Skip to main content

ขณะกำลังนั่งกินหอยแครงลวกอยู่เวลานี้ ก็ชวนให้คิดถึงคำพูดของนักวิชาการกัมพูชาคนหนึ่ง ที่เคยนั่งต่อหน้าอาหารเกาหลีจานพิเศษ คือหนอนทะเลดิบตัดเป็นชิ้นๆ ขยับตัวดึบๆ ดึบๆ อยู่ในจานแม้จะถูกตั้งทิ้งไว้เป็นชั่วโมง ตอนนั้น ผมบ่ายเบี่ยงไม่กล้ากินอยู่นาน แม้จะรู้ว่าเป็นอาหารพิเศษราคาแพงที่ศาสตราจารย์ชาวเกาหลีสรรหามาเลี้ยงต้อนรับการมาเกาหลีครั้งแรกของพวกเราหลายคน เพื่อนกัมพูชาบอกว่า "กินเถอะพี่ หอยแครงลวกในเมืองไทยน่ากลัวกว่านี้อีก" ผมจึงหาเหตุที่จะหลบเลี่ยงอีกต่อไปไม่ได้

ก็เลยนึกย้อนกลับไปที่บทความที่เคยเขียนแต่ยังไม่ได้ตีพิมพ์เมื่อหลายปีก่อน และบทสนทนากับนักศึกษาเมื่อวาน
 
เมื่อวาน นักศึกษาเกาหลีคนหนึ่งมาพบ เธอมาขอคำปรึกษาเรื่องการเรียนต่อปริญญาเอกทางมานุษยวิทยาที่ธรรมศาสตร์ นักศึกษาคนนี้จบปริญญาโทภาษาศาสตร์ที่ธรรมศาสตร์ เขียนวิทยานิพนธ์เป็นภาษาไทย วิทยานิพนธ์เธอน่าสนใจมาก เธอเปรียบเทียบคำศัพท์ภาษาไทยว่า "ดู" กับ "เห็น" และคำศัพท์ภาษาเกาหลีว่า "โบดา" ที่แปลได้ทั้งดูและเห็น เธอสรุปว่า คำทั้งสองในภาษาไทยมีระบบคิดที่แตกต่างจากภาษาเกาหลี
 
แต่นักศึกษาคนนี้ไม่ได้อยากจะมาศึกษาเรื่องภาษาต่อ เธออยากเปลี่ยนมาทำความเข้าใจเรื่องอาหาร อยากเปรียบเทียบอาหารเกาหลีกับอาหารไทย ส่วนหนึ่งเพราะเธอหงุดหงิดกับอาหารเกาหลีในเมืองไทยที่มันผิดเพี้ยนไปจากที่เธอทำกินเองเหลือเกิน ส่วนอาหารไทย เธอคิดว่าน้ำปลาเป็นอัตลักษณ์สำคัญของอาหารไทย ผมแนะนำหนังสือเกี่ยวกับการศึกษาอาหารในทางมานุษยวิทยาไป แล้วชวนเธอคิดว่า น้ำปลาสำคัญกับอาหารไทยจริงหรือ
 
ผมเคยเขียนบทความชื่อทำนองว่า "ปัญญาสถิตในรส: รส รัฐ ผัสสะ และความเป็นชาติ" เสนอว่าอาหารแสดงถึงพรมแดนทางชาติพันธ์ุที่สำคัญ เราสร้างพรมแดนแบ่งแยกกลุ่มคนกันด้วยอะไรหลายอย่าง แต่พรมแดนที่เราแบ่งแยกกันและก้าวข้ามกันไม่ได้ง่ายๆ คือพรมแดนของผัสสะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พรมแดนที่ติดอยู่ที่ปลายลิ้นของเรา ผมจึงคิดว่า เพื่อนกินน่ะหายากกว่าเพื่อนตายยิ่งนัก
 
ผมชวนนักศึกษาคนนี้คิดเรื่องน้ำปลาต่อ เคยมีเพื่อนร่วมสถาบันที่อเมริกาคนหนึ่งศึกษาเรื่องน้ำปลาในเวียดนาม เขาได้ข้อสรุปว่า คนเวียดนามถือว่าน้ำปลาเป็นอัตลักษณ์แสดงความเป็นคนเวียด เมื่อได้คุยกับเขาครั้งแรก ในใจผมเถียงว่าไม่จริง คนไทยก็กินน้ำปลามากจะตาย น้ำปลาก็เป็นของไทยเหมือนกัน แต่เมื่อได้อ่านวิทยานิพนธ์ของเขา ได้รู้จักการกินและการใช้น้ำปลาของชาวเวียดนาม ผมก็เริ่มคล้อยตาม แล้วคิดว่า คนไทยไม่ได้รู้จักน้ำปลา ไม่ได้เคารพน้ำปลา ไม่ได้ให้ความหมายลึกซึ้งกับน้ำปลาได้เท่าคนเวียดนามแน่นอน
 
