Skip to main content

 

ผมพยายามถามตัวเองว่า การจะสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนการชุมนุมขององค์การพิทักษ์สยามที่นำโดย "เสธ.อ้าย" จะมาจากเหตุผลประการใดบ้าง แต่ผมก็ชักจะเริ่มไม่แน่ใจว่า เอาเข้าจริง คนที่เข้าร่วมชุมนุมกับเสธ.อ้ายจะมีเหตุผลหรือไม่ หรือหากมี พวกเขาจะใช้เหตุผลชุดไหนกันในการเข้าร่วมชุมนุม ยังไงก็ตาม อยากถามพวกคุณที่ไปชุมนุมว่า พวกคุณอยากให้ประเทศเป็นอย่างนี้จริงๆ หรือ

 
หนึ่ง ที่ว่ากันว่าการเลือกตั้งไม่มีความเป็นประชาธิปไตยเนื่องจากมีการซื้อเสียงนั้น คุณเคยคิดไหมว่า ใน 80 ปีหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นต้นมา เรามีโอกาสได้อยู่ในการปกครองแบบประชาธิปไตยกันมากน้อยแค่ไหน การเลือกตั้งเคยเป็นความหวังให้กับการปกครองประเทศนี้หรือไม่ เรามีการรัฐประหาร 18 ครั้ง เราอยู่ในการปกครองแบบเผด็จการและประชาธิปไตยครึ่งใบมาร่วม 40 ปี และเราอยู่ใต้อำนาจของการกำหนดนโยบายจากคณะบุคคลไม่กี่คนมานานยิ่งกว่านั้นอีก
 
ในเงื่อนไขแบบนั้น โอกาสที่นักการเมืองจะสามารถได้แสดงบทบาทจริงๆ มีมากน้อยแค่ไหน โอกาสที่การเลือกตั้งจะสะท้อนความต้องการของประชาชนมีมากน้อยแค่ไหน นี่ต่างหากที่ทำให้การเลือกตั้งมีค่าแค่เพียงประชาธิปไตย 4 วินาทีในคูหา ระบบอุปถัมภ์ของชนชั้นนำต่างหากที่ทำให้การซื้อเสียงเกิดขึ้น เพราะชนชั้นนำกีดขวางการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายของนักการเมืองและประชาชนมาโดยตลอดต่างหากที่ทำให้นักการเมืองไม่สามารถเป็นสถาบันทางการเมืองได้ เพราะชนชั้นนำไม่เปิดโอกาสต่างหากที่ทำให้เราได้นักการเมืองเลว 
 
พวกคุณที่สนับสนุนเสธ.อ้ายน่ะ อยากให้เรากลับไปอยู่ในการเมืองแบบกีดกันบทบาทนักการเมือง จำกัดอำนาจของประชาชนที่แสดงผ่านการเลือกตั้ง ก่อเงื่อนไขให้เกิดการซื้อเสียงต่อไป อย่างนั้นหรือ
 
สอง ผมมาประชุมที่เชียงใหม่ ได้นั่งข้างๆ เพื่อนนักวิชาการจากเวียดนาม ผมรู้จักเขามานานพอสมควร แต่ไม่เคยได้คุยกันมากเท่านี้มาก่อน หลังจากคุยกันสั้นๆ ซึ่งส่วนใหญ่ผมเป็นฝ่ายฟังด้วยความสนใจ เขาให้ข้อมูลความเคลื่อนไหวล่าสุดของภาคประชาสังคมในเวียดนามในทิศทางที่ตรงกันข้ามกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มเสธ.อ้าย 
 
ประชาชนเวียดนามจำนวนมากในขณะนี้ไม่พอใจระบบพรรคการเมืองพรรคเดียว พวกเขาอยากเปลี่ยนระบบใหม่ เพราะอะไร เพราะการครอบงำประเทศโดยพรรคการเมืองพรรคเดียวมานานกว่า 50 นั้นล้มเหลว เวียดนามมีการเลือกตั้งที่ผู้สมัครส่วนใหญ่มาจากพรรคคอมมิวนิสต์เอง อีกส่วนหนึ่งไม่สามารถตั้งพรรคได้ ได้เฉพาะผู้สมัครเสรี เพราะเขาห้ามมีพรรคมากกว่าหนึ่งพรรค
 
