Skip to main content

 

ผมพยายามถามตัวเองว่า การจะสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนการชุมนุมขององค์การพิทักษ์สยามที่นำโดย "เสธ.อ้าย" จะมาจากเหตุผลประการใดบ้าง แต่ผมก็ชักจะเริ่มไม่แน่ใจว่า เอาเข้าจริง คนที่เข้าร่วมชุมนุมกับเสธ.อ้ายจะมีเหตุผลหรือไม่ หรือหากมี พวกเขาจะใช้เหตุผลชุดไหนกันในการเข้าร่วมชุมนุม ยังไงก็ตาม อยากถามพวกคุณที่ไปชุมนุมว่า พวกคุณอยากให้ประเทศเป็นอย่างนี้จริงๆ หรือ

 
หนึ่ง ที่ว่ากันว่าการเลือกตั้งไม่มีความเป็นประชาธิปไตยเนื่องจากมีการซื้อเสียงนั้น คุณเคยคิดไหมว่า ใน 80 ปีหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นต้นมา เรามีโอกาสได้อยู่ในการปกครองแบบประชาธิปไตยกันมากน้อยแค่ไหน การเลือกตั้งเคยเป็นความหวังให้กับการปกครองประเทศนี้หรือไม่ เรามีการรัฐประหาร 18 ครั้ง เราอยู่ในการปกครองแบบเผด็จการและประชาธิปไตยครึ่งใบมาร่วม 40 ปี และเราอยู่ใต้อำนาจของการกำหนดนโยบายจากคณะบุคคลไม่กี่คนมานานยิ่งกว่านั้นอีก
 
ในเงื่อนไขแบบนั้น โอกาสที่นักการเมืองจะสามารถได้แสดงบทบาทจริงๆ มีมากน้อยแค่ไหน โอกาสที่การเลือกตั้งจะสะท้อนความต้องการของประชาชนมีมากน้อยแค่ไหน นี่ต่างหากที่ทำให้การเลือกตั้งมีค่าแค่เพียงประชาธิปไตย 4 วินาทีในคูหา ระบบอุปถัมภ์ของชนชั้นนำต่างหากที่ทำให้การซื้อเสียงเกิดขึ้น เพราะชนชั้นนำกีดขวางการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายของนักการเมืองและประชาชนมาโดยตลอดต่างหากที่ทำให้นักการเมืองไม่สามารถเป็นสถาบันทางการเมืองได้ เพราะชนชั้นนำไม่เปิดโอกาสต่างหากที่ทำให้เราได้นักการเมืองเลว 
 
พวกคุณที่สนับสนุนเสธ.อ้ายน่ะ อยากให้เรากลับไปอยู่ในการเมืองแบบกีดกันบทบาทนักการเมือง จำกัดอำนาจของประชาชนที่แสดงผ่านการเลือกตั้ง ก่อเงื่อนไขให้เกิดการซื้อเสียงต่อไป อย่างนั้นหรือ
 
สอง ผมมาประชุมที่เชียงใหม่ ได้นั่งข้างๆ เพื่อนนักวิชาการจากเวียดนาม ผมรู้จักเขามานานพอสมควร แต่ไม่เคยได้คุยกันมากเท่านี้มาก่อน หลังจากคุยกันสั้นๆ ซึ่งส่วนใหญ่ผมเป็นฝ่ายฟังด้วยความสนใจ เขาให้ข้อมูลความเคลื่อนไหวล่าสุดของภาคประชาสังคมในเวียดนามในทิศทางที่ตรงกันข้ามกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มเสธ.อ้าย 
 
ประชาชนเวียดนามจำนวนมากในขณะนี้ไม่พอใจระบบพรรคการเมืองพรรคเดียว พวกเขาอยากเปลี่ยนระบบใหม่ เพราะอะไร เพราะการครอบงำประเทศโดยพรรคการเมืองพรรคเดียวมานานกว่า 50 นั้นล้มเหลว เวียดนามมีการเลือกตั้งที่ผู้สมัครส่วนใหญ่มาจากพรรคคอมมิวนิสต์เอง อีกส่วนหนึ่งไม่สามารถตั้งพรรคได้ ได้เฉพาะผู้สมัครเสรี เพราะเขาห้ามมีพรรคมากกว่าหนึ่งพรรค
 
