Skip to main content

ยามปีใหม่ ยากที่จะหาของขวัญที่ไม่กลายเป็นขยะในชั่วข้ามคืนได้ เพื่อนชาวอเมริกันที่ผมรู้จักหลายคน ซึ่งดูท่าจะทั้งเป็นนักช้อปและเป็นคนช่างมีเหตุผล ก็เลยใช้วิธีให้เด็กๆ เขียนลิสต์รายการสิ่งของที่อยากได้ยามสิ้นปี เพื่อเป็นหลักประกันว่าของที่ซื้อมาให้จะถูกใจผู้รับสักชิ้นหนึ่ง 

แต่ของขวัญที่คนรับถูกใจ บางครั้งเป็นของขวัญที่คนให้ตั้งใจให้ หรือเลือกนำสิ่งที่ตนรักมาให้ เดี๋ยวนี้จึงมีวิธีจับฉลากของขวัญด้วยการให้แต่ละคนนำของที่รักมา แล้วบอกว่าของสิ่งนั้นมีค่าอย่างไร ในงานปาร์ตีปีใหม่ที่ผมได้ไปร่วมเมื่อวันก่อน เพื่อนกลุ่มหนึ่งก็นำเอาวิธีการนี้มาใช้เล่นจับฉลากกัน

การจับฉลากแบบนี้จะสนุกยิ่งขึ้นหากมีการยอมให้ผู้ที่ไม่พอใจของขวัญตนเอง ขอแลกของขวัญกับคนอื่น โดยที่คนถูกขอไม่สามารถปฏิเสธได้ แต่การขอแลกก็ต้องมีที่สิ้นสุด เช่นในแต่ละรอบของการขอแลก อาจกำหนดให้สามารถเปลี่ยนมือได้เพียง 4 มือ แล้วก็ค่อยจับฉลากของขวัญชิ้นต่อไป วันก่อนเพื่อนบางคนก็เลยได้ของถูกใจกลับบ้าน ส่วนบางคนแม้ไม่ได้ของถูกใจ ก็มีส่วนทำให้การแลกเปลี่ยนในวันนั้นมีคุณค่าขึ้นมา

วิธีการเช่นนี้คล้ายคลึงกันกับวิธีที่ชาวเกาะทรอเบียนส์ในหมู่เกาะแปซิฟิคใต้ (เหนือประเทศออสเตรเลีย) เคยใช้ มาลินอฟสกี (Bronislaw Malinowski) ปรมจารย์ทางมานุษยวิทยาคนหนึ่งพบว่า ชาวเกาะสร้างวงแหวนของการแลกเปลี่ยน ที่เรียกกันว่า "กูลา" (kula) แลกของมีค่าคือสร้อยคอและกำไลแขน การแลกเปลี่ยนมีกฎเกณฑ์สำคัญได้แก่ สร้อยคอต้องแลกต่อๆ กันไปในทิศทางตามเข็มนาฬิกา ส่วนกำไลแขนต้องแลกต่อไปกันไปในทิศทางตรงกันข้าม

แม้ว่าสร้อยคอและกำไลแขนบางชิ้นจะมีชื่อเสียง มีค่า ผู้คนอยากเห็นอยากจับต้องอยากครอบครอง หากแต่ว่า แต่ละคนจะสามารถครอบครองสร้อยคอและกำไลแขนได้เพียงชั่วระยะเวลาหนึ่ง แบบสมบัติผลัดกันชม แล้วก็ต้องแลกต่อๆ กันไป เครือข่ายของการแลกเปลี่ยนนี้ใหญ่โตมาก กินอาณาบริเวณข้ามทะเลไปหลายเกาะ ข้ามกลุ่มคนที่พูดภาษาที่แตกต่างกันหลายสังคม

