Skip to main content

เมื่อวาน (4 ตุลาคม 2560) นิสิตมหาวิทยาลัยหนึ่งโทรศัพท์มาสัมภาษณ์เรื่องการพิมพ์คำ "คะ" "ค่ะ" ผิดๆ ในโซเชียลมีเดียและการส่งข้อความต่างๆ บอกว่าจะเอาไปลงวารสารของคณะเธอ เธอถามว่าการใช้คำผิดแบบนี้มีนัยทางสังคมอย่างไรจากบทสนทนา ผมจับได้ว่าเธอคงคาดหวังให้ผมตอบอะไรประเภทที่ว่า สังคมควรช่วยกันตรวจสอบการสะกดผิด และคนใช้ภาษาควรใช้ภาษาให้ถูกต้องไม่วิบัติ แต่ผมกลับตอบไปตรงกันข้าม จนทำให้ผมต้องบอกเธอว่า "นี่เป็นความเห็นของผม คุณจะไม่เอาไปพิมพ์ในวารสารของคุณก็ได้นะ"

ผมตอบว่า หนึ่ง สังคมคาดหวังกับเรื่องนี้มากเกินไป การพิมพ์ผิดไม่ได้มีแต่การพิมพ์คะ ค่ะ แต่คำง่ายๆ อื่นๆ อย่าง "เพิ่ง" ก็พิมพ์เป็น "พึ่ง" หรือแม้แต่ผมเอง บางทีก็เขียน "มั้ย" เป็น "ไม๊" ซึ่งผิดหลักการเขียนภาษาไทย แต่คนก็พิมพ์ผิดกันเป็นประจำอยู่แล้ว

ผมว่าที่เป็นอย่างนี้เพราะมันเป็นการใช้ภาษาอย่างไม่เป็นทางการ ภาษาที่ไม่เป็นทางการ ทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน มันไม่จำเป็นต้องถูกต้องตรงตามหลักอะไรชัดเจนหรอก ผมถามนิสิตคนนั้นดูว่า "คุณคิดว่าถ้าในระหว่างที่มีการสนทนากัน แล้วใครมาคอยบอกคุณทุกคำควบกล้ำและการออกเสียง "ร" ว่าต้องออกเสียงให้ชัดทุกคำ คุณจะอยากคุยกับเขามั้ย" แล้วผมถามอีกว่า "คุณพิมพ์ "การันต์" ทุกตัว ทุกคำ ในการเขียนบทสนทนากับเพื่อนคุณเหรอ"

ความคาดหวังนี้ ผมว่ามาจากการที่สังคมเรามีสำนึกอำนาจนิยมในการใช้ภาษา ต้องการสร้างความมาตรฐานของภาษาแล้วเอามาตรฐานนั้น ที่กำหนดโดยคนบางกลุ่ม ในกรุงเทพฯ ไปครอบคนใช้ภาษาปากทั่วๆ ไป และคนใช้ภาษาถิ่นอื่นๆ

อีกประเด็น ผมว่าการแยกคำว่า "คะ" กับ "ค่ะ" เป็นภาระของผู้หญิงมากเกินไป ทำไมผู้ชายไม่ใช้ "ครับ" "ขรั่บ" บ้างล่ะ ออกเสียงให้ต่างกันและเขียนให้ต่างกันในการถามและตอบรับบ้างสิ ผมว่ามันเป็นภาระของผู้หญิงที่จะต้องทำเสียงให้แตกต่างออกไป ส่วนผู้ชายสบายกว่า ไม่ว่าจะออกเสียงอย่างไร ก็เขียนแบบเดียวพอ อันนี้เป็นอุดมการณ์เพศที่แบ่งแยกหญิง-ชายในภาษา แยกเพศแบบมีแค่คู่หญิง-ชายเท่านั้นยังไม่พอ ยังไปคาดคั้นให้ผู้หญิงมีความลำบากในการใช้ภาษามากกว่าอีก

ประเด็นสุดท้าย ผมถามเธอว่า "แล้วคุณคิดว่าทำไม "ไ" กับ "ใ" ถึงเขียนไม่เหมือนกัน" เธอตอบว่า "คงเพราะเป็นเอกลัษณ์ของภาษาไทย" ผมบอก ถ้าตอบแค่นั้นมันไม่พอ คุณต้องลองค้นคว้าดูแล้วจะพบว่า "ไ" กับ "ใ" เดิมทีมันออกเสียงไม่เหมือนกัน แล้วคุณจะไปบอกว่าปู่ย่าตาทวดคุณทำไมไม่อนุรักษ์ภาษาไทย ทำไมทำลายภาษาไทย ไม่คงความแตกต่างของเสียงไว้แล้วมาทำให้คนรุ่นหลังสับสนทำไม อย่างนั้นหรือ

