Skip to main content

หากเรียกร้องเรื่องทรงผม ก็ต้องเรียกร้องเรื่องชุดนักเรียนนักศึกษาด้วย จะได้เป็นก้าวแรกของการอภิวัฒน์การศึกษาไทยอย่างจริงจังเสียที พวกผู้ใหญ่ที่คอยเรียกร้องนักเรียนกับครูอาจารย์ ให้สอนให้เด็กรู้จักคิดน่ะ พวกท่านเคยคิดบ้างหรือเปล่าว่า ชุดนักเรียนนักศึกษาเป็นปราการปิดกั้นเสรีภาพการคิดอย่างไร และเด็กๆ เองก็ควรเข้าใจด้วยว่า การควบคุมเรือนร่างเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสังคมแบบอำนาจนิยมอย่างไร

การบงการร่างกายเป็นก้าวแรกของการบงการทางสังคม ในทางจิตวิทยาสังคม การควบคุมการขับถ่ายเป็นจุดแรกเริ่มของอำนาจควบคุมทางสังคมในตัวมนุษย์ การควบคุมเรือนร่างมีในทุกสังคม แต่ต่างรูปแบบและต่างวัตถุประสงค์กันออกไป อำนาจบนเรือนกายคืออำนาจที่ใกล้ตัวที่สุด สังคมอำนาจนิยมจึงอาศัยการควบคุมเรือนร่างเป็นเครื่องมือที่สำคัญทั้งสิ้น

สังคมที่บังคับให้สมาชิกสวมเครื่องแบบเป็นสังคมอำนาจนิยม สังคมแบบนี้มักควบคุมการแสดงออกด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการควบคุมการแสดงออกทางเรือนร่าง เช่น สังคมของคนเคร่งศาสนาหรือนักบวช สังคมของค่ายทหาร โรงงานอุตสาหกรรม และบริษัทห้างร้านใหญ่ๆ สังคมลักษณะนี้ต้องการเอกภาพ จึงมีความเข้มงวดสูง และต้องควบคุมสมาชิก ไม่เว้นแม้แต่การแสดงออกทางเรือนร่าง สมาชิกในสังคมเหล่านี้จึงต้องแต่งกายให้เหมือนกัน สังคมเหล่านี้จึงมีระเบียบการแต่งกายที่เข้มงวด

ไปๆ มาๆ เครื่องแบบไม่เพียงเป็นเครื่องมือควบคุมทางสังคม แต่เครื่องแบบยังกลายเป็นตัวสถาบันของอำนาจในตัวของมันเอง เมื่อมันสวมลงมาในตัวแล้ว กลายเป็นว่าผู้สวมใส่ต้องเคารพมัน เครื่องแบบกลายเป็นนายเหนือเรา เครื่องแบบกลายเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจในตัวของมันเอง เครื่องแบบกลายเป็นตัวสถาบันที่เข้ามาครอบเราเมื่อเราสวมใส่ เราเป็นเพียงร่างทรงของเครื่องแบบ

คำถามคือ ในโรงเรียน ในสถาบันการศึกษา ในมหาวิทยาลัย ซึ่งเราต้องการปลูกฝังวัฒนธรรมของการใช้ความคิด การแสดงความคิดเห็น ความกล้าแสดงออก เราจะยังต้องควบคุมการแสดงออกขั้นพื้นฐานอย่างหนึ่งคือการแสดงออกของเรือนร่างไปทำไม หากเราควบคุมนักเรียนนักศึกษาให้แต่งกายอย่างไร ย่อมหมายถึงว่า เรากำลังควบคุมให้พวกเขาอยู่ในระบบระเบียบ กำลังลดทอนความเป็นคนของพวกเขา กำลังใช้อำนาจกดพวกเขาอยู่ด้วย

หลักการต่างๆ สำหรับบังคับให้นักศึกษาใส่เคร่่ืองแบบจึงล้วนเป็นข้ออ้าง ไม่ใช่เหตุผล เป็นข้ออ้างที่ยกมาเพื่อกลบเกลื่อนการใช้อำนาจควบคุม หากใช้เหตุผล ข้ออ้างเหล่านี้ล้วนฟังไม่ขึ้นทั้งสิ้น

