Skip to main content

ตอนนี้เถียงกันมากเรื่องกะหรี่ ว่ากันไปมาจนกระทั่งทั้งสองฝ่ายก็หนีไม่พ้นเอาคำเดียวกัน หรือทัศนะคติเหยียดเพศหญิงเช่นเดียวกันมาด่ากัน ฝ่ายหนึ่งด่าอีกฝ่ายว่า "อีกะหรี่" อีกฝ่ายหนึ่งด่ากลับว่า "แม่มึงสิเป็นกะหรี่" หรือ "ไปเอากระโปรงอีนั่นมาคลุมหัวแทนไป๊" ตกลงก็ยังหนีไม่พ้นสังคมที่ดูถูกเพศหญิงอยู่ดี

คุณธรรมของ "ความเท่าเทียมระหว่างเพศ" ไม่ใช่คุณธรรมแบบไทยๆ แน่ๆ แต่ผมมั่นใจว่าสังคมไทยก็ไม่ได้เหยียดผู้หญิงมากเท่าที่เป็นอยู่อย่างในปัจจุบันมาก่อน และที่จริงการเคารพเพศอย่างเท่าเทียมกันก็ไม่ใช่คุณธรรมแบบตะวันตกอีกด้วย เพราะสังคมตะวันตกก็เหยียดเพศ เกลียดตุ๊ดไม่น้อยไปกว่าหรืออาจจะยิ่งกว่าในสังคมไทยและสังคมตะวันออกตั้งมากมายด้วย

แต่หากใครจะบอกว่า สังคมไทยเป็นสังคม "ปิตาธิปไตย" ชายเป็นใหญ่มาแต่ไหนแต่ไร ผมก็ว่าไม่ถูกนัก สังคมไทยในอดีต (นานแค่ไหนไม่รู้ อย่างน้อยในรุ่นยายผมก็ยังเป็นอย่างนั้นอยู่) ไม่ได้ยอมให้ใครเหยียดเพศแม่ได้ง่ายๆ อย่างที่เราเห็นในปัจจุบัน ผมคิดว่าการเหยียดเพศหญิงอย่างในปัจจุบันน่าจะมีที่มาจากสอง-สามแหล่ง ซึ่งมาจากซีกโลก "ตะวันตก" ของไทยทั้งสิ้น

หนึ่งคือจากศาสนาโลก ไม่ว่าจะฮินดู (พราหมณ์) พุทธ คริสต์ อิสลาม ให้ค่าผู้หญิงต่ำกว่าผู้ชายทั้งสิ้น เทพเจ้าสูงสุดของฮินดูสามองค์ ศิวะ พรหม นารายณ์ เป็นชายทั้งสิ้น พุทธศาสนาโดยเฉพาะอย่างยิ่งแบบเถรวาทกีดกันผู้หญิง ในศาสนาคริสต์ผู้หญิงเกิดจากกระดูกซี่โครงของผู้ชาย เกิดมาภายหลังและเกิดจากผู้ชาย ในอิสลามผู้หญิงต้องอยู่ในการดูแลของผู้ชาย ต้องควบคุมตัวเองเพื่อไม่กระตุ้นราคะของผู้ชาย

สองคือจากสังคมอเมริกันชั้นกลาง ที่กดผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลัง "อเมริกันดรีม" ที่พ่อบ้านทำงานเหน็ดเหนื่อยกลับมาบ้านแล้วเจอศรีภรรยาทำกับข้าวด้วยเครื่องครัวที่อำนวยความสะดวกสารพัด แม่บ้านเลี้ยงดูลูกๆ ทำความสะอาดบ้าน ระหว่างที่สามีทำงานนอกบ้าน ในครอบครัวขนาดเล็กที่มีพ่อ-แม่-ลูก คือครอบครัวในอุดมคติของสังคมอเมริกันยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง สังคมของผู้ชนะสงครามแล้วก่อสงครามไปทั่วโลก

