Skip to main content

ปิดเทอมนี้อดพานักอ่านตัวยงคนหนึ่งที่บ้านไปงานสัปดาห์หนังสือ เพราะเธอขาแพลง เจ็บถึงขั้นเข้าเฝือกและใช้ไม้เท้าเดิน เธอบอก "เอาไว้มีงานอีกครั้งลุงต้องพาหนูไปนะ" วันนี้ก็เลยขอเขียนอวยนักเขียนสักหน่อย (คนเราไม่ต้องคอยหาทางวิจารณ์ข้อด้อยคนอื่นกันทุกเมื่อเชื่อวันก็คงสามารถจรรโลงสังคมให้น่าอยู่ได้เช่นกันกระมังครับ)

ค่ำวันหนึ่งผมมีโอกาสได้นั่งสนทนากับเพื่อนนักเขียนคนหนึ่ง ผมบังอาจเปรียบตัวเองเป็นนักบวช ที่ต้องกินอยู่แบบสมถะ แต่พอพูดออกไปต่อหน้านักเขียนแล้วก็เกิดละอายแก่ใจขึ้นมา เพราะถึงผมจะได้เงินเดือนไม่กี่สตางค์จากการสอนหนังสือและทำวิจัยก็จริง แต่อย่างน้อยที่สุดผมก็มีเงินเดือนรัฐกิน มีสวัสดิการของรัฐเป็นหลักประกัน

แต่ประเทศนี้มีใครสักกี่คนกันที่ได้เงินเดือนและสวัสดิการรัฐจากการเขียนหนังสือเป็นอาชีพ บางคนที่ได้มาก็ไม่ได้ดีเด่นไปกว่าคนที่ไม่ได้สิทธิพิเศษนั้นอีกตั้งมากมาย ถ้าอาชีพสอนหนังสือไส้แห้ง ไส้นักเขียนมิยิ่งหดหายไปจนเหลือแต่ผนังหน้าท้องที่แบนติดกระดูกสันหลังกันเชียวหรอกหรือ 

หรือถ้านักเขียนไม่มีครอบครัวค้ำจุน แล้วจะมี "a room of one's own" ไว้ให้นั่งอ่านเขียนคิดค้นคว้าอะไรของตนเองได้อย่างไร แถมบางคนยังเป็นนักเดินทาง ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรกันนักกับการทำวิจัย จะมีทุนที่ไหนให้กับการวิจัยแบบนักเขียนบ้างเล่า ถ้ามี ก็จะมีใครกันสักกี่คนที่ได้ จะมีให้นักเขียนหน้าใหม่บ้างหรอกหรือ (หรือว่ามีทุนแบบนั้นจริง แต่ผมไม่ทราบเอง)

ดังนั้น นักเขียนต่างหากที่ควรจะเรียกได้ว่าเป็น "นักบวช" แห่งยุคของการอ่านและเขียนในสมัยทุนนิยมของการพิมพ์ (ถึงใครจะหาว่าผมชอบใช้ศัพท์ล้นๆ แบบไร้ตรรก ผมก็จะใช้ แต่นี่ก็ไม่ใช่ที่ที่จะมาอธิบายอะไรยืดยาว อย่างน้อย "เพื่อนๆ" ผมคงเข้าใจสถานะของข้อเขียนนี้ดี)

แต่อาชีพนักเขียนก็คงมีมนต์เสน่ห์ประหลาด และคงก็จะไม่มีอะไรบ่มเพาะการเป็นนักเขียนได้ดีไปกว่าการเป็นนักอ่านมาก่อน ตัวอย่างหนึ่งคือนักอ่านตัวยงที่พลาดงานสัปดาห์หนังสือคราวนี้คนหนึ่งนั่นแหละ 

"มาวมาว" เธออ่านหนังสือที่มีแต่ตัวหนังสือตั้งแต่อายุ 8-9 ขวบ แต่วันนี้มาวฯ อายุสิบเอ็ดปี ถ้าเธอว่างเธอจะอ่านหนังสือนิยายผจญภัย นิยายแฟนตาซีตลกๆ ได้วันละสองเล่มสบายๆ นอกจากนิยาย เธอเปลี่ยนจากการอ่านเรื่องราวเทพปกรณัมฮินดูและเรื่องไดโนเสาร์เมื่อสองปีก่อน มาสู่เทพปกรณัมกรีก-โรมันและฟิสิคส์สำหรับเด็กในปีนี้ 

เวลาไปงานสัปดาห์หนังสือ มาวฯ เดินแทบทุกซอกซอย เธอจะเลือกซื้อหนังสือเองด้วยเงินของย่าหรือพ่อแม่เธอ เวลาลุงกับป้าเลือกหนังสือให้ มาวฯ บอก "ก็ได้ แต่หนูไม่ออกเงินหนูนะ แล้วหนูจะช่วยอ่านเล่มที่ลุงกับป้าซื้อให้" แล้วเธอก็ "ช่วยอ่าน" มันจบอย่างรวดเร็ว 

มีวันหนึ่ง มาวฯ เอาบันทึกมาให้ป้าอ่าน มาวฯ เขียนตอนหนึ่งว่า 

"เด็กทุกคนล้วนมีความฝัน ต่างคนต่างไปพบเจออะไรมากมาย และบางอย่างอาจจะกลายเป็นแรงบันดาลใจของคนคนนั้นไป.. 

