Skip to main content

เมื่อสองวันก่อน มีคนที่สนใจนโยบายรถไฟความเร็วสูงคนหนึ่งถามผมว่า "อาจารย์รู้ไหมว่า โอกาสที่รถไฟไทยจะตรงเวลามีเท่าไหร่" ผมตอบ "ไม่รู้หรอก" เขาบอกว่า "มีเพียง 30%" 

เขายังให้ข้อมูลที่น่าตกใจมากเข้าไปอีกว่า "แต่นั่นเขาทดเวลาแล้วนะครับ คือที่เขาถือว่า "ตรงเวลา" นั้น หมายถึงสามารถคลาดเคลื่อนจากเวลาจริงได้ 30 นาที" สรุปแล้ว 30% ที่ไม่เลทนั้น อาจะเลทไปแล้ว 30 นาที คนเดียวกันนั้นยังบอกผมต่อว่า "แล้วที่ญี่ปุ่น โอกาสที่รถไฟเลทมีเท่าไหร่รู้ไหมครับ" เขาถามเองตอบเองเสร็จว่า "0.006%" (ผมอาจจำคลาดเคลื่อนบ้าง แต่ประมาณนี้แหละ) 

 

คนเดียวกันยังถามผมอีกว่า "อาจารย์มีอะไรแนะนำเรื่องนโยบายนี้ไหม" ผมบอก "ผมจะไปรู้อะไรกับเรื่องรถไฟและการกู้เงิน จะแนะนำอะไรได้ มีอยู่เรื่องเดียวที่ผมว่าจำเป็นคือ ต้องทำให้มันเป็น "ระบบ" จริงๆ" 

 

ผมมาคิดต่อว่า ความเป็นระบบที่ว่าน่าจะมี 3 ส่วน หนึ่งคือระบบของการขนส่งมวลชน ที่ต้องเชื่อมโยงกันจริงๆ ไม่ใช่มีเพียงรถไฟความเร็วสูงที่เร็ว แต่ที่ช้าก็เชื่องช้าไร้ระบบอยู่ต่อไปอย่างนั้น หากแต่ต้องเชื่อมโยงรถไฟความเร็วสูงกับรถไฟความเร็วธรรมดา เชื่อมโยงกับรถเมล์สาธารณะกับรถไฟทั้งระบบ ทำแบบที่ประเทศญี่ปุ่น หรือที่ระบบขนส่งมวลชนในเมืองใหญ่ๆ อย่างนิวยอร์คหรือชิคาโกเขาทำกัน  

 

ความเป็นระบบอีกอย่างคือ ต้องเป็นขนส่ง "มวลชน" ที่คนส่วนใหญ่เข้าถึงได้ ไม่ใช่เพียงราคาถูก แต่ต้องทั่วถึง มีทุกภาค ไม่ใช่มีวิ่งไปวิ่งมาแค่ในใจกลางประเทศ เหมือนเมื่อสร้าง BTS แรกๆ ที่สนองเฉพาะชีวิตคนที่มั่งคั่งในเขตกรุงเทพชั้นใน ไม่ใช่เป็นของเล่นคนรวยแบบรถไฟแอ็มแทรกในสหรัฐอเมริกา ที่เอาไว้ให้คนมีสตางค์นั่งท่องเที่ยวบนรถไฟกัน ไม่ใช่แบบรถไฟตุ๊กตาแบบ "ดุสิตธานี" เมืองจำลองที่เอาไว้สร้างตำนานประชาธิปไตยโดยกษัตริย์หลอกลูกหลานไทย 

 

แต่ระบบหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ ระบบชีวิตที่เกี่ยวพันกับวัฒนธรรมและสังคม รถไฟความเร็วสูงเกี่ยวข้องกับเวลาของชีวิตในหลายๆ มิติด้วยกัน เพราะรถไฟความเร็วสูงไม่เพียงสร้างระบบการขนส่งแบบใหม่ แต่มันจะมีส่วนสร้างหรือเสริมการสร้างระบบสังคมแบบใหม่ด้วย 

 

เมื่อเร็วๆ นี้ผมเพิ่งกลับจากญี่ปุ่น ได้เจอเพื่อนเก่าหลายคน เพื่อนคนหนึ่งเป็นชาวโอซากา เคยทำวิจัยในเวียดนามในช่วงเวลาเดียวกัน จึงพูดคุยกันหลายเรื่อง พอมีคำถามถึงเขาว่า "รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงอะไรเมื่อไปทำวิจัยในหมู่บ้านที่เวียดนามมา" ดร.จบใหม่คนนั้นซึ่งที่จริงเป็นนักประวัติศาสตร์แต่จำเป็นต้องไปเก็บข้อมูลโดยอาศัยอยู่กับชาวบ้านที่หมู่บ้านในพื้นที่ห่างไกล ก็ตอบว่า "รู้สึกได้ว่า เวลาที่นั่นแตกต่างจากเวลาที่เคยอยู่" 

