เมื่ออ่านข่าวแอร์โฮสเตสที่เพิ่งถูกให้ออก ผมมีคำถามหลายข้อ ทั้งในมิติของโซเชียลมีเดีย hate speech และสิทธิแรงงาน อย่างไรก็ดี ขอเคลียร์ก่อนว่าหากใครทราบจุดยืนทางการเมืองของผม ย่อมเข้าใจดีว่าความเห็นต่อไปนี้ไม่ได้มาจากความเห็นทางการเมืองที่เอนเอียงไปในทางเดียวกับพนักงานสายการบินคนนี้แต่อย่างใด ข้อสังเกตคือ
1) ในมิติของโซเชียลมีเดีย เฟซบุกซึ่งมีสถานะเสมือนพื้นที่ส่วนตัวนั้น ได้กลับกลายเป็นกระแสสังคมขึ้นมาจนเจ้าตัวเองไม่สามารถควบคุมได้ ผลคือ เจ้าของคำพูด เจ้าของข้อความ กลับกลายมาต้องตกที่นั่งของการปรากฏตัวต่อสาธารณะ โดยที่ตนเองอาจจะไม่ได้ตั้งใจ พรมแดนที่ก้าวข้ามไปมาระหว่างพื้นที่ส่วนตัวกับพื้นที่สาธารณะในโซเชียลมีเดียในกรณีนี้ น่าจะเป็นอุทาหรณ์ให้ใครก็ตามที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นี้ ว่าควรระวังคำพูดคำจาให้มากขนาดไหน
สำหรับกรณีนี้ ผมคิดว่ามันไม่ยุติธรรมเลยที่คำพูดในกลุ่ม “เพื่อน” ซึ่งแม้ว่าจะถูกระบุให้เป็น “public” กลับกลายไปเป็นคำพูด “สาธารณะ” ในพื้นที่ “นอกกลุ่มเพื่อน” ด้วยเช่นกัน ผมคิดว่าเฟซบุกกำลังกลายเป็นเวทีของการลุกล้ำอาณาบริเวณส่วนตัวมากยิ่งขึ้นทุกขณะ เนื่องจากเจ้าของคำพูดเองอาจไม่ได้ต้องการให้สถานะความเป็น “public” มีความเป็นสาธารณะในระดับกว้างขนาดนั้น
ความเป็นสาธารณะในขอบเขตของกลุ่มเพื่อนในเฟซบุกจึงเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ ปัญหานี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับกรณีแอร์โฮสเตสคนนี้เท่านั้น แต่ผมเชื่อว่ามันได้เคยเกิดขึ้นกับใครต่อใครหลายคนที่เล่นเฟซบุกมาแล้ว เพราะความเป็นเพื่อนและความสาธารณะมันไม่ได้ถูกจำกัดพื้นที่ชัดเจนนั่นเอง
2) ในมิติของคำพูดที่สร้างความเกลียดชัง แน่นอนว่าความเห็นของแอร์โฮสเตสคนนี้เป็นความเห็นที่ใช้ไม่ได้ แน่นอนว่าเราอาจวิจารณ์กันไปได้ในฐานะที่มันเป็นประเด็นทางสังคม แต่พิษภัยของคำกล่าวนั้นควรนำไปสู่โทษทัณฑ์สถานใด เราจะถือว่ากรณีนี้เป็น hate speech ได้หรือไม่ จากคำพูดซึ่งมาจากอคติทางการเมือง และเป็นคำพูดที่อาจกระตุ้นให้เกิดความรุนแรง ถ้าอย่างนี้ก็น่าจะเข้าข่าย hate speech
หากจะถือว่าเป็นดังนั้น ผมก็เห็นว่าในความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา เรามี hate speech เต็มไปหมด มีหลากหลายรูปแบบ ทั้งที่รุนแรงมาก และที่กระตุ้นให้เกิดความรุนแรงได้อย่างแท้จริง (คำพูดประเภท “ล้มเจ้า” “คุณเอาเจ้าหรือไม่”) และกระทบต่อคนบางกลุ่มอย่างรุนแรงมากกว่าคนบางกลุ่ม (เช่นการที่ “ผังล้มเจ้า” มีส่วนในการใส่ร้ายทางการเมือง และนำไปสู่ความเกลียดชัง กระทั่งถูกเชื่อมโยงกับการชุมนุมของคนเสื้อแดงที่ถูกล้อม ปราบอย่างทารุณ นี่น่าจะถือว่าฟังล้มเจ้าเป็น hate speech ที่มีส่วนให้เกิดการสังหารโหดกลางกรุง)
