Skip to main content

วันนี้เปิดห้องเรียนวิชามานุษยวิทยาภาษาด้วยการคุยสืบเนื่องกับบทเรียนเมื่อสองสัปดาห์ก่อน เรื่อง "ภาษากับความคิดและโลกทัศน์" มีวิดีโอในยูทูปที่น่าสนใจสองเรื่อง เรื่องหนึ่งว่าด้วยหมอสอนศาสนาที่ถูกชนพื้นเมืองในป่าอะเมซอนแปลงให้กลายเป็นนักมานุษยวิทยาภาษา วันนี้เปิดอีกเรื่องว่าด้วยการเห็นสีที่จำกัดของคนต่างวัฒนธรรมที่มีมโนทัศน์เรื่องสีต่างกัน (เอาไว้วันหลังมาเล่าแล้วกันครับ)

เรื่องที่อยากเล่าตอนนี้คือ บทเรียนจากนักศึกษาที่อธิบายคำในพจนานุเกรียนที่น้า Art Bact' เอามาแปะไว้ในกลุ่ม "ต่อปาก..." แถมน้าแบ่คยังแนะนำคำว่า "วทน" ผมงงอยู่คืนหนึ่งเต็มๆ เพราะไม่ได้อยู่ในโลกออนไลน์มากเท่าเขามาก่อน (มีนักศึกษาอีกคนมาอธิบายให้ใน ฟบ แต่ผมไม่ได้อ่านก่อนเข้าห้องเรียน)

ในห้องเรียนวันนี้ นักศึกษาคนหนึ่งอธิบายอย่างยืดยาวว่า (ใครรู้แล้วทนอ่านไปแล้วกันครับ) "เรื่องทั้งหมดเกิดในโลกของทวิตเตอร์ค่ะ พวกเกรียนหมั่นไส้ วทน. อาจารย์รู้จักไหมคะ คนที่ทำหนังสือ อด. อ่ะค่ะ เขาชอบทวิตอะไรเลี่ยนๆ ประเภท 'วันนี้ฉันตื่นนอนขึ้นมา อาบน้ำ แล้วบรรลุธรรม' แบบ 'อิ้วอม' น่ะค่ะ...

"พวกนั้นก็ตามเกรียนเขาในทวิตเตอร์ วทน. สักพัก วทน.ทนไม่ได้ ก็ไล่บล็อคพวกมาเกรียนไปทั่ว บลาๆๆ..." (ใน "ดราม่าแอดดิค" น่าจะมีรายละเอียด) คำนี้ก็เลยเป็นที่เข้าใจกันทั่ว" ตามความหมายในพจนานุเกรียนว่า 

@wthn [censored] - ใช้เพื่อกิจการแซะ แล้วโดนบล็อคโดนอัตโนมัติเท่านั้น
[ตัวอย่าง] ใครไม่โดน วทน บล็อคนี่โคตรไม่อินดี้

นักศึกษาแนะให้ลองเปิดอีกคำหนึ่งคือ "ดงบังวงแตก" ผมนี่งงไปเลย ลองดูครับว่าหมายถึงอะไร แต่เมื่ออ่านคำแปลแล้ว ก็ไม่เข้าใจหรอก ถ้าไม่ได้อยู่ในโลก "เกรียน"

ผมชอบพจนานุเกรียนในหลายๆ มิติด้วยกัน แง่หนึ่ง ผมว่าโลกปัจจุบันมันแปลกแยกแตกต่างห่างเหินจริงๆ แต่มันไม่ใช่ในความหมายแย่หรอก ผมมองว่ามันปกติธรรมดา เพราะโลกปัจจุบันมันสร้างความเชื่อมต่อแบบใหม่ๆ เกิดสังคมใหม่ๆ ที่ไม่จำเป็นที่ใครทุกคนจะต้องรู้จักเข้าใจทุกเรื่องของคนที่เรารู้จักไปเสียทุกอย่าง นักศึกษาผมเข้าใจสิ่งเดียวกับที่น้าแบ่คเข้าใจเป๊ะ ทั้งๆ ที่เขาไม่รู้จักกันมาก่อนเลย

