Skip to main content

ขณะกำลังนั่งกินหอยแครงลวกอยู่เวลานี้ ก็ชวนให้คิดถึงคำพูดของนักวิชาการกัมพูชาคนหนึ่ง ที่เคยนั่งต่อหน้าอาหารเกาหลีจานพิเศษ คือหนอนทะเลดิบตัดเป็นชิ้นๆ ขยับตัวดึบๆ ดึบๆ อยู่ในจานแม้จะถูกตั้งทิ้งไว้เป็นชั่วโมง ตอนนั้น ผมบ่ายเบี่ยงไม่กล้ากินอยู่นาน แม้จะรู้ว่าเป็นอาหารพิเศษราคาแพงที่ศาสตราจารย์ชาวเกาหลีสรรหามาเลี้ยงต้อนรับการมาเกาหลีครั้งแรกของพวกเราหลายคน เพื่อนกัมพูชาบอกว่า "กินเถอะพี่ หอยแครงลวกในเมืองไทยน่ากลัวกว่านี้อีก" ผมจึงหาเหตุที่จะหลบเลี่ยงอีกต่อไปไม่ได้

ก็เลยนึกย้อนกลับไปที่บทความที่เคยเขียนแต่ยังไม่ได้ตีพิมพ์เมื่อหลายปีก่อน และบทสนทนากับนักศึกษาเมื่อวาน
 
เมื่อวาน นักศึกษาเกาหลีคนหนึ่งมาพบ เธอมาขอคำปรึกษาเรื่องการเรียนต่อปริญญาเอกทางมานุษยวิทยาที่ธรรมศาสตร์ นักศึกษาคนนี้จบปริญญาโทภาษาศาสตร์ที่ธรรมศาสตร์ เขียนวิทยานิพนธ์เป็นภาษาไทย วิทยานิพนธ์เธอน่าสนใจมาก เธอเปรียบเทียบคำศัพท์ภาษาไทยว่า "ดู" กับ "เห็น" และคำศัพท์ภาษาเกาหลีว่า "โบดา" ที่แปลได้ทั้งดูและเห็น เธอสรุปว่า คำทั้งสองในภาษาไทยมีระบบคิดที่แตกต่างจากภาษาเกาหลี
 
แต่นักศึกษาคนนี้ไม่ได้อยากจะมาศึกษาเรื่องภาษาต่อ เธออยากเปลี่ยนมาทำความเข้าใจเรื่องอาหาร อยากเปรียบเทียบอาหารเกาหลีกับอาหารไทย ส่วนหนึ่งเพราะเธอหงุดหงิดกับอาหารเกาหลีในเมืองไทยที่มันผิดเพี้ยนไปจากที่เธอทำกินเองเหลือเกิน ส่วนอาหารไทย เธอคิดว่าน้ำปลาเป็นอัตลักษณ์สำคัญของอาหารไทย ผมแนะนำหนังสือเกี่ยวกับการศึกษาอาหารในทางมานุษยวิทยาไป แล้วชวนเธอคิดว่า น้ำปลาสำคัญกับอาหารไทยจริงหรือ
 
ผมเคยเขียนบทความชื่อทำนองว่า "ปัญญาสถิตในรส: รส รัฐ ผัสสะ และความเป็นชาติ" เสนอว่าอาหารแสดงถึงพรมแดนทางชาติพันธ์ุที่สำคัญ เราสร้างพรมแดนแบ่งแยกกลุ่มคนกันด้วยอะไรหลายอย่าง แต่พรมแดนที่เราแบ่งแยกกันและก้าวข้ามกันไม่ได้ง่ายๆ คือพรมแดนของผัสสะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พรมแดนที่ติดอยู่ที่ปลายลิ้นของเรา ผมจึงคิดว่า เพื่อนกินน่ะหายากกว่าเพื่อนตายยิ่งนัก
 
ผมชวนนักศึกษาคนนี้คิดเรื่องน้ำปลาต่อ เคยมีเพื่อนร่วมสถาบันที่อเมริกาคนหนึ่งศึกษาเรื่องน้ำปลาในเวียดนาม เขาได้ข้อสรุปว่า คนเวียดนามถือว่าน้ำปลาเป็นอัตลักษณ์แสดงความเป็นคนเวียด เมื่อได้คุยกับเขาครั้งแรก ในใจผมเถียงว่าไม่จริง คนไทยก็กินน้ำปลามากจะตาย น้ำปลาก็เป็นของไทยเหมือนกัน แต่เมื่อได้อ่านวิทยานิพนธ์ของเขา ได้รู้จักการกินและการใช้น้ำปลาของชาวเวียดนาม ผมก็เริ่มคล้อยตาม แล้วคิดว่า คนไทยไม่ได้รู้จักน้ำปลา ไม่ได้เคารพน้ำปลา ไม่ได้ให้ความหมายลึกซึ้งกับน้ำปลาได้เท่าคนเวียดนามแน่นอน
 
