Skip to main content

ยุกติ มุกดาวิจิตร

 


(ถ้า) สุราไม่ได้มีไว้ให้เมา (แล้วจะดื่มไปหาอะไรล่ะครับ)

ผมนั่งกินก๋วยเตี๋ยวต้มยำกุ้งที่ร้านแถวท่าพระอาทิตย์แห่งหนึ่งแล้ว อดไม่ได้ที่จะรำพึงกับตัวเองแบบที่เคยพูดไว้กับสหายว่า "รสชาติก๋วยเตี๋ยวต้มยำกุ้งร้านนี้เป๊ะแบบบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจริงๆ" คือมันมาตรฐานเสียจนเหมือนเฟ้คไปเลย แต่นี่ชื่นชมนะครับ (เดี๋ยวเจ้าของร้านที่เฝ้า "หน้าหนังสือ" อยู่จะหันมาค้อนเอา)

แล้วก็พลันคิดไปถึงค็อกเทลรสในฝัน ที่บาร์เทนดี้ดีกรี (ความรู้) สูงท่านหนึ่ง เปรยทิ้งไว้ให้เพื่อนๆ เปรี้ยวปากเมื่อสองคืนก่อนว่า "นอกจากเหล้าเกือบ 10 ชนิดที่ชงให้พวกพี่ๆ ดื่มชิมกันแล้ว ยังมี ต้มยำกุ้ง ค็อคเทลสูตรพิเศษของพี่ชายซึ่งเป็นบาร์เทนเดอร์ระดับนำของเมืองไทย" วิธีปรุงน่ะหรอครับ ต้องเก็บไว้เป็นสูตรเฉพาะของครอบครัวบาร์เทนดี้ท่านนี้ ตามแต่ว่าเมื่อไหร่ท่านจะสละเวลาชงให้สหายดื่มชิมกัน

แล้วก็พลันคิดถึงคำพูดที่สหายอีกท่านได้ยินในลิฟท์ในสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่งว่า "คณะนี้แม่มขี้เมากันทั้งนักศึกษาทั้งอาจารย์" ไม่ว่าคำกล่าวนี้จะจริงหรือไม่ ก็ขอให้พิจารณากันหน่อยเถิดว่า การดื่มสุรามีไปเพื่ออะไรกัน

ตอนทำวิจัยอยู่เวียดนาม ผมต้องฝึกอยู่เนิ่นนานกว่าจะดื่มแบบเสมอบ่าเสมอไหล่ได้พอๆ กับผู้เฒ่าวัย 70-80 ที่ประสบการณ์การดื่มโชกโชน ยิ่งในวงเหล้าของพวกทหารผ่านศึกยิ่งน่ากลัว แต่ไม่มีโอกาสไหนที่จะได้ข้อมูลเรื่องราวละเอียดยืดยาวแบบตรงไปตรงมาได้ดีไปกว่าวงเหล้า ผมจึงต้องอึดฝึกปรือ "วิธีวิทยาของการเมา" ให้เข้มแข็ง

เรียกว่า "บันทึกภาคสนาม" ของผมส่วนใหญ่คือ "บันทึกจากวงเหล้า" นั่นแหละ แต่กระนั้นก็ยังล้มพับนอนไปหลายครา

คนเวียดนามหลายต่อหลายถิ่นมีมารยาทกำกับการดื่มสุราที่ค่อนข้างเข้มงวด เช่น ไม่ดื่มสุราคนเดียว แม้ในวงเหล้า จะแอบจิบอยู่คนเดียวก็ไม่ได้ ถ้าอยากจิบคนเดียว อย่างน้อยก็ต้องเชิญทั้งวงยกแก้ว คนอื่นจะดื่มด้วยจริงหรือไม่ก็ต้องบอกให้เขารับรู้ก่อน หากจะดื่มกับใครในวงเป็นพิเศษ ก็ต้องขออนุญาตทั้งวงก่อน 

ยิ่งในพิธีกรรมของชาวไทยิ่งมีมารยาทจัด ตั้งแต่ตำแหน่งในวงเหล้า แขกนั่งตรงไหน เจ้าเรือนตรงไหน ผู้ชายตรงไหน ผู้หญิงตรงไหน ใครอาวุโสนั่งตรงไหน ฝ่ายเมีย (ซึ่งใหญ่ที่สุดสำหรับคนไทในเวียดนาม) ควรนั่งตรงไหน ใครควรนั่งตรงไหนจะยิ่งซับซ้อนหากมีแขกสำคัญหลายระดับ 

ใครเป็นคนรินเหล้า วิธีรินเป็นอย่างไร ต้องคอยเชียร์ให้คนดื่มอย่างไร ต้องคอยกล่าวสุนทรพจน์อย่างไร ดื่มแล้วควรกินอะไรก่อนอะไรหลัง เหล้าหมดควรทำอย่างไร อาหารหมดควรทำอย่างไร จะลุกไปเข้าห้องน้ำควรทำอย่างไร จังหวะไหนจึงกินข้าว กระทั่ง ใครควรลุกคนสุดท้าย

