ยุกติ มุกดาวิจิตร: ปริศนาจากเนินแห่งความตาย

ชื่อโมเฮน-โจ-ดาโรแปลตามภาษาซินธ์ (Sindh) ว่า "เนิน (ดาโร) แห่ง (โจ) ความตาย (โมเฮน)" เหตุใดจึงมีชื่อนี้ ผมก็ยังไม่ได้สอบถามค้นคว้าจริงจัง แต่ชื่อนี้ติดหูผมมาตั้งแต่เรียนปริญญาเอกอยู่ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน และเพราะโมเฮนโจดาโรและเมืองคู่แฝดที่ห่างไกลออกไปถึง 600 กิโลเมตรชื่อ "ฮารัปปา" นี่แหละที่ทำให้ผมชอบวิชาโบราณคดีและทำให้อยากมาปากีสถาน 

วัฒนธรรมนี้ถูกค้นพบเมื่อ ค.ศ. 1911 แล้วเริ่มการขุดค้นจริงจังในปี 1922 จนภายหลังพบว่าเป็นกลุ่มเขตวัฒนธรรมขนาดใหญ่ ถูกเรียกรวมๆ ว่าวัฒนธรรมลุ่มน้ำสินธุ (Indus Valley Culture) ที่ผมเลี่ยงคำว่า “อารยธรรม” ไม่ใช่เพราะที่นี่ไม่ยิ่งใหญ่ แต่ปัจจุบันการใช้คำว่า “อารยะรรม” ในเชิงยกย่องบางวัฒนธรรมเหนือวัฒธรรมอื่นกลายเป็นวิธีคิดที่ออกจะพ้นสมัย  

วัฒนธรรมนี้มีอายุเก่าแก่สุดถึง 9,000 ปีที่แล้ว ยุครุ่งเรืองที่สุดราว 5,000 ปีที่แล้ว และเสื่อมสลายไปราว 2,000 ที่แล้ว 

วัฒนธรรมลุ่มน้ำสินธุถูกเรียกตามชื่อแม่น้ำ เมื่ออ่านหนังสือที่ซื้อติดมือมาจากลาฮอร์เล่มหนึ่ง จึงได้รู้ว่าชื่อนี้เป็นที่มาของชื่อ "อินเดีย" คำว่า Sindh เป็นชื่อเรียกแม่น้ำ กลุ่มคน และภาษาถิ่นที่นี่แต่เดิมและดำรงอยู่จนบัดนี้ จากนั้นชาวโรมตัด s ออก เรียกดินแดนนี้ว่า Indu บ้าง Hindu บ้าง จากนั้นในศตวรรษที่ 19 ชาวอังกฤษนี้เองที่นำชื่อแม่น้ำนี้มาเป็นชื่อเรียกศานาหนึ่งที่ชาวอังกฤษพยายามแยกจากพุทธ เชน และสิกข์  

แล้วชื่อนี้ก็กลายมาเป็นชื่อเรียกประเทศเกิดใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่สองประเทศหนึ่งว่าอินเดีย จนทำให้คนทั่วโลกลืมไปแล้วว่า ชื่ออินเดียมาจากชื่อเดิมว่าสินธุ ซึ่งมีถิ่นฐานปัจจุบันอยู่ตอนกลางถึงใต้ประเทศปากีสถาน 

วัฒนธรรมนี้ร่วมสมัยกับอียิปต์โบราณ เมโสโปเตเมีย และจีนโบราณ แต่เป็นวัฒนธรรมที่ถูกค้นพบหลังอารยธรรมใหญ่ๆ เหล่านั้น แถมยังมีคำถามมากมายที่ยังตอบไม่ได้ 

ลุ่มน้ำสินธุยุครุ่งเรืองแบ่งเป็นกลุ่มเมืองและชุมชนรายล้อมหลายแห่งด้วยกัน แห่งใหญ่ที่สุดที่กล่าวถึงกันมาก ทว่าอยู่ห่างไกลกันมาก ก็คือฮารัปปาและโมเฮนโจดาโร แม้ว่าจะห่างไกลกันมาก สองแห่งนี้ก็ติดต่อสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด แต่ต่างก็เป็นเอกเทศต่อกัน อันที่จริงเมื่อกล่าวถึงวัฒนธรรมลุ่มน้ำสินธุ สิ่งหนึ่งที่เป็นทั้งปริศนาและเอกลักษณ์แตกต่างจากวัฒนธรรมร่วมสมัยกันก็คือ สินธุไม่ได้มีเอกภาพ ไม่ได้เป็นจักรวรรดิ์ หากแต่เป็นนครรัฐย่อยๆ ที่เป็นเครือข่ายติดต่อกัน 

นอกจากเครื่องปั้นดินเผา เครื่องมือโลหะ ลูกปัด และลักษณะทางสถาปัตยกรรมและอิฐแล้ว สิ่งของหนึ่งที่พบทั่วไปและสร้างความฉงนฉงายในหลายๆ มิติให้กับผู้ศึกษาสินธุคือตราประทับ 

