Skip to main content

ยุกติ มุกดาวิจิตร

 


(ถ้า) สุราไม่ได้มีไว้ให้เมา (แล้วจะดื่มไปหาอะไรล่ะครับ)

ผมนั่งกินก๋วยเตี๋ยวต้มยำกุ้งที่ร้านแถวท่าพระอาทิตย์แห่งหนึ่งแล้ว อดไม่ได้ที่จะรำพึงกับตัวเองแบบที่เคยพูดไว้กับสหายว่า "รสชาติก๋วยเตี๋ยวต้มยำกุ้งร้านนี้เป๊ะแบบบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจริงๆ" คือมันมาตรฐานเสียจนเหมือนเฟ้คไปเลย แต่นี่ชื่นชมนะครับ (เดี๋ยวเจ้าของร้านที่เฝ้า "หน้าหนังสือ" อยู่จะหันมาค้อนเอา)

แล้วก็พลันคิดไปถึงค็อกเทลรสในฝัน ที่บาร์เทนดี้ดีกรี (ความรู้) สูงท่านหนึ่ง เปรยทิ้งไว้ให้เพื่อนๆ เปรี้ยวปากเมื่อสองคืนก่อนว่า "นอกจากเหล้าเกือบ 10 ชนิดที่ชงให้พวกพี่ๆ ดื่มชิมกันแล้ว ยังมี ต้มยำกุ้ง ค็อคเทลสูตรพิเศษของพี่ชายซึ่งเป็นบาร์เทนเดอร์ระดับนำของเมืองไทย" วิธีปรุงน่ะหรอครับ ต้องเก็บไว้เป็นสูตรเฉพาะของครอบครัวบาร์เทนดี้ท่านนี้ ตามแต่ว่าเมื่อไหร่ท่านจะสละเวลาชงให้สหายดื่มชิมกัน

แล้วก็พลันคิดถึงคำพูดที่สหายอีกท่านได้ยินในลิฟท์ในสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่งว่า "คณะนี้แม่มขี้เมากันทั้งนักศึกษาทั้งอาจารย์" ไม่ว่าคำกล่าวนี้จะจริงหรือไม่ ก็ขอให้พิจารณากันหน่อยเถิดว่า การดื่มสุรามีไปเพื่ออะไรกัน

ตอนทำวิจัยอยู่เวียดนาม ผมต้องฝึกอยู่เนิ่นนานกว่าจะดื่มแบบเสมอบ่าเสมอไหล่ได้พอๆ กับผู้เฒ่าวัย 70-80 ที่ประสบการณ์การดื่มโชกโชน ยิ่งในวงเหล้าของพวกทหารผ่านศึกยิ่งน่ากลัว แต่ไม่มีโอกาสไหนที่จะได้ข้อมูลเรื่องราวละเอียดยืดยาวแบบตรงไปตรงมาได้ดีไปกว่าวงเหล้า ผมจึงต้องอึดฝึกปรือ "วิธีวิทยาของการเมา" ให้เข้มแข็ง

เรียกว่า "บันทึกภาคสนาม" ของผมส่วนใหญ่คือ "บันทึกจากวงเหล้า" นั่นแหละ แต่กระนั้นก็ยังล้มพับนอนไปหลายครา

คนเวียดนามหลายต่อหลายถิ่นมีมารยาทกำกับการดื่มสุราที่ค่อนข้างเข้มงวด เช่น ไม่ดื่มสุราคนเดียว แม้ในวงเหล้า จะแอบจิบอยู่คนเดียวก็ไม่ได้ ถ้าอยากจิบคนเดียว อย่างน้อยก็ต้องเชิญทั้งวงยกแก้ว คนอื่นจะดื่มด้วยจริงหรือไม่ก็ต้องบอกให้เขารับรู้ก่อน หากจะดื่มกับใครในวงเป็นพิเศษ ก็ต้องขออนุญาตทั้งวงก่อน 

ยิ่งในพิธีกรรมของชาวไทยิ่งมีมารยาทจัด ตั้งแต่ตำแหน่งในวงเหล้า แขกนั่งตรงไหน เจ้าเรือนตรงไหน ผู้ชายตรงไหน ผู้หญิงตรงไหน ใครอาวุโสนั่งตรงไหน ฝ่ายเมีย (ซึ่งใหญ่ที่สุดสำหรับคนไทในเวียดนาม) ควรนั่งตรงไหน ใครควรนั่งตรงไหนจะยิ่งซับซ้อนหากมีแขกสำคัญหลายระดับ 