อีกแง่หนึ่ง ผมนึกเลยเถิดไปถึงเรื่องโลกทัศน์กับภาษา ภาษาน่าจะเชื่อมโยงกับโลกทัศน์จริงๆ เพราะแม้แต่คนที่อยู่ในโลกของภาษาเดียวกัน ก็ยังไม่สามารถเข้าใจกันได้ด้วยชุดคำศัพท์ที่แยกย่อยชุมชนภาษาลงไปมากขนาดนี้ และแม้ว่าจะรู้คำเหล่านั้น แต่ถ้าไม่มีการอธิบายความหมายเชิงบริบทที่ยืดยาว ก็คงไม่มีทางเข้าใจกันได้ง่ายๆ

อีกอย่าง พจนานุเกรียนเปิดโอกาสให้ใครก็ร่วมบัญญัติศัพท์เกรียนได้ ผมไม่แน่ใจเหมือนกันว่าพจนานุเกรียนมีใครคอยควบคุมการบัญญัติคำใหม่อย่างไรหรือไม่ แต่หากเราค้นคำที่ไม่มีในพจนานุเกรียน เขาก็จะขึ้นแบบฟอร์มให้กรอก เป็นการแนะนำคำศัพท์ใหม่ๆ นี่หากจะไม่ถึงกับนับว่าเป็นการทำลายเอกสิทธิ์ในการบัญญัติศัพท์ ก็ถือว่าเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดการบัญญัติศัพท์จากผู้ใช้ภาษาเองได้ ไม่เหมือนพจนานุกรมของสถาบันทรงเกียรติบางแห่ง

ขอให้ชาวเกรียนจงเจริญภาษา มีปัญญาสร้างคำใหม่ๆ ให้ครูภาษาไทยต้องเวียนเกล้า กันไปอีกยาวนาน