ตราประทับที่เป็นลักษณะเฉพาะตัวของสินธุทำจากหินสบู่ ซึ่งน่าจะมีความแกร่งมากจนกระทั่งหินขนาดเล็กกว้างยาวประมาณ 1 นิ้ว กลับสามารถขูดเป็นรอบประทับที่ลึกและมีลายเส้นคมได้อย่างนี้ ไม่มีใครรู้แน่ว่าตราประทับนี้ใช้ในความหมายใดกันแน่  

จากการรวบรวมความถี่ของการค้นพบในเมืองต่างๆ กับลวดลายบนตราประทับ นำไปสู่คำถามต่างๆ นานา เช่นว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่ตราประทับแต่ละลายจะสะท้อนกลุ่มชน หรือตระกูลที่เป็นเจ้าของตราประทับ เป็นไปได้หรือไม่ว่านี่เหมือนกับ "แบรนด์" ของสิ่งของที่พบรอยประทับเหล่านี้ เช่นตามหม้อไห บนกำไล บางครั้งก็พบตราประทับเหล่านี้ ที่คงประทับบนดินดิบก่อนเข้าเตาเผา  

ตราประทับมีลักษณะทั่วไปสองประการที่ผู้คนสนใจไขปริศนามากที่สุดคือ รูปสัตว์และสิ่งของบนตราประทับ และ "อักษร" ที่ปรากฏบนตราประทับ  

สำหรับรูปสัตว์ มีกลุ่มชนิดของสัตว์ที่พบมากที่สุด ได้แก่ วัวไม่มีหนอกเขาเดียว ซึ่งยังไม่รู้แน่ว่าคืออะไร มักเรียกกันว่า “ยูนิคอร์น” เพียงแต่เป็นยูนิคอร์นที่มีตัวเป็นวัว ไม่ใช่ม้าอย่างในยุโรป รูปสัตว์ชนิดนี้จึงเป็นปริศนามากที่สุด นอกจากนั้นยังมีรูปวัวสองเขามีหนอก ที่พบน้อยหน่อยคือรูปช้าง แต่นอกจากนั้นยังมีควาย แรด และเสือ แต่รูปที่ไม่พบเลยคือรูปม้า 

ตราประทับต่างๆ มีรอยขีดที่เป็นระบบชุดหนึ่งที่เชื่อกันว่าน่าจะเป็นอักษร แต่อักษรนี้เป็นอักษรชนิดใดกันแน่ เชื่อมโยงกับอักษรใดๆ ในโลกปัจจุบันหรือไม่ อย่างไร ยังไม่มีใครตอบได้ อักษรนี้ไม่ใช่อักษรบารมี ไม่ใช่โรมัน ไม่ใช่อารบิก แต่ดูเหมือนจากเป็นอักษรกึ่งสัญลักษณ์และกึ่งอักษรเสียง แต่จนถึงทุกวันนี้ ก็ยังไม่มีใครอ่านอักษรนี้ได้ มีเพียงข้อสันนิษฐานว่า หากเชื่อมโยงผ่านภาษาดราวิเดียนที่มีถิ่นหลักอยู่ในเอเชียใต้ทางตอนใต้แล้ว อักษรบางตัวที่พบบ่อยคือรูปคล้ายปลา น่าจะเกี่ยวข้องกับศาสนา แต่ก็ยังไม่มีใครกล้ายืนยันเช่นนั้นชัดเจน 

ปริศนาอื่นๆ ของสินธุได้แก่ ทำไมคนที่นี่ให้ความสำคัญกับสถาปัตยกรรมมากนัก พวกเขาสร้างเมืองที่แลดูแออัด แต่มีระบบการระบายน้ำดีและน้ำเสียที่ซับซ้อนจนนักโบราณคดีบางคนบอกว่า เมืองใหญ่ในศตวรรษที่ 20 บางเมืองยังต้องอาย ทำไมเมืองและวัฒนธรรมที่ที่มีความรุ่งเรืองขนาดนี้จึงไม่ทิ้งจารึกขนาดยาวพอที่จะช่วยให้เข้าใจอักษรบนตราประทับได้  

ในแง่การเมือง ทำไมไม่มีร่องรอยของสงคราม ทำไมพวกเขาไม่สนใจการรบราฆ่าฟันกัน ชาวสินธุดั้งเดิมดูจะสนใจค้าขายและทำการเกษตรมากกว่ารบพุ่ง พวกเขาติดต่อค้าขายกับคนไกลทั้งทางทะเลและทางบกถึงเอเชียกลาง ที่สำคัญคือเมโสโปเตเมีย ซึ่งมีบันทึกกล่าวถึงดินแดนสินธุร่วมสมัยกัน แล้วคนที่นี่นับถือศาสนาอะไรทำไมจึงไม่พบศาสนวัตถุและศาสนสถาน มีที่บางแห่งมีลักษณะเป็นห้องอาบน้ำ ที่นี่จะเป็นส่วนหนึ่งของศาสนสถานได้หรือไม่  

