Skip to main content

ช่วงสั้นๆ ของชีวิตผมมีโอกาสได้รู้จักคนในแวดวงนักเขียนรูป ผ่านครูสอนวาดเส้นให้ผมคนหนึ่ง ครูผมคนนี้มีเพื่อนคนหนึ่งที่เขาสนิทสนมกันดี ชื่อไสว วงษาพรหม เมื่อคืน ได้สนทนากับคนในแวดวงศิลปะ ที่เรือนชานแห่งหนึ่งที่มีไมตรีให้เพื่อนฝูงเสมอ ผมจึงเพิ่งทราบว่าไสวเสียชีวิตไปหลายปีแล้ว ลอง google ดูพบว่าเขาเสียชีวิตเมื่อ 22 สิงหาคม 2551

ครั้งแรกที่เจอไสว ผมประทับใจมาก ผมคิดว่าไม่มีใครที่รู้จักไสวแล้วจะไม่พูดถึงทรงผมหัวฟูของเขา ที่ปกคลุมหน้าและจมูกแป้นๆ ของเขา ระหว่างนั้นเขายังมีสถานภาพนักศึกษาคณะจิตรกรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร เขาทักผมด้วยภาษาถิ่นบ้านเกิดเขา พอผมตอบกลับ เขาบอกว่า "อ้าว! คนไทยหรอ? นึกว่าลาว" ผมยิ้มๆ งงๆ เพราะเพิ่งรู้ว่าคนอีสานเรียกคนบางกอกว่า "คนไทย"

ไสวเป็นคนน่าคบหา อัธยาศัยดี มีรอยยิ้มเสมอ ผมเจอไสวอีกไม่กี่ครั้ง แต่ก็เหมือนรู้จักกันมานาน อาจจะเพราะเขาเป็นคนใจดีกับทุกคน สมัยนั้นไสวเป็นศิลปินสีน้ำดาวรุ่งที่โด่งดังมาก เขาเล่าให้ผมฟังว่า พอเรียนถึงสักปีสอง ตามหลักสูตรเขาก็จะเรียนเขียนสีน้ำ ไสวบอกเขาชอบสีน้ำมาก และก็คิดว่าเขายังเรียนสีน้ำไม่จบสักที แม้ว่าหลักสูตรจะให้เรียนสั้นๆ แต่ไสวบอก "ก็เราคิดว่าเรายังเรียนสีน้ำไม่จบนี่นา จะให้ทิ้งสีน้ำขยับไปเขียนสีน้ำมันได้อย่างไร" 

ไสวก็เลยตระเวนหาวัตถุแห่งการแต้มสีน้ำของเขาไปเรื่อยๆ ทำอย่างนั้นจนกระทั่งได้เปิดงานแสดงเดี่ยว ยิ่งในยุคนั้นเป็นยุคฟองสบู่ ภาพเขียนสีน้ำไสวแม้บางชิ้นจะเล็กๆ ขนาดเท่ากระดาษ A4 เมื่อสักปี 2528-2530 ไสวก็ทำเงินได้ไม่ต่ำกว่าภาพละ 5,000-8,000 บาทแล้ว แสดงงานแต่ละครั้งไสวจึงได้เงินเป็นกอบเป็นกำมาก

ภาพเขียนสีน้ำของไสวบางมาก สมัยที่ผมรู้จักเขา เขาชอบเขียนทุ่งหญ้า ทุ่งข้าว ภูเขา บางทีเขาใช้สีสดๆ แต่ไสวแทบจะไม่เขียนสีทับกันเลย เขาใช้วิธีแทรกสีเข้าไปในแต่ละทีพู่กันอย่างไรไม่ทราบ ทำให้สีมันเหลื่อมๆ กันตลอด เขาเขียนแนวสีชุ่ม งานฉ่ำตาตลอดทั้งชิ้น ไม่เน้นให้เป็นรูปเป็นร่าง เลยทำให้งานเขาแลดูเหมือนอยู่ระหว่างงาน impressionist กับ abstract 

ผมไม่ได้เจอไสวอีกนาน จนกระทั่งเมื่อผมจบปริญญาตรีใหม่ๆ ไปทำงานบริษัทโฆษณา ช่วงนั้นไสวก็คงเหมือนศิลปินคนอื่นๆ ที่การเงินตกสะเก็ด ไสวรับงานเขียนภาพประกอบงานโฆษณาซึ่งเพื่อนเขาที่ทำงานในบริษัทเดียวกับผมติดต่อให้ ผมรับหน้าที่ติดตามงานของไสว ก็เลยได้เจอและคุยกับไสวอีก

มีวันหนึ่ง ผมนัดเจอเขาที่โรงอาหารเศรษฐฯ มธ. ท่าพระจันทร์ ไสวบอกว่า "เราชอบพวกธรรมศาสตร์ว่ะ" ผมถาม "ทำไมล่ะ" ไสวบอก "เราชอบมาอ่านงานเขียนตามกำแพงข่าว เราเรียนศิลปะ เขียนงานอะไรแบบนี้ไม่ได้ วิเคราะห์สังคมไม่เป็น ไม่ได้อ่านหนังสือแบบพวกนาย" ผมพูดตอบไปว่า "แต่เราก็เขียนรูปไม่ได้อย่างพวกนาย" 

