ช่วงนี้คงเป็นช่วงเขียนรายงาน เขียนวิทยานิพนธ์ของหลายๆ คน ผมเองช่วงนี้เป็นช่วงต้องอ่านงานนักศึกษามากมาย ที่สาหัสที่สุดคืองานวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาปริญญาโทและเอก
หากใครยังไม่ได้เห็นคำแนะนำในการเขียนงานของผม ผมเขียนแนวทางเบื้องต้นในการเขียนงานวิชาการไว้ที่นี่ https://blogazine.pub/blogs/yukti-mukdawijitra/post/5561
แต่เพียงแค่นั้นก็ยังไม่ทำให้งานเป็นงานขึ้นมาได้ งานเขียนมีระดับความลึกของมันอีกหลายชั้น ชั้นแรกเลยคือคำถามที่สังคมวิชาการ (ที่แคบที่สุดในระยะเริ่มต้นคือกรรมการวิทยานิพนธ์หรือ reviewers งานวิจัย จากนั้นก็ไปสู่แวดวงที่กว้างขึ้นอีกมาก) เขาจะถามคว่า งานชิ้นนี้มีข้อเสนออะไร อะไรคือ thesis ของงาน นั่นคือคุณต้องวิเคราะห์ หรือตีความ หรืออธิบายข้อมูลรายละเอียดของปรากฏการณ์ที่คุณศึกษา
นี่เป็นเรื่องที่ฟังดูง่ายๆ เป็นเรื่องที่เหมือนที่รู้ๆ กันอยู่ แต่ทำได้ยากมาก
ในขั้นเริ่มแรกที่สุด ตั้งแต่ที่คุณเสนอว่าจะศึกษาเรื่องนี้ จะเสนอแนวการวิเคราะห์แบบนี้ เขาจะตรวจสอบแต่แรกว่า ข้อเสนอคุณมีคุณูปการอะไรต่อวงวิชาการด้านที่เกี่ยวข้องกับคุณหรือไม่ มีแค่ไหน สมควรทำแค่ไหน แล้วเขาต้องประเมินก่อนว่าข้อเสนอนั้นมีความเป็นไปได้ที่จะทำแค่ไหน คุณจะทำมันได้จริงไหม
เมื่อคุณมีข้อเสนอ งานมีคุณูปการต่อวงวิชาการ และมีความเป็นไปได้ที่จะทำ เขาจึงให้คุณทำวิจัย
แล้วเมื่อคุณเขียนงานมาส่ง แวดวงวิชาการเขาจึงจะตรวจสอบว่า ข้อเสนอคุณนั้น "ยกเมฆ" มาหรือเปล่า "นั่งเทียน" มาหรือเปล่า คือมีหลักฐาน ข้อมูล รายละเอียดของปรากฏการณ์ที่นำไปสู่ข้อสรุปนั้นได้แค่ไหน จริงหรือเปล่า เพียงพอไหม คุณสรุปมากเกินไปหรือเปล่า คุณวิเคราะห์น้อยเกินไปหรือเปล่า หรือคุณยังไม่ได้วิเคราะห์อะไรเลยหรือเปล่า
อยากจะบอกนักศึกษาว่า วิทยานิพนธ์ไม่ใช่รายงานการสำรวจแร่ในถ้ำ ที่พอพวกเขาไปเจอมาแล้วเห็นว่าในถ้ำมีแร่มีหินอะไรก็เล่าๆๆๆ มา ต่อให้เป็นนักธรณีวิทยา แค่ทำอย่างนั้นเขาก็คงไม่ให้ปริญญาหรอก ดังนั้นใครก็ตาม เขียนงานอะไรก็ตาม จงถามตัวเองตลอดเวลาขณะเขียนว่า จะเขียนไปเพื่ออะไร จะเล่าไปทำไม เล่าแล้วได้สาระอะไรขึ้นมา ทำไมคนอ่านต้องอ่านสิ่งที่เล่ามาด้วย
การให้การศึกษาระดับสูงนี่เหนื่อยจริงๆ บางครั้งแทบจะต้องจับมือนักศึกษาเขียน แต่ถ้าทำอย่างนั้นแล้ว เมื่อเขาจบปริญยาเอก ปริญญาโทไป ซึ่งนักศึกษาส่วนใหญ่ของผมเขาก็จะไปสอนหนังสือ เขาจะไปสอนใครได้ เขาจะไปเริ่มทำวิจัยเองได้อย่างไร แล้วผมจะนับถือเขาว่าเป็นนักวิชาการเช่นกันได้อย่างไร
ปัญหาพวกนี้มันคงเริ่มมาจากการที่นักศึกษาในระบบการศึกษาไทยอ่านหนังสือดีๆ น้อย ไม่ได้ถูกสอนวิธีการอ่านจึงอ่านหนังสือไม่ละเอียด ลำพังอ่านแค่จับใจความไม่พอ ต้องอ่านให้ได้ว่าหนังสือเขาประกอบเรื่องราวขึ้นมาอย่างไร คนเขียนเขาทำข้อเสนอให้เป็นประเด็นขึ้นมาได้อย่างไร
แต่แค่นั้นก็ยังไม่พอ ยิ่งการอ่านในระดับอุดมศึกษา ถ้าอ่านกันจริงๆ ต้องตั้งคำถามให้ได้ว่า ด้วยข้อมูลเดียวกันกับที่หนังสือให้มานั้น จะวิเคราะห์ตีความอย่างอื่นได้ไหม แล้วมีข้อมูลอื่นที่จะทำให้สามารถตีความเป็นอย่างอื่นได้อีกไหม หรือมีแนวการวิเคราะห์อื่นที่จะช่วยให้ได้ข้อเสนอ ข้อสรุป ที่แตกต่างจากการวิเคราะห์ข้อมูลตามวิธีที่หนังสือนั้นเสนอหรือไม่
งานให้การศึกษาในระดับสูง ไม่ว่าจะเป็นวิทยานิพนธ์หรืองานวิจัย เป็นงานที่เหนื่อยมาก บางทีอ่านงานนักศึกษาหรืองานนักวิจัยแล้วท้อแท้มาก แต่ผมพยายามข่มอารมณ์ พยายามคิดถึงตัวเองตอนเริ่มทำงานวิชาการ แล้วคิดว่าเหนื่อยแค่ไหนก็ต้องทำ เพราะหากไม่ทำก็เท่ากับละทิ้งหน้าที่การทำงานวิชาการ
บางทีคิดว่า ตัวเองทำงานก่ออิฐโบกปูน จะมาบ่นว่าทำไมอิฐมันไม่รู้จักเรียงตัวกันขึ้นไปเองบ้าง ทำไมปูนมันไม่เกาะอิฐเองสักที ก็คงไม่ได้ เพียงแต่นี่เป็นงานสร้างคน จึงยังหวังว่าสักวันคนที่เรียนจะก่ออิฐ โบกปูนเองได้บ้าง แต่เมื่อยังไม่ถึงวันนั้น ก็สอนเขาก่ออิฐโบกปูนไปเรือยๆ อย่างนี้แหละ