Skip to main content

ขณะกำลังนั่งกินหอยแครงลวกอยู่เวลานี้ ก็ชวนให้คิดถึงคำพูดของนักวิชาการกัมพูชาคนหนึ่ง ที่เคยนั่งต่อหน้าอาหารเกาหลีจานพิเศษ คือหนอนทะเลดิบตัดเป็นชิ้นๆ ขยับตัวดึบๆ ดึบๆ อยู่ในจานแม้จะถูกตั้งทิ้งไว้เป็นชั่วโมง ตอนนั้น ผมบ่ายเบี่ยงไม่กล้ากินอยู่นาน แม้จะรู้ว่าเป็นอาหารพิเศษราคาแพงที่ศาสตราจารย์ชาวเกาหลีสรรหามาเลี้ยงต้อนรับการมาเกาหลีครั้งแรกของพวกเราหลายคน เพื่อนกัมพูชาบอกว่า "กินเถอะพี่ หอยแครงลวกในเมืองไทยน่ากลัวกว่านี้อีก" ผมจึงหาเหตุที่จะหลบเลี่ยงอีกต่อไปไม่ได้

ก็เลยนึกย้อนกลับไปที่บทความที่เคยเขียนแต่ยังไม่ได้ตีพิมพ์เมื่อหลายปีก่อน และบทสนทนากับนักศึกษาเมื่อวาน
 
เมื่อวาน นักศึกษาเกาหลีคนหนึ่งมาพบ เธอมาขอคำปรึกษาเรื่องการเรียนต่อปริญญาเอกทางมานุษยวิทยาที่ธรรมศาสตร์ นักศึกษาคนนี้จบปริญญาโทภาษาศาสตร์ที่ธรรมศาสตร์ เขียนวิทยานิพนธ์เป็นภาษาไทย วิทยานิพนธ์เธอน่าสนใจมาก เธอเปรียบเทียบคำศัพท์ภาษาไทยว่า "ดู" กับ "เห็น" และคำศัพท์ภาษาเกาหลีว่า "โบดา" ที่แปลได้ทั้งดูและเห็น เธอสรุปว่า คำทั้งสองในภาษาไทยมีระบบคิดที่แตกต่างจากภาษาเกาหลี
 
แต่นักศึกษาคนนี้ไม่ได้อยากจะมาศึกษาเรื่องภาษาต่อ เธออยากเปลี่ยนมาทำความเข้าใจเรื่องอาหาร อยากเปรียบเทียบอาหารเกาหลีกับอาหารไทย ส่วนหนึ่งเพราะเธอหงุดหงิดกับอาหารเกาหลีในเมืองไทยที่มันผิดเพี้ยนไปจากที่เธอทำกินเองเหลือเกิน ส่วนอาหารไทย เธอคิดว่าน้ำปลาเป็นอัตลักษณ์สำคัญของอาหารไทย ผมแนะนำหนังสือเกี่ยวกับการศึกษาอาหารในทางมานุษยวิทยาไป แล้วชวนเธอคิดว่า น้ำปลาสำคัญกับอาหารไทยจริงหรือ
 
ผมเคยเขียนบทความชื่อทำนองว่า "ปัญญาสถิตในรส: รส รัฐ ผัสสะ และความเป็นชาติ" เสนอว่าอาหารแสดงถึงพรมแดนทางชาติพันธ์ุที่สำคัญ เราสร้างพรมแดนแบ่งแยกกลุ่มคนกันด้วยอะไรหลายอย่าง แต่พรมแดนที่เราแบ่งแยกกันและก้าวข้ามกันไม่ได้ง่ายๆ คือพรมแดนของผัสสะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พรมแดนที่ติดอยู่ที่ปลายลิ้นของเรา ผมจึงคิดว่า เพื่อนกินน่ะหายากกว่าเพื่อนตายยิ่งนัก
 
ผมชวนนักศึกษาคนนี้คิดเรื่องน้ำปลาต่อ เคยมีเพื่อนร่วมสถาบันที่อเมริกาคนหนึ่งศึกษาเรื่องน้ำปลาในเวียดนาม เขาได้ข้อสรุปว่า คนเวียดนามถือว่าน้ำปลาเป็นอัตลักษณ์แสดงความเป็นคนเวียด เมื่อได้คุยกับเขาครั้งแรก ในใจผมเถียงว่าไม่จริง คนไทยก็กินน้ำปลามากจะตาย น้ำปลาก็เป็นของไทยเหมือนกัน แต่เมื่อได้อ่านวิทยานิพนธ์ของเขา ได้รู้จักการกินและการใช้น้ำปลาของชาวเวียดนาม ผมก็เริ่มคล้อยตาม แล้วคิดว่า คนไทยไม่ได้รู้จักน้ำปลา ไม่ได้เคารพน้ำปลา ไม่ได้ให้ความหมายลึกซึ้งกับน้ำปลาได้เท่าคนเวียดนามแน่นอน
 