ถ้าจะมีอีกแหล่ง น่าจะมาจากสังคมวิกตอเรี่ยนในยุโรปศตวรรษที่ 19 นี่เอง ที่ควบคุมเพศหญิงให้รักนวลสงวนตัว ผู้หญิงถูกควบคุม ถูกเก็บไว้ในบ้าน ถูกเรียกร้องให้เสียสละต่อครอบครัว ผู้หญิงไม่มีสิทธิในการเลือกตั้ง ยุคนี้นี่เองที่เริ่มมีขบวนการสิทธิสตรีในยุโรป เพื่อต่อต้านกับการกดทับอำนาจของผู้หญิง

แต่ในสังคมก่อน อยู่นอก แต่ยังผสมผสานอยู่กับสังคมไทยหลังอิทธิพลของศาสนาโลก ผู้หญิงมีที่ทางมากกว่าในยุโรปและอเมริกันยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง จนน่าเชื่อว่าจะมีอำนาจมากกว่าผู้ชาย เอาง่ายๆ คือ การที่ผู้ชายต้องแต่งงานแล้วเข้าไปอยู่บ้านผู้หญิง ทำให้ผู้หญิงครอบครองพื้นที่ทั้งที่ทำกินและที่อยู่อาศัย ผู้ชายต้องเข้าไปอยู่ในสังคมผู้หญิง เป็นคนนอกในสังคมของผู้หญิงที่เป็นพี่น้องกันหมด

สังคมลักษณะนี้น่าจะเป็นพื้นฐานของสังคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไล่เรื่อยไปจนถึงหมู่เกาะแปซิฟิค ที่มีหลักฐานความเท่าเทียมกันระหว่างเพศมายืนยันมากมาย จนเป็นที่มาของแนวคิดเฟมินิสต์ยุคใหม่ ที่ท้าทายความเชื่อเดิมๆ ของเฟมินิสต์ที่เอาผู้หญิงตะวันตกเป็นศูนย์กลาง แล้วสรุปเหมารวมอย่างผิดๆ ว่าผู้หญิงถูกกดขี่ทั่วโลก

ในการศึกษาสังคมไทยช่วงหลังๆ จึงเริ่มมีนักมานุษยวิทยาประวัติศาสตร์อย่างแคทเธอรีน บาววี่เสนอว่า การสร้างเครือข่ายทางการเมืองเชื่อมโยงสังคมในวังเข้ากับสังคมชาวบ้าน น่าจะผ่านเครือข่ายผู้หญิงในหมู่บ้าน และดังนั้น การ "ถวายตัว" ของผู้หญิง แท้จริงแล้วเป็นการเชื่อมสายสัมพันธ์ระหว่างเจ้ากับไพร่ผ่านเครือข่ายผู้หญิงในหมู่บ้าน เป็นคนละเรื่องกันกับการสร้างฮาเร็มที่พวกฝรั่งมักเข้าใจเก่ียวกับโลกของนางใน

ว่าด้วยสังคม "นางใน" มีหลักฐานการสร้างฐานอำนาจของฝ่ายหญิงในสังคมชนชั้นสูง สุจิตต์ วงษ์เทศเคยบอกเล่าว่า ในสมัยอยุธามีคำว่า "กษัตริย์ฝ่ายใน" หมายถึงเจ้านายฝ่ายหญิงที่มีอิทธิพลไม่น้อยกว่ากษัตริย์ผู้ชาย 

ในเวียดนามในอดีตเมื่อหลายศตวรรษก่อน นักประวัติศาสตร์พบว่าเมื่อกษัตริย์สิ้นพระชนม์แล้ว ในบางรัชกาลแทนที่จะตั้งกษัตริย์ใหม่ กลับให้ราชินีองค์เดิมสมรสกับกษัตริย์องค์ใหม่ ที่อาจเป็นน้องชายหรือพี่ชายของกษัตริย์องค์เก่า ทั้งนี้เพื่อรักษาอำนาจของเครือข่ายราชินีไว้ พูดอีกอย่างก็คือ บางครั้งราชินีก็มีอำนาจเหนือกษัตริย์

