Skip to main content

 

บ้านเก่าเมืองหลัง เป็นสำนวนของคนไทดำในเวียดนาม เมื่อก่อน พอได้ขึ้นไปเยี่ยมเยือนพี่น้องชาวไทดำที่เซอนลาแต่ละครั้ง ก็จะถูกพวกคนเฒ่าคนแก่ล้อว่าเหมือนพวกหลานๆ กลับมาเยี่ยมบ้านเก่าเมืองหลังสินะในความหมายที่ว่า เหมือนผมได้กลับไปเยี่ยมบ้านเกิดเมืองนอนนั่นเอง ทั้งๆ ที่ตอนนั้น ก็ห่างหายไปแค่เพียงหลายเดือน หรืออย่างมากก็ในรอบปี

อันที่จริงความผูกพันระหว่างผมกับชาวบ้านไทดำที่ตัวจังหวัดเซอนลา ชาวไทขาวที่เมืองไล ลายเจิว ชาวไทขาวที่มายเจิว หว่าบิ่ญ ชาวไทขาวที่ฟองโถ่ ลายเจิว ชาวไทแดงที่แทญหัวและเหงะอาน และชาวไทดำที่เหงี๊ยะโหละ เอียนบ๋าย ไม่ได้ลึกซึ้งขนาดจะคุยได้ว่าบ้านเมืองเหล่านั้นเป็นบ้านเก่าเมืองหลััง หากแต่ผู้คนบางถิ่นก็ถือรับนับเอาผมเป็นเหมือนญาติพี่น้อง เป็นลูกหลานชั่วคราว ส่วนผมเองไม่กล้าอวดอ้างแบบนักวิชาการต่างชาติบางคนหรอกว่า ได้ถูกนับเป็นลูกเลี้ยงหรือเป็นคนในครอบครัวชาวบ้านคนไหน

แต่จะว่าไป เมื่อเกือบสองปีก่อน ผมถูกขอร้องให้ช่วยเป็นพ่อบุญธรรม หรือเรียกในอีกสำนวนว่าพ่อเลี้ยงให้กับเด็กหญิงไทขาวคนหนึ่งที่มายเจิว เธอชื่อวีตอนนั้นวีเกือบสองขวบ เจ็บไข้ประจำ ลุงของพ่อวีซึ่งเป็นหมอด้านจิตวิญญาณบอกว่า ต้องหาพ่อเลี้ยงให้เจ้าวี ผมจึงตกปากรับคำแบบไม่ยั้งคิด แล้วเข้าพิธีที่ไม่ได้วุ่นวายอะไรมากไปกว่าการบอกกล่าวบรรพบุรุษต่อหน้าหิ้งบูชาผีเรือน แล้วใช้ด้ายบางๆ ภาษาที่นั่นเรียกไหมคล้องคอวี

อันที่จริง ในขณะที่ตัดสินใจนั้น ใจหนึ่งก็นึกเอาเปรียบครอบครัววี ที่อยากให้ตัวเองเป็นตัวอย่างของการจัดพิธีเป็นพ่อเลี้ยง ทั้งด้วยเพราะว่าตนเองอยากสังเกตการณ์ และเพราะอยากให้ลูกศิษย์ที่ไปด้วยกันอีก 30 คนได้มีส่วนร่วม แต่อีกใจหนึ่งก็เห็นว่า ในเมื่อมันไม่ได้เสียหายอะไรและน่าจะทำให้ครอบครัวเพื่อนสบายใจ ก็จึงรับเข้าพิธี

หลังจากนั้นมาอีกหนึ่งปี ผมเจอวีอีกครั้ง เธอร่าเริงแข็งแรงมาก จากที่เคยร้องไห้บ่อยๆ เจ็บป่วยประจำ และกลัวทุกคนที่เข้าใกล้ วีเล่นกับทุกคน หน้าตาสดใส ผิดกันไปเป็นคนละคนกับเมื่อปีก่อน มาคราวนี้ได้ไปเจอวีและพ่อ-แม่ของเธออีกครั้ง วีพูดคุยสนุก วิ่งเล่นไปมา พ่อแม่วีบอกที่โรงเรียนอนุบาล วีเที่ยวคุยกับเพื่อนๆ ว่านี่เธอ เรามีพ่อเลี้ยงด้วยนะ