"ฉันใฝ่ฝันว่าอยากเป็นนักเขียนตั้งแต่อายุ10 ขวบ ผ่านมาหนึ่งปีแล้วฉันยังรักษาความฝันนั้นอยู่ ฉันเริ่มต้นเขียน แต่ก็ยังไม่เคยได้ให้ใครอ่านสักที ด้วยความเป็นคนที่ไม่ค่อยกล้านัก ทำให้ไม่มีใครเคยอ่านเลยสักครั้ง แต่จะเล่าให้เพื่อนฟังแทน และทุกครั้งที่่เล่าก็ไม่สามารถเขียนหรือบรรยายออกมาได้ จนเหมือนกับว่าฉันไม่สามารถทำทั้งสองสิ่งนั้นได้เลย.. 

"สิ่งหนึ่งที่ฉันไม่แน่ใจว่ามันจะใช่แรงบันดาลใจหรือเปล่า สำหรับคนอื่นอาจจะเป็นเรื่องราวที่ผ่านมาและผ่านไปเท่านั้น นั่นก็คือเรื่องที่คนในครอบครัวพูดคุยกัน.. 

"ฉันไม่แน่ใจว่างานเขียนของฉันสนุกหรือเปล่า แต่ฉันรู้เสมอว่างานทุกงานฉันใช้ความรู้สึกเขียน" (คัดจากสเตตัสของ Kusra Mukdawijitra

ทุกวันนี้มาวฯ เปิด weblog ส่วนตัว เธอเริ่มต้นเขียนนิยายไปพร้อมๆ กับเล่นเฟซบุก 

ในทัศนะผม อย่างเลวที่สุด การอ่านก็ทำให้นักอ่านกลายเป็นนักเล่าหนังสือหน้าชั้นเรียนแบบผม แต่อย่างดีที่สุด การอ่านก็จะสร้างนักเขียนขึ้นมาอีกอย่างน้อยหนึ่งคนแบบมาวมาว