เช่นว่า คนเวียดมีภาษิตว่า "เด็กดีก็เหมือนน้ำปลาที่บ่มมาอย่างดี" หากไม่มีอะไรไหว้บรรพบุรุษจริงๆ แค่ได้น้ำปลากับข้าวเปล่าร้อนๆ สักถ้วยก็ใช้ได้แล้ว คนเวียดพิถีพิถันกับการหาเกลือมาทำน้ำปลามาก น้ำปลาดีต้องมีทั้งเกลือสมุทรและเกลือสินเธาว์ คนเวียดไม่ใช้น้ำปลาพร่ำเพรื่อแบบคนไทย เขาเหยาะน้ำปลาแต่เพียงน้อยในการปรุงรสเพื่อให้กลิ่นน้ำปลาเพียงพอเหมาะกับกลิ่นอาหาร และไม่ใช้น้ำปลาจิ้มหรือสาดรดอาหารแทบทุกจานแบบคนไทย
 
ผมชวนนักศึกษาเกาหลีคนนี้คุยเรื่อง "คิมจิ" แปลกๆ บางชนิดที่ผมเคยกินที่เกาหลี เธออธิบายอย่างภูมิใจว่า คนเกาหลีมีวิธีทำคิมจิแบบนับไม่ถ้วน แต่ละครัวเรือนต่างมีสูตรเฉพาะตน ผมแลกเปลี่ยนว่าของเหม็นของแต่ละวัฒนนธรรมอาหารเป็นหนึ่งในสิ่งที่สร้างพรมแดนการกินได้อย่างดี ผมเล่าว่า พ่อผมเป็นคนใต้ ซึ่งมีของเหม็นสารพัดแบบ ตั้งแต่ไตปลา บูดู เคย เคยปลา จนกระทั่ง จิงจัง (จานหลังนี่คนกรุงเทพฯ ไม่รู้จักแน่นอน) แต่แกกินปลาร้าแบบอยุธยาของบ้านแม่ผมไม่ได้ แกว่ามันเหม็น
 
ในอีกชั้นเรียนหนึ่ง นักศึกษาเกาหลีอีกคนเล่าว่า คนเกาหลีมีถั่วหมักอย่างหนึ่งที่กลิ่นแรงมาก เธอบอกว่าถั่วหมักนี่เป็นของมีค่าของครอบครัว จะเอามาเลี้ยงเฉพาะแขกคนสำคัญๆ เท่านั้น
 
หากเปรียบว่าอาหารคือภาษา ของเหม็น ของดิบ และบรรดาของกินที่ชวนผะอืดผะอมสำหรับคนต่างลิ้นก็ล้วนเป็นภาษาถิ่นของแต่ละวัฒนธรรม หากคนนอกไม่พร้อมที่จะพูดภาษาถิ่น ไม่พร้อมที่จะกลืนกินความแตกต่าง ก็อย่าหวังว่าจะสร้างมิตรภาพกับคนเหล่านั้นได้ 
 
