Skip to main content

 

บ้านเก่าเมืองหลัง เป็นสำนวนของคนไทดำในเวียดนาม เมื่อก่อน พอได้ขึ้นไปเยี่ยมเยือนพี่น้องชาวไทดำที่เซอนลาแต่ละครั้ง ก็จะถูกพวกคนเฒ่าคนแก่ล้อว่าเหมือนพวกหลานๆ กลับมาเยี่ยมบ้านเก่าเมืองหลังสินะในความหมายที่ว่า เหมือนผมได้กลับไปเยี่ยมบ้านเกิดเมืองนอนนั่นเอง ทั้งๆ ที่ตอนนั้น ก็ห่างหายไปแค่เพียงหลายเดือน หรืออย่างมากก็ในรอบปี

อันที่จริงความผูกพันระหว่างผมกับชาวบ้านไทดำที่ตัวจังหวัดเซอนลา ชาวไทขาวที่เมืองไล ลายเจิว ชาวไทขาวที่มายเจิว หว่าบิ่ญ ชาวไทขาวที่ฟองโถ่ ลายเจิว ชาวไทแดงที่แทญหัวและเหงะอาน และชาวไทดำที่เหงี๊ยะโหละ เอียนบ๋าย ไม่ได้ลึกซึ้งขนาดจะคุยได้ว่าบ้านเมืองเหล่านั้นเป็นบ้านเก่าเมืองหลััง หากแต่ผู้คนบางถิ่นก็ถือรับนับเอาผมเป็นเหมือนญาติพี่น้อง เป็นลูกหลานชั่วคราว ส่วนผมเองไม่กล้าอวดอ้างแบบนักวิชาการต่างชาติบางคนหรอกว่า ได้ถูกนับเป็นลูกเลี้ยงหรือเป็นคนในครอบครัวชาวบ้านคนไหน

แต่จะว่าไป เมื่อเกือบสองปีก่อน ผมถูกขอร้องให้ช่วยเป็นพ่อบุญธรรม หรือเรียกในอีกสำนวนว่าพ่อเลี้ยงให้กับเด็กหญิงไทขาวคนหนึ่งที่มายเจิว เธอชื่อวีตอนนั้นวีเกือบสองขวบ เจ็บไข้ประจำ ลุงของพ่อวีซึ่งเป็นหมอด้านจิตวิญญาณบอกว่า ต้องหาพ่อเลี้ยงให้เจ้าวี ผมจึงตกปากรับคำแบบไม่ยั้งคิด แล้วเข้าพิธีที่ไม่ได้วุ่นวายอะไรมากไปกว่าการบอกกล่าวบรรพบุรุษต่อหน้าหิ้งบูชาผีเรือน แล้วใช้ด้ายบางๆ ภาษาที่นั่นเรียกไหมคล้องคอวี

อันที่จริง ในขณะที่ตัดสินใจนั้น ใจหนึ่งก็นึกเอาเปรียบครอบครัววี ที่อยากให้ตัวเองเป็นตัวอย่างของการจัดพิธีเป็นพ่อเลี้ยง ทั้งด้วยเพราะว่าตนเองอยากสังเกตการณ์ และเพราะอยากให้ลูกศิษย์ที่ไปด้วยกันอีก 30 คนได้มีส่วนร่วม แต่อีกใจหนึ่งก็เห็นว่า ในเมื่อมันไม่ได้เสียหายอะไรและน่าจะทำให้ครอบครัวเพื่อนสบายใจ ก็จึงรับเข้าพิธี

หลังจากนั้นมาอีกหนึ่งปี ผมเจอวีอีกครั้ง เธอร่าเริงแข็งแรงมาก จากที่เคยร้องไห้บ่อยๆ เจ็บป่วยประจำ และกลัวทุกคนที่เข้าใกล้ วีเล่นกับทุกคน หน้าตาสดใส ผิดกันไปเป็นคนละคนกับเมื่อปีก่อน มาคราวนี้ได้ไปเจอวีและพ่อ-แม่ของเธออีกครั้ง วีพูดคุยสนุก วิ่งเล่นไปมา พ่อแม่วีบอกที่โรงเรียนอนุบาล วีเที่ยวคุยกับเพื่อนๆ ว่านี่เธอ เรามีพ่อเลี้ยงด้วยนะ

