Skip to main content

ไม่เพียงแต่นักเขียนบางคนเท่านั้นที่อาจจะไม่เข้าใจหรือมองข้ามประเด็นความแตกต่างทางชาติพันธ์ุ แต่ผมคิดว่าแวดวงภาษาและวรรณกรรมบ้านเราอาจจะไม่ตระหนักถึงปัญหานี้โดยรวมเลยก็ได้ และในแง่หนึ่ง ผมคิดว่าซีไรต์เองอาจจะมีส่วนสร้างวัฒนธรรมไม่อ่อนไหวต่อความแตกต่างทางวัฒนธรรมด้วยเช่นกัน และถึงที่สุดแล้ว นี่อาจจะกลายเป็นข้อจำกัดที่ปิดกั้นโอกาสที่วรรณกรรมไทยจะก้าวเข้าสู่ระดับสากล

เมื่อวันเสาร์ที่ 15 ธันวาคมที่ผ่านมา ผมได้รับเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับเชิญให้ไปร่วมสนทนากับคนในแวดวงวรรณกรรมในหัวข้อ "วรรณ(วาท)กรรมซีไรต์ เมื่อรางวัลซีไรต์ถูกตั้งคำถาม" จัดโดยชุมนุมวรรณศิลป์ ธรรมศาสตร์ ในโอกาสครบรอบ 50 ปีของชมรม ที่สวนศิลป์ ท่าพระจันทร์ ผมเข้าใจว่าส่วนหนึ่งที่ผู้จัดเชิญมาคงเพราะหนังสือเล่มหนึ่งที่เข้ารอบซีไรต์ปีนี้ ถูกตั้งคำถามอย่างแรงถึงการที่ผู้เขียนใช้สัญลักษณ์ในเชิงดูถูกกลุ่มชาติพันธ์ุหนึ่ง 

 

ขอคัดสรรประเด็นที่นำเสนอในงานเสวนาดังกล่าวมาเรียบเรียงนำเสนอดังนี้

 

(1) ซีไรต์ ไม่ write อะไร

 

ผมเข้าไปใน www.seawrite.com (ซึ่งก็อาจไม่ยุติธรรมกับซีไรต์นัก เพราะเขาคงเพิ่งเขียนขึ้น จึงไม่ได้ให้ข้อมูลครบถ้วนนัก) ผมอ่านประวัติการก่อตั้ง วัตถุประสงค์ เกณฑ์การคัดเลือกผลงานเพื่อให้รางวัลแล้ว ก็สรุปเอาเองว่าที่มาของรางวัลนี้เป็นความคิดจากอีลีทตั้งแต่แรก ก่อตั้งโดยเชื่อมโยงกับโรงแรมหนึ่ง สายการบินหนึ่ง บริษัทก่อสร้างที่มีอิทธิพลแห่งหนึ่ง เจ้านายคนหนึ่ง และออกจะ "orientalism" ทั้งในความหมายที่นักวิจารณ์วรรณคดีหลังอาณานิคมใช้ และในความหมายที่ผูกโยงกับผู้ก่อตั้งรางวัลนี้

 

แน่นอนว่าเราไม่ควรมีอคติกับชนชั้นสูง ชนชั้นนำ คนรวย เพราะอย่างน้อย อาจารย์ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ผู้ร่วมเสวนา ก็ได้กรุณาอธิบายว่า กำเนิดซีไรต์นั้น ส่วนหนึ่งมาจากกระแสสังคมหลัง 6 ตุลาคม 2519 ที่ทำให้ซีไรต์เป็น "เสมือนคณะกรรมการสมานฉันท์ทางวรรณกรรม" (คำของอาจารย์ชูศักดิ์) คือไม่ซ้ายเกินไป ไม่ขวาจัดไป เพียงแต่ว่า ถึงทุกวันนี้แล้ว เราทบทวนทิศทางของซีไรต์กันแค่ไหน ระบบคุณค่าแบบไหนกันแน่ที่ซีไรต์ส่งเสริมและปิดกั้น

 