ผมรู้สึกเหมือนมีความรับผิดชอบบางอย่างที่ไม่รู้แจ้งนักว่ามันคืออะไรรออยู่ข้างหน้า ลำพังตนเองไม่ได้มีลูกของตนเอง แต่เวลานี้กลับมีลูกเลี้ยงในต่างแดน กลับไปมายเจิวคราวนี้จึงไปหาซื้อของเล็กๆ น้อยๆ ไปฝากวี ผมซื้อสร้อยเงินเส้นเล็กๆ เหมาะกับคอเรียวๆ ของเด็กน้อยไปคล้องคอแทนด้ายเส้นบางที่ขาดไปแล้ว

เช่นเดียวกันกับป้าเจิว ภรรยาของครูที่ผมศึกษาด้วย เดิมทีระหว่างที่ผมเก็บข้อมูลทำวิทยานิพนธ์อยู่ ผมจะรู้สึกไปเองหรือเปล่าก็ไม่ทราบว่า เธอคงเห็นผมมองเธอเป็นข้อมูล เป็นวัตถุแห่งการสังเกตการณ์อย่างอยากมีส่วนร่วม แต่นานวันเข้า เธอคงเข้าใจขึ้นบ้างว่า การทำงานวิจัยกับผู้คนไม่ได้ทำให้นักวิจัยปลอดจากอคติขนาดนั้นได้ง่ายดายนัก เราตื่นเต้นกับความแปลกแตกต่าง เราสงสัยและบันทึกอะไรมากมายโดยไม่ทันได้นึกคิดว่าคู่สนทนาจะรู้สึกเหมือนถูกเก็บข้อมูลตลอดเวลา แต่เราก็ทำทั้งเก็บข้อมูลและสร้างมิตรภาพไปพร้อมๆ กัน

มื้อแรกที่เซอนลาในการเดินทางครั้งนี้เป็นอย่างนั้นจริงๆ ผมกับแฟนและ Masao เพื่อนนักวิจัยชาวญี่ปุ่น นัดเจอกับพี่แก้ว เพื่อนชาวไทดำที่เมื่อเรียกแกว่าเป็นคนไทดำแล้วผมก็จะรู้สึกเคอะเขิน และเข้าใจถึงความตื้นเขินของคำว่ากลุ่มชาติพันธ์ุได้ทันที เพราะพี่แก้วเป็นคนในหลายๆ โลก (cosmopolitan) แบบที่เราก็เป็นเหมือนกันนั่นแหละ

พี่แก้วอายุสี่สิบปลายๆ ชอบใส่ชุดวอร์ม สวมรองเท้าผ้าใบ มีสไตล์การแต่งตัวแบบยับปี้ฮานอยอย่างนี้มาตั้งแต่สี่ห้าปีก่อน แกสร้างเรือนแบบมีชาวฮานอยที่มีรสนิยมวิไล ตกแต่งเรือนได้หมดจดมีลีลาดีกว่าคนกรุงเทพฯ พี่แก้วนั่งเล่นอินเตอร์เน็ตเป็นชีวิตประจำวัน อ่านข่าวสารที่คนเวียดนามมักไม่ได้รับรู้ แต่ก็สืบทอดสำนึกความเป็นไทดำจากการเป็นลูกเจ้าเมืองคนสุดท้ายของเมืองมั่วะเมืองสำคัญในการเมืองสมัยใหม่ของเวียดนาม (ที่อยู่นอกสำนึกขาดวิ่นของนักวิชาการสยามเกี่ยวกับสิบสองจุไท แต่ก็ช่างนักวิชาการสยามเถอะ ปล่อยให้รู้อะไรน้อยๆ บ้างก็ดี จะได้นึกว่าตนเองเก่งกันนักสืบไป)