เขายิ้มๆ แล้วเราก็คุยเรื่องงานศิลปะกัน สนทนาไปสักพักไสวก็เปรยขึ้นมาว่า "นายคุยเรื่องศิลปะได้เยอะมาก รู้เรื่องศิลปะดีพอสมควร นายน่าจะมาเป็นผู้จัดการให้เราว่ะ เราอยากได้ผู้จัดการคอยติดต่อโน่นนี่ ติดต่อแกลอรี่ ติดต่อสื่ออะไรให้" ผมยิ้ม บอก "ทำไม่เป็นหรอก"

เมื่อรู้ว่าเขาเสียชีวิตแล้ว ผมอึ้งพอสมควร ไม่ได้สนิทกับไสว ไม่ได้เจอเขาบ่อยนัก แต่เหมือนคนรู้จักกันมานาน ชีวิตผมเองก็คงเหมือนกับหลายๆ คน ที่เป็นผลมาจากส่วนผสมเล็กน้อยของคนหลายๆ คน หนึ่งในนั้นมีไสว วงษาพรมรวมอยู่ดัวย เมื่อคืนก็เลยดื่มอาลัยให้ไสว แล้วก็ขอเขียนคำอาลัยไสวสั้นๆ ไว้ตรงนี้

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
คำสำคัญ: sensory subjectivity, sensory categories, sensory bias, sensory ethnocentrism, sensory colonization (อธิบายไว้ท้ายข้อเขียน) คนทำเรื่องอาหารข้ามถิ่น ไม่ต่างจากการทำงานทางมานุษยวิทยา ที่ต้องตระหนักถึงการ ไม่นำเอา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ถ้าคุณไม่สามารถเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ได้แล้ว ก็โปรดอย่าถ่วงรั้งการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่เลย 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปาฐกถาในเวทีเสวนา “50 ปี 14 ตุลาฯ ยังตามหารัฐธรรมนูญใหม่” จัดโดยสมัชชาคนจน วันที่ 14 ตุลาคม 2566
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อ 24 กค. 65 ผู้จัดการแสดง #ฮิญาบ2022  ชวนผมไปดูการแสดงของคุณฟารีดา จิราพันธ์ ที่กาลิเลโอเอซิส แล้วผู้จัดจะชวนผมสนทนาหลังละคร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะเพื่อนร่วมวิชาชีพวิชาการ ในฐานะผู้ปกครองนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ และในฐานะคนรักศิลปะ ผมเขียนจดหมายนี้เพื่อตั้งคำถามต่อการที่ผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์จะตรวจสอบผลงานก่อการอนุญาตให้จัดแสดงผลงานของนักศึกษาภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นคนพูดถึงตัวละครในซีรีย์เกาหลีเอ่ยถึงจอร์จ บาไตล์ ในรูปนั่นน่ะครับ เป็นคอลเล็กชันจอร์จ บาไตล์บนชั้นหนังสือผมแบบเบาๆ ผมเก็บไว้ร่วม 20 ปีแล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายคนคงรู้ว่าวันนี้เป็นวันชาติเวียดนาม แต่น้อยคนคงรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในวันนี้กันแน่ แล้ววันนี้ในอดีตถูกกำหนดเป็นวันขาติจากเหตุการณ์ปีใด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จนถึงวันนี้ การต่อสู้ของประชาชนในขบวนการ “คณะราษฎร 63” ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า พลังของแสงดาวได้สร้างสรรค์สังคมไทยอย่างไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การที่อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาได้ออกมาแสดงความเห็นว่ามีการสร้างกระแสกดดันศาลต่างๆ นานา (ดู https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/2081366) มองในแง่ดี ผมคิดว่านี่คือการออกมาอธิบายกับสังคมอีกครั้งของผู้มีอำนาจในกระบวนการยุติธรรมอย่างชัดแจ้ง หลังจากที่มีการชี้แจงถึงเหตุผลการไม่ปล่อยตัวผู้ต้องหาคดีการเมืองโดยโฆษกศาลและโฆษกกระทรวงยุติธรรมก่อนหน้านี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อะไรที่ทำให้ดนตรีมีสถานะในการทำร้ายกันได้บ้าง ผมว่าอย่างน้อยที่สุดต้องเข้าใจก่อนว่า ดนตรีไม่ใช่แค่เสียง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
พอดีนั่งฟังเพื่อนนักวิชาการอ่านหนังสือ "กบฏชาวนา" ของรานาจิต คูฮา (1982) มาคุยให้ฟัง (แปลโดย ปรีดี หงษ์สต้น) ในเพจของสำนักพิมพ์ Illumination Editions เลยคิดถึงบันทึกที่เคยเขียนถึงหนังสือของ ดิเพช จักรบาร์ตี เรื่อง Provincializing Europe (2000)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรื่อง ถามถึงมโนธรรมสำนึกในความเป็นครูบาอาจารย์ของอาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์