ในบรรดาการศึกษาเรื่องของขวัญ ดูจะไม่มีใครเกินมาร์เซล โมส (Marcel Mauss ในหนังสือชื่อ The Gift) เขาเสนอว่า ของขวัญมีวิญญาณของผู้ให้ฝังอยู่ ผู้รับจึงไม่ได้รับมาเพียงวัตถุ แต่รับความผูกพันทางใจของผู้ให้มาด้วย ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือ ของขวัญสร้างภาระผูกพันที่จะต้องตอบแทน หากไม่ใช่ด้วยสิ่งของ ก็ด้วยความภักดี การให้จึงนำมาซึ่งการแลกเปลี่ยนตอบแทนกลับคืนไม่ว่าจะรูปใดรูปหนึ่งเสมอ การแลกเปลี่ยนจึงสร้างพันธะทางสังคม

สิ่งของในนามของขวัญจึงไม่ได้เป็นเพียงวัตถุ แต่ยังมีคุณค่าทางจิตใจและคุณค่าทางสังคมแฝงอยู่ หากจะไม่รังเกียจวัตถุกันแบบนักจิตนิยมใจแคบหัวทื่อ วัตถุจึงนับเป็นสื่อสำคัญของการสร้างสายใยทางสังคม

โมสทำให้ของขวัญกลายเป็นมโนทัศน์ทางทฤษฎีที่ยิ่งกว่าเพียงตัวของขวัญเป็นชิ้นๆ แต่เขาได้ขยายความเข้าใจเรื่องของขวัญไปสู่การแสกเปลี่ยนแบบอื่นๆ ทั้งงานปาร์ตี งานเลี้ยงฉลอง คำอวยพร ตลอดจนการบนบานศาลกล่าว การบริจาค การทำทาน กิจกรรมเหล่านี้ล้วนเป็นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ที่ไม่ได้วางอยู่บนความสมเหตุสมผลในทางวัตถุแบบแกนๆ 

หากแต่คนแลกเปลี่ยนในงานเฉลิมฉลองกันบนความสมเหตุสมผลทางสังคม และความสัมพันธ์ที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น ได้แก่ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ที่นอกจากจะวางอยู่บนความสัมพันธ์เชิงระบบนิเวศน์แล้ว ยังมีความสัมพันธ์ทางจิตวิญญาณ

ลัทธิพิธีทางศาสนาแบบโบราณ ที่ดูเหมือนไร้เหตุผลในสายตาของนักการศาสนาแบบศาสนาใหญ่ๆ ของโลกทั้งหลาย หรือดูเหมือนสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุในสายตาของนักเศรษฐศาสตร์ทุนนิยมและนักเศรษฐศาสตร์มาร์กซิสต์ (สายคร่ำครึ) ล้วนวางอยู่บนหลักการทางสังคมและจิตวิญญาณที่มีเหตุมีผลของตัวเองไปอีกแบบหนึ่ง

ในขณะเดียวกัน เราจึงเห็นได้ว่าคนปัจจุบันก็ไม่ได้ต่างไปจากคนโบราณ เนื่องจากเรายังแลกเปลี่ยนของขวัญกันอยู่ เรายังเฉลิมฉลองกันอยู่ เรายังอวยพรและขอพรกันอยู่ แม้ว่าความเข้าใจแบบเดิมจะถูกแทรกแซงจากความสมเหตุสมผลอย่างใหม่ๆ หรือถูกลดทอนคุณค่าลงไปบ้างก็ตาม

ฉะนั้น จงมาร่วมกันเฉลิมฉลอง ร่วมกันแลกเปลี่ยนสิ่งของ ร่วมกันสืบทอดความเป็นมนุษย์ ด้วยการ "ฆ่าเวลา" กับการดื่มฉลองข้ามปี (ยังอาจจะดีเสียกว่าสวดมนต์ข้ามปีอย่างไม่ใยดีกับการสังหารหมู่ประชาชน) ด้วยการแลกเปลี่ยนคำอวยพร (แม้จะต้องทนฟังคำอวยพรจากคนที่คอยระแวงว่าเราจ้องจะล้มล้างเขากันบ้าง) ด้วยการปาร์ตีหลายๆ วงกับเพื่อนหลากกลุ่ม (เพราะสังคมสมัยใหม่แหลกละเอียดด้วยอาณาบริเวณทางสังคมที่แต่ละคนสร้างขึ้นมาอย่างกระจัดกระจาย

