Skip to main content

ผมไปสังขละบุรีกี่ครั้งต่อกี่ครั้งก็จำไม่ได้แล้ว ราวกับว่าเป็นนักท่องเที่ยวคนฉกาจ แต่ความจริงไม่ใช่อย่างนั้นหรอก ส่วนหนึ่งที่ได้ไปบ้างก็เพราะน้าของแฟนมีบ้านหลังที่สองอยู่ที่ทองผาภูมิ เมื่อก่อนได้ไปบ้างเป็นครั้งเป็นคราว บางคราวได้ไปนั่งเขียนหนังสืออยู่ที่นั่นต่อเนื่องนานๆ เลยทีเดียว

เมื่อต้องสอนวิชาหนึ่งให้นักศึกษานานาชาติเกี่ยวกับเรื่องกลุ่มชาติพันธ์ุ (ภาษาทั่วไปเรียกชนเผ่า แต่คำนี้ล้าสมัยแล้ว ขอไม่อธิบายในที่นี้) ผมก็อาศัยความรู้จักเส้นทางและพื้นที่อยู่บ้าง พานักศึกษามาชิมลาง มีประสบการณ์ตรงกับชีวิตผู้คน ผมเลือกสังขละบุรีด้วยเหตุผลดังกล่าว

ปีนี้จัดทริปลักษณะนี้นับเป็นครั้งที่ 3 ปีที่แล้วอดไป เพราะน้ำท่วม ระหว่างทางเส้นนี้มีจุดน่าสนใจหยุดพักและเรียนรู้ได้มากมาย แต่ก็ต้องตัดออกหลายที่ ปกติผมจัดแค่สามวัน ซึ่งน้อยไป เพราะลำพังรถวิ่ง กว่าจะออกจากท่าพระจันทร์ไปถึงสังขละบุรีก็ร่วม 5 ชั่วโมงแล้ว

แต่ละครั้งที่ไปได้ประสบการณ์ ได้รู้เห็น ได้พบผู้คนแปลกใหม่เสมอ ครั้งแรกที่จัดทริปเส้นทางนี้ ได้พบอีกซีกหนึ่งของชุมชนวัดวังวิเวการามที่ไม่ค่อยมีคนสนใจ มีครั้งหนึ่งได้ร่วมการฉลองกระทงในคืนก่อนวันลอยกระทงกับชาวบ้าน อีกครั้งหนึ่งได้พบคนจัดกิจกรรมการสอนภาษาสองภาษาในหมู่บ้าน ครั้งหนึ่งได้พบครูสอนนาฏศิลป์มอญเดินทางจากพม่ามาสอนวัยรุ่นที่สังขละบุรี อีกครั้งหนึ่งได้พบอดีตผู้ร่วมขบวนการปลดปล่อยมอญ ในครั้งนี้ก็ได้พบอะไรแปลกใหม่เช่นกัน

คนไปเที่ยวสังขละบุรีโดยมากก็จะนึกถึงกิจกรรมและสถานที่อยู่ไม่กี่แห่ง เช่น สะพานไม้ วัดหลวงพ่ออุตตมะ เจดีย์พุทธคยาจำลอง กิจกรรมตักบาตรพระมอญ แล้วไปช้อปปิ้งที่ด่านเจดีย์สามองค์ แล้วก็กินปลาแรดทอด ปลาคังลวก ทอดมันปลากราย ปลาเหล่านี้มาจากน้ำเหนือเขื่อนเขาแหลม

แต่ใครจะรู้หรืออยากรู้บ้างว่า ทำไมจึงมีสะพานไม้ ใครเป็นคนสร้าง ทำไมชาวมอญจึงมาอยู่ที่นี่ เขาอยู่กันอย่างไร ทำมาหากินอะไร ทำไมเขาจึงเรียกสองฝั่งของสะพานไม้ว่าฝั่งไทยกับฝั่งมอญ ใครเคยเดินเข้าไปในวัดบ้าง ใครเคยเดินขึ้นบันไดที่ชาวบ้านใช้เดินขึ้นไปถวายของพระบ้าง ทำไมวัดวังวิเวการามจึงใหญ่โตมโหฬาร ใครเคยรู้บ้างว่าที่ดินใน “ฝั่งมอญ” เป็นของวัดทั้งหมด แล้ววัดเก็บค่าเช่าหรือไม่

มีใครคุยกับคนมอญบ้าง คนมอญที่ไม่ใช่แม่ค้าน่ะ คนมอญต่างจากคนพม่าอย่างไร ใครเดินไปที่ตลาดของคนมอญเองบ้าง มีอะไรขายบ้าง ใครเคยขึ้นเรือนคนมอญบ้าง เรือนมอญต่างจากเรือนไทยอย่างไร คนมอญนับถือศาสนาอะไร ทำไมจึงมีรูปในหลวงติดบ้านพร้อมๆ กับเจดีย์ชเวดากองเต็มไปหมด บางเรือนมีรูปทหารมอญ เขาเป็นใคร