(1) ข้ออ้างเรื่องความประหยัด? ฟังไม่ขึ้น การที่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องเสียเงินซื้อชุดนักเรียนในวันเปิดเทอมแต่ละภาคสิ้นเปลืองเพียงใด ย่อมรู้กันดี ในต่างจังหวัดห่างไกล การบังคับให้เด็กใส่ชุดนักเรียนเป็นปัญหามายาวนาน และอันที่จริง เมื่อเทียบคุณภาพของเนื้อผ้าและความสะดวกสบายแล้ว เสื้อยืดและกางเกงยีนส์ทั้งถูกและทนกว่าชุดนักเรียนนักศึกษาแน่นอน แถมเด็กๆ และนักศึกษายังสามารถใส่ได้ทุกโอกาส ไม่ใช่เอาไว้ใส่ไปโรงเรียนไปสถานศึกษาเท่านั้น 

แต่หากไม่ใส่ชุดนักเรียน การเปิดโอกาสให้สามารถหาเสื้อผ้าและรองเท้าที่เหมาะสมกับอากาศ ลักษณะนิสัย รสนิยม และกำลังทรัพย์ของผู้ปกครองเอง จะช่วยให้ผู้ปกครองและเด็กๆ มีทางเลือกมากขึ้น แทนที่จะสิ้นเปลืองเงิน พลังงาน และสิ่งแวดล้อม ไปกับการพยายามรักษาความขาวของเสื้อนักเรียน เสื้อยืดราคาย่อมเยากับกางเกงยีนส์หรือกางเกงขาสั้นราคาประหยัดที่มีอยู่มากมายตามตลาดนัด จะช่วยให้ผู้ปกครองประหยัดได้เช่นกัน

(2) ข้ออ้างเรื่องความสะอาด? ฟังไม่ขึ้น การบังคับให้นักเรียนทั้งหญิงและชายต้องใส่รองเท้าหนังหรือผ้าใบและถุงเท้าตลอดเวลานั้น ขัดกับอากาศบ้านเราอย่างยิ่ง ยิ่งพวกนักเรียนมักวิ่งเล่นกันตลอด ทำให้เหงื่อสะสมในถุงเท้ารองเท้ามาก โรงเรียนส่วนใหญ่ก็ไม่มีห้องอาบน้ำรองรับ ไม่มีการให้ผลัดเปลี่ยนเสื้อผ้าในวิชาพละ มาแต่เช้าชุดไหน ก็เรียนพละชุดนั้น ใส่ชุดนั้นวิ่งเล่นต่อตอนเย็น แล้วกลับบ้านโหนรถเมล์ เบียดเสียดยัดทะนานกันก็ไปในชุดนั้น

มีเกร็ดเกี่ยวกับเท้าผมคือ ตอนเด็กๆ เท้าผมเป็นเชื้อราตลอดเวลา ทั้งๆ ที่ผมซักรองเท้าทุกสัปดาห์จนสีซีดและพังไวจนต้องเปลืองเงินซื้อใหม่บ่อยๆ ส่วนถุงเท้า ผมซักเองตั้งแต่อายุ 10 ขวบ มันดำมากและเหม็นเพราะต้องถอดเดินในห้องเรียน จนผมพัฒนาวิธีซักถุงเท้าด้วยการซักถึง 3 น้ำ รอบแรกน้ำเปล่า ขยี้ถี่ๆ แรงๆ ความสกปรกจะออกไปจนย้อมให้น้ำใสๆ กลายเป็นดำเลยทีเดียว รอบสองใช้ผงซักฟอก รอบสุดท้ายน้ำเปล่า แต่จนแล้วจนรอด เท้าผมก็ยังเป็นเชื้อรา มีใครเคยสนใจเท้านักเรียนบ้างหรือไม่ สนใจสุขภาพบนเรือนกายจากการบังคับให้แต่งตัวแบบไม่เหมาะสมกับสภาวะอากาศร้อนชื้นบ้างหรือไม่ 