ผมอ่านวัตถุประสงค์สองในสี่ข้อของซีไรต์ในพากย์ภาษาอังกฤษ (ซึ่งไม่เหมือนกับที่แปลเป็นภาษาไทย) แล้วเห็นว่า ซีไรต์ไม่ได้ทำอย่างที่ได้วางวัตถุประสงค์ไว้เลย หรือสงสัยว่า ซีไรต์ได้ทำสิ่งเหล่านั้นแค่ไหน มีข้อหนึ่งระบุว่า "เพื่อขยายความตระหนักและความเข้าใจถึงความรุ่มรวยของวรรณคดีระหว่างประเทศอาเซียนสิบประเทศ" อีกข้อหนึ่งระบุว่า "เพื่อนำเอาบรรดอัจฉริยภาพของเหล่านักเขียนอาเซียนเข้ามาไว้ด้วยกัน" 

 

อ่านจากวัตถุประสงค์สองข้อนี้ ผมเห็นการแลกเปลี่ยนวรรณกรรมระหว่างประเทศและระหว่างนักเขียนอาเซียน เห็นมิติของวรรณกรรมที่จะต้องครอบคลุมระดับภูมิภาค เห็นการไหลเวียนเรียนรู้จากกันและกันของแวดวงวรรณกรรมอาเซียน แต่นั่นเป็นภาพซึ่งผมจินตนาการไม่ออกเลยว่าได้เห็นจากรางวัลซีไรต์ที่สืบทอดมากว่า 30 ปีแล้ว 

 

แถมซีไรต์ยังมีเกณฑ์บางอย่างที่เรียกได้ว่ากำกับความเป็นวรรณกรรมให้เป็นแบบใดแบบหนึ่ง เช่นที่ระบุในภาษาอังกฤษแปลได้ว่า "ควรจะเป็นผลงานที่ไม่ฝักใฝ่ทางการเมือง (non-political)" และดังที่รู้กันว่า งานแนวอีโรติคจะเป็นงานที่ตกรอบซีไรต์แน่ๆ ไม่ต้องส่งมา

 

ผมจึงเห็นว่า จะว่าซีไรต์สนใจเฉพาะคุณค่าเชิงวรรณกรรมเหนือคุณค่าอื่นๆ ก็ไม่ถูก เพราะการก่อตั้งก็ตั้งมาด้วยความคิดบางอย่าง แถมในวัตถุประสงค์และเกณฑ์การคัดเลือกก็ยังระบุมิติที่นอกเหนือไปจากค่าเชิงวรรณศิลป์เอาไว้ด้วย และดังนั้น ซีไรต์จึง “ไม่ได้ไรต์” อะไรอีกมากมาย พร้อมๆ กับที่มันสร้างการเขียนแบบหนึ่งขึ้นมา 

 

มิติที่ผมเห็นว่าซีไรต์ขาดหรือจนกระทั่งอาจมีส่วนทำให้มันหดหายไปก็คือ การส่งเสริมความเข้าใจระหว่างคนที่แตกต่างกัน และการแลกเปลี่ยนภูมิปัญญาทางวรรณศิลป์ระหว่างคนที่แตกต่างกัน อย่าว่าแต่ระหว่างประเทศอาเซียนเลย ภายในประเทศไทยเองก็ยังไม่ได้ทำ

 

(2) ซีไรต์กับการเขียนคนอื่น

 

จะว่าไป ประวัติการก่อตั้งซีไรต์ก็ทั้งมีความเป็น "บูรพคดีนิยม" (orientalism) และเกี่ยวโยงกับแวดวงวรรณกรรมที่เขียนเกี่ยวกับ "คนอื่น" ในระดับสากล ผมกำลังกล่าวถึงโจเซฟ คอนราด (Joseph Conrad) ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้กับการเขียนถึงชาวเกาะทรอเบียนของบรอนิสลอว์ มาลินอฟสกี (Bronislaw Malinowski) ที่คอนราดมาเกี่ยวกับซีไรต์ก็เพราะเขาได้มาพักที่กรุงเทพฯ โดยพำนักอยู่ที่โรงแรมซึ่งมีส่วนก่อตั้งรางวัลซีไรต์ นี่ทำให้ซีไรต์ไปโยงกับมานุษยวิทยาทางอ้อมๆ ผ่านนักเขียนที่มีอิทธิพลต่อนักมานุษยวิทยาคนสำคัญของโลกในศตวรรษที่ 20 อย่างไรก็ดี ทั้งงานของคอนราดและมาลินอฟสกีก็ล้วนถูกวิจารณ์ว่า เขียนถึงคนอื่นจากมุมมองที่มอง "คนตะวันออก" อย่างเหมารวมว่าตรงข้ามกับ "คนตะวันตก" แล้วสร้างภาพที่ด้อยกว่าของชาวตะวันออก 

