Skip to main content

ข่าวการเสียชีวิตของอาจารย์พัฒนา กิติอาษาเมื่อเช้าตรู่วานนี้ (10 มกราคม 2556) คงไม่เป็นที่สนใจของใครต่อใครนอกแวดวงวิชาการสังคมศาสตร์มากนัก แต่นี่นับเป็นความสูญเสียครั้งสำคัญของแวดวงสังคมศาสตร์ไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ผมไม่ได้รู้จักอาจารย์พัฒนาเป็นการส่วนตัว ไม่ได้ร่วมศึกษาสถาบันเดียวกับท่านเหมือนนักวิชาการไทยหลายๆ ท่าน ไม่เคยร่วมงานวิชาการกับท่านโดยตรง แต่ใครก็ตามที่ทำงานทางวิชาการในสายสังคมศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางมานุษยวิทยา และใครก็ตามที่อยู่แวดวงไทยศึกษา ย่อมรู้จักชื่อพัฒนา กิติอาษา
 
ด้วยวัย 45 ปี กล่าวได้ว่าอาจารย์พัฒนาเป็นนักวิชาการรุ่นใหม่ผู้หนึ่ง ที่มุ่งมั่นที่จะมีส่วนในการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของวงการมานุษยวิทยาของภูมิภาคนี้และของโลก การศึกษาสังคมอีสานบ้านเกิดของอาจารย์พัฒนาภายใต้การฝึกฝนกับชาร์ลส์ คายส์ (Charles Keyes) นักมานุษยวิทยาอเมริกันผู้เข้าออกอีสานมากกว่านักวิชาการไทยส่วนใหญ่ ไม่ได้ทำให้ท่านเป็นเพียงนักมานุษยวิทยาพื้นถิ่นที่เพียงนำเสนอข้อมูลต่อวงวิชาการโลก หากแต่อาจารย์พัฒนายังนำเสนอภาพความเข้าใจอีสานด้วยทัศนะของท่านเอง และจากมุมมองของกลุ่มคนที่ไม่ค่อยได้เป็นที่สนใจในแวดวงไทยศึกษามากนัก
 
ที่สำคัญคือการศึกษาคนงานอีสานในสิงคโปร์ ซึ่งชี้ให้สภาพชีวิตและการต่อสู้ของลูกอีสานยุคโลกาภิวัตน์ และผลงานล่าสุดชิ้นหนึ่งที่ทำความเข้าใจการต่อสู้ทางการเมืองของชาวอีสาน ว่าแสดงความเป็นตัวของตัวเองของชาวอีสานเอง หาใช่ว่าชาวอีสานเป็นเพียงเบี้ยที่ถูกนักการเมืองหลอกใช้ ภาพชาวอีสานดังกล่าวเพิ่มพูนความเข้าใจสังคมไทยและการต่อสู้ดิ้นรนของสามัญชนให้โลกวิชาการสังคมศาสตร์ ผู้มีอำนาจ และสาธารณชนทั่วไปอย่างยิ่ง 
 
อาจารย์พัฒนาเป็นนักวิชาการไทยในจำนวนน้อยคนที่เลือกเส้นทางทางวิชาการที่ยากลำบาก ด้วยการก้าวออกไปสู่เวทีวิชาการนานาชาติ แม้จังหวะก้าวของท่านจะออกไปในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจในโลกวิชาการตะวันตกเริ่มตกสะเก็ด หางานยาก แต่ท่านก็ยังได้ตำแหน่งเป็นอาจารย์ประจำที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในสถาบันอุดมศึกษาที่ก้าวหน้าในทางวิชาการมากที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย 
 
การก้าวไปสู่เวทีนานาชาติเรียกร้องความเข้มงวดทางวิชาการและความสามารถเป็นอย่างยิ่ง เหนือสิ่งอื่นใด ยังเรียกร้องความอุตสาหะในการดำเนินชีวิตในต่างแดน ที่ทั้งไร้ถิ่นฐานและไร้ญาติขาดมิตร อาจารย์พัฒนาเคยเล่าว่า ส่วนหนึ่งของการไปศึกษาชาวอีสานพลัดถิ่นในสิงคโปร์ ก็เพื่อชดเชยความคิดถึงบ้านด้วยเช่นกัน
 
คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ธรรมศาสตร์ ที่ผมทำงานอยู่ มีโอกาสได้ฟังคำบรรยายพิเศษของอาจารย์พัฒนาครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2555 อาจารย์พัฒนาเล่าชีวิตการเป็นนักมานุษยวิทยาในประเทศที่แทบไม่ต้องการวิชามานุษยวิทยา ผมบันทึกไว้ตอนหนึ่งดังนี้
 