เธอถามผมว่า "แล้วอาจารย์คิดว่าเราไม่ต้องทำอะไรเหรอคะ" ผมตอบว่า "ตราบใดที่มันเป็นการเขียนแบบไม่เป็นทางการ ก็ไม่เห็นต้องทำอะไรเลย ถ้าในการเขียนแบบเป็นทางการ ค่อยว่ากัน มันแค่เป็นคนละบริบทการใช้ภาษากัน ก็ใช้ภาษาไม่เหมือนกัน เท่านั้นเอง"

ภาษาเปลี่ยนแปลงตลอด เราไม่ได้พูดแบบเดียวกันกับที่คนเมื่อร้อย สองร้อยปีที่แล้วพูดหรอก เราไม่ได้เขียนแบบเดียวกับที่คนเมื่อก่อนเขียนเหมือนกันหรอก อย่าไปใช้อำนาจนิยมภาษากับอุดมการณ์ความเป็นเพศแบบตายตัวกำหนดอะไรในภาษาให้มากนักเลย ไม่ต้องคาดคั้นให้คนใช้ภาษาแบบเดียวตลอดเวลาหรอก สังคมไทยมันไม่ล่มสลายเพราะภาษาเปลี่ยนไปทุกวันหรอก

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปาฐกถาในเวทีเสวนา “50 ปี 14 ตุลาฯ ยังตามหารัฐธรรมนูญใหม่” จัดโดยสมัชชาคนจน วันที่ 14 ตุลาคม 2566
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อ 24 กค. 65 ผู้จัดการแสดง #ฮิญาบ2022  ชวนผมไปดูการแสดงของคุณฟารีดา จิราพันธ์ ที่กาลิเลโอเอซิส แล้วผู้จัดจะชวนผมสนทนาหลังละคร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะเพื่อนร่วมวิชาชีพวิชาการ ในฐานะผู้ปกครองนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ และในฐานะคนรักศิลปะ ผมเขียนจดหมายนี้เพื่อตั้งคำถามต่อการที่ผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์จะตรวจสอบผลงานก่อการอนุญาตให้จัดแสดงผลงานของนักศึกษาภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นคนพูดถึงตัวละครในซีรีย์เกาหลีเอ่ยถึงจอร์จ บาไตล์ ในรูปนั่นน่ะครับ เป็นคอลเล็กชันจอร์จ บาไตล์บนชั้นหนังสือผมแบบเบาๆ ผมเก็บไว้ร่วม 20 ปีแล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายคนคงรู้ว่าวันนี้เป็นวันชาติเวียดนาม แต่น้อยคนคงรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในวันนี้กันแน่ แล้ววันนี้ในอดีตถูกกำหนดเป็นวันขาติจากเหตุการณ์ปีใด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จนถึงวันนี้ การต่อสู้ของประชาชนในขบวนการ “คณะราษฎร 63” ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า พลังของแสงดาวได้สร้างสรรค์สังคมไทยอย่างไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การที่อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาได้ออกมาแสดงความเห็นว่ามีการสร้างกระแสกดดันศาลต่างๆ นานา (ดู https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/2081366) มองในแง่ดี ผมคิดว่านี่คือการออกมาอธิบายกับสังคมอีกครั้งของผู้มีอำนาจในกระบวนการยุติธรรมอย่างชัดแจ้ง หลังจากที่มีการชี้แจงถึงเหตุผลการไม่ปล่อยตัวผู้ต้องหาคดีการเมืองโดยโฆษกศาลและโฆษกกระทรวงยุติธรรมก่อนหน้านี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อะไรที่ทำให้ดนตรีมีสถานะในการทำร้ายกันได้บ้าง ผมว่าอย่างน้อยที่สุดต้องเข้าใจก่อนว่า ดนตรีไม่ใช่แค่เสียง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
พอดีนั่งฟังเพื่อนนักวิชาการอ่านหนังสือ "กบฏชาวนา" ของรานาจิต คูฮา (1982) มาคุยให้ฟัง (แปลโดย ปรีดี หงษ์สต้น) ในเพจของสำนักพิมพ์ Illumination Editions เลยคิดถึงบันทึกที่เคยเขียนถึงหนังสือของ ดิเพช จักรบาร์ตี เรื่อง Provincializing Europe (2000)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรื่อง ถามถึงมโนธรรมสำนึกในความเป็นครูบาอาจารย์ของอาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทัศนะล่าสุดของอาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ต่อการชุมนุม 16 ตค. 63 ย้อนแย้งกับสมัยที่อาจารย์ให้ความเห็นต่อการชุมนุม กปปส. ในขณะนั้นอาจารย์อธิบายยืดยาวว่าการชุมนุมของ กปปส. ใช้สันติวิธี
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอให้อาจารย์หยุดใช้ถ้อยคำสร้างความเกลียดชังในสังคม