Skip to main content


ปีนี้หลายคนคงระลึกถึงเหตุการณ์รุนแรงวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ด้วยรูปนักศึกษาเรือนแสนถมเต็มถนนราชดำเนินรายล้อมอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย พร้อมคำบรรยายใต้ภาพว่า "พลังบริสุทธิ์" กันอีก แน่นอนว่าผมก็เหมือนกับใครก็ตามที่ใฝ่ฝันให้ประชาชนเป็นเจ้าของแผ่นดินนี้อย่างแท้จริง ย่อมยินดีกับภาพนี้

แต่ผมเอียนกับการที่จะต้องคอยติดป้ายให้นักศึกษาดูบริสุทธิ์ผุดผ่องอย่างนั้นตลอด เนื่องจาก

(1)

 ภาพความบริสุทธิ์ของนักศึกษาถูกสร้างให้ขัดแย้งตัดกันกับพลังของเผด็จการทหารในยุค 14 ตุลา 2516 แต่เราต่างรู้กันดีว่าภาพสีขาวนี้กลับถูกลบล้างไปอย่างไร้ความปรานี เมื่อนักศึกษาถูกแปลงให้กลายเป็นคอมมิวนิสต์ในวันที่ 6 ตุลาคมในอีกสามปีถัดมา 

ความเป็นนักศึกษาจึงไม่ได้เป็นเครื่องหมายของความบริสุทธิ์เสมอไป ชนชั้นนำไทยพร้อมจะโอบอุ้มหรือเข่นฆ่านักศึกษา (และมวลชนใดๆ) ได้เสมอ สุดแท้แต่ว่านักศึกษาจะอยู่ข้างใคร สุดแท้แต่นักศึกษาจะไม่อยู่ข้าง "ใคร"

(2) การยกย่องให้นักศึกษาบริสุทธิ์ผุดผ่องกลับทำให้พลังมวลชนอื่นๆ กลายเป็นกลุ่มผลประโยชน์ที่มีเบื้องหน้าเบื้องหลังไปหมด และจึงแปดเปื้อนมีมลทินกันไปเสียหมด ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วนักศึกษาเองก็เป็นกลุ่มผลประโยชน์กลุ่มหนึ่ง ไม่ต่างจากกลุ่มผลประโยชน์อื่นๆ 

แต่ประวัติศาสตร์แนวหนึ่งกลับเขียนให้มีแต่เพียงนักศึกษาเท่านั้นที่เป็นมวลชนซึ่งมีอุดมการณ์สูงส่ง หากคนกลุ่มอื่นเดินขบวน อย่างดีที่สุดเขาก็จะถูกมองว่าทำเพียงเพื่อผลของตนเอง อย่างเลวร้ายที่สุดคือ พวกเขาถูกดูแคลนว่าเป็นแค่ม็อบรับจ้าง

ภาพบริสุทธิ์ผุดผ่องของนักศึกษาในอดีต จึงเปล่งรัศมีกลบลบกลุ่มพลังอื่นๆ ไปเสียทั้งหมด พลังบริสุทธิ์ของนักศึกษาลดทอนคุณค่าของให้พลังอื่นดูหมองหม่นไปเสียทั้งหมด

(3) ภาพบริสุทธิ์ของนักศึกษา 14 ตุลาฯ 2516 กลายเป็นทุนทางการเมือง โอบอุ้ม "คนเดือนตุลา" ให้ดูดีมีราศรีเกินจริงไปเสียทุกคน ราวกับว่าเราจะใช้มาตรฐานที่วัดตัดสินคนเดือนอื่น ไปตัดสินคนเดือนตุลาฯ ไม่ได้เด็ดขาด เพราะไม่ว่าจะทำอะไร พวกเขาก็จะบริสุทธิ์ล้ำหน้าเกินพวกเราเสมอ

แม้ว่าหลายต่อหลายคนจะมีความสามารถ มีผลงานเพียงแค่ระดับ "งั้นๆ" แต่บุญบารมีทางการเมืองของการเป็น "คนเดือนตุลาฯ" ที่แปะติดหน้าผากพวกเขาไว้ ก็จะช่วยขับเน้นให้อะไรที่งั้นๆ ไต่ระดับกลายเป็นอัจฉริยะไปได้อย่างง่ายดาย 

(4) ภาพบริสุทธิ์ของนักศึกษายังสร้างความคาดหวังอย่างผิดๆ ต่อนักศึกษารุ่นต่อๆ มาตลอดว่า นักศึกษาเป็นพลังบริสุทธิ์ จึงต้องมีอุดมการณ์สูงส่ง จึงควรเป็นผู้นำในการเคลื่อนไหวทางอุดมการณ์ ทั้งๆ ที่ที่จริงแล้วพวกเขาก็ทำเพื่อผลประโยชน์ตนเอง และเมื่อถึงยุคที่พวกเขาต่างสมประโยชน์แล้วดังเช่นในทุกวันนี้ พวกเขาก็ไม่จำเป็นต้องออกมาเคลื่อนไหวกันอีกต่อไป 

ไม่เท่านั้น พวกเขายังกลับพร้อมจะเหยียบย่ำมวลชนกลุ่มอื่นที่ขัดผลประโยชน์ของพวกเขา สังคมจึงไม่ควรคร่ำครวญเรียกร้องอะไรนักหนากับพลังนักศึกษา ซึ่งหมดพลังเคลื่อนไหวทางประวัติศาสตร์ไปแล้วอีกต่อไป

ในเมื่อขบวนการมวลชนใดๆ ก็ล้วนเป็นพลังไม่บริสุทธิ์ ไม่ว่าจะเป็นขบวนการนักศึกษา ม็อบมือถือ สมัชชาคนจน พันธมิตรประชาชนฯ คนเสื้อแดง เราจะยังตัดสินคุณค่าของมวลชนแค่จากสถานภาพของพวกเขากันอยู่อีกทำไม