ใครเป็นคนรินเหล้า วิธีรินเป็นอย่างไร ต้องคอยเชียร์ให้คนดื่มอย่างไร ต้องคอยกล่าวสุนทรพจน์อย่างไร ดื่มแล้วควรกินอะไรก่อนอะไรหลัง เหล้าหมดควรทำอย่างไร อาหารหมดควรทำอย่างไร จะลุกไปเข้าห้องน้ำควรทำอย่างไร จังหวะไหนจึงกินข้าว กระทั่ง ใครควรลุกคนสุดท้าย

เหล่านี้ทำให้การดื่มเป็นพิธีกรรมทางสังคมที่ไม่ธรรมดา

แน่นอนว่าผมมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับการร่ำสุราในสนามมากมาย แต่ประสบการณ์ร่ำสุราที่ไม่รู้ลืมคือการดวด "เหล้ามายห้า" สุรา 50 ดีกรี (จุดไฟติดจริงๆ ครับ) ชั้นดีของชาวไทขาวเมืองมายเจิว กับพี่ดึ๊ก นายอำเภอหนุ่มไทขาวเมืองมุน 

เหล้ามายห้าเป็นเหล้าหมักจากข้าว ผสมเครื่องเทศบางอย่าง (ที่ผมยังไม่รู้ว่าอะไร) แล้วกลั่นจนใสปิ๊ง มายห้ารสเผ็ด จัดจ้าน แต่ไม่กระด้างจนฟาดหน้าให้หงายหลัง

คืนนั้นผมกับพี่ดึ๊กดื่มกันไป คุยกันไปเรื่องโครงการรื้อฟื้นการเรียนหนังสือไทในเวียดนาม ก่อนที่วันรุ่งขึ้นจะมีพิธีเปิดการจัดการเรียนการสอนอย่างเป็นทางการ พี่ดึ๊กกับผมต้องคุยเป็นภาษาเวียดนาม เพราะสำเนียงไทดำในเวียดนามที่ผมรู้ สื่อสารกับสำเนียงไทขาวถิ่นบ้านพี่ดึ๊กไม่รู้เรื่อง

เจอเพื่อนถูกคน ได้สุราถูกคอ ต่อบทสนทนากันถูกใจ ก็เผลอดื่มกันไปเรื่อย ทีละจอก ทีละจอก จนหมดขวด ราวเที่ยงคืน จึงแยกย้ายกันไปนอน

ตื่นเช้ามา ไม่มีอะไรติดค้างในหัว สมองสดใส พิธีเปิดดำเนินไปอย่างราบรื่น

บอกยากเหมือนกันว่าสุราทำหน้าที่อะไร แต่ผมเลือกจะเชื่อว่า มันถอดหน้ากากคน มันลดอัตตา มันทำให้คนหันหน้าเข้าหากัน แต่นี่คงต้องอยู่ในบริบทของการดื่ม ในสังคมที่มีระเบียบเข้มงวดในการด่ืมสุรา

ที่สำคัญคือ สุราไม่ได้ทำให้คนสิ้นสติ สูญเสียความเป็นมนุษย์ อย่างที่คนไม่รู้จักอารยธรรมของสุราเข้าใจเสมอไป หากเรารู้จักสร้างสังคมของการดื่มอย่างสร้างสรรค์ อารยธรรมสุราไทยจะกลายเป็นอารยธรรมโลก