"ดร.พัฒนาเล่าว่า ไม่ใช่ว่าไม่มีนักมานุษยวิทยาในสิงค์โปร ตัวเขาเองก็เป็นตัวอย่างอยู่แล้ว เพียงแต่จำนวนนักมานุษยวิทยาในสิงค์โปร น้อยมาก มีไม่เกิน 10 คน ในจำนวนนี้เป็นชาวสิงคโปร์เองไม่ถึง 5 คน ไม่มีสถาบันวิจัย สถาบันการศึกษา คณะ ภาควิชาทางมานุษยวิทยา นักมานุษฯ เหล่านี้สังกัดอยู่ในสถาบันต่างๆ ที่ไม่ได้ระบุชื่อเกี่ยวกับมานุษยวิทยา เช่น ในภาควิชาภูมิศาสตร์ หรือภาควิชาด้านภูมิภาคศึกษา นักมานุษฯ ทั้งชาวสิงค์โปร และชาวต่างชาติมักไม่ได้เก็บข้อมูลในพื้นที่ประเทศสิงคโปร์...
 
"ดร.พัฒนาอธิบายว่า ที่เป็นดังนี้เพราะสิงค์โปร เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจ วิชามานุษยวิทยาไม่ทำเงิน และช่างตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์สิ่งต่างๆ วิพากษ์รัฐ เข้าข้างคนยากไร้มากเกินไป รัฐจึงไม่สนับสนุน...
 
"ดร.พัฒนาเล่าว่า แล้วตัวเขาเองเป็นนักมานุษฯ อยู่ในสิงค์โปร ได้อย่างไร เขาเขียนบทความ พิมพ์ผลงานเกี่ยวกับประเทศไทย โดยเฉพาะเรื่องคนอีสาน และภายหลังได้รู้จักคุ้นเคย ผูกมิตรกับชาวอีสานที่ไปทำงานในสิงค์โปร จนได้ผลิตผลงานออกมาอีกจำนวนหนึ่ง นอกจากนั้น เขายังเป็นคนหลักในการพานักศึกษาทั้งสิงค์โปร และจากโครงการแลกเปลี่ยนระหว่างมหาวิทยาลัยแห่งชาติ (NUS) กับมหาวิทยาลัยชั้นนำในอเมริกา ยุโรป พานักศึกษาไปประเทศไทย และประเทศในอินโดจีน"
 
ค่ำวันนั้น ผมมีโอกาสได้ไปสังสรรค์กับท่าน ชวนท่านไปกินข้าวที่ร้านอาหารของสามัญชนที่ควรเคารพและน่าคบหาท่านหนึ่งย่านอรุณอัมรินทร์ ร่วมกับเพื่อนนักมานุษยวิทยาที่สนิทกันอีกสามคน อาจารย์พัฒนาตื่นเต้นกับทั้งอาหาร การได้คารวะเจ้าของสถานที่ และมื้ออาหารที่แสนสนุกเย็นนั้นมาก เรื่องที่เราคุยกันก็ล้วนเป็นเรื่องที่เจ้าของสถานที่เรียกว่า "กับแกล้มในวงเหล้า" 
 
ที่ผมประทับใจอาจารย์พัฒนาคือจริตสามัญที่แสดงออกจากความเรียบง่าย ตรงไปตรงมา และเหนืออื่นใดคือ ยอมรับความตายที่กำลังเดินเข้ามาอย่างสงบเย็น คำพูดที่ผมคิดว่าแสดงความเป็นตัวตนของอาจารย์พัฒนาได้ดีคือคำพูดหนึ่งที่ท่านกล่าวไว้ในการเสวนาที่ธรรมศาสตร์ ซึ่งฆัสรา ขมะวรรณ มุกดาวิจิตร บันทึกไว้ว่า
 
"ช่วงสุดท้ายของการไปพูดที่คณะสังคมวิทยาฯ มธ. เมื่อปีก่อน หลังจากที่พูดเรื่องความตายของคนอื่นจบแล้ว อาจารย์ก็พูดถึงชีวิตของตัวเองอย่างหยิกแกมหยอกว่า "ถ้าเป็นพวก medical anthro (นักมานุษยวิทยาการแพทย์) ก็จะถามแต่ว่า "why meๆๆๆๆๆๆๆ?"... แต่ผมไม่ถามอย่างนั้น ผมถามว่า "why can't it be me?" (ทำไมจะถึงคราผมบ้างไม่ได้ล่ะ)"