อย่างไรเสีย (มีคำเตือนอย่างปอดๆ แบบคน "สมัยใหม่" ที่นิยมในเหตุผลอย่างแคบว่า) หากคุณไม่ได้เชื่อถือในปรัชญาของการสูญเสียอย่างที่สุดจนสามารถยอมรับความสูญเสียต่อสุขภาพและชีวิตโดยไม่มีเงื่อนไขได้ ก็ขอให้ฉลองและแลกเปลี่ยนของกำนัลกันแต่พอประมาณ อย่าได้เตลิดเพลิดเพลินกันจนก่อความสูญเสียแก่ตนเองและสังคมมากนักเลย

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ภูมิทัศน์ทางปัญญาของนักศึกษาปัจจุบันเป็นอย่างไร น่าจะมีใครทำวิจัยเล็กๆ ดูกันบ้าง ผมเดาว่าส่วนใหญ่คงวนเวียนอยู่หน้า "กำแพง" สมุดพักตร์ (ขอยืมสำนวนที่เพื่อนนักวิชาการรุ่นพี่คนหนึ่งมักใช้บ่อยๆ)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตลกที่เวลาผมชื่นชมผู้ใหญ่ในวงการบางคนในบางโอกาส มีคนว่าผมประจบผู้ใหญ่ ไม่รู้จักวิพากษ์ ก็ไม่เป็นไร แต่ส่วนตัวผมและกับคนในวงการเดียวกันคงจะรู้สึกว่า ที่พูดถึงผมแบบนั้นน่ะเพี้ยนแล้ว เพราะผมวิพากษ์ "ผู้ใหญ่" ในวงวิชาการเดียวกันมาเสียจนลูกศิษย์ลูกหาของท่านๆ เหล่านั้นสุดจะทน จนขณะนี้ ผมยังนึกไม่ออกว่ายังเหลือผู้ใหญ่ในวงการท่านใดบ้างที่ผมยังไม่วิพากษ์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ระหว่างเดินทางไปมาด้วยรถไฟหลายเที่ยวในโอซากาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมเกิดฉุกคิดถามเพื่อนชาวญี่ปุ่นขึ้นมาว่า วิธีที่คนญี่ปุ่นฆ่าตัวตายมากที่สุดคือวิธีไหน เพื่อนตอบทันทีโดยไม่ได้คิดว่า "ก็กระโดดให้รถไฟชนตายนี่แหละ" 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข้อครหาอีกข้อที่มีคือ การที่ผมชอบคิดคำศัพท์ ใช้คำศัพท์ทางวิชาการรุงรัง นี่เป็นข้อครหาที่นักสังคมศาสตร์ไทยโดนเป็นประจำ เพื่อนนักวิชาการคนอื่นๆ คิดอย่างไรผมไม่ทราบ แต่ผมมีทัศนะของผมเองคร่าวๆ ดังที่จะเสนอในที่นี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เสียงสะท้อนที่รบกวนใจผมอยู่บ้างในระยะนี้ คือคำวิจารณ์ที่เข้ามาสู่หูผมมากขึ้นๆ ทุกวันว่า ผมเป็นพวกบ้าทฤษฎี พวกบ้าศัพท์แสง พวกบ้าวิพากษ์ และพวกคลั่งตะวันตก ซึ่งผมก็น้อมรับด้วยความยินดี
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 พึงสำเหนียกว่า กษัตริย์ไม่ใช่พ่อ เป็นเพียง "สมมุติพ่อ" ที่สังคมไทยอุปโลกน์ขึ้นมา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