 

เวลาในสังคมเกษตรย่อมแตกต่างจากเวลาของสังคมอุตสาหกรรม จังหวะชีวิตที่ข้ึนกับดินฟ้าอากาศ ความจำเป็นทางการผลิต การตลาดของสินค้าเกษตร และความสัมพันธ์ของผู้คนในสังคมที่ต้องเผชิญหน้ากับญาติพี่น้องเสมอๆ ย่อมแตกต่างกับเวลาตามเข็มนาฬิกา เวลาของตลาดเงิน เวลาของการผลิตทางอุตสาหกรรม เวลาของเครื่องจักรขนาดใหญ่ เวลาของสังคมมวลชน เวลาของคนที่ส่วนใหญ่อยู่กับตนเองหรือครอบครัวขนาดเล็ก 

 

เวลาในหมู่บ้านในเวียดนามไม่เพียงแตกต่างกับเวลาของชาวเมืองโอซากาในเชิงคุณลักษณะหรอก แต่ยังแตกต่างกันในเชิงความแน่นอนและความรีบเร่งของการเคลื่อนไหว สำหรับเรื่องความเร็ว ไม่ต้องพูดถึงว่าเมืองใหญ่ขนาดโอซากานั้นใช้ความเร็วกันขนาดไหน หากแต่ก็ไม่ได้เร็วจนใครตามไม่ทัน เพราะในเมืองใหญ่ ในสังคมขนาดใหญ่ ความเร็วของแต่ละคนต้องพอเหมาะกับคนอื่น ต้องประสานกันได้ สิ่งที่จำเป็นไม่แพ้ความเร็วจึงได้แก่ความแม่นยำ 

 

พูดถึงความแม่นยำ มีครั้งหนึ่ง ผมรอรถเมล์ในเมืองเกียวโตที่สถานีชุมทางแห่งหนึ่ง ตามตารางรถ จะต้องเข้าเทียบท่าเวลา 9.48 น. ตรงท่ารถมีนาฬิกาบอกเวลาด้วยเข็มเรือนใหญ่ เมืองเข็มเคลื่อนถึง 9.48 ปุ๊บ รถก็หยุดสนิทที่ท่าปั๊บ แทบจะในวินาทีเดียวกัน 

 

ความแน่นอนแม่นยำดูจะเป็นสิ่งที่สำคัญเสียยิ่งกว่าความเร็ว เพราะถ้าเร็วไปโดยไม่มีความเชื่อมโยงกันอย่างแม่นยำ ระบบก็จะไม่สอดประสานกันได้ ความแม่นยำแน่นอนเป็นเครื่องมือของสังคมที่ต้องการการสอดประสานกันของสิ่งที่แตกต่างกันอย่างเป็นระบบ ความแม่นยำของระบบการขนส่งช่วยให้ชีวิตที่แตกต่างกัน แต่จำเป็นต้องเชื่อมโยงประสานกัน สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง ความแม่นยำเป็นสะพาน "เชื่อมประมาน" ระบบที่อยู่กันคนละระนาบกันให้เจอกันได้ 

 

ในระหว่างบทสนทนาเรื่องรถไฟความเร็วสูงนั้น จึงมีเพื่อนร่วมวงสนทนาพูดขึ้นมาว่า สำหรับการขนส่งสินค้าทางการเกษตร "รอเพียงนาทีเดียวก็เสียหายได้" ฉะนั้น เกษตรกรเขาก็อยากได้ความเร็วสูงในการขนส่งพืชผลเช่นกัน หากแต่เราอาจต้องคิดระบบขนส่งที่ ทั้งรวดเร็วและแม่นยำที่เหมาะกับสินค้าหลายๆ แบบ 

 

แต่สำหรับคนที่ยังไม่เห็นความสำคัญ ก็คงจะยังอยากอยู่ในระบบสังคมแบบที่การรถไฟจินตกรรม (คือทั้งจินตนาการและก่อกรรมให้) คือแบบที่ผู้โดยสารพบรักกันบนรถไฟ เรียนรู้ชีวิตผู้คนบนรถไฟ ยอมช้าไปบ้างอะไรบ้าง พลาดนัดผิดสัญญาอะไรบ้าง ก็ช่างประไร ส่วนใครที่อยากเร็ว อยากถูกบีบอัดอยู่ในพื้นที่และเวลาในโลกหลังสมัยใหม่อย่างไร ก็ปล่อยเขาฝันต่อไปเถิด ใช่ไหมล่ะ 