 

หากถามว่าหนัังสือรางวัลซีไรต์สะท้อนอะไรแบบนั้นบ้างหรือไม่ ซีไรต์คงไม่ถึงกับสร้างภาพตะวันออกหรือภาพคนอื่น คนชั้นล่าง คนชนบท เพื่อให้คนเมือง คนชั้นสูงอ่านเพื่อความบันเทิงอย่่างขนบการเขียนแบบที่ถูกนักวิจารณ์วรรณกรรมแนวหลังอาณานิคมวิจารณ์คอนราดอย่างนั้น หากแต่ผมกำลังจะวิจารณ์ว่า ซีไรต์ของไทยผลิตซ้ำวัฒนธรรมภาษาและวรรณคดีแบบที่ยึดเอากรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลาง

 

ถ้าละจากซีไรต์ไปก่อน วรรณกรรมไทยเขียนถึง "ชนอื่นในแดนตน" แบบต่างๆ เช่น โคลงวัดโพธิ์ บทละครเงาะป่า นิราศหนองคาย จนถึงการเขียนถึงคนชนบท คนในท้องถิ่นต่างๆ ในจำนวนนี้ งานที่ได้ซีไรต์ที่ผมจำได้ชัดๆ ได้แก่ “ลูกอีสาน” และ “เจ้าจันทร์ผมหอม” อย่างไรก็ดี งานทั้งสองเป็นตัวอย่างอันน้อยนิดในจำนวนงานจำนวนมากที่เขียนด้วยภาษาและแนวการประพันธ์แบบภาคกลาง และหากไม่นับยอดขายแล้ว ใครสักกี่คนที่จะอ่านหนังสือสองเล่มนี้

 

คำถามที่ใหญ่กว่านั้นคือ งานเขียนที่ได้รางวัลซีไรต์นั้นจำกัดอยู่ในงานวรรณกรรมภาษาไทยมาตรฐานหรือไม่ และหากขยายไปถึงในแง่รูปแบบการประพันธ์ รูปแบบการประพันธ์แบบภาคกลางเท่านั้นหรือไม่ที่จะมีโอกาสเข้ารอบซีไรต์

 

ผมไม่ใช่คนที่จะอ่านนวนิยายหรือเรื่องสั้นอย่างเอาจริงเอาจัง ผมอาจจะอ่านบทกวีมากกว่า และเผอิญมี "เพื่อนกิน" เป็นกวีอยู่หนึ่งคน ที่พอจะได้แลกเปลี่ยนอะไรกันได้บ้าง วันหนึ่งผมถามเพื่อนคนนี้ถึงงานของกวีซีไรต์คนหนึ่ง ว่าทำไมนักเขียนคนนี้ถึงไม่เขียนงานด้วยภาษาและ "ลำ" แบบลาว หรือแม้แต่อันที่จริงเขาคนนี้น่าจะรู้ภาษาเขมร หรือผมเดาว่าเขาน่าจะรู้จักเพลงกันตรึม ทำไมเขาไม่เอางานพวกนั้นมาเผยแพร่บ้าง เพื่อนผมบอกเขาก็เคยถามกวีคนนี้เหมือนกัน กวีคนนี้ตอบว่า "เขียนแบบนั้นแล้วใครจะอ่านล่ะ จะเอาอะไรกินล่ะ" รายละเอียดที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้นคือ พี่ชายของกวีคนนี้เป็นนักร้องกันตรึม ส่วนน้องชายที่กำลังเป็นกวีดาวรุ่งก็เขียนบทกวีไทยโดยแทรกคำขแมร์เสมอๆ 

 