เช่นว่า คนเวียดมีภาษิตว่า "เด็กดีก็เหมือนน้ำปลาที่บ่มมาอย่างดี" หากไม่มีอะไรไหว้บรรพบุรุษจริงๆ แค่ได้น้ำปลากับข้าวเปล่าร้อนๆ สักถ้วยก็ใช้ได้แล้ว คนเวียดพิถีพิถันกับการหาเกลือมาทำน้ำปลามาก น้ำปลาดีต้องมีทั้งเกลือสมุทรและเกลือสินเธาว์ คนเวียดไม่ใช้น้ำปลาพร่ำเพรื่อแบบคนไทย เขาเหยาะน้ำปลาแต่เพียงน้อยในการปรุงรสเพื่อให้กลิ่นน้ำปลาเพียงพอเหมาะกับกลิ่นอาหาร และไม่ใช้น้ำปลาจิ้มหรือสาดรดอาหารแทบทุกจานแบบคนไทย
 
ผมชวนนักศึกษาเกาหลีคนนี้คุยเรื่อง "คิมจิ" แปลกๆ บางชนิดที่ผมเคยกินที่เกาหลี เธออธิบายอย่างภูมิใจว่า คนเกาหลีมีวิธีทำคิมจิแบบนับไม่ถ้วน แต่ละครัวเรือนต่างมีสูตรเฉพาะตน ผมแลกเปลี่ยนว่าของเหม็นของแต่ละวัฒนนธรรมอาหารเป็นหนึ่งในสิ่งที่สร้างพรมแดนการกินได้อย่างดี ผมเล่าว่า พ่อผมเป็นคนใต้ ซึ่งมีของเหม็นสารพัดแบบ ตั้งแต่ไตปลา บูดู เคย เคยปลา จนกระทั่ง จิงจัง (จานหลังนี่คนกรุงเทพฯ ไม่รู้จักแน่นอน) แต่แกกินปลาร้าแบบอยุธยาของบ้านแม่ผมไม่ได้ แกว่ามันเหม็น
 
ในอีกชั้นเรียนหนึ่ง นักศึกษาเกาหลีอีกคนเล่าว่า คนเกาหลีมีถั่วหมักอย่างหนึ่งที่กลิ่นแรงมาก เธอบอกว่าถั่วหมักนี่เป็นของมีค่าของครอบครัว จะเอามาเลี้ยงเฉพาะแขกคนสำคัญๆ เท่านั้น
 
หากเปรียบว่าอาหารคือภาษา ของเหม็น ของดิบ และบรรดาของกินที่ชวนผะอืดผะอมสำหรับคนต่างลิ้นก็ล้วนเป็นภาษาถิ่นของแต่ละวัฒนธรรม หากคนนอกไม่พร้อมที่จะพูดภาษาถิ่น ไม่พร้อมที่จะกลืนกินความแตกต่าง ก็อย่าหวังว่าจะสร้างมิตรภาพกับคนเหล่านั้นได้ 
 