พวกคุณที่เข้าร่วมชุมนุมหรือที่สนับสนุนเสธ.อ้าย พวกคุณอยากอยู่ในประเทศที่ปกครองด้วยพรรคเดียวแบบเวียดนามหรือ พวกคุณอยากอยู่ในประเทศที่การสื่อสารทุกอย่างต้องถูกควบคุมโดยรัฐ อยากให้พรรคเดียวเป็นผู้กำหนดนโยบายทุกอย่าง อยากไม่มีปากมีเสียงทางการเมือง ไม่มีปากมีเสียงในการวิจารณ์รัฐบาล อยากไม่มีสิทธิตั้งพรรคการเมืองของตนเอง อยากทำมาหากินไปวันๆ โดยให้ใครไม่กี่คนกำหนดชะตาชีวิตและความคิดความอ่านของพวกคุณ อย่างนั้นหรือ
 
สาม หลังจากเหลือบมาเห็นข่าวการพยายามฝ่าแนวตำราจเข้ามาในที่ชุมนุมของผู้ชุมนุม และตำรวจก็ยิงแก๊สน้ำตาใส่ผู้ชุมนุม นี่นับเป็นสัญญาณของความรุนแรงครั้งแรกของการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลเพื่อไทยในครั้งนี้ ผมยิ่งสงสัยมากขึ้นว่า พวกคุณเตรียมการมาเพื่อก่อความรุนแรง กระตุ้นในเกิดความรุนแรง เร้าให้เจ้าหน้าที่และรัฐบาลเพลี่ยงพล้ำด้วยการก่อความรุนแรงหรือไม่ 
 
ผมไม่อยากเรียกประชาชนผู้ชุมนุมว่าพวกเขาจะเป็นเหยื่อของยุทธวิธีของผู้นำการชมนุม แต่ก็อดสงสัยไม่ได้ว่า ทั้งผู้ชุมนุมและผู้นำการชุมนุมน่ะ พวกคุณต้องการชุมนุมเพื่อแสดงความเห็นทางการเมือง หรือต้องการชุมนุมเพื่อปลุกเร้าให้เกิดความรุนแรง เพื่อสร้างเงื่อนไขให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกันแน่
 
สี่ ผมไม่เข้าใจว่าทำไมพรรคประชาธิปัตย์จึงสนับสนุน ดี๊ด๊าไปกับการชุมนุมของเสธ.อ้าย ไม่เห็นหรือไงว่าเขากำลังด่าพวกคุณด้วย พวกคุณจะทำหน้าที่เพียงแค่คอยรับเศษเนื้อ น้ำข้าว ของพวกอำมาตย์อยู่อย่างนี้ต่อไปหรือ ถ้าพวกคุณไม่คิดว่าจะต้องปกป้องเกียรติภูมิของความเป็นนักการเมืองของตนเอง พวกคุณไม่คิดจะปกป้องศักดิ์ศรีของเสียงประชาชนที่เลือกพวกคุณมาบ้างหรือ เหลือขอจริงๆ
 
หากพวกคุณพิจารณากันรอบคอบแล้วว่า ในนามของความรักสถาบันกษัตริย์ เราจะยอมอยู่ในประเทศที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ ก็แล้วแต่พวกคุณ แต่ผมจะต่อต้านพวกคุณอย่างที่สุด ด้วยเหตุด้วยผลเท่าที่ผมจะมีสติปัญญา
 