แต่กระนั้นก็ตาม หากผู้สร้าง hate speech เหล่านั้นจะถูกโทษทัณฑ์ เขาควรจะได้รับโทษทัณฑ์ในฐานะอะไร ในฐานะผู้ที่ทำลายชื่อเสียงองค์กรที่เขาสังกัดอยู่ ในฐานะทำลายชื่อเสียงของประเทศชาติ หรือในฐานะพลเมืองที่สร้างความเกลียดชังแก่กันในสังคมจนเป็นเหตุให้คนใช้ความรุนแรงทำร้ายกันได้ หากจะลงทัณฑ์กันหรือหาความรับผิดชอบ ควรจะเป็นแบบใด ก็ควรจะเป็นความรับผิดชอบในประการหลังไม่ใช่หรือ เพราะถือว่าเป็นคำพูดที่กระตุ้นให้เกิดความเกลียดชังในสังคม เป็นความผิดต่อสังคมโดยรวม ไม่ใช่โดยกลุ่มบุคคลหนึ่งใด
แต่ที่แย่คือ แอร์ฯ คนนี้ กลับถูกลงโทษในลักษณะทำนองที่ว่า เธอก่อความเสียหายให้บริษัท เธอทำลายชื่อเสียงบริษัท ความผิดของเธอจึงไม่ใช่ความผิดต่อสังคม แต่กลายเป็นความผิดต่อบริษัท
3) ในแง่สิทธิแรงงาน กรณีนี้จะนับว่าบริษัทลงโทษเกินกว่าเหตุได้หรือไม่ บริษัทต้องการปกป้องตนเอง หรือต้องการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมกันแน่ บริษัทอาศัยกฎที่ว่า “ข้อมูลของผู้โดยสารจะต้องได้รับการปกปิด” แต่หากพนักงานเพียงกล่าวในเฟซบุกตนเองด้วยทัศนคติไปในอีกทางหนึ่ง เช่นว่า “วันนี้ดีใจมากเลย ได้บริการคุณน้องกุ๊บกิ๊บ อภิชาติบุตรีของท่านนายก...ที่อยู่ในดวงใจฉันตลอดกาล” พนักงานคนนี้ก็อาจจะไม่ต้องถูกให้ออก แต่เป็นเพราะข้อความที่พนักงานคนนี้กล่าวถูกนำไปวิพากษ์วิจารณ์ไปในทางลบมากกว่าหรือไม่ ที่ทำให้พนักงานคนนี้ต้องออกจากงาน
หากเกิดกรณีทำนองเดียวกันนี้อีก ที่แม้ว่าอาจจะไม่ได้ก่อความเสียหายแก่สังคมอย่างชัดเจน แต่หากคำพูดของพนักงานคนใดทำลายชื่อเสียงของบริษัท แล้วกลับกลายเป็นว่าพนักงานผู้นั้นจะต้องถูกให้ออก สิ่งน้ีจะกลายเป็นบรรทัดฐานไปในอนาคตหรือไม่ กรณีทำนองนี้เคยเกิดขึ้นกับพนักงานบริษัทชุดชั้นในแห่งหนึ่ง ที่ถูกเลิกจ้างเนื่องจากแสดงความเห็นทางการเมืองในทิศทางที่สังคมไม่ส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วย แต่กลายเป็นว่า บริษัทเห็นว่าความเห็นนั้้นมีผลเสียต่อบริษัท ทั้งๆ ที่บริษัทไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแสดงความเห็นนั้น ไม่มีส่วนต้องรับผิดชอบต่อความเห็นนั้น
คำถามคือ ยุติธรรมหรือไม่ที่พนักงานจะต้องถูกให้ออกด้วยเหตุที่เขาหรือเธอแสดงความเห็นที่ขัดต่อความรู้สึกของสังคม และหากใช้มาตรฐานเดียวกันนี้ ในอนาคตอันใกล้ คงจะมีพนักงานบริษัทอีกมากมาย หรือพนักงานมหาวิทยาลัยจำนวนมาก ถูกเลิกจ้างอันเนื่องมาจากแสดงความเห็นขัดต่อความรู้สึกของกระแสมวลชน
ถึงที่สุดแล้ว ผมว่ากรณีนี้ทำให้สังคมโซเชียลมีเดียน่าจะต้องไตร่ตรองถึงการนำข้อมูล “ส่วนตัว” ออกมาเปิดเผย สื่อมวลชนที่นำข่าวสารจากโซเชียลมีเดียมาขยายผล ก็น่าจะต้องใคร่ครวญขอบเขตของการคัดกรองข่าว “ส่วนตัว” เพื่อการนำเสนอสู่ “สาธารณะ”
ประเด็นที่กว้างกว่านั้นคือ หากเราจะหาคนรับผิดชอบต่อการสร้างความจงเกลียดจงชังอย่างต่อเนื่องขึ้นมาในสังคมนี้ไม่ได้ ปัจเจกชนก็คงต้องพิจารณาเองให้ดีว่า ความแตกต่างทางการเมืองไม่ว่าจะในนามของความจงเกลียดหรือจงรักใคร ก็ไม่ควรต้องผลักดันกันจนสุดกู่ จนอาจนำไปสู่การมุ่งร้ายแก่กัน หรือกระตุ้นให้เกิดการสังหารโหดกลางกรุงอย่างที่ผ่านๆ มาอีก