ปริศนาใหญ่อีกประการคือ ทำไมวัฒนธรรมสินธุจึงล่มสลายไป เคยมีการสันนิษฐานว่า วัฒนธรรมสินธุคงล่มสลายไปด้วยการถูกรุกรายจากกลุ่มชน "อารยัน" จากตะวันตก ปัจจุบันสมมติฐานที่คนเชื่อถือมากกว่าคือการล่มสลายจากความเปลี่ยนแปลงทางสภาพแวดล้อม ที่สำคัญไม่ใช่อุณหภูมิ แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงทิศทางของลำน้ำ ทำให้การเกษตรเปลี่ยนไป และการบริหารจัดการน้ำเปลี่ยนไป แล้วจึงมีผลต่อเมืองทั้งเมือง โดยเฉพาะถิ่นที่สำคัญอย่างฮารัปปาและโมเฮนโจดาโรที่ตั้งอยู่ริมน้ำสินธุจึงน่าจะรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงลำน้ำโดยตรงและรุนแรงที่สุด 

คำถามใหญ่อีกคำถามคือ อารยธรรมนี้สัมพันธ์อย่างไรกับอารยธรรมยุคหลังๆ ของเอเชียใต้ เช่น เมื่อเปรียบเทียบกับยุคพระเวทในลุ่มน้ำคงคา ซึ่งรุ่งเรืองด้วยคำภีร์มากกว่าสถาปัตยกรรมแล้ว รูปเคารพและรูปสัตว์ต่างๆ ดูจะแตกต่างออกไปมาก หากแต่เมื่อเทียบกับยุคหลังพระเวท คือยุคมหาภารตะและยุคของศานาฮินดูแล้ว เทพฮินดูดูจะมีความเชื่อมโยงกับ motif สำคัญๆ ของวัฒนธรรมสินธุมากกว่า  

ที่เป็นปริศนาใหญ่และกลายเป็นข้อถกเถียงมากข้อหนึ่งคือ ตราประทับที่มีรูปคนมี 3-4 หน้า นั่งท่าขัดสมาธิเหมือนท่านั่งโยคะ รายล้อมด้วยสัตว์ศักดิ์สิทธิ์ 4 ตัว คือเสือ ช้าง ควาย และแรด ชวนให้คิดเชื่อมโยงวัฒนธรรมสินธุกับฮินดูเป็นอย่างยิ่ง 

การมาเยือนลุ่มน้ำสินธุ เยือนแหล่งโบราณคดี ทำให้ผมต้องกลับไปปัดฝุ่นความรู้ที่เคยได้เรียนมาจากปรมจารย์ที่ศึกษาวัฒนธรรมนี้คนสำคัญคนหนึ่งคือ Jonathan Mark Kenoyer (โจนาธาน มาร์ค เคโนเยอร์) แต่ที่สำคัญที่สุดคือ การได้มาพบ มาเห็น มาจับต้อง มาสัมผัสพื้นที่ที่ได้อ่านได้เรียนมาเนิ่นนานเกือบ 20 ปีแล้ว จนวันนี้คิดว่า ตนเองนอนตายตาหลับแล้วล่ะที่ได้มาเยือน "เนินแห่งความตาย"

ยุกติ มุกดาวิจิตร: ฮิญาบ ที่เปิดโปงในปกปิด

เมื่อ 24 กค. 65 ผู้จัดการแสดง #ฮิญาบ2022  ชวนผมไปดูการแสดงของคุณฟารีดา จิราพันธ์ ที่กาลิเลโอเอซิส แล้วผู้จัดจะชวนผมสนทนาหลังละคร

ยุกติ มุกดาวิจิตร: จดหมายเปิดผนึกถึงคณะวิจิตรศิลป์ มช. และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ในฐานะเพื่อนร่วมวิชาชีพวิชาการ ในฐานะผู้ปกครองนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ และในฐานะคนรักศิลปะ ผมเขียนจดหมายนี้เพื่อตั้งคำถามต่อการที่ผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์จะตรวจสอบผลงานก่อการอนุญาตให้จัดแสดงผลงานของนักศึกษาภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ

ยุกติ มุกดาวิจิตร: Georges Bataille ในซีรียส์เกาหลี

เห็นคนพูดถึงตัวละครในซีรีย์เกาหลีเอ่ยถึงจอร์จ บาไตล์ ในรูปนั่นน่ะครับ เป็นคอลเล็กชันจอร์จ บาไตล์บนชั้นหนังสือผมแบบเบาๆ ผมเก็บไว้ร่วม 20 ปีแล้ว

ยุกติ มุกดาวิจิตร: วันชาติเวียดนามกับการพ่ายแพ้ของญี่ปุ่น

หลายคนคงรู้ว่าวันนี้เป็นวันชาติเวียดนาม แต่น้อยคนคงรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในวันนี้กันแน่ แล้ววันนี้ในอดีตถูกกำหนดเป็นวันขาติจากเหตุการณ์ปีใด