ด้วยเพราะถือคตินั้น ผมจึงพยายามไม่ปฏิเสธของกินชวนผะอืดผะอมทั้งหลาย ทั้งเพื่อท้าทายขีดจำกัดการกินของตนเอง เพื่อค้นหาสุนทรียภาพใหม่ๆ บนแผ่นลิ้น และเพิ่อสร้างมิตรภาพผ่านการกิน
 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เกียวโตไม่ใช่เมืองที่ผมไม่เคยมา ผมมาเกียวโตน่าจะสัก 5 ครั้งแล้วได้ มาแต่ละครั้งอย่างน้อย ๆ ก็ 7 วัน บางครั้ง 10 วันบ้าง หรือ 14 วัน ครั้งก่อน ๆ นั้นมาสัมมนา 2 วันบ้าง 5 วันบ้าง หรือแค่ 3 ชั่วโมงบ้าง แต่คราวนี้ได้ทุนมาเขียนงานวิจัย จึงเรียกได้ว่ามา "อยู่" เกียวโตจริง ๆ สักที แม้จะช่วงสั้นเพียง 6 เดือนก็ตาม เมื่ออยู่มาได้หนึ่งเดือนแล้ว ก็อยากบันทึกอะไรไว้สักเล็กน้อยเกี่ยวกับการใช้ชีวิตที่นี่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นักวิชาการญี่ปุ่นที่ผมรู้จักมากสัก 10 กว่าปีมีจำนวนมากพอสมควร ผมแบ่งเป็นสองประเภทคือ พวกที่จบเอกจากอังกฤษ สหรัฐอเมริกา กับพวกที่จบเอกในญี่ปุ่น แต่ทั้งสองพวก ส่วนใหญ่เป็นทั้งนักดื่มและ foody คือเป็นนักสรรหาของกิน หนึ่งในนั้นมีนักมานุษยวิทยาช่างกินที่ผมรู้จักที่มหาวิทยาลัยเกียวโตคนหนึ่ง ค่อนข้างจะรุ่นใหญ่เป็นศาสตราจารย์แล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สองวันก่อนเห็นสถาบันวิจัยชื่อดังแห่งหนึ่งในประเทศไทยนำการเปรียบเทียบสัดส่วนทุนวิจัยอย่างหยาบ ๆ ของหน่วยงานด้านการวิจัยที่ทรงอำนาจแต่ไม่แน่ใจว่าทรงความรู้กี่มากน้อยของไทย มาเผยแพร่ด้วยข้อสรุปว่า ประเทศกำลังพัฒนาเขาไม่ทุ่มเทลงทุนกับการวิจัยพื้นฐานมากกว่าการวิจัยประยุกต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรส่งเสริมการทำวิจัยแบบที่สามารถนำไปต่อยอดทำเงินได้ให้มากที่สุด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ต้นปีนี้ (ปี 2559) ผมมาอ่านเขียนงานวิจัยที่มหาวิทยาลัยเกียวโต ผมมาถึงเมื่อวานนี้เอง (4 มกราคม 2559) เอาไว้จะเล่าให้ฟังว่ามาทำอะไร มาได้อย่างไร ทำไมต้องมาถึงที่นี่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
นับวัน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะยิ่งตกต่ำและน่าอับอายลงไปทุกที ล่าสุดจากถ้อยแถลงของฝ่ายการนักศึกษาฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อันถือได้ว่าเป็นการแสดงท่าทีของคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยต่อการแสดงออกของนักศึกษาในกรณี "คณะส่องทุจริตราชภักดิ์" ที่มีทั้งนักศึกษาปัจจุบันและศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รวมอยู่ด้วย ผมมีทัศนะต่อถ้อยแถลงดังกล่าวดังนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สำหรับการศึกษาระดับสูง ผมคิดว่านักศึกษาควรจะต้องใช้ความคิดกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งอย่างเป็นระบบ เป็นชุดความคิดที่ใหญ่กว่าเพียงการตอบคำถามบางคำถาม สิ่งที่ควรสอนมากกว่าเนื้อหาความรู้ที่มีอยู่แล้วคือสอนให้รู้จักประกอบสร้างความรู้ให้เป็นงานเขียนของตนเอง ยิ่งในระดับปริญญาโทและเอกทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ถึงที่สุดแล้วนักศึกษาจะต้องเขียนบทความวิชาการหรือตัวเล่มวิทยานิพนธ์ หากไม่เร่งฝึกเขียนอย่างจริงจัง ก็คงไม่มีทางเขียนงานใหญ่ ๆ ให้สำเร็จด้วยตนเองได้ในที่สุด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่เห็นด้วยกับการเซ็นเซอร์ ไม่เห็นด้วยกับการห้ามฉายหนังแน่ๆ แต่อยากทำความเข้าใจว่า ตกลงพระในหนังไทยคือใคร แล้วทำไมรัฐ ซึ่งในปัจจุบันยิ่งอยู่ในภาวะกะลาภิวัตน์ อนุรักษนิยมสุดขั้ว จึงต้องห้ามฉายหนังเรื่องนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ใน บทสัมภาษณ์นี้ (ดูคลิปในยูทูป) มาร์แชล ซาห์ลินส์ (Marshall Sahlins) นักมานุษยวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยชิคาโกให้สัมภาษณ์ต่อหน้าที่ประชุม ซาห์สินส์เป็นนักมานุษยวิทยาอเมริกันที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งที่แวดวงมานุษยวิทยายังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน เขาเชี่ยวชาญสังคมในหมู่เกาะแปซิฟิค ทั้งเมลานีเชียนและโพลีนีเชียน ในบทสัมภาษณ์นี้ เขาอายุ 83 ปีแล้ว (ปีนี้เขาอายุ 84 ปี) แต่เขาก็ยังตอบคำถามได้อย่างแคล่วคล่อง ฉะฉาน และมีความจำดีเยี่ยม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การรับน้องจัดได้ว่าเป็นพิธีกรรมอย่างหนึ่ง เป็นพิธีกรรมที่วางอยู่บนอุดมการณ์และผลิตซ้ำคุณค่าบางอย่าง เนื่องจากสังคมหนึ่งไม่ได้จำเป็นต้องมีระบบคุณค่าเพียงแบบเดียว สังคมสมัยใหม่มีวัฒนธรรมหลายๆ อย่างที่ทั้งเปลี่ยนแปลงไปและขัดแย้งแตกต่างกัน ดังนั้นคนในสังคมจึงไม่จำเป็นต้องยอมรับการรับน้องเหมือนกันหมด หากจะประเมินค่าการรับน้อง ก็ต้องถามว่า คุณค่าหรืออุดมการณ์ที่การรับน้องส่งเสริมนั้นเหมาะสมกับระบบการศึกษาแบบไหนกัน เหมาะสมกับสังคมแบบไหนกัน เราเองอยากอยู่ในสังคมแบบไหน แล้วการรับน้องสอดคล้องกับสังคมแบบที่เราอยากอยู่นั้นหรือไม่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การได้อ่านงานทั้งสามชิ้นในโครงการวิจัยเรื่อง “ภูมิทัศน์ทางปัญญาแห่งประชาคมอาเซียน” ปัญญาชนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (และที่จริงได้อ่านอีกชิ้นหนึ่งของโครงการนี้คืองานศึกษาปัญญาชนของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามคนสำคัญอีกคนหนึ่ง คือเจื่อง จิง โดยอ.มรกตวงศ์ ภูมิพลับ) ก็ทำให้เข้าใจและมีประเด็นที่ชวนให้คิดเกี่ยวกับเรื่องปัญญาชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น ผมคงจะไม่วิจารณ์บทความทั้งสามชิ้นนี้ในรายละเอียด แต่อยากจะตั้งคำถามเพิ่มเติมบางอย่าง และอยากจะลองคิดต่อในบริบทที่กว้างออกไปซึ่งอาจจะมีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์กับผู้วิจัยและผู้ฟังก็สุดแล้วแต่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เชอร์รี ออร์ตเนอร์ นักมานุษยวิทยาผู้เชี่ยวชาญเนปาล แต่ภายหลังกลับมาศึกษาสังคมตนเอง พบว่าชนชั้นกลางอเมริกันมักมองลูกหลานตนเองดุจเดียวกับที่พวกเขามองชนชั้นแรงงาน คือมองว่าลูกหลานตนเองขี้เกียจ ไม่รู้จักรับผิดชอบตนเอง แล้วพวกเขาก็กังวลว่าหากลูกหลานตนเองไม่ปรับตัวให้เหมือนพ่อแม่แล้ว เมื่อเติบโตขึ้นก็จะกลายเป็นผู้ใช้แรงงานเข้าสักวันหนึ่ง (ดู Sherry Ortner "Reading America: Preliminary Notes on Class and Culture" (1991)) 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วานนี้ (23 กค. 58) ผมไปนั่งฟัง "ห้องเรียนสาธารณะเพื่อประชาธิปไตยใหม่ครั้งที่ 2 : การมีส่วนร่วมและสิทธิชุมชน" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตลอดทั้งวันด้วยความกระตืนรือล้น นี่นับเป็นงานเดียวที่ถึงเลือดถึงเนื้อมากที่สุดในบรรดางานสัมมนา 4-5 ครั้งที่ผมเข้าร่วมเมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา เพราะนี่ไม่ใช่เพียงการเล่นกายกรรมทางปัญญาหรือการเพิ่มพูนความรู้เพียงในรั้วมหาวิทยาลัย แต่เป็นการรับรู้ถึงปัญหาผู้เดือดร้อนจากปากของพวกเขาเองอย่างตรงไปตรงมา