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
รัฐประหารครั้งนี้มีอะไรใหม่ๆ หลายอย่าง ผมไม่เรียกว่าเป็นนวัตกรรมหรอก เพราะนวัตกรรมเป็นคำเชิงบวก แต่ผมเรียกว่าเป็นนวัตหายนะ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในภาคการศึกษาที่ผ่านมา ผมสอนหนังสืออยู่ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน เนื่องจากเป็นการสอนชั่วคราว จึงรับผิดชอบสอนเพียงวิชาเดียว แต่ผมก็เป็นเจ้าของวิชาอย่างเต็มตัว จึงได้เรียนรู้กระบวนการจัดการเรียนการสอนที่นี่เต็มที่ตลอดกระบวนการ มีหลายอย่างที่น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับการพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษาในประเทศไทย จึงอยากบันทึกไว้ ณ ที่นี้ ให้ผู้อ่านชาวไทยได้ทราบกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (เวลาในประเทศไทย) เป็นวันเด็กในประเทศไทย ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา ผมเดินทางไปดูกิจกรรมต่างๆ ในประเทศซึ่งผมพำนักอยู่ขณะนี้จัดด้วยความมุ่งหวังให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ แล้วก็ให้รู้สึกสะท้อนใจแล้วสงสัยว่า เด็กไทยเติบโตมากับอะไร คุณค่าอะไรที่เราสอนกัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สิ้นปีเก่าขึ้นปีใหม่ปีนี้ไม่ค่อยชวนให้ผมรู้สึกอะไรมากนัก ความหดหู่จากเหตุการณ์เมื่อกลางปีที่แล้วยังคงเกาะกุมจิตใจ ยิ่งมองย้อนกลับไปก็ยิ่งยังความโกรธขึ้งและสิ้นหวังมากขึ้นไปอีก คงมีแต่การพบปะผู้คนนั่นแหละที่ชวนให้รู้สึกพิเศษ วันสิ้นปีก็คงจะดีอย่างนี้นี่เอง ที่จะได้เจอะเจอคนที่ไม่ได้เจอกันนานๆ สักครั้งหนึ่ง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเพิ่งกลับจากชิคาโก เดินทางไปสำรวจพิพิธภัณฑ์กับแขกผู้ใหญ่จากเมืองไทย ท่านมีหน้าที่จัดการด้านพิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ก็เลยพลอยได้เห็นพิพิธภัณฑ์จากมุมมองของคนจัดพิพิธภัณฑ์ คือเกินเลยไปจากการอ่านเอาเรื่อง แต่อ่านเอากระบวนการจัดทำพิพิธภัณฑ์ด้วย แต่ส่วนตัวผมเองก็ไม่ได้อะไรมากนักหรอก แค่ติดตามเขาไปแล้วก็เรียนรู้เท่าที่จะได้มามากบ้างน้อยบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวันส่งท้ายปีเก่าพาแขกชาวไทยคนหนึ่งไปเยี่ยมชมภาควิชามานุษยวิทยาของมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ก็เลยทำให้ได้รู้จักอีก 2 ส่วนของภาควิชามานุษยวิทยาที่นี่ว่ามีความจริงจังลึกซึ้งขนาดไหน ทั้งๆ ที่ก็ได้เคยเรียนที่นี่มา และได้กลับมาสอนหนังสือที่นี่ แต่ก็ไม่เคยรู้จักที่นี่มากเท่าวันนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วาทกรรม "ประชาธิปไตยแบบไทย" ถูกนำกลับมาใช้เสมอๆ เพื่อลดทอนความน่าเชื่อถือของแนวคิดประชาธิปไตยสากล 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นข่าวงาน "นิธิ 20 ปีให้หลัง" ที่ "มติชน" แล้วก็น่ายินดีในหลายสถานด้วยกัน  อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์มีคนรักใคร่นับถือมากมาย จึงมีแขกเหรื่อในวงการนักเขียน นักวิชาการ ไปร่วมงานเป็นจำนวนมาก เรียกว่ากองทัพปัญญาชนต่างตบเท้าไปร่วมงานนี้กันเลยทีเดียว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (12 ธค. 2557) ปิดภาคการศึกษาแล้ว เหลือรออ่านบทนิพนธ์ทางมานุษยวิทยาภาษาของนักศึกษา ที่ผมให้ทำแทนการสอบปลายภาค เมื่อเหลือเวลาอีก 15 นาทีสุดท้าย ตามธรรมเนียมส่วนตัวของผมแล้ว ในวันปิดสุดท้ายของการเรียน ผมมักถามนักศึกษาว่าพวกเขาได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ที่ไม่ได้เคยเรียนมาก่อนจากวิชานี้บ้าง นักศึกษาทั้ง 10 คนมีคำตอบต่างๆ กันดังนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเพิ่งมีโอกาสได้ดูภาพยนตร์ (ขอเรียกง่ายๆ ว่า "หนัง" ก็แล้วกันครับ) เรื่องที่เป็นประเด็นใหญ่เมื่อ 2-3 วันก่อน ที่จริงก็ถ้าไม่มีเพื่อนๆ ถกเถียงกันมากมายถึงฉากเด็กวาดรูปฮิตเลอร์ ผมก็คงไม่อยากดูหรอก แต่เมื่อดูแล้วก็คิดว่า หนังเรื่องนี้สะท้อนความล้มเหลวของการรัฐประหารครั้งนี้ได้อย่างดี มากกว่านั้นคือ สะท้อนความลังเล สับสน และสับปลับของสังคมไทยได้เป็นอย่างดี
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมเป็นคนหนึ่งที่ยืนยันแม้จะไม่ถึงกับต่อต้านมาตลอดว่า เราไม่ควรเปิดโครงการนานาชาติในประเทศไทย ด้วยเหตุผลสำคัญ 2-3 ประการ หนึ่ง อยากให้ภาษาไทยพัฒนาไปตามพัฒนาการของความรู้สากล สอง คิดว่านักศึกษาไทยจะเป็นผู้เรียนเสียส่วนใหญ่และจึงจะทำให้ได้นักเรียนที่ภาษาไม่ดีพอ การศึกษาก็จะแย่ตามไปด้วย สาม อาจารย์ผู้สอน (รวมทั้งผมเอง) ก็ไม่ได้ภาษาอังกฤษดีมากนัก การเรียนการสอนก็จะยิ่งตะกุกตะกัก
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายปีที่ผ่านมา สังคมปรามาสว่านักศึกษาเอาใจใส่แต่ตัวเอง ถ้าไม่สนใจเฉพาะเสื้อผ้าหน้าผม คอสเพล มังหงะ กับกระทู้ 18+ ก็เอาแต่จมดิ่งกับการทำความเข้าใจตนเอง ประเด็นอัตลักษณ์ บริโภคนิยม เพศภาวะ เพศวิถี เกลื่อนกระดานสนทนาที่ซีเรียสจริงจังเต็มไปหมด