ผมรู้สึกเหมือนมีความรับผิดชอบบางอย่างที่ไม่รู้แจ้งนักว่ามันคืออะไรรออยู่ข้างหน้า ลำพังตนเองไม่ได้มีลูกของตนเอง แต่เวลานี้กลับมีลูกเลี้ยงในต่างแดน กลับไปมายเจิวคราวนี้จึงไปหาซื้อของเล็กๆ น้อยๆ ไปฝากวี ผมซื้อสร้อยเงินเส้นเล็กๆ เหมาะกับคอเรียวๆ ของเด็กน้อยไปคล้องคอแทนด้ายเส้นบางที่ขาดไปแล้ว

เช่นเดียวกันกับป้าเจิว ภรรยาของครูที่ผมศึกษาด้วย เดิมทีระหว่างที่ผมเก็บข้อมูลทำวิทยานิพนธ์อยู่ ผมจะรู้สึกไปเองหรือเปล่าก็ไม่ทราบว่า เธอคงเห็นผมมองเธอเป็นข้อมูล เป็นวัตถุแห่งการสังเกตการณ์อย่างอยากมีส่วนร่วม แต่นานวันเข้า เธอคงเข้าใจขึ้นบ้างว่า การทำงานวิจัยกับผู้คนไม่ได้ทำให้นักวิจัยปลอดจากอคติขนาดนั้นได้ง่ายดายนัก เราตื่นเต้นกับความแปลกแตกต่าง เราสงสัยและบันทึกอะไรมากมายโดยไม่ทันได้นึกคิดว่าคู่สนทนาจะรู้สึกเหมือนถูกเก็บข้อมูลตลอดเวลา แต่เราก็ทำทั้งเก็บข้อมูลและสร้างมิตรภาพไปพร้อมๆ กัน

มื้อแรกที่เซอนลาในการเดินทางครั้งนี้เป็นอย่างนั้นจริงๆ ผมกับแฟนและ Masao เพื่อนนักวิจัยชาวญี่ปุ่น นัดเจอกับพี่แก้ว เพื่อนชาวไทดำที่เมื่อเรียกแกว่าเป็นคนไทดำแล้วผมก็จะรู้สึกเคอะเขิน และเข้าใจถึงความตื้นเขินของคำว่ากลุ่มชาติพันธ์ุได้ทันที เพราะพี่แก้วเป็นคนในหลายๆ โลก (cosmopolitan) แบบที่เราก็เป็นเหมือนกันนั่นแหละ

พี่แก้วอายุสี่สิบปลายๆ ชอบใส่ชุดวอร์ม สวมรองเท้าผ้าใบ มีสไตล์การแต่งตัวแบบยับปี้ฮานอยอย่างนี้มาตั้งแต่สี่ห้าปีก่อน แกสร้างเรือนแบบมีชาวฮานอยที่มีรสนิยมวิไล ตกแต่งเรือนได้หมดจดมีลีลาดีกว่าคนกรุงเทพฯ พี่แก้วนั่งเล่นอินเตอร์เน็ตเป็นชีวิตประจำวัน อ่านข่าวสารที่คนเวียดนามมักไม่ได้รับรู้ แต่ก็สืบทอดสำนึกความเป็นไทดำจากการเป็นลูกเจ้าเมืองคนสุดท้ายของเมืองมั่วะเมืองสำคัญในการเมืองสมัยใหม่ของเวียดนาม (ที่อยู่นอกสำนึกขาดวิ่นของนักวิชาการสยามเกี่ยวกับสิบสองจุไท แต่ก็ช่างนักวิชาการสยามเถอะ ปล่อยให้รู้อะไรน้อยๆ บ้างก็ดี จะได้นึกว่าตนเองเก่งกันนักสืบไป)

เราไปกินอาหารไทดำชานเมืองเซอนลากัน พอพี่แก้วเริ่มพูดคำหรือประโยคอะไรที่เราไม่เคยได้ยิน อย่างเมื่อเราสั่งปลาก้อยมา พี่แก้วบอกว่าแส้บเหยือกินเหยือหมา แส้บปากินปาก้อย” (หิวเนื้อกินเนื้อหมา หิวปลากินปลาก้อย) สัญชาติญาณนักวิจัยของพวกเราก็ทำงานทันที พี่แก้วแค่พูดไปตามความเคยชินของคนที่นี่ที่เมื่อภูมิใจในวัฒนธรรมตนเองแล้วก็มักจะบอกเล่าให้คนต่างเมืองรับรู้ ส่วนพวกเราก็ทำตามความเคยชินคือ เมื่อได้ยินได้เห็นอะไรแปลกใหม่ก็เก็บบันทึกตลอดเวลา