รู้ไหมว่าคนที่นี่ได้สิทธิ์พลเมืองเท่าคนไทยหรือไม่ มีสักกี่คนที่ได้สิทธิ์นั้น ทำไมเกิดชุมชนมอญวัดวังฯ มีชนชั้นในชุมชนนี้หรือไม่ ยังมีคนมอญอพยพเข้ามาหรือไม่ คนมอญที่นี่ต่างจากคนมอญที่อื่นๆ ในประเทศไทยหรือไม่ คนมอญที่สังขละฯ อยากกลับไปเมืองมอญในพม่าหรือไม่ คนมอญยังอยากมีประเทศของตนเองหรือไม่ ทำไมคนมอญจึงยังเป็นคนมอญ คนมอญที่สังขละบุรียังติดต่อกับมอญที่พม่าหรือไม่ อนาคตของพวกเขาจะเป็นอย่างไรต่อไป เด็กๆ ที่นี่มีการศึกษาสูงหรือไม่ และอีกหลายคำถามที่นักท่องเที่ยวมักไม่ถาม

คำถามเหล่านี้ควรถามในการท่องเที่ยวเชิงวิพากษ์ แต่ปัญหาใหญ่ของการท่องเที่ยวเชิงวิพากษ์คือ ในเมื่อเราไม่รู้ภาษาเขา หรือกรณีนักเรียนต่างชาติคือ ไม่รู้ภาษาไทยดีพอที่จะถามผู้คน แล้วพวกเราจะเข้าใจอะไรได้อย่างไร จะเข้าถึงชุมชนที่เราไปเที่ยวได้อย่างไร

ต่อปัญหานี้ ผมขอตอบว่า เราสามารถเรียนรู้จากประสบการณ์ รู้จากผัสสะ จากการมอง การฟัง การชิม การสัมผัส การดมกลิ่น

เราต้องไม่ด่วนสรุปว่าอะไรต่างๆ ที่เรารับรู้ รู้สึกได้ จะมีความหมายอย่างที่เราเคยเข้าใจเคยรับรู้มา เราต้องสงสัยต่อการรับรู้ที่เคยมีมาก่อนนี้ของเรา แล้วเปิดใจให้กับความรับรู้ต่อหน้าเราใหม่ ว่าอาจจะไม่เหมือนกับที่เราเข้าใจมาก่อน

เราต้องบันทึกสิ่งที่เรารับรู้อย่างพินิจพิเคราะห์ ไม่ใช่สักแต่ว่าเก็บๆ ข้อมูลมาโดยไม่เข้าใจความหมายที่คนในสังคมนั้นเข้าใจ

วิธีหนึ่งที่เราจะเรียนรู้ได้คือ การเรียนรู้จากปฏิกิริยาที่เรามีต่อเขา เช่น ที่เรารู้สึกว่าแปลก เหม็น ไม่น่าอภิรมย์ ไม่อร่อย น่ารังเกียจ น่าสนใจ น่าทึ่ง น่าขัน และที่เขาขำเรา ตักเตือนเรา ทำหน้าสงสัยเรา ไม่เข้าใจเรา เหล่านี้คือ culture shock ที่เราและเขามีต่อกัน คือจุดปะทะกันของความคุ้นเคย คือจุดปะทะกันของวัฒนธรรม คือจุดเริ่มต้นของความเข้าใจความแตกต่างและความเข้าใจขีดจำกัดของตัวเรา

ที่สำคัญอีกประการคือ นักท่องเที่ยวเชิงวิพากษ์ควรถามด้วยว่า มีความเหลื่อมล้ำเชิงอำนาจอะไรที่ทำให้เรามาเป็นผู้ท่องเที่ยวส่วนเขาเป็นผู้ถูกเที่ยว มีอะไรที่ทำให้เราได้ครอบครองมุมมองที่น่าอภิรมย์ในขณะที่คนในชุมชนที่ถูกท่องเที่ยวไม่มีโอกาสนั้น

 

 