เช่นว่า คนเวียดมีภาษิตว่า "เด็กดีก็เหมือนน้ำปลาที่บ่มมาอย่างดี" หากไม่มีอะไรไหว้บรรพบุรุษจริงๆ แค่ได้น้ำปลากับข้าวเปล่าร้อนๆ สักถ้วยก็ใช้ได้แล้ว คนเวียดพิถีพิถันกับการหาเกลือมาทำน้ำปลามาก น้ำปลาดีต้องมีทั้งเกลือสมุทรและเกลือสินเธาว์ คนเวียดไม่ใช้น้ำปลาพร่ำเพรื่อแบบคนไทย เขาเหยาะน้ำปลาแต่เพียงน้อยในการปรุงรสเพื่อให้กลิ่นน้ำปลาเพียงพอเหมาะกับกลิ่นอาหาร และไม่ใช้น้ำปลาจิ้มหรือสาดรดอาหารแทบทุกจานแบบคนไทย
 
ผมชวนนักศึกษาเกาหลีคนนี้คุยเรื่อง "คิมจิ" แปลกๆ บางชนิดที่ผมเคยกินที่เกาหลี เธออธิบายอย่างภูมิใจว่า คนเกาหลีมีวิธีทำคิมจิแบบนับไม่ถ้วน แต่ละครัวเรือนต่างมีสูตรเฉพาะตน ผมแลกเปลี่ยนว่าของเหม็นของแต่ละวัฒนนธรรมอาหารเป็นหนึ่งในสิ่งที่สร้างพรมแดนการกินได้อย่างดี ผมเล่าว่า พ่อผมเป็นคนใต้ ซึ่งมีของเหม็นสารพัดแบบ ตั้งแต่ไตปลา บูดู เคย เคยปลา จนกระทั่ง จิงจัง (จานหลังนี่คนกรุงเทพฯ ไม่รู้จักแน่นอน) แต่แกกินปลาร้าแบบอยุธยาของบ้านแม่ผมไม่ได้ แกว่ามันเหม็น
 
ในอีกชั้นเรียนหนึ่ง นักศึกษาเกาหลีอีกคนเล่าว่า คนเกาหลีมีถั่วหมักอย่างหนึ่งที่กลิ่นแรงมาก เธอบอกว่าถั่วหมักนี่เป็นของมีค่าของครอบครัว จะเอามาเลี้ยงเฉพาะแขกคนสำคัญๆ เท่านั้น
 
หากเปรียบว่าอาหารคือภาษา ของเหม็น ของดิบ และบรรดาของกินที่ชวนผะอืดผะอมสำหรับคนต่างลิ้นก็ล้วนเป็นภาษาถิ่นของแต่ละวัฒนธรรม หากคนนอกไม่พร้อมที่จะพูดภาษาถิ่น ไม่พร้อมที่จะกลืนกินความแตกต่าง ก็อย่าหวังว่าจะสร้างมิตรภาพกับคนเหล่านั้นได้ 
 