กลับมาเวียดนามคราวนี้เหมือนมาบ้านเก่าเมืองหลัง แต่ก็เหมือนมาบ้านใหม่เมืองหน้า การเดินทางไปถิ่นที่เดิมๆ บ่อยๆ ย่อมได้ความเข้าใจที่ต่อเนื่อง แต่เมื่อเว้นช่วงห่างจากกันไปนานๆ สามสี่ปีบ้าง ก็รับรู้ได้ถึงความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนยิ่งขึ้น และก็เริ่มสงสัยกับสิ่งที่เคยรับรู้มาว่า อันที่จริงก่อนหน้าที่เราจะได้รู้จักสังคม-วัฒนธรรมเหล่านี้ ผู้คนเปลี่ยนมาก่อนหน้านี้กี่มากน้อยกี่หลายหนแล้ว

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (24 ธันวาคม 2555) กสทช.เชิญให้ผมไปร่วมแสดงความเห็นในเวทีเสวนาสาธารณะ “1 ปี กสทช. กับความ (ไม่) สมหวังของสังคมไทย” ทีแรกผมไม่คิดว่าตนเองจะสามารถไปวิจารณ์อะไรกสทช.ได้ แต่ผู้จัดยืนยันว่าต้องการมุมมองแบบมานุษยวิทยา ผมจึงตกปากรับคำไป 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข้อโต้แย้งต่อความเห็นผมจากของเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ที่ลงในมติชนออนไลน์ (http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1355920241&grpid=03&catid=&subcatid=) ย้ำให้เห็นชัดถึงความอับจนของกรอบคิดของคนกลุ่มนี้ต่อไปนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ไม่เพียงแต่นักเขียนบางคนเท่านั้นที่อาจจะไม่เข้าใจหรือมองข้ามประเด็นความแตกต่างทางชาติพันธ์ุ แต่ผมคิดว่าแวดวงภาษาและวรรณกรรมบ้านเราอาจจะไม่ตระหนักถึงปัญหานี้โดยรวมเลยก็ได้ และในแง่หนึ่ง ผมคิดว่าซีไรต์เองอาจจะมีส่วนสร้างวัฒนธรรมไม่อ่อนไหวต่อความแตกต่างทางวัฒนธรรมด้วยเช่นกัน และถึงที่สุดแล้ว นี่อาจจะกลายเป็นข้อจำกัดที่ปิดกั้นโอกาสที่วรรณกรรมไทยจะก้าวเข้าสู่ระดับสากล
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทัศนะของนายแพทย์ที่เป็นตัวแทนของคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ แสดงให้เห็นถึงความคิดคับแคบของผู้มีอำนาจกลุ่มหนึ่ง ที่มักใช้อำนาจก้าวก่ายชีวิตผู้คน บนความไม่รู้ไม่เข้าใจไม่อยากรับผิดชอบต่อปัญหาเชิงโครงสร้างที่ละเอียดอ่อน และบนกรอบข้ออ้างเรื่องคุณธรรมความดีที่ยกตนเองเหนือคนอื่น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
แทนที่จะเถียงกับอีกท่านหนึ่งที่วิจารณ์ผมต่อหน้ามากมายเมื่อวาน ผมขอใช้พลังงานเถียงกับข้อเสนอล่าสุดของอาจารย์ธีรยุทธ บุญมีจากข่าวในมติชนออนไลน์ (http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1354935625&grpid=01&catid=&subcatid=) ดังนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นึกไม่ถึงและนึกไม่ออกจริงๆ ว่า ทำไมคนเปิดร้านขายหนังสือในปลายศตวรรษที่ 20 - ต้น 21 จะมีความคิดแบบนี้ได้ นี่แสดงว่าเขาไม่ได้อ่านหนังสือที่เขาขายบ้างเลย หรือนี่แสดงว่าการอ่านหนังสือไม่ได้ช่วยจรรโลงจิตใจนายทุนบางคนขึ้นมาได้เลย*