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
หากผมจะเลิกเรียกอาจารย์ว่าอาจารย์เสีย ก็คงไม่มีใครใส่ใจอะไร เพียงแต่ผมเองต่างหากที่ยังใส่ใจว่า อาจารย์เคยสอนหนังสือผม และอาจารย์ก็ยังเป็นนักวิชาการรุ่นอาวุโสที่อยางน้อยก็มีศักดิ์ทางวิชาการที่โลกวิชาการในสายอาชีพเดียวกับผมเขายกย่องนับถือกัน ไม่อย่างนั้นอาจารย์ก็คงไม่ได้รับการยกย่องมาจนทุกวันนี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันสุดท้ายของการเดินทางในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม คณะเราเดินทางกลับฮานอย แต่เส้นทางที่กลับผ่านดินแดนในตำนานสำคัญที่ผมไม่เคยแวะมาก่อน คือศาลเจ้าหุ่งม์เวือง (Đền Hùng Vương) ที่เชื่อมโยงกับตำนานไข่ร้อยฟองและกำเนิดของกลุ่มชาติพันธ์ุไต
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จากเมืองไลและเมืองซอมา ผมกับเพื่อนร่วมทางมุ่งหน้าไปจุดหมายต่อไปคือไปพักที่เมืองถาน (Than Uyên) เมืองสำคัญของชาวไตดำอีกเมืองหนึ่ง เพื่อที่วันรุ่งขึ้นจะได้เดินทางต่อไปยังเมืองลอ (Nghĩa Lộ) โดยผ่านนาขั้นบันไดในถิ่นของชาวม้งที่อำเภอ หมู่ กัง จ่าย (Mù Căng Chải) และถิ่นฐานชาวเย้าที่ทำนา ณ เมืองลุง (Tú Lệ) แล้วพักค้างคืนที่เอียน บ๋าย (Yên Bái) ก่อนมุ่งหน้าสู่ฮานอยในอีกวันหนึ่ง ตลอดเส้นทางนี้ผมใจหายกับความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตลอดการเดินทาง สิ่งหนึ่งที่หนักหนาเสมอคือการดื่มกินกับคนพื้นเมือง ในการเดินทางครั้งนี้ มื้อที่แสนสาหัสที่สุดคือมื้อที่ต้องทั้งประคองตัวเอง ทั้งไม่ให้เสียน้ำใจ และทั้งไม่ให้เพื่อนร่วมทางเหน็ดเหนื่อยเกินกว่าจะร่วมทางกันต่อไปได้อย่างสนุกสนานเพลิดเพลิน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมืองไลเป็นเมืองสำคัญอย่างไรในประวัติศาสตร์เวียดนาม สยาม และฝรั่งเศส คงเป็นคำถามที่ไม่มีใครสนใจนัก เพราะเมืองไลปัจจุบันกำลังกลายเป็นอดีตที่ถูกกลบเกลื่อนลบเลือนไปจนเกือบหมดสิ้น ทั้งจากน้ำเหนือเขื่อน และจากการจัดการปกครองในปัจจุบัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมืองแถงมนดั่งขอบกระด้ง เมืองคดโค้งเยี่ยงเขาควาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อสักเกือบ 15 ปีก่อน ผมไปเสาะหาบ้านนาน้อยอ้อยหนูที่เมืองแถง (เดียนเบียนฟู) กับอาจารย์คำจอง นักชาติพันธ์ุวิทยาชาวไตดำ/เวียดนาม 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมืองลา (Sơn La) ไม่ใช่เมืองท่องเที่ยว แทบไม่มีใครรู้จักเมืองลาแม้ว่าเมืองนี้จะมีประวัติศาสตร์สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเดียนเบียนฟู เนื่องจากเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสใช้เป็นฐานในการปกครองเมืองคนไต แต่เดียนเบียนฟูโด่งดังขึ้นมาจากการที่ฝรั่งเศสแพ้พวกคอมมิวนิสต์เวียดนามอย่างราบคาบ ทำให้คนไม่ได้ทันสนใจว่า ก่อนหน้านั้นฝรั่งเศสปกครองเมืองคนไตอย่างไร แล้วมีฐานที่มั่นสำคัญอยู่ที่ไหนก่อนที่จะไปอยู่ที่เมืองแถงหรือเดียนเบียนฟู
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมมาเมืองมุน (Mai Châu, Hoà Bình) ครั้งแรกเมื่อปี 1998 มาเป็นผู้ช่วยวิจัย ตอนนั้นมาเดือนกุมภาพันธ์ อากาศหนาวมากแล้วเตรียมตัวไม่พอ ยังไม่รู้จักความหนาว เมื่อมาถึงที่นี่ ได้แต่นั่งผิงไฟ ขณะนั้นเมืองมุนเริ่มเปิดให้นักท่องเที่ยวมาพัก มีโฮมสเตย์อยู่สัก 5-6 หลัง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทุนมหาวิทยาลัยเกียวโตนี่ดีกว่าที่ผมคิด เดิมทีแค่รู้ว่าได้ทุนมาเพื่อทำวิจัย ซึ่งก็จะทำอะไรก็ทำไปเถอะ ตามข้อเสนอขอทุนที่เขียนไปไม่ถึงหนึ่งหน้ากระดาษ งานที่รับผิดชอบคือเสนองานสักสองครั้ง แล้วพยายามพิมพ์อะไรออกมาก็โอเคแล้ว นี่จึงถือว่าเป็นทุนชั้นยอด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาผมเดินทางด้วยรถไฟชินคันเซนจากเกียวโตไปโตเกียว มีเรื่องราวมากมายที่น่าบันทึกไว้ ณ ที่นี่ แต่เบื้องต้นขอเล่าเพียงตลาด Tsukiji ก่อน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตกใจเหมือนกันที่ Divas Cafe จะเลิกออกอากาศแล้ว อยากบันทึกสั้นๆ ว่าผมดีใจ ภูมิใจ ปลื้มใจ ที่เคยได้เป็นแขกในรายการดีว่าส์ คาเฟ่ เป็นรายการที่ไปคุยด้วยสนุกมาก พิธีกรรุกเร้ามาก เวลาสั้นจนต้องปรับจังหวะการพูดให้เร็วมาก แถมบางครั้งยังต้องหาจังหวะแย่งพิธีกรพูดอีก