ผมถามตนเองในใจว่า นี่คือการทำลายวัฒนธรรมภาษาและวรรณคดีหรือไม่ แล้วนึกเลยไปอีกว่า ซีไรต์มีส่วนทำลายสิ่งเหล่านี้หรือไม่ กวีอย่างอังคาร กัลยาณพงศ์ ซึ่งรู้ภาษาไทยกลางดีกว่าคนกรุงเทพฯ ที่มีการศึกษาสูงๆ นั้น ทำไมไม่นำเพลงบอก เพลงโนรามาเผยแพร่หรือแทรกใส่เข้าไปในบทกวีของเขา ทำไมอังคารจึงละทิ้งตัวตนของตนเองไปเสีย แล้วเมื่อทำอย่างนั้นได้ดีแล้ว เขาก็กลับยิ่งได้รับการยกย่องจากคนกรุงเทพฯ ได้เป็นกวีซีไรต์ แล้วอังคารก็ภาคภูมิใจที่ตนเองร่วมลดทอนตัวตนของตนเอง ทั้งๆ ที่ฟังจากสำเนียงแล้ว อังคารต้องพูดภาษาใต้ได้ไพเราะกว่าภาษากลางแน่นอน และอังคารต้องได้ซึมซับเพลงบอก เพลงโนรามาอย่างลึกซ้ึงตั้งแต่วัยเด็กแน่นอน

 

นี่ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ แต่มันเกิดขึ้นในบริบททางการเมืองของการสร้างชาติสมัยใหม่แบบหนึ่ง หากมีโอกาส ผมสามารถเขียนสาธยายยาวๆ เปรียบเทียบให้เห็นถึงการให้การศึกษาทางภาษาและวรรณคดีในประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามได้อย่างเป็นวรรคเป็นเวร ว่าเขาเปิดโอกาสให้เกิดการเรียนรู้ทางภาษาและวัฒนธรรมข้ามวัฒนธรรมอย่างไร แม้แต่ภาษาเวียดถิ่นต่างๆ เขายังไม่กดไม่ปิดกั้นแบบรัฐไทยอันเป็นที่รักของเราเลย 

 

แต่เนื่องจากวิธีที่เราสร้างชาติ ซึ่งอันที่จริงเริ่มมาอย่างเข้มข้นตั้งแต่ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และยิ่งเข้มข้นขึ้นอย่างไม่ขาดสายตั้งแต่สมัยที่คณะราษฎรมีอำนาจจนถึงปัจจุบัน เลือกที่จะทำลายภาษาและวรรณกรรมท้องถิ่น แนวทางนี้ยังสืบเนื่องมาจนปัจจุบัน แม้แต่องค์กรเอกชนอย่างซีไรต์ก็ยังรับเอากรอบความคิดนี้ไว้

 

เรารู้จักหรือให้การศึกษาเรื่องวรรณกรรมท้องถิ่น วรรณกรรมชนกลุ่มชาติพันธ์ุอื่นๆ แค่ไหน รู้ไหมว่าลำมีกี่แบบ ค่าวซอเป็นอย่างไรทุกวันนี้เด็กเหนือรุ่นใหม่ๆ ยังไม่รู้จักเลย กันตรึมเขาเอาไว้ทำอะไรกันแน่ แล้วยังมีเจรียงอีก ส่วนภาคกลาง เพลงฉ่อย เพลงอีแซว เพลงเรือ เพลงเต้นกำรำเคียว มันมีทำนองต่างกันอย่างไร เพลงบอก เพลงโนรา เด็กใต้ยังร้องได้ไหม ถ้าร้องได้แล้วจะมีวันได้ซีไรต์ไหม หรือต้องร้องจนแก่ใกล้ตายแล้วค่อยได้ศิลปินแห่งชาติไป

 

ซีไรต์ทำลายสิ่งเหล่านี้หมดเลย ซีไรต์มีส่วนร่วมสร้างภาษาไทยมาตรฐาน วรรณกรรมมาตรฐาน ซีไรต์ผลิตซ้ำวัฒนธรรมเดี่ยว สนองการสร้างชาติด้วยภาษาเดี่ยว และเนื่องจากวัฒนธรรมภาษา อักษร และวรรณคดีเรายังยึดอยู่กับความเป็นชาติไทย ในขอบเขตของชาติไทย ถ้ายังยึดกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางกันอยู่อย่างนี้ จะเขียนจะอ่านกันให้ตายอย่างไรเราก็ยังไม่มีทางขยายขอบฟ้า ขยายเพดานของสุนทรียรสทางวรรณศิลป์ได้ ตราบใดที่นักเขียนจากท้องถิ่นยังต้องทำลายตนเอง ยังต้องลดทอนความเป็นตัวของตัวเอง แล้วตราบใดที่เกณฑ์การคัดเลือกผลงานยังเป็นอยู่อย่างนี้ เราก็จะยังคงผลิตซ้ำงานเขียนกันแบบนี้แหละ

 

(3) ซีไรต์จะนำวรรณกรรมไทยไปสู่โลก?