ด้วยเพราะถือคตินั้น ผมจึงพยายามไม่ปฏิเสธของกินชวนผะอืดผะอมทั้งหลาย ทั้งเพื่อท้าทายขีดจำกัดการกินของตนเอง เพื่อค้นหาสุนทรียภาพใหม่ๆ บนแผ่นลิ้น และเพิ่อสร้างมิตรภาพผ่านการกิน
 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอแสดงความคารวะจากใจจริงถึงความกล้าหาญจริงจังของพวกคุณ พวกคุณแสดงออกซึ่งโครงสร้างอารมณ์ของยุคสมัยอย่างจริงใจไม่เสแสร้ง อย่างที่แม่ของพวกคุณคนหนึ่งบอกกล่าวกับผมว่า "พวกเขาก็เป็นผลผลิตของสังคมในยุค 10 ปีที่ผ่านมานั่นแหละ" นั่นก็คือ พวกคุณได้สื่อถึงความห่วงใยต่ออนาคตของสังคมไทยที่พวกคุณนั่นแหละจะต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อไปให้สังคมได้รับรู้แล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปฏิกิริยาของสังคมต่อการกักขังนักศึกษา 14 คนได้ชี้ให้เห็นถึงการก้าวพ้นกำแพงความกลัวของประชาชน อะไรที่กระตุ้นให้ผู้คนเหล่านี้แสดงตัวอย่างฉับพลัน และการแสดงออกเหล่านี้มีนัยต่อสถานการณ์ขณะนี้อย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในโลกนี้มีสังคมมากมายที่ไม่ได้นับว่าตนเองเป็นกลุ่มชนเดียวกัน และการแบ่งแยกความแตกต่างของกลุ่มคนนั้นก็ไม่ได้ทาบทับกันสนิทกับความเป็นประเทศชาติ ชาว Rohingya (ขอสงวนการเขียนด้วยอักษรโรมัน เพราะไม่เห็นด้วยกับการออกเสียงตามภาษาพม่า) ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของกลุ่มคนที่ไม่ได้มีขอบเขตพื้นที่ที่อาศัยครอบครองอยู่ทาบกันสนิทกับขอบเขตพื้นที่ประเทศใดประเทศหนึ่ง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงเวลาของการสัมภาษณ์นักศึกษาใหม่ในแต่ละปีถือเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ที่ผมจะใช้อัพเดทความเปลี่ยนแปลงของสังคมหรือทำความเข้าใจสังคม จากมุมมองและประสบการณ์ชีวิตสั้นๆ ของนักเรียนที่เพิ่งจบการศึกษามัธยม ปีที่ผ่านๆ มาผมและเพื่อนอาจารย์มักสนุกสนานกับการตรวจสอบสมมติฐานของแต่ละคนว่าด้วยประเด็นต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องความขัดแย้งทางการเมือง บางทีก็ตรงกับที่มีสมมติฐานไว้บ้าง บางทีก็พลาดไปบ้าง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (31 พค. 58) ผมไปเป็นเพื่อนหลานสาววัย 13 ปี ที่ชวนให้ไปเที่ยวงานเทศกาลการ์ตูนญี่ปุ่นที่โรงแรมแห่งหนึ่งแถวถนนสุขุมวิท ผมเองสนับสนุนกิจกรรมเขียนการ์ตูนของหลานอยู่แล้ว และก็อยากรู้จักสังคมการ์ตูนของพวกเขา ก็เลยตอบรับคำชวน เดินทางขึ้นรถเมล์ ต่อรถไฟฟ้าไปกันอย่างกระตือรือล้น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สนามบินที่ไหนๆ ก็ดูเหมือนๆ กันไปหมด อยู่ที่ว่าจะออกจากไหน ด้วยเรื่องราวอะไร หรือกำลังจะไปเผชิญอะไร ในความคาดหวังแบบไหน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"ปับ เจียน ความ เจ้า ปัว ฟ้า" แปลตามตัวอักษรได้ว่า "หนังสือ เล่า เรื่อง เจ้า กษัตริย์ (แห่ง)ฟ้า" ซึ่งก็คือไบเบิลนั่นเอง แต่แปลเป็นภาษาไทดำแล้วพิมพ์ด้วยอักษรไทดำ อักษรลาว และอักษรเวียดนาม เมื่ออ่านแล้วจะออกเสียงและใช้คำศัพท์ภาษาไทดำเป็นหลัก
ยุกติ มุกดาวิจิตร
กรณีการออกเสียงชื่อชาว Rohingya ว่าจะออกเสียงอย่างไรดี ผมก็เห็นใจราชบัณฑิตนะครับ เพราะเขามีหน้าที่ต้องให้คำตอบหน่วยงานของรัฐ แต่ผมไม่เห็นด้วยกับการออกเสียงให้ตายตัวเบ็ดเสร็จว่าควรจะออกเสียงอย่างไรกันแน่ ยิ่งอ้างว่าออกเสียงตามภาษาพม่ายิ่งไม่เห็นด้วย ตามเหตุผลดังนี้ครับ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (7 พค. 58) ผมสอนวิชา "มานุษยวิทยาวัฒนธรรม" ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซินเป็นวันสุดท้าย มีเรื่องน่ายินดีบางอย่างที่อยากบันทึกไว้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
มันคงมีโครงสร้างอะไรบางอย่างที่ทำให้ "ร้านสะดวกซื้อ" เกิดขึ้นมาแทนที่ "ร้านขายของชำ" ได้ ผมลองนึกถึงร้านขายของชำสามสี่เมืองที่ผมเคยอาศัยอยู่ชั่วคราวบ้างถาวรบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อปี 2553 เป็นปีครบรอบวันเกิด 80 ปี จิตร ภูมิศักดิ์ มีการจัดงานรำลึกใหญ่โตที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเอ่ยถึงจิตรทีไร ผมก็มักเปรยกับอาจารย์ประวัติศาสตร์จุฬาฯ ท่านหนึ่งว่า "น่าอิจฉาที่จุฬาฯ มีวิญญาณของความหนุ่ม-สาวผู้ชาญฉลาดและหล้าหาญอย่างจิตรอยู่ให้ระลึกถึงเสมอๆ" อาจารย์คณะอักษรฯ ที่ผมเคารพรักท่านนี้ก็มักย้อนบอกมาว่า "ธรรมศาสตร์ก็ต้องหาคนมาเชิดชูของตนเองบ้าง"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันที่ 30 เมษายน 2558 เป็นวันครบรอบ 40 ปี "ไซ่ง่อนแตก"Ž เดิมทีผมก็ใช้สำนวนนี้อยู่ แต่เมื่อศึกษาเกี่ยวกับเวียดนามมากขึ้น ก็กระอักกระอ่วนใจที่จะใช้สำนวนนี้ เพราะสำนวนนี้แฝงมุมมองต่อเวียดนามแบบหนึ่งเอาไว้