พอเข้ามหาวิทยาลัย ที่ธรรมศาสตร์ ส่วนใหญ่ผมดำเนินชีวิตแบบ "3 ย" คือเสื้อยืด กางเกงยีนส์ รองเท้ายาง ไม่เคยมีชุดนักศึกษา เคยใส่กางเกงสีดำ เสื้อเชิ้ตขาว รองเท้าหนังไปเรียนอยู่ไม่กี่เดือนเท่านั้น ไม่เคยมีเข็มขัดหัวตรามหาวิทยาลัย ชีวิตปลายเท้าผมดีขึ้นมาก ไม่เป็นเชื้อราอีกต่อไป และทำให้เพิ่งเข้าใจว่า ที่ผ่านมาเท้าตัวเองไม่ปกติ 

แต่มีวิชาหนึ่ง ผมใส่รองเท้าแตะ กางเกงยีนส์ เสื้อยืดเข้าไปเรียนในวันเปิดเทอมวันแรก ซึ่งก็เหมือนๆ กับไปเรียนวิชาอื่นๆ แต่ที่จริงผมตั้งใจจะไปเรียนวิชานี้มาก เพราะสนใจเนื้อหา แต่อาจารย์ไม่ค่อยเปิดสอน วันแรกเข้าไป เจออาจารย์ดุเอาว่า "เธอแต่งตัวแบบนี้แสดงว่าไม่เคารพอาจารย์และวิชานี้เลย" ผมไหว้อาจารย์ ไม่ได้ขอโทษแต่ร่ำลา แล้วหันหลังเดินออกจากห้อง ไปถอนวิชานั้นทันที 

(3) ข้ออ้างเรื่องความเหมาะสมกับเพศและวัย? ฟังไม่ขึ้น การบังคับให้นักเรียนหญิงนุ่งกระโปรงและสวมรองเท้าหนัง ซึ่งเป็นแบบของรองเท้าที่ใส่ไม่สบายเลย นับเป็นการกดขี่ทางเพศ เป็นการควบคุมการเคลื่อนไหวร่างกายของเด็กผู้หญิง แถมการนุ่งกระโปรงยังล่อแหลมต่อการล่วงละเมิดทางเพศได้มากกว่าการสวมกางเกง

เมื่อเร็วๆ นี้เห็น infographic ที่แชร์กันมากๆ ว่าประเทศไหนยังบังคับให้นักศึกษามหาวิทยาลัยแต่งชุดนักศึกษาอยู่แล้วขัดใจ เนื่องจากรวมประเทศเวียดนามไว้กับไทยด้วย คนทำคงนั่งเทียนคิดเอาเองว่าเวียดนามคงบังคับเหมือนไทย แต่ที่จริงเวียดนามไม่ได้บังคับให้นักศึกษามหาวิทยาลัยแต่งชุดนักศึกษา ไม่มีชุดนิสิตนักศึกษาในเวียดนาม แม้แต่ชุดนักเรียนหญิงเวียดนามก็ยังเป็นกางเกงเลย ไม่บังคับให้ต้องนุ่งกระโปรง

(4) ข้ออ้างเรื่องไม่ให้ไขว้เขวไปแต่งตัวยั่วเพศ? ฟังไม่ขึ้น การแต่งกายเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงออก เป็นการแสดงออกทางเรือนร่าง การแต่งกายแสดงความคิดเกี่ยวกับตัวเอง แสดงการให้ความหมายแก่ตัวเอง เป็นการสื่อสารทางสังคมและการปฏิสัมพันธ์กับสังคมที่อาศัยอยู่ ผู้แต่งกายทุกคนจึงต้องรู้จักตนเอง รู้จักเลือกที่จะบอกว่าฉันเป็นใคร เลือกที่จะสื่อสารกับสังคมที่เกี่ยวข้องด้วย ไม่ได้เพื่อเรียกร้องความสนใจทางเพศเท่านั้น 
 
ตรงกันข้าม ดังที่เราก็เห็นๆ กันอยู่ว่า ปัจจุบันชุดนักเรียนชุดนักศึกษากลายเป็นวัตถุทางเพศ ยั่วยุกามารมณ์ได้ไม่แพ้บิกินี่เช่นกัน
 