แต่ละคนคงมีตำนานส่วนตัวของตนเอง ที่สะสมความทรงจำซึ่งมักออกจะเดินจริงไปสักหน่อย แม้เมื่อมาพบกับสถานที่ บุคคล หรือแม้แต่รสสัมผัส ในที่นี้คืออาหาร ในตำนานเข้าจริงๆ อีกสักครั้ง แล้วจะรู้สึกว่าความอลังการของบุคคลและวัตถุในตำนานจะถดถอยค่าลงบ้าง ก็ยังไม่ถึงกับจะทำให้ภาพงดงสมในตำนานเลือนหายไปได้ง่ายๆ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 เดินทางมาสัมมนาที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ท่าศาลา นครศรีธรรมราช ในงาน "สัมมนาวิชาการ การศึกษาสู่อาเซียน: มิติด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์" มาเที่ยวนี้มาเป็นวิทยากรเสนอเรื่องที่เคยเสนอไปหลายเวทีแล้ว แต่เป็นความคิดที่ผมยังพัฒนาไม่เต็มอิ่มดี ยิ่งนำเสนอก็ยิ่งเห็นมุมมองใหม่ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในวาระที่ประเทศไทยกำลังจะมีแผนแม่บทพัฒนาส้วมสาธารณะไทย ระยะที่ 3 (พ.ศ.2556-2559) (ตามข่าว) จึงขอนำวิดีโอ แสดงทัศนะของนักปรัชญาชื่อดังแห่งปลายศตวรรษที่ 20 ถึงต้นศตวรรษที่ 21 นาม สลาวอย ชีเชก (Slavoj Zizek) มาเพื่อให้แลกเปลี่ยนทำความเข้าใจกันว่า ทำไมส้วมจึงสำคัญนักหนา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (15 กพ.) ตามดูสามสาวดีว่าส์ คาเฟ่แสดงความเห็นกรณีปฏิทินนกแอร์ แล้วนึกถึงข้อวิจารณ์ที่คนอเมริกันบางคนมีต่อ Beyoncé ในการแสดงคั่นครึ่งเวลาซุปเปอร์โบว์ปีที่ผ่านมา คนวิจารณ์ Beyoncé ว่าทำตัวเป็นวัตถุทางเพศ แต่มีนักสังคมวิทยาอเมริกันเถียงว่า เธอใช้ความสามารถแสดงออก แม้จะอย่างยั่วยวน ก็ไม่ได้แปลว่าเธอกลายเป็นวัตถุทางเพศ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 วันวาเลนไทน์ในแบบที่เข้าใจกันทุกวันนี้ กลายเป็นทั้งวัฒนธรรมโลกและวัฒนธรรมท้องถิ่น ที่ผ่านมาผมก็ไม่เคยคิดกับมันหรอก แต่เมื่อคุณคำ ผกาชวนไปพูดคุยเรื่ิงความรักในรายการดีว่าส์ คาเฟ่ เมื่อวันที่ 14 กพ. ผมก็ตอบตกลงอย่างไม่ลังเล ก็มันน่าตื่นเต้นน้อยเสียเมื่อไหร่ ที่จะได้ออกรายการสดกับสามสาวแสนฉลาดและรวยเสน่ห์ แต่จากที่เขาชวนคุยเรื่องรักใคร่ ไปๆ มาๆ ก็กลับวกไปกลายเป็นเรื่องรัฐเร่่ืองไพร่เสียได้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
 พอดีเมื่อสักครู่เพิ่งเห็นภาพภาพหนึ่ง เป็นภาพซอกตึกเมืองเล็กๆ ที่ไหนสักแห่ง มีคำบรรยายภาพว่า “Put down that map and get wonderfully lost.” “วางแผนที่นั่นเสียเถอะ แล้วหลงทางให้อัศจรรย์ใจ” ก็เลยคิดเรื่อยเปื่อยถึงความหมายของการหลงทาง