Skip to main content

 

 

 

*หมายเหตุ ข้อเขียนนี้เป็นข้อเขียนสรุปความเข้าใจจากงานวิจัย บทความที่ผู้เขียนได้อ่านมา มุ่งหมายทำให้อ่านเข้าใจง่าย หวังให้ผู้อ่านไปอ่านต่อและวิเคราะห์เพิ่มเติม

 

ความเหลื่อมล้ำและการเข้าถึงทรัพยากรอย่างไม่เท่าเทียมกันของคนในสังคมไทยปรากฏชัดช่วงที่เกิดปัญหาการระบาดของเชื้อไวรัส COVID- 19 โดยเฉพาะกรณีประชาชนต่อว่า ด่าทอการบริหารจัดการปัญหาและการจัดสรรทรัพยากร อย่างหน้ากากอนามัย สบู่ล้างมือ เจลแอลกอฮอล์ ที่กลายเป็นสิ่งของจำเป็นของประชาชนในเวลานี้ของรัฐล้มเหลว เช่น ก่อนหน้ามีข่าวว่าประชาชนที่มีเงินและมีอำนาจกักตุนสิ่งของจำเป็นเหล่านี้เพื่อเก็งราคาไว้ขายหากำไรได้ แต่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถจับกุมผู้กระทำผิดเหล่านั้นได้อย่างแท้จริง ทำให้ตอนนี้ก็ยังมีข่าวผู้หวังผลประโยชน์หากำไรทางการค้าจากการความกลัว ความกังวลว่าจะติดเชื้อโรคจากคนจำนวนมากเช่นเคย ประมาณว่าความขาดแคลนทำให้บริษัทผลิตสินค้าได้กำไรที่มากขึ้น

 

พูดง่ายๆ คือ ทุกคน ทุกอาชีพ ทุกชนชั้นต้องเข้าถึง ยา ประกันความเจ็บป่วย ประกันชีวิต เพราะเป็นสิทธิมนุษยชน ไม่ใช่ต้องมีเงิน มีฐานะเท่านั้นถึงจะเข้าถึงสิ่งเหล่านี้ (ไม่ใช่ให้บริษัทยา บริษัทประกันมีการทำโฆษณายา ผลิตภัณฑ์ประกันภัยเพื่อสร้างมูลค่า เราไม่ต้องการอุตสาหกรรมโฆษณายาและอุตสาหกรรมประกันสุขภาพ!)

 

นอกจากกรณีการกักตูนหากำไรจากสิ่งของจำเป็นในช่วงวิกฤตของเหล่าคนรวย นายทุน ผู้มีเงินมีอำนาจในสังคมแล้ว ความเหลื่อมล้ำและความไม่เท่าเทียมในสังคมสะท้อนผ่านกรณีที่รัฐบาลสั่งปิดสถานบริการ สถานบันเทิง สถานที่ที่จะมีการรวมตัวใกล้ชิดกันของผู้คนเกิน 2 คนขึ้นไปทั่วประเทศ รวมทั้งออกมาตรการอยู่ห่างกัน (Social Distancing) หยุดการเดินทาง (แต่ดีที่ไทยยังไม่มีมาตรการให้งดใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ เช่น รถเมล์ รถไฟฟ้า รถบัส ถ้างดคงลำบากสำหรับคนยากจน คนงาน แรงงานที่ไม่มีรถส่วนตัว) และทำงานที่บ้านอย่างไม่มีกำหนด เพื่อทุเลาและลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ก็ทำให้เห็นภาพคนทำงานในสถานบริการ แรงงานนอกระบบแรงงานหาเช้ากินค่ำตกงานจำนวนมาก โดยเฉพาะในเมืองหลวงอย่าง กทม. เมืองหลวงและเมืองอุตสาหกรรมต่างๆ ที่คนเหล่านี้ต้องการเดินทางกลับบ้านต่างจังหวัด (ที่บ้านยังมีข้าวสาร ผักที่ปลูก ปลา ไก่ หมูที่เอามาทำอาหารกินได้) เพราะถ้าอยู่ในเมืองหลวงต่ออาจไม่มีรายได้ ทำให้ไม่มีเงินจ่ายค่าอาหาร ค่าที่พัก ค่ารักษาพยาบาลห่างเจ็บป่วยขึ้น เป็นต้น 

 

*แต่ดีที่ยังไม่มี (หรือมี) กรณีคนจน แรงงาน (อาจติดเชื้อแล้ว) แต่ยังต้องทำงานในอยู่เพราะความจำเป็น ถ้าไม่ทำไม่มีเงิน มิหน้ำซ้ำแม้จะรู้ว่าตัวเองอาจติดเชื้อแต่ยังก้มหน้าก้มตาทำงานต่อไม่เปิดเผยให้หัวหน้า ผู้ร่วมงานรู้ เพราะกลัวที่จะตกงาน ขาดรายได้

 