หากปลดแอกจากการใส่ชุดนักเรียนนักศึกษา การแสดงออกย่อมหลากหลายกว่านี้ เหมือนการแต่งตัวของวัยรุ่นทั่วไปเมื่อเขาไม่ได้ไปโรงเรียนหรือไม่ได้เข้าห้องเรียน ไม่ใช่ว่าทุกคนอยากจะย่ัวสวาทกันตลอดเวลา ไม่ใช่ว่าชุดรัดรูป แหว่งเว้าที่นั่นที่นี่จะยั่วยวนทุกคนได้เสมอไป และไม่ใช่ว่าการแสดงออกของวัยรุ่นจะต้องมุ่งกระตุ้นเร้าทางเพศกันตลอดเวลา
 
ที่สำคัญคือ การแสดงออกทางร่างกายเป็นด้านหนึ่งของการแสดงออกถึงความคิดสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะดูสร้างสรรค์หรือไม่ในสายตาผู้ใหญ่ก็ตาม การแต่งกายเป็นการบอกเล่าความคิด ความรู้สึก ความหมาย กระทั่งจิตวิญญาณของผู้สวมใส่ ไม่เช่นนั้นทำไมนักบวช ทหาร ข้าราชการ จึงไม่แต่งกายให้เหมือนไปกันหมดทั้งประเทศเล่า 
 
หากเด็กวันนี้ถูกปิดกั้นการแสดงออก ทำให้ไม่สามารถแม้แต่จะบอกได้ว่าตนเองเป็นใคร ผ่านเรือนร่าง ผ่านการแต่งกายของพวกเขา แล้วเราจะคาดหวังให้เขาโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความคิดต่อสิ่งต่างๆ อย่างสร้างสรรค์ได้อย่างไรเล่า จะให้พวกเขาสร้างสรรค์ความคิดความอ่านที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวเขาเองได้อย่างไร จะให้พวกเขากล้าแสดงออกถึงความคิดสร้างสรรค์ให้สังคมและประเทศชาติได้รับรู้ได้อย่างไร ถ้าแม้แต่กับร่างกายของเขาเองก็ยังไม่ให้พวกเขาคิดเห็น ไม่ให้พวกเขาแสดงออก