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 เมื่ออ่านข่าวแอร์โฮสเตสที่เพิ่งถูกให้ออก ผมมีคำถามหลายข้อ ทั้งในมิติของโซเชียลมีเดีย hate speech และสิทธิแรงงาน อย่างไรก็ดี ขอเคลียร์ก่อนว่าหากใครทราบจุดยืนทางการเมืองของผม ย่อมเข้าใจดีว่าความเห็นต่อไปนี้ไม่ได้มาจากความเห็นทางการเมืองที่เอนเอียงไปในทางเดียวกับพนักงานสายการบินคนนี้แต่อย่างใด ข้อสังเกตคือ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขณะกำลังนั่งกินหอยแครงลวกอยู่เวลานี้ ก็ชวนให้คิดถึงคำพูดของนักวิชาการกัมพูชาคนหนึ่ง ที่เคยนั่งต่อหน้าอาหารเกาหลีจานพิเศษ คือหนอนทะเลดิบตัดเป็นชิ้นๆ ขยับตัวดึบๆ ดึบๆ อยู่ในจานแม้จะถูกตั้งทิ้งไว้เป็นชั่วโมง ตอนนั้น ผมบ่ายเบี่ยงไม่กล้ากินอยู่นาน แม้จะรู้ว่าเป็นอาหารพิเศษราคาแพงที่ศาสตราจารย์ชาวเกาหลีสรรหามาเลี้ยงต้อนรับการมาเกาหลีครั้งแรกของพวกเราหลายคน เพื่อนกัมพูชาบอกว่า "กินเถอะพี่ หอยแครงลวกในเมืองไทยน่ากลัวกว่านี้อีก" ผมจึงหาเหตุที่จะหลบเลี่ยงอีกต่อไปไม่ได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ผมนั่งดูบันทึกรายการ The Voice Thailand (เดอะวอยซ์) เป็นประจำ แม้ว่าจะเห็นคล้อยตามคำนิยมของโค้ชทั้ง 4 อยู่บ่อยๆ แถมยังแอบติดตามความเห็นเปรี้ยวๆ ของนักเขียนบางคนที่ชอบเรียกตนเองสวนทางกับวัยเธอว่า "ป้า" ซึ่งหมดเงินกดโหวตมากมายให้นักร้องหนุ่มน้อยแนวลูกทุ่ง แต่ผมไม่ได้รับความบันเทิงจากเดอะวอยซ์เพียงจากเสียงเพลง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 ผมพยายามถามตัวเองว่า การจะสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนการชุมนุมขององค์การพิทักษ์สยามที่นำโดย "เสธ.อ้าย" จะมาจากเหตุผลประการใดบ้าง แต่ผมก็ชักจะเริ่มไม่แน่ใจว่า เอาเข้าจริง คนที่เข้าร่วมชุมนุมกับเสธ.อ้ายจะมีเหตุผลหรือไม่ หรือหากมี พวกเขาจะใช้เหตุผลชุดไหนกันในการเข้าร่วมชุมนุม ยังไงก็ตาม อยากถามพวกคุณที่ไปชุมนุมว่า พวกคุณอยากให้ประเทศเป็นอย่างนี้จริงๆ หรือ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (20 พฤศจิกายน 2555) นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เชิญไปบรรยายในงานสัมมนา "การเมืองเรื่องคนธรรมดา" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ขอตัดส่วนหนึ่งของบทบรรยายของผมที่ใช้ชื่อว่า "การเมืองวัฒนธรรมดา: ความไม่ธรรมดาของสามัญชน" มาเผยแพร่ในที่นี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 เมื่อ 16 พฤศจิกายน 2555 นิสิตรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเชิญไปร่วมกิจกรรมจุฬาวิชาการ โดยให้ไปวิจารณ์บทความนิสิตปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์จุฬาฯ 4 ชิ้น 1) ว่าด้วยเบื้องหลังทางการเมืองของการก่อตั้งองค์การอาเซียน 2) ว่าด้วยบทบาทและการต่อรองระหว่างประเทศในอาเซียน 3) ว่าด้วยการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าของธุรกิจเอกชนไทยในคู่ค้าอาเซียน และ 4) ว่าด้วยนโยบายชนกลุ่มชาติพันธ์ุในพม่า ข้างล่างนี้คือบันทึกบทวิจารณ์