 

ใครบางคนคงยังไม่อยากอยู่ในเวลาแบบใหม่ ยังไม่พร้อมจะออกไปจากเวลาในหมู่บ้าน หรือที่จริง ใครบางคนที่มีอำนาจวาสนา คงอยากจำกัดโอกาสการเข้าถึงเวลาที่รวดเร็วและแม่นยำ เอาไว้กับเฉพาะบางคนที่รวยพอจะเร็วได้ เฉพาะคนที่ใหญ่พอจะเห็นความสำคัญของเวลา ส่วนใครที่ยังยากจนอยู่น่ะ ก็ต้องก้มหน้ายอมรับความพอเพียงที่จำกัดให้เขาเชื่องช้าอยู่ต่อไปอย่างนั้น ใช่ไหมล่ะ

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปาฐกถาในเวทีเสวนา “50 ปี 14 ตุลาฯ ยังตามหารัฐธรรมนูญใหม่” จัดโดยสมัชชาคนจน วันที่ 14 ตุลาคม 2566
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อ 24 กค. 65 ผู้จัดการแสดง #ฮิญาบ2022  ชวนผมไปดูการแสดงของคุณฟารีดา จิราพันธ์ ที่กาลิเลโอเอซิส แล้วผู้จัดจะชวนผมสนทนาหลังละคร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะเพื่อนร่วมวิชาชีพวิชาการ ในฐานะผู้ปกครองนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ และในฐานะคนรักศิลปะ ผมเขียนจดหมายนี้เพื่อตั้งคำถามต่อการที่ผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์จะตรวจสอบผลงานก่อการอนุญาตให้จัดแสดงผลงานของนักศึกษาภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นคนพูดถึงตัวละครในซีรีย์เกาหลีเอ่ยถึงจอร์จ บาไตล์ ในรูปนั่นน่ะครับ เป็นคอลเล็กชันจอร์จ บาไตล์บนชั้นหนังสือผมแบบเบาๆ ผมเก็บไว้ร่วม 20 ปีแล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายคนคงรู้ว่าวันนี้เป็นวันชาติเวียดนาม แต่น้อยคนคงรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในวันนี้กันแน่ แล้ววันนี้ในอดีตถูกกำหนดเป็นวันขาติจากเหตุการณ์ปีใด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จนถึงวันนี้ การต่อสู้ของประชาชนในขบวนการ “คณะราษฎร 63” ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า พลังของแสงดาวได้สร้างสรรค์สังคมไทยอย่างไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การที่อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาได้ออกมาแสดงความเห็นว่ามีการสร้างกระแสกดดันศาลต่างๆ นานา (ดู https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/2081366) มองในแง่ดี ผมคิดว่านี่คือการออกมาอธิบายกับสังคมอีกครั้งของผู้มีอำนาจในกระบวนการยุติธรรมอย่างชัดแจ้ง หลังจากที่มีการชี้แจงถึงเหตุผลการไม่ปล่อยตัวผู้ต้องหาคดีการเมืองโดยโฆษกศาลและโฆษกกระทรวงยุติธรรมก่อนหน้านี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อะไรที่ทำให้ดนตรีมีสถานะในการทำร้ายกันได้บ้าง ผมว่าอย่างน้อยที่สุดต้องเข้าใจก่อนว่า ดนตรีไม่ใช่แค่เสียง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
พอดีนั่งฟังเพื่อนนักวิชาการอ่านหนังสือ "กบฏชาวนา" ของรานาจิต คูฮา (1982) มาคุยให้ฟัง (แปลโดย ปรีดี หงษ์สต้น) ในเพจของสำนักพิมพ์ Illumination Editions เลยคิดถึงบันทึกที่เคยเขียนถึงหนังสือของ ดิเพช จักรบาร์ตี เรื่อง Provincializing Europe (2000)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรื่อง ถามถึงมโนธรรมสำนึกในความเป็นครูบาอาจารย์ของอาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทัศนะล่าสุดของอาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ต่อการชุมนุม 16 ตค. 63 ย้อนแย้งกับสมัยที่อาจารย์ให้ความเห็นต่อการชุมนุม กปปส. ในขณะนั้นอาจารย์อธิบายยืดยาวว่าการชุมนุมของ กปปส. ใช้สันติวิธี
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอให้อาจารย์หยุดใช้ถ้อยคำสร้างความเกลียดชังในสังคม