เราไปกินอาหารไทดำชานเมืองเซอนลากัน พอพี่แก้วเริ่มพูดคำหรือประโยคอะไรที่เราไม่เคยได้ยิน อย่างเมื่อเราสั่งปลาก้อยมา พี่แก้วบอกว่าแส้บเหยือกินเหยือหมา แส้บปากินปาก้อย” (หิวเนื้อกินเนื้อหมา หิวปลากินปลาก้อย) สัญชาติญาณนักวิจัยของพวกเราก็ทำงานทันที พี่แก้วแค่พูดไปตามความเคยชินของคนที่นี่ที่เมื่อภูมิใจในวัฒนธรรมตนเองแล้วก็มักจะบอกเล่าให้คนต่างเมืองรับรู้ ส่วนพวกเราก็ทำตามความเคยชินคือ เมื่อได้ยินได้เห็นอะไรแปลกใหม่ก็เก็บบันทึกตลอดเวลา

กลับมาเวียดนามคราวนี้เหมือนมาบ้านเก่าเมืองหลัง แต่ก็เหมือนมาบ้านใหม่เมืองหน้า การเดินทางไปถิ่นที่เดิมๆ บ่อยๆ ย่อมได้ความเข้าใจที่ต่อเนื่อง แต่เมื่อเว้นช่วงห่างจากกันไปนานๆ สามสี่ปีบ้าง ก็รับรู้ได้ถึงความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น และก็เริ่มสงสัยกับสิ่งที่เคยรับรู้มาว่า อันที่จริงก่อนหน้าที่เราจะได้รู้จักสังคม-วัฒนธรรมเหล่านี้ ผู้คนเปลี่ยนมาก่อนหน้านี้กี่มากน้อยกี่หลายหนแล้ว