พวกคุณที่เข้าร่วมชุมนุมหรือที่สนับสนุนเสธ.อ้าย พวกคุณอยากอยู่ในประเทศที่ปกครองด้วยพรรคเดียวแบบเวียดนามหรือ พวกคุณอยากอยู่ในประเทศที่การสื่อสารทุกอย่างต้องถูกควบคุมโดยรัฐ อยากให้พรรคเดียวเป็นผู้กำหนดนโยบายทุกอย่าง อยากไม่มีปากมีเสียงทางการเมือง ไม่มีปากมีเสียงในการวิจารณ์รัฐบาล อยากไม่มีสิทธิตั้งพรรคการเมืองของตนเอง อยากทำมาหากินไปวันๆ โดยให้ใครไม่กี่คนกำหนดชะตาชีวิตและความคิดความอ่านของพวกคุณ อย่างนั้นหรือ
 
สาม หลังจากเหลือบมาเห็นข่าวการพยายามฝ่าแนวตำราจเข้ามาในที่ชุมนุมของผู้ชุมนุม และตำรวจก็ยิงแก๊สน้ำตาใส่ผู้ชุมนุม นี่นับเป็นสัญญาณของความรุนแรงครั้งแรกของการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลเพื่อไทยในครั้งนี้ ผมยิ่งสงสัยมากขึ้นว่า พวกคุณเตรียมการมาเพื่อก่อความรุนแรง กระตุ้นในเกิดความรุนแรง เร้าให้เจ้าหน้าที่และรัฐบาลเพลี่ยงพล้ำด้วยการก่อความรุนแรงหรือไม่ 
 
ผมไม่อยากเรียกประชาชนผู้ชุมนุมว่าพวกเขาจะเป็นเหยื่อของยุทธวิธีของผู้นำการชมนุม แต่ก็อดสงสัยไม่ได้ว่า ทั้งผู้ชุมนุมและผู้นำการชุมนุมน่ะ พวกคุณต้องการชุมนุมเพื่อแสดงความเห็นทางการเมือง หรือต้องการชุมนุมเพื่อปลุกเร้าให้เกิดความรุนแรง เพื่อสร้างเงื่อนไขให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกันแน่
 
สี่ ผมไม่เข้าใจว่าทำไมพรรคประชาธิปัตย์จึงสนับสนุน ดี๊ด๊าไปกับการชุมนุมของเสธ.อ้าย ไม่เห็นหรือไงว่าเขากำลังด่าพวกคุณด้วย พวกคุณจะทำหน้าที่เพียงแค่คอยรับเศษเนื้อ น้ำข้าว ของพวกอำมาตย์อยู่อย่างนี้ต่อไปหรือ ถ้าพวกคุณไม่คิดว่าจะต้องปกป้องเกียรติภูมิของความเป็นนักการเมืองของตนเอง พวกคุณไม่คิดจะปกป้องศักดิ์ศรีของเสียงประชาชนที่เลือกพวกคุณมาบ้างหรือ เหลือขอจริงๆ
 
หากพวกคุณพิจารณากันรอบคอบแล้วว่า ในนามของความรักสถาบันกษัตริย์ เราจะยอมอยู่ในประเทศที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ ก็แล้วแต่พวกคุณ แต่ผมจะต่อต้านพวกคุณอย่างที่สุด ด้วยเหตุด้วยผลเท่าที่ผมจะมีสติปัญญา
 