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (4 ตุลาคม 2560) นิสิตมหาวิทยาลัยหนึ่งโทรศัพท์มาสัมภาษณ์เรื่องการพิมพ์คำ "คะ" "ค่ะ" ผิดๆ ในโซเชียลมีเดียและการส่งข้อความต่างๆ บอกว่าจะเอาไปลงวารสารของคณะเธอ เธอถามว่าการใช้คำผิดแบบนี้มีนัยทางสังคมอย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อคืนวาน (30 กันยายน 2560) นักศึกษาปริญญาโทชั้นเรียนมานุษยวิยาคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้เขียนบทละครเรื่อง "The Dark Fairy Tales นิทานเรื่องนี้ไม่เคยเล่า" ชวนไปดูและร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นหลังละครจบ ช่วยให้คิดอะไรเกี่ยวกับการอ่านนิทานได้อีกมากทีเดียวจึงอยากบันทึกไว้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การสนทนาอย่างออกรสไม่ได้จะต้องอยู่ในบรรยากาศเคร่งขรึมในห้องเรียน ห้องสัมมนาเสมอไป ด้วยเหตุนี้ผมจึงเชื่อว่า การใช้เวลานอกห้องเรียน นอกห้องสัมมนาวิชาการ สำคัญไม่น้อยไปกว่าการใช้เวลาในห้องสี่เหลี่ยมที่มีระเบียบต่างๆ ควบคุมการสนทนาอย่างเคร่งครัดเกินไป
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จากเหตุการณ์เข้ามาคุกคามพื้นที่ทางวิชาการของคณะทหารในการประชุมไทยศึกษานานาชาติครั้งที่ 13 ที่เชียงใหม่ จนทำให้นักวิชาการที่มาร่วมประชุมกลุ่มหนึ่งแสดงออกด้วยการชูป้าย "เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร" แล้วท้ายสุดมีนักวิชาการ 5 คนถูกตั้งข้อหาว่าเป็นคนนอกเข้ามายุยงให้ต่อต้านรัฐบาล
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันแม่นำความกระอักกระอ่วนใจมาให้ผมตั้งแต่ยังเด็ก เพราะแม่ในเพลง "ค่าน้ำนม" ที่เด็กในกรุงเทพฯ รุ่นผมถูกให้หัดร้องตามจนแทบจะจำเนื้อได้ทั้งเพลงมาตั้งแต่จำความได้ ไม่ตรงกับแม่ในชีวิตจริงของผม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะอาจารย์มหาวิทยาลัยคนหนึ่ง ผมไม่อาจยอมรับการกระทำของอาจารย์ต่อนิสิตด้วยความรุนแรงดังที่เกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยอันทรงเกียรติแห่งหนึ่งได้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้เกิดความผิดพลาดบางอย่างทำให้บทแนะนำอาจารย์แคทเธอรีน บาววี องค์ปาฐกคนหนึ่งของงานประชุมไทยศึกษาปีนี้ที่จังหวัดเชียงใหม่ ไม่ได้ถูกนำเสนอในงานประชุม ในเมื่อผมเตรียมไปพูดแล้วแต่ไม่ได้พูด ก็ขอนำบันทึกที่ร่างไว้นี้มาเผยแพร่ในที่นี้แทนก็แล้วกัน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"ฟ้าข้างในนี้กว้างกว่าข้างนอก ฟ้าในนี้กว้างจนแทบจะเห็นขอบฟ้า"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงนี้คงเป็นช่วงเขียนรายงาน เขียนวิทยานิพนธ์ของหลายๆ คน ผมเองช่วงนี้เป็นช่วงต้องอ่านงานนักศึกษามากมาย ที่สาหัสที่สุดคืองานวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาปริญญาโทและเอก 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมอ่านงานจิตรครั้งแรกๆ ก็ตอนที่เรียนมหาวิทยาลัยระดับปริญญาตรี ตอนนั้นเมื่อออกจากโลกโรงเรียนก็รู้สึกว่า โลกหนังสือของห้องสมุดธรรมศาสตร์ช่างกว้างใหญ่มาก กว้างใหญ่กว่าห้องสมุดแห่งชาติที่สมัยเรียนมัธยมผมชอบไปสิงอยู่มากนัก นี่กล่าวเฉพาะหนังสือที่น่าอ่านเกี่ยวกับสังคม วัฒนธรรม ปรัชญา และศาสนา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (3 พค. 60) ผมไปวิจารณ์งานนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยซึ่งคณะราษฎรมีส่วนก่อตั้งเช่นกัน แต่สำคัญผิดกันไปว่าผู้อื่นมีบุญคุณมากกว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บางทีนามสกุลกับบทบาทความเป็นครูของครูฉลบชลัยย์ พลางกูร คงไม่ทำให้คนสนใจครูฉลบเกินบทบาทไปกว่าการเป็นภรรยาของนายจำกัด พลางกูร และเป็นผู้ให้กำเนิดโรงเรียนดรุโณทยาน