การตรวจสอบว่าพลังมวลชนกลุ่มใดทำเพื่อผลประโยชน์ใด ปิดกั้นผลประโยชน์ของสังคมโดยรวมหรือไม่ มวลชนใดส่งเสริมระบอบหมอบกราบ ไม่เห็นหัวประชาชน ขัดขวางกระบวนการที่จะทำให้ประชาชนเป็นเจ้าของแผ่นดินหรือไม่ เป็นสิ่งที่ควรจะใส่ใจกันมากกว่าหรือไม่

แล้วก็โปรดเลิกเรียกพลังนักศึกษาว่าพลังบริสุทธิ์กันเสียทีเถอะ

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (4 ตุลาคม 2560) นิสิตมหาวิทยาลัยหนึ่งโทรศัพท์มาสัมภาษณ์เรื่องการพิมพ์คำ "คะ" "ค่ะ" ผิดๆ ในโซเชียลมีเดียและการส่งข้อความต่างๆ บอกว่าจะเอาไปลงวารสารของคณะเธอ เธอถามว่าการใช้คำผิดแบบนี้มีนัยทางสังคมอย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อคืนวาน (30 กันยายน 2560) นักศึกษาปริญญาโทชั้นเรียนมานุษยวิยาคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้เขียนบทละครเรื่อง "The Dark Fairy Tales นิทานเรื่องนี้ไม่เคยเล่า" ชวนไปดูและร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นหลังละครจบ ช่วยให้คิดอะไรเกี่ยวกับการอ่านนิทานได้อีกมากทีเดียวจึงอยากบันทึกไว้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การสนทนาอย่างออกรสไม่ได้จะต้องอยู่ในบรรยากาศเคร่งขรึมในห้องเรียน ห้องสัมมนาเสมอไป ด้วยเหตุนี้ผมจึงเชื่อว่า การใช้เวลานอกห้องเรียน นอกห้องสัมมนาวิชาการ สำคัญไม่น้อยไปกว่าการใช้เวลาในห้องสี่เหลี่ยมที่มีระเบียบต่างๆ ควบคุมการสนทนาอย่างเคร่งครัดเกินไป
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จากเหตุการณ์เข้ามาคุกคามพื้นที่ทางวิชาการของคณะทหารในการประชุมไทยศึกษานานาชาติครั้งที่ 13 ที่เชียงใหม่ จนทำให้นักวิชาการที่มาร่วมประชุมกลุ่มหนึ่งแสดงออกด้วยการชูป้าย "เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร" แล้วท้ายสุดมีนักวิชาการ 5 คนถูกตั้งข้อหาว่าเป็นคนนอกเข้ามายุยงให้ต่อต้านรัฐบาล
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันแม่นำความกระอักกระอ่วนใจมาให้ผมตั้งแต่ยังเด็ก เพราะแม่ในเพลง "ค่าน้ำนม" ที่เด็กในกรุงเทพฯ รุ่นผมถูกให้หัดร้องตามจนแทบจะจำเนื้อได้ทั้งเพลงมาตั้งแต่จำความได้ ไม่ตรงกับแม่ในชีวิตจริงของผม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะอาจารย์มหาวิทยาลัยคนหนึ่ง ผมไม่อาจยอมรับการกระทำของอาจารย์ต่อนิสิตด้วยความรุนแรงดังที่เกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยอันทรงเกียรติแห่งหนึ่งได้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้เกิดความผิดพลาดบางอย่างทำให้บทแนะนำอาจารย์แคทเธอรีน บาววี องค์ปาฐกคนหนึ่งของงานประชุมไทยศึกษาปีนี้ที่จังหวัดเชียงใหม่ ไม่ได้ถูกนำเสนอในงานประชุม ในเมื่อผมเตรียมไปพูดแล้วแต่ไม่ได้พูด ก็ขอนำบันทึกที่ร่างไว้นี้มาเผยแพร่ในที่นี้แทนก็แล้วกัน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"ฟ้าข้างในนี้กว้างกว่าข้างนอก ฟ้าในนี้กว้างจนแทบจะเห็นขอบฟ้า"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงนี้คงเป็นช่วงเขียนรายงาน เขียนวิทยานิพนธ์ของหลายๆ คน ผมเองช่วงนี้เป็นช่วงต้องอ่านงานนักศึกษามากมาย ที่สาหัสที่สุดคืองานวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาปริญญาโทและเอก 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมอ่านงานจิตรครั้งแรกๆ ก็ตอนที่เรียนมหาวิทยาลัยระดับปริญญาตรี ตอนนั้นเมื่อออกจากโลกโรงเรียนก็รู้สึกว่า โลกหนังสือของห้องสมุดธรรมศาสตร์ช่างกว้างใหญ่มาก กว้างใหญ่กว่าห้องสมุดแห่งชาติที่สมัยเรียนมัธยมผมชอบไปสิงอยู่มากนัก นี่กล่าวเฉพาะหนังสือที่น่าอ่านเกี่ยวกับสังคม วัฒนธรรม ปรัชญา และศาสนา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (3 พค. 60) ผมไปวิจารณ์งานนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยซึ่งคณะราษฎรมีส่วนก่อตั้งเช่นกัน แต่สำคัญผิดกันไปว่าผู้อื่นมีบุญคุณมากกว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บางทีนามสกุลกับบทบาทความเป็นครูของครูฉลบชลัยย์ พลางกูร คงไม่ทำให้คนสนใจครูฉลบเกินบทบาทไปกว่าการเป็นภรรยาของนายจำกัด พลางกูร และเป็นผู้ให้กำเนิดโรงเรียนดรุโณทยาน