ท้ายสุดขณะนี้ ผมหวังว่ารัฐบาลจะไม่ตื่นตระหนกจนเกินไป และไม่ย่ามใจกับเสียงสนับสนุนมากเกินไป จนเลือกใช้วิธีจัดการกับการชุมนุมที่สร้างเงื่อนไขให้เกิดปฏิกิริยาตอบโต้อย่างรุนแรง หวังว่าน้ำตาหยดแรกจากแก๊สน้ำตาเมื่อเช้าจะไม่เร่งเร้าให้เกิดความรุนแรงยิ่งขึ้นไปอีก
 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
คำสำคัญ: sensory subjectivity, sensory categories, sensory bias, sensory ethnocentrism, sensory colonization (อธิบายไว้ท้ายข้อเขียน) คนทำเรื่องอาหารข้ามถิ่น ไม่ต่างจากการทำงานทางมานุษยวิทยา ที่ต้องตระหนักถึงการ ไม่นำเอา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ถ้าคุณไม่สามารถเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ได้แล้ว ก็โปรดอย่าถ่วงรั้งการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่เลย 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปาฐกถาในเวทีเสวนา “50 ปี 14 ตุลาฯ ยังตามหารัฐธรรมนูญใหม่” จัดโดยสมัชชาคนจน วันที่ 14 ตุลาคม 2566
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อ 24 กค. 65 ผู้จัดการแสดง #ฮิญาบ2022  ชวนผมไปดูการแสดงของคุณฟารีดา จิราพันธ์ ที่กาลิเลโอเอซิส แล้วผู้จัดจะชวนผมสนทนาหลังละคร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะเพื่อนร่วมวิชาชีพวิชาการ ในฐานะผู้ปกครองนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ และในฐานะคนรักศิลปะ ผมเขียนจดหมายนี้เพื่อตั้งคำถามต่อการที่ผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์จะตรวจสอบผลงานก่อการอนุญาตให้จัดแสดงผลงานของนักศึกษาภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นคนพูดถึงตัวละครในซีรีย์เกาหลีเอ่ยถึงจอร์จ บาไตล์ ในรูปนั่นน่ะครับ เป็นคอลเล็กชันจอร์จ บาไตล์บนชั้นหนังสือผมแบบเบาๆ ผมเก็บไว้ร่วม 20 ปีแล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายคนคงรู้ว่าวันนี้เป็นวันชาติเวียดนาม แต่น้อยคนคงรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในวันนี้กันแน่ แล้ววันนี้ในอดีตถูกกำหนดเป็นวันขาติจากเหตุการณ์ปีใด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จนถึงวันนี้ การต่อสู้ของประชาชนในขบวนการ “คณะราษฎร 63” ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า พลังของแสงดาวได้สร้างสรรค์สังคมไทยอย่างไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การที่อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาได้ออกมาแสดงความเห็นว่ามีการสร้างกระแสกดดันศาลต่างๆ นานา (ดู https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/2081366) มองในแง่ดี ผมคิดว่านี่คือการออกมาอธิบายกับสังคมอีกครั้งของผู้มีอำนาจในกระบวนการยุติธรรมอย่างชัดแจ้ง หลังจากที่มีการชี้แจงถึงเหตุผลการไม่ปล่อยตัวผู้ต้องหาคดีการเมืองโดยโฆษกศาลและโฆษกกระทรวงยุติธรรมก่อนหน้านี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อะไรที่ทำให้ดนตรีมีสถานะในการทำร้ายกันได้บ้าง ผมว่าอย่างน้อยที่สุดต้องเข้าใจก่อนว่า ดนตรีไม่ใช่แค่เสียง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
พอดีนั่งฟังเพื่อนนักวิชาการอ่านหนังสือ "กบฏชาวนา" ของรานาจิต คูฮา (1982) มาคุยให้ฟัง (แปลโดย ปรีดี หงษ์สต้น) ในเพจของสำนักพิมพ์ Illumination Editions เลยคิดถึงบันทึกที่เคยเขียนถึงหนังสือของ ดิเพช จักรบาร์ตี เรื่อง Provincializing Europe (2000)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรื่อง ถามถึงมโนธรรมสำนึกในความเป็นครูบาอาจารย์ของอาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์