ยุกติ มุกดาวิจิตร: ว่าด้วยการอ่าน

วันก่อนปฐมนิเทศนักศึกษาปริญญาโท-เอกของคณะ ในฐานะคนดูแลหลักสูตรบัณฑิตศึกษาทางมานุษยวิทยา ผมเตรียมหัวข้อมาพูดให้นักศึกษาฟัง 4 หัวข้อใหญ่

หนึ่งคือ เป้าหมายของหลักสูตร สองคือ ตัวหลักสูตรเอง สามคือ วิธีเรียนให้สำเร็จ สี่คือ มีปัญหาปรึกษาใคร พูดไปพูดมาอย่างรวบรัดตัดตอนรายละเอียดของทุกประเด็นย่อย แต่เร่งแค่ไหนก็ยังเกินหนึ่งชั่วโมงอยู่ดี 

แน่นอนว่าในแต่ละประเด็นใหญ่ 4 ประเด็นนั้น ยังมีประเด็นย่อยมากมาย แล้วย่อยๆๆ ลงไปอีก  

อย่างเอาเฉพาะประเด็นวิธีเรียนให้สำเร็จ คือเรียนอย่างไรให้จบน่ะแหละ ผมเสนอว่าต้องฝึกอ่าน ฝึกค้นคว้า ฝึกเขียน ฝึกฟัง ฝึกถาม ฝึกสร้างคุณูปการต่อวงวิชาการ แต่ขณะนี้อยากเขียนถึงเรื่องการฝึกอ่านที่ผมเล่าให้นักศึกษาฟังก่อน 

แต่ไหนแต่ไรมาผมมีวิธีอ่านงานวิชาการอยู่ 4 ระดับด้วยกัน คืออ่านเอาเรื่อง อ่านเอารส อ่านถอดเรื่อง แล้วก็อ่านหาเรื่อง 

อ่านเอาเรื่องคืออ่านให้รู้เรื่องนั่นแหละ อ่านให้เข้าใจคืออ่านแบบพื้นฐานที่สุด คือหาสาระให้ได้ว่า เนื้อเรื่องคืออะไร ประเด็นคือ อะไร ข้อเสนอคืออะไร คนเขียนเถียงอะไรกับใคร เขาต้องการนำเราไปไหน ยิ่งเข้าใจระดับของความหมายได้มากเท่าไหร่ เราคือผู้อ่านก็จะยิ่งได้ประโยชน์ที่อาจจะไกลกว่าคนเขียนมากขึ้นเท่านั้น 

แต่การอ่านกันอย่างจริงจังแบบที่ผมทำแล้วอยากบอกนักศึกษาน่ะ ไม่ใช่แค่อ่านแล้วรู้ว่าคนเขียนจะบอกอะไรแค่นั้น แต่ต้องอ่านแล้วรู้รสของงานเขียน งานเขียนทางวิชาการเอง ที่ว่าเป็นงานวิชาการน่ะ ที่จริงมันก็มีหลายรสการประพันธ์  

เอาเฉพาะในขนบของงานวิชาการแบบทางการ ก็ยังต้องแบ่งการเขียนทบทวนวรรณกรรม ออกจากเขียนพรรณนาผู้คน สิ่งของ สถานที่ เวลา อย่างสัมพันธ์กับประเด็นที่ศึกษา ออกจากเขียนวิเคราะห์สอดแทรกแนวคิดให้เชื่อมโยงและดึงประเด็นนามธรรมออกมาจากข้อมูลเชิงพรรณนา ออกจากเขียนข้อถกเถียงทางทฤษฎี ออกจากเขียนวิธีการศึกษา เขียนบทสรุป เขียนบทคัดย่อ แต่ละแบบไม่เหมือนกันเลย  

นี่ยังไม่นับว่าหากใครอ่านเอาอรรถรสของการเขียนตามสไตล์ที่แตกต่างกันของนักวิชาการที่เขียนแบบมีสไตล์ได้แล้วล่ะก็ จะยิ่งสนุกกับการอ่านงานวิชาการเพิ่มอีกมาก 

