตถุแห่งความรู้ทางประวัติศาสตร์ (ประโยคนี้ได้จากบทความของ เก่งกิจ กิติเรียงลาภ) - ที่เขียนไว้ในหนังสือเล่นนี้ ในบทที่พูดถึง “ความรู้และการเก็บรวบรวมเอกสารในฐานการปกครอง” 

 

บทความของ อ.เก่งกิจ เหมือนมาขยายความให้เห็นถึงวิธีวิทยาในการค้นคว้าและศึกษา ปวศ. ในอีกวิธีหนึ่งที่จะทำให้ข้อมูล ข้อเท็จและการตีความทางประวัติศาสตร์อีกมุมหนึ่ง โดยอธิบายผ่านการวิเคราะห์ของ Foucault ในเรื่องเจตจำนงนำไปสู่ความรู้และวัตถุของความรู้ 

 

โดยผมเข้าใจประมาณว่า วิธีวิทยา (เทคนิค, วิธีการ) ในการค้นคว้า ศึกษาประวัติศาสตร์แบบสืบสาวหาจุดกำเนิดแบบหนึ่งเดียว เส้นตรง ต่อเนื่อง ผ่านวิธีวิทยาที่เหล่า นัก ปวศ. นักมานุษยวิทยายุคอาณานิคม “นิยมทำกัน” ซึ่งต้องเก็บรวบรวมหลักฐานข้อมูลข้อเท็จจริง ค้นคว้าเป็นขั้นตอนวิธี จัดเก็บแยกประเภทและจัดทำรายงานความรู้ที่ได้จากการตีความและวิเคราะห์เป็นเอกสารเผยแพร่ (ย่อยสิ่งที่ อ.เก่งกิจ เขียนไว้) 

 

ตัวอย่าง จดหมายเหตุของรัฐ ที่ใช้วิธีวิทยาทางประวัติศาสตร์ข้างต้น ที่มีการวิพากษ์ว่า จดหมายเหตุมี “คนที่มีอำนาจ” คอยควบคุมและจัดการเนื้อหาให้เป็นไปเพื่อตอบสนองความต้องการทางการเมืองของผู้มีอำนาจ  ก็คือ “รัฐ” เป็นต้น

 

ซึ่งสุดท้ายแล้วมันกลายเป็นข้อเท็จทางประวัติศาสตร์ในมุมมองเดียว ซึ่งเป็นมุมมองของเจ้าอาณานิคมและรัฐผู้ปกครองเพื่อตอบสนองความต้องการทางการเมืองอะไรบางอย่าง 

 

อ.เก่งกิจยังกล่าวว่า Foucault ชวนใช้วิธีใหม่ในค้นคว้าศึกษาเพื่อให้เกิดตีความและวิเคราะห์ที่หลากหลายมุม ไม่ได้มีมุมของรัฐผู้ปกครองอย่างเดียว ประมาณว่า หากนำ “สิ่ง” บางสิ่งมาเป็นวัตถุความรู้ประวัติศาสตร์มาศึกษา ตีความอาจได้เห็นประวัติศาสตร์อีกด้านที่รัฐไม่เคยพูดถึงและให้พื้นที่ สุดท้ายแล้วอาจจะนำไปสู่ข้อค้นพบทาง ปวศ. ใหม่ (บทที่ อ.เก่งกิจ เขียนสำหรับผมมีรายละเอียดเยอะมาก  แต่ผมจับประเด็นได้ประมาณนี้ ผมคิดว่า งานของ อ.เก่งกิจ ก็ศึกษาแผนที่ ซึ่งเป็น “สิ่ง” เช่นกัน เลยนำมาพูดถึงในการ ศึกษา “ปกหนังสือ” เช่นกัน

 

นอกจาก “ปกหนังสือ” ของ อ.ประทีป บทความเรื่อง ภาพ/ที่/ต่าง ของอนุสรณ์ ติปยานนท์ ก็พูดถึง “ภาพถ่ายหญิงสาวใบหนึ่ง” ถือเป็น “สิ่ง” - วัตถุแห่งความรู้ทางประวัติศาสตร์ ที่เขาได้มาจากอัลบั้มภาพเก่าร้านค้าแห่งหนึ่งที่อุบลราชธานี ซึ่งภาพนั้นมีข้อความเขียนว่า “บ.ภูริพัฒน์” ซึ่งคำว่า “ภูริพัฒน์” ตรงกับนามสกุลของทองอินทร์ ภูริพัฒน์ ส.ส.อุบลราชธานี 1 ใน 4 รัฐมนตรีอีสานที่ถูกสังหาร ช่วงที่รัฐไทยกลัวภัยคอมมิวนิสต์ทำให้อนุสรณ์ตามหาว่า บ.ภูริพัฒน์ เป็นใคร ทั้งค้นคว้าอ่านงานเกี่ยวกับ ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ หลายชิ้นแต่ก็ไม่พบว่าเธอเป็นใคร (อยากรู้ไปหามาอ่านครับ - แอบขายของให้ 55) 

 

รวมไปถึงงานของ เรื่องเล่าเล็กๆ ที่ไม่เสร็จสมบูรณ์ในชนบทอีสาน ของ ชานนท์  ไยทองดี ที่พูดถึง "เรื่องเล่า นิทานพื้นบ้าน ความเชื่อท้องถิ่น" ก็ถือเป็น “สิ่ง” เป็นวัตถุแห่งความรู้ทางประวัติศาสตร์ที่สามารถศึกษาได้เช่นกัน 

 

อ.ประทีป เคยกล่าวทิ้งท้ายในบทความเข้าที่เดอะอีสานเรคคอร์ดว่า

 

ผมไม่ขอสร้างข้อสรุปใด ๆ จากปกสิ่งพิมพ์เกี่ยวกับอีสานที่นำมากล่าวถึงในบทความนี้ นอกจากเห็นว่า สิ่งพิมพ์เหล่านี้มีความน่าสนใจในประเด็นของหนังสือกับการเลือกใช้ภาพ เพื่อแทนเนื้อหาสำคัญบางอย่าง ตั้งแต่ช่วงหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ที่อีสานถูกมองเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทยชัดเจนขึ้น แต่ก็ยังไม่มีภาพอะไรที่จะสะท้อนถึงอีสานได้อย่างชัดเจน นอกจากการเป็นดินแดนของคนที่ถูกมองว่าต้อยต่ำในสายตาของส่วนกลาง ซึ่งเป็นประเด็นที่อยากชวนให้ผู้สนใจร่วมกันตั้งข้อสังเกตผ่านสิ่งพิมพ์ในช่วงเวลาดังกล่าวต่อไป

 

อ่านบทความที่เดอะอีสานเรคคอร์ดได้ https://isaanrecord.com/2019/08/11/prateep-suthathongthai-art/