 

ถึงตรงนี้คนอาจจะว่าผมคลั่งท้องถิ่น จะว่าอย่างนั้นก็ได้ จะว่าส่วนหนึ่งเพราะผมไม่มีท้องถิ่นของตัวเองก็เลยคลั่งก็เป็นได้ แต่หากผมจะมานั่งปกป้องตนเองด้วยการเล่าว่าตนเองเติบโตมาใน "ท้องถิ่น" แบบไหน ก็ใช่ที่ 

 

เนื่องจากประเด็นที่สำคัญกว่านั้นคือ (หนึ่ง) ผมกำลังถามหาถึงคุณค่าทางวรรณศิลป์ที่กำลังจะสูญหายไปมากมายในการประกวดวรรณกรรมชิงรางวัล (สอง) ผมกำลังสงสัยว่าหากไม่มีสิ่งเหล่านั้นแล้วเราจะสร้างความเข้าใจข้ามวัฒนธรรม ข้ามชุมชนภาษาและวรรณคดีอย่างที่ซีไรต์เองอวดอ้างว่าจะทำได้อย่างไร (สาม) แล้วเรา คือคนจากอุษาคเนย์ จะฝากวรรณกรรมอะไรให้กับโลกไว้ได้บ้าง

 

ลองคิดดูว่าหากผู้ประกาศข่าวในทีวีประเทศไทยพูดภาษาเหนือ กลาง ใต้ ได้อย่างสะดวกปากไม่ต้องดัดเสียงกันแบบในทีวีเวียดนามได้ จะแสดงความรุ่มรวยได้แค่ไหน หากวรรณกรรมที่เข้ารอบซีไรต์จะเป็นกันตรึม ค่าวซอ เพลงบอก และเพลงฉ่อย จะครึกครื้นขนาดไหน ในทางกลับกัน หาก "ลุงบุญมีระลึกชาติ" ไม่ได้เว้าลาวแทบทั้งเรื่อง ถ้าการเอากับปลาไม่ได้เพียงเซอร์เรียลแต่ยังมีลักษณะของตำนานพื้นบ้านมากๆ ฯลฯ "ลุงบุญมีฯ" จะมีอะไรให้กับโลก

 

แต่หากเราจะยังรอให้คนเพียงไม่กี่คนมาคอยกำหนดคุณค่าทางวรรณศิลป์ ด้วยรางวัลที่ "เหนือกว่ารางวัลอื่นจากการผูกติดกับเจ้าและความเป็นอินเตอร์แบบปลอมๆ ของซีไรต์ไทย" (คำของอาจารย์ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์) หากเรายังถามคำถามกันอยู่ว่า "เกณฑ์การตัดสินซีไรต์เป็นอย่างไรกันแน่" "จะเขียนงานอย่างไรให้ได้ซีไรต์" หรือ "ปีนี้จะอ่านอะไรดี ให้รอซีไรต์ประกาศก่อน" ก็ป่วยการที่เราจะไปพ้นจากสังคมอำนาจนิยมของวรรณกรรมได้ ป่วยการที่จะถามถึงว่า แวดวงวรรณกรรมไทยจะฝากอะไรไว้ให้กับชาวโลกได้บ้าง

 

ผมคิดว่าปัญหาเรื่องการนำวรรณกรรมไทยไปสู่โลกนั้นไม่ใช่เพียงปัญหาเรื่องภาษาหรือการแปลเท่านั้น เพราะต่อให้แปลเรื่องต่างๆ ที่ได้ซีไรต์มาทั้งหมด และแม้ว่าบางเล่มจะแปลแล้วและเป็นที่นิยม ก็ใช่ว่าจะหมายความว่าวรรณกรรมไทยจะได้ฝากอะไรไว้ให้กับโลกแล้ว หากแต่เป็น "ประเด็น" "เรื่องราวพิเศษแปลกใหม่" "แง่มุมทางวรรณศิลป์" "แง่มุมทางภาษา" (ที่แม้จะถ่ายทอดข้ามภาษาได้ยากเย็นก็ตาม) ต่างหากที่จะทำให้วรรณกรรมไทยส่งคุณค่าไปสู่โลก 