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่แน่ใจว่านโยบายยุบโรงเรียนขนาดเล็กนี้จะดีหรือไม่ สงสัยว่า "คิดดีแล้วหรือที่จะยุบโรงเรียนขนาดเล็ก" ในทางเศรษฐศาสตร์แบบทื่อๆ คงมี "จุดคุ้มทุน" ของการจัดการศึกษาอยู่ระดับหนึ่ง ตามข่าว ดูเหมือนว่าควรจะอยู่ที่การมีนักเรียนโรงเรียนละ 60 คน แต่คงมีเหตุผลบางอย่างที่โรงเรียนตามพื้นที่ชนบทไม่สามารถมีนักเรียนมากขนาดนั้นได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตอนนี้เถียงกันมากเรื่องกะหรี่ ว่ากันไปมาจนกระทั่งทั้งสองฝ่ายก็หนีไม่พ้นเอาคำเดียวกัน หรือทัศนะคติเหยียดเพศหญิงเช่นเดียวกันมาด่ากัน ฝ่ายหนึ่งด่าอีกฝ่ายว่า "อีกะหรี่" อีกฝ่ายหนึ่งด่ากลับว่า "แม่มึงสิเป็นกะหรี่" หรือ "ไปเอากระโปรงอีนั่นมาคลุมหัวแทนไป๊" ตกลงก็ยังหนีไม่พ้นสังคมที่ดูถูกเพศหญิงอยู่ดี
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงสั้นๆ ของชีวิตผมมีโอกาสได้รู้จักคนในแวดวงนักเขียนรูป ผ่านครูสอนวาดเส้นให้ผมคนหนึ่ง ครูผมคนนี้มีเพื่อนคนหนึ่งที่เขาสนิทสนมกันดี ชื่อไสว วงษาพรหม เมื่อคืน ได้สนทนากับคนในแวดวงศิลปะ ที่เรือนชานแห่งหนึ่งที่มีไมตรีให้เพื่อนฝูงเสมอ ผมจึงเพิ่งทราบว่าไสวเสียชีวิตไปหลายปีแล้ว ลอง google ดูพบว่าเขาเสียชีวิตเมื่อ 22 สิงหาคม 2551
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทำไม "เหี้ย ควย หี เย็ด" จึงกลายเป็นภาพเขียนชุดล่าสุดของศิลปินเขียนภาพชั้นนำของไทย ทำไม "กะหรี่" จึงเป็นส่วนหนึ่งของข้อเขียนนักเขียนการ์ตูนผู้ทรงอิทธิพลของไทย ทำไมนักเศรษฐศาสตร์ไทยชั้นนำจึงเขียนคำ "อยากเอา" เป็นความเห็นประกอบภาพวิจารณ์นักการเมือง ทำไมภาษาแบบนี้จึงกลายมาเป็นภาษาทางการเมืองของคนที่มีความสามารถในการสื่อสารเหนือคนทั่วไปเหล่านี้ หลายคนวิเคราะห์แล้วว่า เพราะพวกเขาเร่ิมจนแต้มทางการเมือง "เถียงสู้อีกฝ่ายไม่ได้ก็เลยด่าแม่งไป"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วานนี้ (29 เมษายน 2556) "ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา" และ "ศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย" มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดอภิปราย "สู่สันติภาพในอุษาคเนย์" งานนี้จัดท่ามกลางบรรยากาศการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับ BRN
ยุกติ มุกดาวิจิตร
“นักวิชาการเสื้อแดง” เป็นเสมือนตำแหน่งทางวิชาการอย่างหนึ่ง การตีตราตำแหน่งนี้สะท้อนความเฉยชาและคับแคบต่อปัญหาสิทธิมนุษยชนและความเป็นธรรมของปัญญาชนไทย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวานเพ่ิงดูพี่ "มากขา" หลายขา แล้วก็อยากมีความเห็นอย่างใครๆ เขาบ้าง ส่วนใครที่ยังไม่ได้ดูแล้วกำลังคิดจะไปดู ก็อย่าเพ่ิงอ่านครับ เดี๋ยวจะเซ็งเสียก่อน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทุกๆ ปี ผมสอนวิชา “ชาติพันธ์ุ์นิพนธ์: การวิพากษ์และการนำเสนอแนวใหม่” ระดับปริญญาตรี ผมออกแบบให้วิชานี้เป็นการศึกษาแบบสัมมนา มีการแลกเปลี่ยนความเห็นของนักศึกษามากกว่าการบรรยายของผู้สอน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อสองวันก่อน มีคนที่สนใจนโยบายรถไฟความเร็วสูงคนหนึ่งถามผมว่า "อาจารย์รู้ไหมว่า โอกาสที่รถไฟไทยจะตรงเวลามีเท่าไหร่" ผมตอบ "ไม่รู้หรอก" เขาบอกว่า "มีเพียง 30%" 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"ปีใหม่" เป็นจินตกรรมของเวลาที่กำหนดการสิ้นสุดและการเริ่มต้น ศักราช เวลาของสังคม การจัดระบบของเวลา ล้วนมีเทศกาลกำกับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
น่าละอายใจที่สภาผู้แทนราษฎรปัดตกข้อเสนอของประชาชนกว่าสามหมื่นคนที่เสนอให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ถ้าบอกกันตรงๆ ว่า "กลัวอ่ะ" ก็จบ ประชาชนอาจจะให้อภัยความปอดแหกได้ แต่ประชาชนส่วนหนึ่งจะตัดสินใจไม่เลือกพวกคุณเข้ามาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนฯ อีกอย่างแน่นอน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ยามหมดปีการศึกษาทีไร ก็ชวนให้ทบทวนถึงหน้าที่การงานด้านการเรียนการสอนของตนเอง แต่ผมทำตามแบบที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาแห่งชาติ หรือ สกอ. ให้ทำไม่เป็นหรอก เพราะมันไร้สาระ เป็นกลไกเกินไป และไม่ก่อประโยชน์อะไรนอกจากเปลืองกระดาษและน้ำหมึก ผมมักทำในแบบของผมเองนี่แหละ