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้เป็นวันระลึก "เหตุการณ์ 28 กุมภาพันธ์" 1947 หรือเรียกกันว่า "228 Incident" เหตุสังหารหมู่ประชาชนทั่วประเทศไต้หวัน โดยรัฐบาลที่เจียงไคเชกบังคับบัญชาในฐานะผู้นำก๊กมินตั๋งในจีนแผ่นดินใหญ่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
มีเพื่อนขอให้ผมช่วยแนะนำร้านอาหารในฮานอยให้ แต่เห็นว่าเขาจะไปช่วงสั้นๆ ก็เลยแนะนำไปไม่กี่แห่ง ส่วนร้านเฝอ ขอแยกแนะนำต่างหาก เพราะร้านอร่อยๆ มีมากมาย เอาเฉพาะที่ผมคุ้นๆ แค่ 2-3 วันน่ะก็เสียเวลาตระเวนกินจนไม่ต้องไปกินอย่างอื่นแล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
มีวันหนึ่ง อาจารย์อคินเดินคุยอยู่กับอาจารย์ที่ผมเคารพรักท่านหนึ่ง ผมเดินตามทั้งสองท่านมาข้างหลังอย่างที่ทั้งสองท่านรู้ตัวดี ตอนนั้นผมกำลังเรียนปริญญาเอกที่อเมริกา หรือไม่ก็เรียนจบกลับมาแล้วนี่แหละ อาจารย์อคินไม่รู้จักผม หรือรู้จักแต่ชื่อแต่ไม่เคยเห็นหน้า หรือไม่ก็จำหน้าไม่ได้ ผมแอบได้ยินอาจารย์อคินเปรยกับอาจารย์อีกท่านว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คืนวาน วันฮาโลวีน นักศึกษาชวนผมไปพูดเรื่องผี ปกติผมไม่อยู่รังสิตจนมืดค่ำ แต่ก็มักใจอ่อนหากนักศึกษาชวนให้ร่วมเสวนา พวกเขาจัดงานกึ่งรื่นเริงกึ่งเรียนรู้ (น่าจะเรียกว่าเริงรู้ หรือรื่นเรียนก็คงได้) ในคืนวันผีฝรั่ง ในที่ซึ่งเหมาะแก่การจัดคือพิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยา เพราะมีของเก่าเยอะ ก็ต้องมีผีแน่นอน ผมก็เลยคิดว่าน่าสนุกเหมือนกัน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่ถึงกับต่อต้านกิจกรรมเชียร์อย่างรุนแรง เพราะคนสำคัญใกล้ตัวผมก็เป็นอดีตเชียร์ลีดเดอร์งานบอลประเพณีฯ ด้วยคนหนึ่ง และเพราะอย่างนั้น ผมจึงพบด้วยตนเองจากคนใกล้ตัวว่า คนคนหนึ่งกับช่วงชีวิตช่วงหนึ่งของมหาวิทยาลัยมันเป็นเพียงแค่ส่วนเสี้ยวหนึ่งของพัฒนาการของแต่ละคน แต่ก็ยังอยากบ่นเรื่องการเชียร์อยู่ดี เพราะความเข้มข้นของกิจกรรมในปัจจุบันแตกต่างอย่างยิ่งจากในสมัยของผม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเพิ่งไปเก็บข้อมูลวิจัยเรื่องการรู้หนังสือแบบดั้งเดิมของ "ลาวโซ่ง" ในไทยที่อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ได้ราว 2 วัน ได้ข้อมูลมากมายเกี่ยวกับประเด็นที่สนใจ แต่ก็ได้อย่างอื่นมาด้วยไม่น้อยเช่นกัน เรื่องหนึ่งคือความรู้เกี่ยวกับปลา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันก่อนปฐมนิเทศนักศึกษาปริญญาโท-เอกของคณะ ในฐานะคนดูแลหลักสูตรบัณฑิตศึกษาทางมานุษยวิทยา ผมเตรียมหัวข้อมาพูดให้นักศึกษาฟัง 4 หัวข้อใหญ่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ชื่อโมเฮน-โจ-ดาโรแปลตามภาษาซินธ์ (Sindh) ว่า "เนิน (ดาโร) แห่ง (โจ) ความตาย (โมเฮน)" เหตุใดจึงมีชื่อนี้ ผมก็ยังไม่ได้สอบถามค้นคว้าจริงจัง แต่ชื่อนี้ติดหูผมมาตั้งแต่เรียนปริญญาเอกอยู่ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน และเพราะโมเฮนโจดาโรและเมืองคู่แฝดที่ห่างไกลออกไปถึง 600 กิโลเมตรชื่อ "ฮารัปปา" นี่แหละที่ทำให้ผมชอบวิชาโบราณคดีและทำให้อยากมาปากีสถาน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ก่อนมา รู้อยู่แล้วว่าปากีสถานช่วงเดือนนี้คือเดือนที่ร้อนมาก และก็เพิ่งรู้ว่าเดือนนี้แหละที่ร้อนที่สุด แต่ที่ทำให้ “ใจชื้น” (แปลกนะ เรามีคำนี้ที่แปลว่าสบายใจ โดยเปรียบกับอากาศ แต่ที่ปากีสถาาน เขาคงไม่มีคำแบบนี้) คือ ความร้อนที่นี่เป็นร้อนแห้ง ไม่ชื้น และจึงน่าจะทนได้มากกว่า 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ครึ่งวันที่ผมมีประสบการณ์ตรงในกระบวนการยุติธรรมไทย บอกอะไรเกี่ยวกับสังคมไทยมากมาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมลองเอากรณีทุบรถกับทุบลิฟมาเปรียบเทียบกัน แล้วก็เห็นความแตกต่างกันมากหลายมุม ได้เห็นความเหลื่อมล้ำของสังคมที่สนใจกรณีทั้งสองอย่างไม่สมดุลกัน แต่สุดท้ายมันบอกอะไรเรื่องเดียวกัน คือความบกพร่องของสถาบันจัดการความขัดแย้งของประเทศไทย 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
คนรุ่นใหม่ครับ...