เหล่านี้ทำให้การดื่มเป็นพิธีกรรมทางสังคมที่ไม่ธรรมดา

แน่นอนว่าผมมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับการร่ำสุราในสนามมากมาย แต่ประสบการณ์ร่ำสุราที่ไม่รู้ลืมคือการดวด "เหล้ามายห้า" สุรา 50 ดีกรี (จุดไฟติดจริงๆ ครับ) ชั้นดีของชาวไทขาวเมืองมายเจิว กับพี่ดึ๊ก นายอำเภอหนุ่มไทขาวเมืองมุน 

เหล้ามายห้าเป็นเหล้าหมักจากข้าว ผสมเครื่องเทศบางอย่าง (ที่ผมยังไม่รู้ว่าอะไร) แล้วกลั่นจนใสปิ๊ง มายห้ารสเผ็ด จัดจ้าน แต่ไม่กระด้างจนฟาดหน้าให้หงายหลัง

คืนนั้นผมกับพี่ดึ๊กดื่มกันไป คุยกันไปเรื่องโครงการรื้อฟื้นการเรียนหนังสือไทในเวียดนาม ก่อนที่วันรุ่งขึ้นจะมีพิธีเปิดการจัดการเรียนการสอนอย่างเป็นทางการ พี่ดึ๊กกับผมต้องคุยเป็นภาษาเวียดนาม เพราะสำเนียงไทดำในเวียดนามที่ผมรู้ สื่อสารกับสำเนียงไทขาวถิ่นบ้านพี่ดึ๊กไม่รู้เรื่อง

เจอเพื่อนถูกคน ได้สุราถูกคอ ต่อบทสนทนากันถูกใจ ก็เผลอดื่มกันไปเรื่อย ทีละจอก ทีละจอก จนหมดขวด ราวเที่ยงคืน จึงแยกย้ายกันไปนอน

ตื่นเช้ามา ไม่มีอะไรติดค้างในหัว สมองสดใส พิธีเปิดดำเนินไปอย่างราบรื่น

บอกยากเหมือนกันว่าสุราทำหน้าที่อะไร แต่ผมเลือกจะเชื่อว่า มันถอดหน้ากากคน มันลดอัตตา มันทำให้คนหันหน้าเข้าหากัน แต่นี่คงต้องอยู่ในบริบทของการดื่ม ในสังคมที่มีระเบียบเข้มงวดในการด่ืมสุรา

ที่สำคัญคือ สุราไม่ได้ทำให้คนสิ้นสติ สูญเสียความเป็นมนุษย์ อย่างที่คนไม่รู้จักอารยธรรมของสุราเข้าใจเสมอไป หากเรารู้จักสร้างสังคมของการดื่มอย่างสร้างสรรค์ อารยธรรมสุราไทยจะกลายเป็นอารยธรรมโลก