ระดับต่อไปคือการอ่านถอดเรื่อง เอาแบบระดับพื้นๆ ของการอ่านถอดเรื่องคือ ต้องถอดโครงเรื่องของงานวิชาการที่เราอ่านได้ งานวิชาการส่วนใหญ่ไม่ได้เขียนแบบด้นไปเรื่อยๆ งานที่ดี งานที่พิมพ์ในมาตรฐานสูง อย่างในวารสารวิชาการชั้นนำ หรือสำนักพิมพ์ชั้นนำ มันจะถูกจัดระบบมาอย่างดี ไม่มั่ว การอ่านงานพวกนี้แล้วสามารถถอดโครงส้รางการนำเสนอออกมาได้ ก็คือการได้เรียนการเขียนอย่างเป็นระบบจากครูการเขียน 

แต่เป้าหมายใหญ่ของการอ่านถอดเรื่องมีมากกว่านั้น คือต้องอ่านให้ได้ว่างานเขียนที่เราอ่านแล้วเป็นงานที่ดี เป็นงานที่น่าเชื่อถือ เป็นงานที่เรายอมรับนั้น ทำไมมันถึงเป็นงานที่ดี เขาเขียนอย่างไรจึงทำให้เราเชื่อได้ เขานำเราไปสู่ข้อเสนอและข้อสรุปอย่างนั้นได้อย่างไร ผมเชื่อว่าถ้าเราอ่านออกว่า งานเขียนพวกนี้เขานำเราไปสู่ข้อสรุปได้อย่างไร เราจะได้เรียนรู้ระดับของการเขียนงานวิชาการที่ว่าด้วยการสร้างข้อเสนอทางวิชาการ  

ผมว่าไม่มีใครสอนการสร้างข้อเสนอทางวิชาการได้ มีแต่ต้องเรียนรู้เอาเองจากการอ่าน  

หากใครคิดว่าแค่เรียนตรรกวิทยามา แล้วแค่เขียนตามหลักตรรกวิทยา แล้วก็คิดว่าจะสร้างข้อเสนอได้ ง่ายๆ แค่นั้นเองล่ะก็ ผมว่างานคุณจะไม่มีใครอ่านในที่สุด เพราะมันจะทื่อมาก แล้วคิดเหรอว่าโลก โดยเฉพาะทางสังคม และที่เกี่ยวกับความยอกย้อนของมนุษย์น่ะ มันจะทื่อๆ ตามหลักตรรกวิทยาพื้นๆ ที่ใครก็สามารถ master มันได้ภายในไม่กี่วัน 

ถึงที่สุด ผมว่าการอ่านระดับสูงจะต้องไปให้ถึงการอ่านหาเรื่อง คืออ่านจับผิด แต่จะต้องเป็นการจับผิดอย่างสมเหตุสมผล อย่างมีหลักฐานอ้างอิงได้ อย่างน่าเชื่อว่าจะล้มล้างข้อเสนอได้

อ่านหาเรื่องก็ทำได้หลายอย่าง อย่างที่ง่ายที่สุดคือหาหลักฐานข้อมูลที่แตกต่างออกไปจากที่เสนอในหนังสือหรือบทความที่เราอ่าน มาหักล้างข้อเสนอ เนื่องจากหลักฐานใหม่ๆ ชวนให้คิดถึงข้อสรุปใหม่ๆ ได้ อีกวิธีที่ผมว่ายากกว่าหน่อยคือ หาเหตุผลใหม่ๆ มาอธิบายข้อมูลชุดเดียวกันกับที่หนังสือหรือบทความที่อ่านอยู่ใช้ การอ่านแบบนี้คือการตีความหรือสร้างคำอธิบายใหม่กับข้อมูลที่มีอยู่แล้ว  

แต่ผมว่าวิธีอ่านที่สนุกที่สุดคือวิธีอ่านที่ผมเรียนมาจากนักถอดรื้อโครงสร้าง คือการอ่านแบบ deconstruction คืออ่านด้วยการหาความย้อนแย้งในงานเขียนนั้นเอง เอาข้อเสนอในงานนั้นเองมาวิพากษ์ตัวงานนั้นเอง  