*จริงๆ ก็น่าคิดที่มีนักวิเคราะห์บอกว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อของไทยน่าจะสูงกว่านี้ เพราะเป็นประเทศอันแรกๆ ในช่วงเกิดการระบาดที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อรองจากจีนและเป็นประเทศในเอเชียด้วย ถ้าไม่ใช่การปิดบังข้อมูลของรัฐบาลเพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและภาพลักษณ์ของประเทศ ก็อาจเป็นเพราะคนยากจน แรงงานนอกระบบเลี่ยงที่จะไปพบแพทย์ เพื่อตรวจหาเชื้อไวรัส เพราะอย่างที่ทราบแม้แต่ค่าเดินทางไปโรงพยาบาลของคนเหล่านี้อาจจะยังไม่พอ ยังไม่ต้องพูดถึงค่าตรวจที่ราคาสูง - หากคนนั้นไม่ใช่ผู้มีความเสี่ยงในการติดเชื้อและต้องการตรวจเพื่อความมั่นใจว่าเป็นไข้ธรรมดาหรือ COVID-19 เพราะมันมีอาการคล้ายกันจนอาจแยกไม่ออก 

 

ทำให้เกิดคำถามใหญ่ตามมาว่า คนจนอาจตรวจไม่พบว่าติด COVID-19 หรอก? ทำไมล่ะ? ก็เพราะไม่มีเงินไปตรวจไง

 

ประเด็นข้างต้น มีนักวิเคราะห์บางคนสรุปว่าต้นต่อของปัญหาทั้งหมดต้องโทษระบอบการเมือง การปกครองและเศรษฐกิจ สังคมแบบ “ทุนนิยม” ที่คนรวย คนมีโอกาสทางสังคม (จากความร่ำรวย) เท่านั้นที่เข้าถึงการตรวจหาเชื้อ เข้าถึงสิ่งของป้องกันการติดเชื้อ เข้าถึงการรักษาและสามารถกักตัวเองไม่ให้ได้รับเชื้อ เพราะมีเงิน มีอาหาร มีที่พักที่ปลอดภัยได้ 

 

ซึ่งทางออกของปัญหาเหล่านี้คือ ต้องทำให้ทุกประเทศในโลกมีระบอบการเมือง การปกครองและเศรษฐกิจ สังคมแบบ “สังคมนิยม” เพื่อจะแก้ไขปัญหาได้ 

 

ข้อเสนอที่น่าเสนอคือ ให้เปลี่ยนกรรมสิทธิ์โรงงานอุตสาหกรรมผลิตสิ่งของจำเป็นในการป้องกันเชื้อไวรัส (สบู่ล้างมือ เจลแอลกอฮอล์ หน้ากากอนามัย ชุดป้องกันไวรัส) ที่มีเจ้าของเป็นเอกชน บริษัท มาเป็นกรรมสิทธิ์ส่วนรวม เปลี่ยนการผลิตสินค้าจำเป็นในเวลานี้เพื่อสังคม ไม่ใช่เพื่อผลกำไรจากการได้ขายสิ่งของเหล่านี้ (จะเห็นว่าสิ่งของป้องกันเชื้อไวรัสในช่วงนี้ราคาสูงมากเพราะมีความต้องการสูง)  

 

อย่างที่บอก ยกเลิกกรรมสิทธิ์เอกชนการควบคุมการผลิตมาให้สังคมส่วนรวมควบคุมการผลิตแทน 

 

“จัดสรรทรัพยากรทั้งหมดตามความต้องการคนในสังคม ไม่ใช่ผลิตและจัดสรรทรัพยากรตามกำลังซื้อของคนในสังคม”

 

โจทย์ใหญ่ คือจะทำให้ประเทศทั่วโลกนำแนวคิดการปกครองทางการเมืองและเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมมาใช้ในประเทศตัวเองได้อย่างไร เพราะถ้ามีไม่กี่ประเทศที่ทำแบบนี้ ก็ไม่สามารถนำพาสังคมโลกผ่านวิกฤตโรคระบาดนี้ได้ พูดง่ายๆ เราต้องทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่ว่าหากประเทศใดประเทศหนึ่งประสบปัญหาขาดแคลนสิ่งของจำเป็นในการต่อสู้กับเชื้อไวรัส ประเทศที่มีกำลังการผลิตสิ่งของเหล่านี้ก็ต้องส่งไปช่วยเหลือ

 

สุดท้ายแล้วจะเห็นว่า ทุนนิยมสร้างเงื่อนไข (การแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติมาผลิตเป็นสินค้าหากำไร ความมั่งคั่ง จนทำลายธรรมชาติ ทำลายป่า ที่อยู่ของสัตว์ป่า ทำให้เกิดการอพยพของสัตว์ที่มีเชื้อไวรัสเข้าสู่เขตเมือง คนเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสในที่สุด) ให้เกิดการแพร่ระบาดของไวรัส มิหน้ำซ้ำยังแก้ไขปัญหาหายนะดังกล่าวไม่ได้ แต่กลับยังทำให้ปัญหามีรุนแรงขึ้น เกิดการเจ็บป่วยล้มตายมากขึ้น


ข้อเขียนนี้ได้ไอเดียการเขียนจากบทความชื่อ Capitalism is an Incubator for Pandemics. Socialism is the Solution. ของ MICHAEL PAPPAS ที่เผยแพร่ใน เว็บไซต์ counterpunch.org