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมไม่แน่ใจว่านโยบายยุบโรงเรียนขนาดเล็กนี้จะดีหรือไม่ สงสัยว่า "คิดดีแล้วหรือที่จะยุบโรงเรียนขนาดเล็ก" ในทางเศรษฐศาสตร์แบบทื่อๆ คงมี "จุดคุ้มทุน" ของการจัดการศึกษาอยู่ระดับหนึ่ง ตามข่าว ดูเหมือนว่าควรจะอยู่ที่การมีนักเรียนโรงเรียนละ 60 คน แต่คงมีเหตุผลบางอย่างที่โรงเรียนตามพื้นที่ชนบทไม่สามารถมีนักเรียนมากขนาดนั้นได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตอนนี้เถียงกันมากเรื่องกะหรี่ ว่ากันไปมาจนกระทั่งทั้งสองฝ่ายก็หนีไม่พ้นเอาคำเดียวกัน หรือทัศนะคติเหยียดเพศหญิงเช่นเดียวกันมาด่ากัน ฝ่ายหนึ่งด่าอีกฝ่ายว่า "อีกะหรี่" อีกฝ่ายหนึ่งด่ากลับว่า "แม่มึงสิเป็นกะหรี่" หรือ "ไปเอากระโปรงอีนั่นมาคลุมหัวแทนไป๊" ตกลงก็ยังหนีไม่พ้นสังคมที่ดูถูกเพศหญิงอยู่ดี
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงสั้นๆ ของชีวิตผมมีโอกาสได้รู้จักคนในแวดวงนักเขียนรูป ผ่านครูสอนวาดเส้นให้ผมคนหนึ่ง ครูผมคนนี้มีเพื่อนคนหนึ่งที่เขาสนิทสนมกันดี ชื่อไสว วงษาพรหม เมื่อคืน ได้สนทนากับคนในแวดวงศิลปะ ที่เรือนชานแห่งหนึ่งที่มีไมตรีให้เพื่อนฝูงเสมอ ผมจึงเพิ่งทราบว่าไสวเสียชีวิตไปหลายปีแล้ว ลอง google ดูพบว่าเขาเสียชีวิตเมื่อ 22 สิงหาคม 2551
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทำไม "เหี้ย ควย หี เย็ด" จึงกลายเป็นภาพเขียนชุดล่าสุดของศิลปินเขียนภาพชั้นนำของไทย ทำไม "กะหรี่" จึงเป็นส่วนหนึ่งของข้อเขียนนักเขียนการ์ตูนผู้ทรงอิทธิพลของไทย ทำไมนักเศรษฐศาสตร์ไทยชั้นนำจึงเขียนคำ "อยากเอา" เป็นความเห็นประกอบภาพวิจารณ์นักการเมือง ทำไมภาษาแบบนี้จึงกลายมาเป็นภาษาทางการเมืองของคนที่มีความสามารถในการสื่อสารเหนือคนทั่วไปเหล่านี้ หลายคนวิเคราะห์แล้วว่า เพราะพวกเขาเร่ิมจนแต้มทางการเมือง "เถียงสู้อีกฝ่ายไม่ได้ก็เลยด่าแม่งไป"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วานนี้ (29 เมษายน 2556) "ศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา" และ "ศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย" มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดอภิปราย "สู่สันติภาพในอุษาคเนย์" งานนี้จัดท่ามกลางบรรยากาศการเจรจาสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับ BRN
ยุกติ มุกดาวิจิตร
“นักวิชาการเสื้อแดง” เป็นเสมือนตำแหน่งทางวิชาการอย่างหนึ่ง การตีตราตำแหน่งนี้สะท้อนความเฉยชาและคับแคบต่อปัญหาสิทธิมนุษยชนและความเป็นธรรมของปัญญาชนไทย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวานเพ่ิงดูพี่ "มากขา" หลายขา แล้วก็อยากมีความเห็นอย่างใครๆ เขาบ้าง ส่วนใครที่ยังไม่ได้ดูแล้วกำลังคิดจะไปดู ก็อย่าเพ่ิงอ่านครับ เดี๋ยวจะเซ็งเสียก่อน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทุกๆ ปี ผมสอนวิชา “ชาติพันธ์ุ์นิพนธ์: การวิพากษ์และการนำเสนอแนวใหม่” ระดับปริญญาตรี ผมออกแบบให้วิชานี้เป็นการศึกษาแบบสัมมนา มีการแลกเปลี่ยนความเห็นของนักศึกษามากกว่าการบรรยายของผู้สอน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อสองวันก่อน มีคนที่สนใจนโยบายรถไฟความเร็วสูงคนหนึ่งถามผมว่า "อาจารย์รู้ไหมว่า โอกาสที่รถไฟไทยจะตรงเวลามีเท่าไหร่" ผมตอบ "ไม่รู้หรอก" เขาบอกว่า "มีเพียง 30%" 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"ปีใหม่" เป็นจินตกรรมของเวลาที่กำหนดการสิ้นสุดและการเริ่มต้น ศักราช เวลาของสังคม การจัดระบบของเวลา ล้วนมีเทศกาลกำกับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
น่าละอายใจที่สภาผู้แทนราษฎรปัดตกข้อเสนอของประชาชนกว่าสามหมื่นคนที่เสนอให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ถ้าบอกกันตรงๆ ว่า "กลัวอ่ะ" ก็จบ ประชาชนอาจจะให้อภัยความปอดแหกได้ แต่ประชาชนส่วนหนึ่งจะตัดสินใจไม่เลือกพวกคุณเข้ามาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนฯ อีกอย่างแน่นอน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ยามหมดปีการศึกษาทีไร ก็ชวนให้ทบทวนถึงหน้าที่การงานด้านการเรียนการสอนของตนเอง แต่ผมทำตามแบบที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาแห่งชาติ หรือ สกอ. ให้ทำไม่เป็นหรอก เพราะมันไร้สาระ เป็นกลไกเกินไป และไม่ก่อประโยชน์อะไรนอกจากเปลืองกระดาษและน้ำหมึก ผมมักทำในแบบของผมเองนี่แหละ