ด้วยเพราะถือคตินั้น ผมจึงพยายามไม่ปฏิเสธของกินชวนผะอืดผะอมทั้งหลาย ทั้งเพื่อท้าทายขีดจำกัดการกินของตนเอง เพื่อค้นหาสุนทรียภาพใหม่ๆ บนแผ่นลิ้น และเพิ่อสร้างมิตรภาพผ่านการกิน
 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
หากผมจะเลิกเรียกอาจารย์ว่าอาจารย์เสีย ก็คงไม่มีใครใส่ใจอะไร เพียงแต่ผมเองต่างหากที่ยังใส่ใจว่า อาจารย์เคยสอนหนังสือผม และอาจารย์ก็ยังเป็นนักวิชาการรุ่นอาวุโสที่อยางน้อยก็มีศักดิ์ทางวิชาการที่โลกวิชาการในสายอาชีพเดียวกับผมเขายกย่องนับถือกัน ไม่อย่างนั้นอาจารย์ก็คงไม่ได้รับการยกย่องมาจนทุกวันนี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันสุดท้ายของการเดินทางในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม คณะเราเดินทางกลับฮานอย แต่เส้นทางที่กลับผ่านดินแดนในตำนานสำคัญที่ผมไม่เคยแวะมาก่อน คือศาลเจ้าหุ่งม์เวือง (Đền Hùng Vương) ที่เชื่อมโยงกับตำนานไข่ร้อยฟองและกำเนิดของกลุ่มชาติพันธ์ุไต
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จากเมืองไลและเมืองซอมา ผมกับเพื่อนร่วมทางมุ่งหน้าไปจุดหมายต่อไปคือไปพักที่เมืองถาน (Than Uyên) เมืองสำคัญของชาวไตดำอีกเมืองหนึ่ง เพื่อที่วันรุ่งขึ้นจะได้เดินทางต่อไปยังเมืองลอ (Nghĩa Lộ) โดยผ่านนาขั้นบันไดในถิ่นของชาวม้งที่อำเภอ หมู่ กัง จ่าย (Mù Căng Chải) และถิ่นฐานชาวเย้าที่ทำนา ณ เมืองลุง (Tú Lệ) แล้วพักค้างคืนที่เอียน บ๋าย (Yên Bái) ก่อนมุ่งหน้าสู่ฮานอยในอีกวันหนึ่ง ตลอดเส้นทางนี้ผมใจหายกับความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตลอดการเดินทาง สิ่งหนึ่งที่หนักหนาเสมอคือการดื่มกินกับคนพื้นเมือง ในการเดินทางครั้งนี้ มื้อที่แสนสาหัสที่สุดคือมื้อที่ต้องทั้งประคองตัวเอง ทั้งไม่ให้เสียน้ำใจ และทั้งไม่ให้เพื่อนร่วมทางเหน็ดเหนื่อยเกินกว่าจะร่วมทางกันต่อไปได้อย่างสนุกสนานเพลิดเพลิน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมืองไลเป็นเมืองสำคัญอย่างไรในประวัติศาสตร์เวียดนาม สยาม และฝรั่งเศส คงเป็นคำถามที่ไม่มีใครสนใจนัก เพราะเมืองไลปัจจุบันกำลังกลายเป็นอดีตที่ถูกกลบเกลื่อนลบเลือนไปจนเกือบหมดสิ้น ทั้งจากน้ำเหนือเขื่อน และจากการจัดการปกครองในปัจจุบัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมืองแถงมนดั่งขอบกระด้ง เมืองคดโค้งเยี่ยงเขาควาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อสักเกือบ 15 ปีก่อน ผมไปเสาะหาบ้านนาน้อยอ้อยหนูที่เมืองแถง (เดียนเบียนฟู) กับอาจารย์คำจอง นักชาติพันธ์ุวิทยาชาวไตดำ/เวียดนาม 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมืองลา (Sơn La) ไม่ใช่เมืองท่องเที่ยว แทบไม่มีใครรู้จักเมืองลาแม้ว่าเมืองนี้จะมีประวัติศาสตร์สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเดียนเบียนฟู เนื่องจากเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสใช้เป็นฐานในการปกครองเมืองคนไต แต่เดียนเบียนฟูโด่งดังขึ้นมาจากการที่ฝรั่งเศสแพ้พวกคอมมิวนิสต์เวียดนามอย่างราบคาบ ทำให้คนไม่ได้ทันสนใจว่า ก่อนหน้านั้นฝรั่งเศสปกครองเมืองคนไตอย่างไร แล้วมีฐานที่มั่นสำคัญอยู่ที่ไหนก่อนที่จะไปอยู่ที่เมืองแถงหรือเดียนเบียนฟู
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมมาเมืองมุน (Mai Châu, Hoà Bình) ครั้งแรกเมื่อปี 1998 มาเป็นผู้ช่วยวิจัย ตอนนั้นมาเดือนกุมภาพันธ์ อากาศหนาวมากแล้วเตรียมตัวไม่พอ ยังไม่รู้จักความหนาว เมื่อมาถึงที่นี่ ได้แต่นั่งผิงไฟ ขณะนั้นเมืองมุนเริ่มเปิดให้นักท่องเที่ยวมาพัก มีโฮมสเตย์อยู่สัก 5-6 หลัง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทุนมหาวิทยาลัยเกียวโตนี่ดีกว่าที่ผมคิด เดิมทีแค่รู้ว่าได้ทุนมาเพื่อทำวิจัย ซึ่งก็จะทำอะไรก็ทำไปเถอะ ตามข้อเสนอขอทุนที่เขียนไปไม่ถึงหนึ่งหน้ากระดาษ งานที่รับผิดชอบคือเสนองานสักสองครั้ง แล้วพยายามพิมพ์อะไรออกมาก็โอเคแล้ว นี่จึงถือว่าเป็นทุนชั้นยอด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาผมเดินทางด้วยรถไฟชินคันเซนจากเกียวโตไปโตเกียว มีเรื่องราวมากมายที่น่าบันทึกไว้ ณ ที่นี่ แต่เบื้องต้นขอเล่าเพียงตลาด Tsukiji ก่อน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตกใจเหมือนกันที่ Divas Cafe จะเลิกออกอากาศแล้ว อยากบันทึกสั้นๆ ว่าผมดีใจ ภูมิใจ ปลื้มใจ ที่เคยได้เป็นแขกในรายการดีว่าส์ คาเฟ่ เป็นรายการที่ไปคุยด้วยสนุกมาก พิธีกรรุกเร้ามาก เวลาสั้นจนต้องปรับจังหวะการพูดให้เร็วมาก แถมบางครั้งยังต้องหาจังหวะแย่งพิธีกรพูดอีก