ขอบคุณน้าแบ่คที่แนะนำ http://pojnanukrian.com/


เผยแพร่ครั้งแรกใน
:Yukti Mukdawijitra

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่แน่ใจว่านโยบายยุบโรงเรียนขนาดเล็กนี้จะดีหรือไม่ สงสัยว่า "คิดดีแล้วหรือที่จะยุบโรงเรียนขนาดเล็ก" ในทางเศรษฐศาสตร์แบบทื่อๆ คงมี "จุดคุ้มทุน" ของการจัดการศึกษาอยู่ระดับหนึ่ง ตามข่าว ดูเหมือนว่าควรจะอยู่ที่การมีนักเรียนโรงเรียนละ 60 คน แต่คงมีเหตุผลบางอย่างที่โรงเรียนตามพื้นที่ชนบทไม่สามารถมีนักเรียนมากขนาดนั้นได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตอนนี้เถียงกันมากเรื่องกะหรี่ ว่ากันไปมาจนกระทั่งทั้งสองฝ่ายก็หนีไม่พ้นเอาคำเดียวกัน หรือทัศนะคติเหยียดเพศหญิงเช่นเดียวกันมาด่ากัน ฝ่ายหนึ่งด่าอีกฝ่ายว่า "อีกะหรี่" อีกฝ่ายหนึ่งด่ากลับว่า "แม่มึงสิเป็นกะหรี่" หรือ "ไปเอากระโปรงอีนั่นมาคลุมหัวแทนไป๊" ตกลงก็ยังหนีไม่พ้นสังคมที่ดูถูกเพศหญิงอยู่ดี
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงสั้นๆ ของชีวิตผมมีโอกาสได้รู้จักคนในแวดวงนักเขียนรูป ผ่านครูสอนวาดเส้นให้ผมคนหนึ่ง ครูผมคนนี้มีเพื่อนคนหนึ่งที่เขาสนิทสนมกันดี ชื่อไสว วงษาพรหม เมื่อคืน ได้สนทนากับคนในแวดวงศิลปะ ที่เรือนชานแห่งหนึ่งที่มีไมตรีให้เพื่อนฝูงเสมอ ผมจึงเพิ่งทราบว่าไสวเสียชีวิตไปหลายปีแล้ว ลอง google ดูพบว่าเขาเสียชีวิตเมื่อ 22 สิงหาคม 2551
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทำไม "เหี้ย ควย หี เย็ด" จึงกลายเป็นภาพเขียนชุดล่าสุดของศิลปินเขียนภาพชั้นนำของไทย ทำไม "กะหรี่" จึงเป็นส่วนหนึ่งของข้อเขียนนักเขียนการ์ตูนผู้ทรงอิทธิพลของไทย ทำไมนักเศรษฐศาสตร์ไทยชั้นนำจึงเขียนคำ "อยากเอา" เป็นความเห็นประกอบภาพวิจารณ์นักการเมือง ทำไมภาษาแบบนี้จึงกลายมาเป็นภาษาทางการเมืองของคนที่มีความสามารถในการสื่อสารเหนือคนทั่วไปเหล่านี้ หลายคนวิเคราะห์แล้วว่า เพราะพวกเขาเร่ิมจนแต้มทางการเมือง "เถียงสู้อีกฝ่ายไม่ได้ก็เลยด่าแม่งไป"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วานนี้ (29 เมษายน 2556) "ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา" และ "ศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย" มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดอภิปราย "สู่สันติภาพในอุษาคเนย์" งานนี้จัดท่ามกลางบรรยากาศการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับ BRN
ยุกติ มุกดาวิจิตร
“นักวิชาการเสื้อแดง” เป็นเสมือนตำแหน่งทางวิชาการอย่างหนึ่ง การตีตราตำแหน่งนี้สะท้อนความเฉยชาและคับแคบต่อปัญหาสิทธิมนุษยชนและความเป็นธรรมของปัญญาชนไทย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวานเพ่ิงดูพี่ "มากขา" หลายขา แล้วก็อยากมีความเห็นอย่างใครๆ เขาบ้าง ส่วนใครที่ยังไม่ได้ดูแล้วกำลังคิดจะไปดู ก็อย่าเพ่ิงอ่านครับ เดี๋ยวจะเซ็งเสียก่อน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทุกๆ ปี ผมสอนวิชา “ชาติพันธ์ุ์นิพนธ์: การวิพากษ์และการนำเสนอแนวใหม่” ระดับปริญญาตรี ผมออกแบบให้วิชานี้เป็นการศึกษาแบบสัมมนา มีการแลกเปลี่ยนความเห็นของนักศึกษามากกว่าการบรรยายของผู้สอน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อสองวันก่อน มีคนที่สนใจนโยบายรถไฟความเร็วสูงคนหนึ่งถามผมว่า "อาจารย์รู้ไหมว่า โอกาสที่รถไฟไทยจะตรงเวลามีเท่าไหร่" ผมตอบ "ไม่รู้หรอก" เขาบอกว่า "มีเพียง 30%" 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"ปีใหม่" เป็นจินตกรรมของเวลาที่กำหนดการสิ้นสุดและการเริ่มต้น ศักราช เวลาของสังคม การจัดระบบของเวลา ล้วนมีเทศกาลกำกับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
น่าละอายใจที่สภาผู้แทนราษฎรปัดตกข้อเสนอของประชาชนกว่าสามหมื่นคนที่เสนอให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ถ้าบอกกันตรงๆ ว่า "กลัวอ่ะ" ก็จบ ประชาชนอาจจะให้อภัยความปอดแหกได้ แต่ประชาชนส่วนหนึ่งจะตัดสินใจไม่เลือกพวกคุณเข้ามาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนฯ อีกอย่างแน่นอน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ยามหมดปีการศึกษาทีไร ก็ชวนให้ทบทวนถึงหน้าที่การงานด้านการเรียนการสอนของตนเอง แต่ผมทำตามแบบที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาแห่งชาติ หรือ สกอ. ให้ทำไม่เป็นหรอก เพราะมันไร้สาระ เป็นกลไกเกินไป และไม่ก่อประโยชน์อะไรนอกจากเปลืองกระดาษและน้ำหมึก ผมมักทำในแบบของผมเองนี่แหละ