คุณธรรมความเท่าเทียมทางเพศในสังคมไทยยังต้องสร้างกันขึ้นมาใหม่ แต่อย่าตั้งข้อรังเกียจด้วยคิดว่านั่นเป็นของตะวันตก เพราะความเข้าใจดังกล่าวก็เคยมีในสังคมไทยมาก่อน ต้องรื้อฟื้นความเข้าใจสังคมพื้นฐานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มาผสมผสานกับคุณธรรมสิทธิมนุษยชนของสังคมสมัยใหม่ และที่สำคัญคือ ต้องเรียกร้องการเคารพเพศที่แตกต่างอย่างเท่าเทียมกัน กับทั้งผู้อื่นและต่อตนเอง

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปาฐกถาในเวทีเสวนา “50 ปี 14 ตุลาฯ ยังตามหารัฐธรรมนูญใหม่” จัดโดยสมัชชาคนจน วันที่ 14 ตุลาคม 2566
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อ 24 กค. 65 ผู้จัดการแสดง #ฮิญาบ2022  ชวนผมไปดูการแสดงของคุณฟารีดา จิราพันธ์ ที่กาลิเลโอเอซิส แล้วผู้จัดจะชวนผมสนทนาหลังละคร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะเพื่อนร่วมวิชาชีพวิชาการ ในฐานะผู้ปกครองนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ และในฐานะคนรักศิลปะ ผมเขียนจดหมายนี้เพื่อตั้งคำถามต่อการที่ผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์จะตรวจสอบผลงานก่อการอนุญาตให้จัดแสดงผลงานของนักศึกษาภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นคนพูดถึงตัวละครในซีรีย์เกาหลีเอ่ยถึงจอร์จ บาไตล์ ในรูปนั่นน่ะครับ เป็นคอลเล็กชันจอร์จ บาไตล์บนชั้นหนังสือผมแบบเบาๆ ผมเก็บไว้ร่วม 20 ปีแล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายคนคงรู้ว่าวันนี้เป็นวันชาติเวียดนาม แต่น้อยคนคงรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในวันนี้กันแน่ แล้ววันนี้ในอดีตถูกกำหนดเป็นวันขาติจากเหตุการณ์ปีใด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จนถึงวันนี้ การต่อสู้ของประชาชนในขบวนการ “คณะราษฎร 63” ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า พลังของแสงดาวได้สร้างสรรค์สังคมไทยอย่างไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การที่อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาได้ออกมาแสดงความเห็นว่ามีการสร้างกระแสกดดันศาลต่างๆ นานา (ดู https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/2081366) มองในแง่ดี ผมคิดว่านี่คือการออกมาอธิบายกับสังคมอีกครั้งของผู้มีอำนาจในกระบวนการยุติธรรมอย่างชัดแจ้ง หลังจากที่มีการชี้แจงถึงเหตุผลการไม่ปล่อยตัวผู้ต้องหาคดีการเมืองโดยโฆษกศาลและโฆษกกระทรวงยุติธรรมก่อนหน้านี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อะไรที่ทำให้ดนตรีมีสถานะในการทำร้ายกันได้บ้าง ผมว่าอย่างน้อยที่สุดต้องเข้าใจก่อนว่า ดนตรีไม่ใช่แค่เสียง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
พอดีนั่งฟังเพื่อนนักวิชาการอ่านหนังสือ "กบฏชาวนา" ของรานาจิต คูฮา (1982) มาคุยให้ฟัง (แปลโดย ปรีดี หงษ์สต้น) ในเพจของสำนักพิมพ์ Illumination Editions เลยคิดถึงบันทึกที่เคยเขียนถึงหนังสือของ ดิเพช จักรบาร์ตี เรื่อง Provincializing Europe (2000)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรื่อง ถามถึงมโนธรรมสำนึกในความเป็นครูบาอาจารย์ของอาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทัศนะล่าสุดของอาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ต่อการชุมนุม 16 ตค. 63 ย้อนแย้งกับสมัยที่อาจารย์ให้ความเห็นต่อการชุมนุม กปปส. ในขณะนั้นอาจารย์อธิบายยืดยาวว่าการชุมนุมของ กปปส. ใช้สันติวิธี
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอให้อาจารย์หยุดใช้ถ้อยคำสร้างความเกลียดชังในสังคม