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (24 ธันวาคม 2555) กสทช.เชิญให้ผมไปร่วมแสดงความเห็นในเวทีเสวนาสาธารณะ “1 ปี กสทช. กับความ (ไม่) สมหวังของสังคมไทย” ทีแรกผมไม่คิดว่าตนเองจะสามารถไปวิจารณ์อะไรกสทช.ได้ แต่ผู้จัดยืนยันว่าต้องการมุมมองแบบมานุษยวิทยา ผมจึงตกปากรับคำไป 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข้อโต้แย้งต่อความเห็นผมจากของเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ที่ลงในมติชนออนไลน์ (http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1355920241&grpid=03&catid=&subcatid=) ย้ำให้เห็นชัดถึงความอับจนของกรอบคิดของคนกลุ่มนี้ต่อไปนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ไม่เพียงแต่นักเขียนบางคนเท่านั้นที่อาจจะไม่เข้าใจหรือมองข้ามประเด็นความแตกต่างทางชาติพันธ์ุ แต่ผมคิดว่าแวดวงภาษาและวรรณกรรมบ้านเราอาจจะไม่ตระหนักถึงปัญหานี้โดยรวมเลยก็ได้ และในแง่หนึ่ง ผมคิดว่าซีไรต์เองอาจจะมีส่วนสร้างวัฒนธรรมไม่อ่อนไหวต่อความแตกต่างทางวัฒนธรรมด้วยเช่นกัน และถึงที่สุดแล้ว นี่อาจจะกลายเป็นข้อจำกัดที่ปิดกั้นโอกาสที่วรรณกรรมไทยจะก้าวเข้าสู่ระดับสากล
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทัศนะของนายแพทย์ที่เป็นตัวแทนของคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ แสดงให้เห็นถึงความคิดคับแคบของผู้มีอำนาจกลุ่มหนึ่ง ที่มักใช้อำนาจก้าวก่ายชีวิตผู้คน บนความไม่รู้ไม่เข้าใจไม่อยากรับผิดชอบต่อปัญหาเชิงโครงสร้างที่ละเอียดอ่อน และบนกรอบข้ออ้างเรื่องคุณธรรมความดีที่ยกตนเองเหนือคนอื่น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
แทนที่จะเถียงกับอีกท่านหนึ่งที่วิจารณ์ผมต่อหน้ามากมายเมื่อวาน ผมขอใช้พลังงานเถียงกับข้อเสนอล่าสุดของอาจารย์ธีรยุทธ บุญมีจากข่าวในมติชนออนไลน์ (http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1354935625&grpid=01&catid=&subcatid=) ดังนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นึกไม่ถึงและนึกไม่ออกจริงๆ ว่า ทำไมคนเปิดร้านขายหนังสือในปลายศตวรรษที่ 20 - ต้น 21 จะมีความคิดแบบนี้ได้ นี่แสดงว่าเขาไม่ได้อ่านหนังสือที่เขาขายบ้างเลย หรือนี่แสดงว่าการอ่านหนังสือไม่ได้ช่วยจรรโลงจิตใจนายทุนบางคนขึ้นมาได้เลย*
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 เมื่ออ่านข่าวแอร์โฮสเตสที่เพิ่งถูกให้ออก ผมมีคำถามหลายข้อ ทั้งในมิติของโซเชียลมีเดีย hate speech และสิทธิแรงงาน อย่างไรก็ดี ขอเคลียร์ก่อนว่าหากใครทราบจุดยืนทางการเมืองของผม ย่อมเข้าใจดีว่าความเห็นต่อไปนี้ไม่ได้มาจากความเห็นทางการเมืองที่เอนเอียงไปในทางเดียวกับพนักงานสายการบินคนนี้แต่อย่างใด ข้อสังเกตคือ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขณะกำลังนั่งกินหอยแครงลวกอยู่เวลานี้ ก็ชวนให้คิดถึงคำพูดของนักวิชาการกัมพูชาคนหนึ่ง ที่เคยนั่งต่อหน้าอาหารเกาหลีจานพิเศษ คือหนอนทะเลดิบตัดเป็นชิ้นๆ ขยับตัวดึบๆ ดึบๆ อยู่ในจานแม้จะถูกตั้งทิ้งไว้เป็นชั่วโมง ตอนนั้น ผมบ่ายเบี่ยงไม่กล้ากินอยู่นาน แม้จะรู้ว่าเป็นอาหารพิเศษราคาแพงที่ศาสตราจารย์ชาวเกาหลีสรรหามาเลี้ยงต้อนรับการมาเกาหลีครั้งแรกของพวกเราหลายคน เพื่อนกัมพูชาบอกว่า "กินเถอะพี่ หอยแครงลวกในเมืองไทยน่ากลัวกว่านี้อีก" ผมจึงหาเหตุที่จะหลบเลี่ยงอีกต่อไปไม่ได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ผมนั่งดูบันทึกรายการ The Voice Thailand (เดอะวอยซ์) เป็นประจำ แม้ว่าจะเห็นคล้อยตามคำนิยมของโค้ชทั้ง 4 อยู่บ่อยๆ แถมยังแอบติดตามความเห็นเปรี้ยวๆ ของนักเขียนบางคนที่ชอบเรียกตนเองสวนทางกับวัยเธอว่า "ป้า" ซึ่งหมดเงินกดโหวตมากมายให้นักร้องหนุ่มน้อยแนวลูกทุ่ง แต่ผมไม่ได้รับความบันเทิงจากเดอะวอยซ์เพียงจากเสียงเพลง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ผมพยายามถามตัวเองว่า การจะสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนการชุมนุมขององค์การพิทักษ์สยามที่นำโดย "เสธ.อ้าย" จะมาจากเหตุผลประการใดบ้าง แต่ผมก็ชักจะเริ่มไม่แน่ใจว่า เอาเข้าจริง คนที่เข้าร่วมชุมนุมกับเสธ.อ้ายจะมีเหตุผลหรือไม่ หรือหากมี พวกเขาจะใช้เหตุผลชุดไหนกันในการเข้าร่วมชุมนุม ยังไงก็ตาม อยากถามพวกคุณที่ไปชุมนุมว่า พวกคุณอยากให้ประเทศเป็นอย่างนี้จริงๆ หรือ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (20 พฤศจิกายน 2555) นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เชิญไปบรรยายในงานสัมมนา "การเมืองเรื่องคนธรรมดา" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ขอตัดส่วนหนึ่งของบทบรรยายของผมที่ใช้ชื่อว่า "การเมืองวัฒนธรรมดา: ความไม่ธรรมดาของสามัญชน" มาเผยแพร่ในที่นี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 เมื่อ 16 พฤศจิกายน 2555 นิสิตรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเชิญไปร่วมกิจกรรมจุฬาวิชาการ โดยให้ไปวิจารณ์บทความนิสิตปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์จุฬาฯ 4 ชิ้น 1) ว่าด้วยเบื้องหลังทางการเมืองของการก่อตั้งองค์การอาเซียน 2) ว่าด้วยบทบาทและการต่อรองระหว่างประเทศในอาเซียน 3) ว่าด้วยการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าของธุรกิจเอกชนไทยในคู่ค้าอาเซียน และ 4) ว่าด้วยนโยบายชนกลุ่มชาติพันธ์ุในพม่า ข้างล่างนี้คือบันทึกบทวิจารณ์