ท้ายสุดขณะนี้ ผมหวังว่ารัฐบาลจะไม่ตื่นตระหนกจนเกินไป และไม่ย่ามใจกับเสียงสนับสนุนมากเกินไป จนเลือกใช้วิธีจัดการกับการชุมนุมที่สร้างเงื่อนไขให้เกิดปฏิกิริยาตอบโต้อย่างรุนแรง หวังว่าน้ำตาหยดแรกจากแก๊สน้ำตาเมื่อเช้าจะไม่เร่งเร้าให้เกิดความรุนแรงยิ่งขึ้นไปอีก
 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
การดีเบตระหว่างนักเรียนกับรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการที่หน้ากระทรวงฯ เมื่อวาน (5 กย. 63) ชี้ให้เห็นชัดว่า หากยังจะให้คนที่มีระบบคิดวิบัติแบบนี้ดูแลกระทรวงศึกษาธิการอยู่ ก็จะยิ่งทำให้การศึกษาไทยดิ่งลงเหวลึกไปยิ่งขึ้น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ประเด็น "สถาบันกษัตริย์" ในประเทศไทยปัจจุบันไม่ใช่เรื่องศีลธรรมและไม่ใช่แค่เรื่องความรู้สึก แต่เป็นเรื่องของสถาบันทางการเมืองและการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมการเมืองไทย ถ้าไม่เข้าใจตรงกันแบบนี้ก่อนก็จะไม่สามารถนั่งนิ่งๆ ฟัง/อ่านข้อเสนอของนักศึกษา/ประชาชนที่เสนอในการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวานนี้ได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปีนี้ผมอายุ 52 ผมคิดอยู่ตลอดว่า ถ้าพ่อแม่เสียไป ผมจะดัดแปลงบ้านที่อยู่มายังไง จะรื้ออะไร ย้ายอะไร ผมไม่มีลูก ม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การยุบพรรคอนาคตใหม่อย่างที่สาธารณชนและแม้แต่นักกฎหมายเองก็เห็นว่าไม่สมเหตุสมผลทั้งในทางกฎหมายและในทางการเมือง และความเหลวแหลกของกลไก เกม และสถาบันการเมืองในขณะนี้ คือเงื่อนไขเฉพาะหน้าที่ทำให้เยาวชนจำนวนมาก ซึ่งเป็นคนหน้าใหม่ของการเมืองไทย ในหลายพื้นที่กระจายไปทั่วประเทศ ลุกขึ้นมาแสดงออกทางการเมืองอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนนับตั้งแต่มีความขัดแย้งรอบใหม่ในกลางทศวรรษ 2540 เป็นต้นมา 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วินาทีที่พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ ความสำคัญไม่ใช่ว่าพรรคการเมืองหนึ่งถูกยุบไปหรอก แต่ความสำคัญอยู่ที่ว่า ผู้มีอำนาจกำลังสร้างความแตกร้าวครั้งใหม่ที่พวกเขาอาจจะพบปฏิกิริยาโต้ตอบที่ไม่เหลือเศษซากอะไรให้กอบกู้โลกเก่าของพวกเขากลับมาได้อีกต่อไป
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข้อสังเกตจากการแถลงของ ผบทบ. ล่าสุด แสดงการปัดความรับผิดชอบของผู้นำกองทัพไทยอย่างเห็นได้ชัดดังนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จากเหตุการณ์ #กราดยิงโคราช เราเห็นอะไรเกี่ยวกับทหารไทยบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การเสียสละกับการรักษาหลักการมักถูกนำมาใช้อ้างหรือมากกว่านั้นคืออาจมีส่วนใช้ในการตัดสินใจ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
พวกคุณไม่ได้เพียงกำลังทำลายพรรคการเมืองใดพรรคหนึ่ง หรือกลุ่มการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่พวกคุณกำลังทำลายความหวังที่คนจำนวนมากมีต่อความก้าวหน้าของประเทศชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรุ่นใหม่ที่เริ่มสนใจประเทศชาติ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาวเบี๋ยนเป็นศิลปินอาวุโสชาวไต/ไท ในเวียดนาม ผมรู้จักกับท่านมาร่วม 15 ปีแล้ว ตั้งแต่เมื่อพบกันครั้งแรกๆ ก็ถูกชะตากับท่าน ผมจึงเพียรไปหาท่านหลายต่อหลายครั้ง ที่ว่าเพียรไปหาไม่ใช่แค่เพราะไปพบท่านบ่อย แต่เพราะการไปพบท่านเป็นเรื่องยากลำบากมาก เมืองที่ท่านอยู่ชื่อเมืองล้อ หรือเรียกแบบสยามๆ ก็เรียกว่าเมืองลอก็ได้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้เป็นวันระลึก "เหตุการณ์ 28 กุมภาพันธ์" 1947 หรือเรียกกันว่า "228 Incident" เหตุสังหารหมู่ประชาชนทั่วประเทศไต้หวัน โดยรัฐบาลที่เจียงไคเชกบังคับบัญชาในฐานะผู้นำก๊กมินตั๋งในจีนแผ่นดินใหญ่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
มีเพื่อนขอให้ผมช่วยแนะนำร้านอาหารในฮานอยให้ แต่เห็นว่าเขาจะไปช่วงสั้นๆ ก็เลยแนะนำไปไม่กี่แห่ง ส่วนร้านเฝอ ขอแยกแนะนำต่างหาก เพราะร้านอร่อยๆ มีมากมาย เอาเฉพาะที่ผมคุ้นๆ แค่ 2-3 วันน่ะก็เสียเวลาตระเวนกินจนไม่ต้องไปกินอย่างอื่นแล้ว