เช่น งานโซซู นักภาษาศาสตร์โครงสร้างคนแรกๆ ด้านหนึ่งเสนออะไรที่ก้าวหน้ามากว่าความหมายไม่ได้อยู่ในตัวของมันเอง แต่มาตกม้าตายที่ยังถือมั่นกับ phonocentrism คือคิดว่าเสียงเป็นภาษาที่สำคัญที่สุดเพราะใกล้กับความคิดที่สุด คือก็ยังเชื่อว่ามีอะไรลึกๆ อยู่กว่าร่องรอยที่เชื่อมความคิดกับตัวหมายอยู่นั่นเอง 

การอ่านหาเรื่องถึงที่สุดมันจึงเป็นการอ่านเพื่อสร้างข้อเสนอใหม่ๆ ในทางวิชาการ ถ้าอ่านแล้วไม่เถียงกับงานที่เราอ่านอยู่ เราก็ได้แค่เป็นผู้เรียนและผลิตซ้ำความรู้ของคนอื่น แต่หากอ่านแล้วไปพ้นจากงานที่อ่านได้ ด้วยการหาเรื่องใหม่ๆ หาข้อผิดแล้วก้าวข้ามไปเสนออะไรใหม่ๆ นั่นแหละจึงจะมีโอกาสที่เราจะสร้างงานใหม่ๆ เองได 

สรุปคือ จะเขียนให้ดีได้ก็ต้องอ่านให้ดีให้ได้ แต่เวลาเราบอกว่า คนนั้นคนนี้อ่านงานแตกไม่แตก คำถามคือ อ่านแตกน่ะอ่านอย่างไร บางทีเราไม่ค่อยสอนกันว่าจะอ่านงานวิชาการกันอย่างไร ก็เลยได้แค่อ่านเพื่อเอาเรื่อง แต่อ่านแค่เอาเรื่องน่ะ ยังไม่ทำให้เปลี่ยนจากการเป็นคนอ่านไปเป็นคนเขียนได้หรอก ยังต้องอ่านระดับอื่นๆ อีกดังที่บอกไป 

แต่ถึงที่สุดแล้ว มีคนจำนวนมากที่อ่านโดยไม่เขียน การเป็นนักอ่านอย่างแตกฉาน ถึงที่สุดก็ต้องเขียนในแบบที่ตนเองอยากอ่านเองบ้าง หรือเขียนให้แตกต่างจากที่อ่านมาแล้วบ้าง ถ้าเราเอาแต่อ่านอย่างเดียวแต่ไม่เขียน ไม่ว่าจะอ่านกันได้พิสดารขนาดไหน โลกก็คงไม่ก้าวไปไหน เพราะไม่มีอะไรใหม่ๆ ให้อ่านกัน

ยุกติ มุกดาวิจิตร: ฮิญาบ ที่เปิดโปงในปกปิด

เมื่อ 24 กค. 65 ผู้จัดการแสดง #ฮิญาบ2022  ชวนผมไปดูการแสดงของคุณฟารีดา จิราพันธ์ ที่กาลิเลโอเอซิส แล้วผู้จัดจะชวนผมสนทนาหลังละคร

ยุกติ มุกดาวิจิตร: จดหมายเปิดผนึกถึงคณะวิจิตรศิลป์ มช. และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ในฐานะเพื่อนร่วมวิชาชีพวิชาการ ในฐานะผู้ปกครองนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ และในฐานะคนรักศิลปะ ผมเขียนจดหมายนี้เพื่อตั้งคำถามต่อการที่ผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์จะตรวจสอบผลงานก่อการอนุญาตให้จัดแสดงผลงานของนักศึกษาภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ

ยุกติ มุกดาวิจิตร: Georges Bataille ในซีรียส์เกาหลี

เห็นคนพูดถึงตัวละครในซีรีย์เกาหลีเอ่ยถึงจอร์จ บาไตล์ ในรูปนั่นน่ะครับ เป็นคอลเล็กชันจอร์จ บาไตล์บนชั้นหนังสือผมแบบเบาๆ ผมเก็บไว้ร่วม 20 ปีแล้ว

ยุกติ มุกดาวิจิตร: วันชาติเวียดนามกับการพ่ายแพ้ของญี่ปุ่น

หลายคนคงรู้ว่าวันนี้เป็นวันชาติเวียดนาม แต่น้อยคนคงรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในวันนี้กันแน่ แล้ววันนี้ในอดีตถูกกำหนดเป็นวันขาติจากเหตุการณ์ปีใด