 

สุดท้าย จะเขียนอะไรก็เขียนกันเถอะครับ จะอ่านอะไรก็อ่านกันเถอะครับ แต่หากใครอยากมีบ้านมีรถเร็วๆ ก็เพียรเขียนให้ได้เข้ารอบซีไรต์หรือโชคดีอาจได้รางวัลซีไรต์กันไป แต่หากจะทำงานสร้างสรรค์กันจริงๆ อยากอ่านงานสร้างสรรค์กันจริงๆ ก็อย่าหวังอะไรกับซีไรต์นักเลยครับ

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
คำสำคัญ: sensory subjectivity, sensory categories, sensory bias, sensory ethnocentrism, sensory colonization (อธิบายไว้ท้ายข้อเขียน) คนทำเรื่องอาหารข้ามถิ่น ไม่ต่างจากการทำงานทางมานุษยวิทยา ที่ต้องตระหนักถึงการ ไม่นำเอา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ถ้าคุณไม่สามารถเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ได้แล้ว ก็โปรดอย่าถ่วงรั้งการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่เลย 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปาฐกถาในเวทีเสวนา “50 ปี 14 ตุลาฯ ยังตามหารัฐธรรมนูญใหม่” จัดโดยสมัชชาคนจน วันที่ 14 ตุลาคม 2566
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อ 24 กค. 65 ผู้จัดการแสดง #ฮิญาบ2022  ชวนผมไปดูการแสดงของคุณฟารีดา จิราพันธ์ ที่กาลิเลโอเอซิส แล้วผู้จัดจะชวนผมสนทนาหลังละคร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะเพื่อนร่วมวิชาชีพวิชาการ ในฐานะผู้ปกครองนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ และในฐานะคนรักศิลปะ ผมเขียนจดหมายนี้เพื่อตั้งคำถามต่อการที่ผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์จะตรวจสอบผลงานก่อการอนุญาตให้จัดแสดงผลงานของนักศึกษาภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นคนพูดถึงตัวละครในซีรีย์เกาหลีเอ่ยถึงจอร์จ บาไตล์ ในรูปนั่นน่ะครับ เป็นคอลเล็กชันจอร์จ บาไตล์บนชั้นหนังสือผมแบบเบาๆ ผมเก็บไว้ร่วม 20 ปีแล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายคนคงรู้ว่าวันนี้เป็นวันชาติเวียดนาม แต่น้อยคนคงรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในวันนี้กันแน่ แล้ววันนี้ในอดีตถูกกำหนดเป็นวันขาติจากเหตุการณ์ปีใด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จนถึงวันนี้ การต่อสู้ของประชาชนในขบวนการ “คณะราษฎร 63” ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า พลังของแสงดาวได้สร้างสรรค์สังคมไทยอย่างไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การที่อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาได้ออกมาแสดงความเห็นว่ามีการสร้างกระแสกดดันศาลต่างๆ นานา (ดู https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/2081366) มองในแง่ดี ผมคิดว่านี่คือการออกมาอธิบายกับสังคมอีกครั้งของผู้มีอำนาจในกระบวนการยุติธรรมอย่างชัดแจ้ง หลังจากที่มีการชี้แจงถึงเหตุผลการไม่ปล่อยตัวผู้ต้องหาคดีการเมืองโดยโฆษกศาลและโฆษกกระทรวงยุติธรรมก่อนหน้านี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อะไรที่ทำให้ดนตรีมีสถานะในการทำร้ายกันได้บ้าง ผมว่าอย่างน้อยที่สุดต้องเข้าใจก่อนว่า ดนตรีไม่ใช่แค่เสียง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
พอดีนั่งฟังเพื่อนนักวิชาการอ่านหนังสือ "กบฏชาวนา" ของรานาจิต คูฮา (1982) มาคุยให้ฟัง (แปลโดย ปรีดี หงษ์สต้น) ในเพจของสำนักพิมพ์ Illumination Editions เลยคิดถึงบันทึกที่เคยเขียนถึงหนังสือของ ดิเพช จักรบาร์ตี เรื่อง Provincializing Europe (2000)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรื่อง ถามถึงมโนธรรมสำนึกในความเป็นครูบาอาจารย์ของอาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์