Skip to main content

งานวิจัยทางสังคมศาสตร์ที่ดี โดยเฉพาะงานทางมานุษยวิทยา มักมีแรงขับจากอารมณ์ใคร่บางอย่าง

แต่ละปี ผมสอนวิชาชั้นปริญญาตรีภาคละหนึ่งวิชา ตามปกติ ภาคที่ 2 ของแต่ละปี ผมจะสอนวิชาชื่อ “ชาติพันธ์ุนิพนธ์” (ethnography) ส่วนแรกของวิชา จะให้นักศึกษาอ่านงานเขียน มาถกเถียงกันถึงแนวคิดต่างๆ ที่วิพากษ์งานเขียนทางมานุษยวิทยา ส่วนหลัง จะให้นักศึกษาทำโครงการวิจัยของแต่ละคน โดยมีโจทย์ให้แต่ละสัปดาห์ต้องเขียนบันทึกภาคสนามด้านต่างๆ แล้วนำมาให้เพื่อนอ่านและวิจารณ์กันในชั้นเรียน ด้วยห้องเรียนขนาดค่อนข้างใหญ่ บางปี 35 คน ปีนี้มีถึง 65 คน ทำให้การจัดการชั้นเรียนเพื่อให้ได้วัตถุประสงค์แบบที่ผมต้องการทำได้อย่างยากเย็นมาก แต่สุดท้าย นักศึกษาในวิชานี้ก็มักจะผลิตผลงานดีๆ ออกมา

 

ปีนี้ นักศึกษาเริ่มเสนอหัวข้อวิจัยที่แต่ละคนอยากทำ มีหัวข้อที่น่าสนใจมากมาย เช่น ความคิดเกี่ยวกับร่างกายของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ต้องตัดเต้านม คนสูงอายุกับโลกเทคโนโลยีปัจจุบัน ความคิดเรื่องการรักสัตว์ของคนเลี้ยงหมา เมืองในสายตาคนขับแท็กซี่ ชีวิตข้ามพรมแดนของชาวซิกข์ ชีวิตชายที่เลือกเป็นพ่อบ้าน อัตภาวะของตัวตนคนพิการ ฯลฯ แต่ก็ยังมีนักศึกษาอีกมากที่ขณะนี้ยังคิดหัวข้อวิจัยไม่ออก 

 

เพื่อกระตุ้นให้นักศึกษาคิดหาหัวข้อวิจัย ผมเขียนข้อความต่อไปนี้ให้นักศึกษาอ่าน...

 

งานวิจัยที่ดีไม่จำเป็นต้องมาจากการอาศัยระเบียบวิธีวิจัยที่แข็งแกร่ง หรือความเคร่งครัดในการเก็บข้อมูลอย่างเข้มข้น ไม่ได้มาจากการใช้ทฤษฎีที่หรูหรา ยุ่งยากวกวนแต่อย่างใด

 

แต่งานวิจัยที่ดีมักมาจากแรงขับบางอย่าง มาจากความมุ่งมั่นบางอย่าง นักวิจัยที่มีประสบการณ์บางคนบอกว่า งานวิจัยที่ดีมาจาก passion ที่ผมอยากแปลว่า "อารมณ์ใคร่" หากคุณทำงานวิจัยด้วยความใคร่ งานวิจัยมักออกมาดี ความใคร่แบบไหนบ้างที่จะกระตุ้นให้เกิดงานวิจัยที่ดีได้

 

- curiosity ความใคร่รู้ใคร่เห็น สอดรู้สอดเห็น อยากเข้าใจ อยากรู้จัก อยากพูดคุยสนทนา อยากรู้เบื้องหลัง เบื้องลึก ของคนที่ยังไม่รู้จัก หรือแม้แต่ของคนที่รู้จักดีอยู่แล้ว นี่เป็นความใคร่พื้นฐานของการวิจัย

 

- adventurous ความตื่นเต้นท้าทาย เป็นความสนุกที่ได้คิด ได้ประลองทางปัญญา อยากทะเลาะโต้เถียงกับใคร อยากเขียนงานหรือวิจัยสิ่งที่ตนเองอยากอ่าน เนื่องจากยังไม่เห็นมีใครเขียนสิ่งที่ตนเองอยากอ่าน อยากรู้ หรือยังไม่เห็นมีใครใช้มุมมองแบบที่ตนเห็น เพื่ออธิบายสิ่งที่มักกล่าวถึงกันมามากแล้ว เป็นเสมือน “คนเห็นผี” ที่คนอื่นไม่เห็น นี่เป็นความใคร่พื้นฐานอีกข้อหนึ่งของนักผจญภัยทางปัญญา

 

- shock ตื่นตระหนกกับสิ่งแปลกใหม่ ตื่นตระหนกกับมุมมองใหม่ที่มีต่อสิ่งปกติประจำวัน หรือแม้กระทั่งไม่เฉื่อยชา ไม่ตายด้านกับสิ่งคุ้นเคย ไม่ take for granted กับสิ่งต่างๆ จนเห็นทุกอย่างเป็นเรื่องธรรมชาติไปเสียหมด นี่เป็นอารมณ์ใคร่แบบนักวิจัยทางสังคมโดยแท้

 

- empathy and sympathy เห็นอกเห็นใจ เอาใจใส่ อ่อนไหว ต้องการทำความเข้าใจคนอื่น ไม่ตัดสินคนอื่นจากอคติของตนเองแต่แรก ไม่มองข้ามความเฉพาะเจาะจงที่อาจมีเหตุผลแตกต่างรองรับความแปลกประหลาด นี่มักเป็นความใคร่แบบนักมานุษยวิทยา ที่มุ่งทำความเข้าใจชีวิตที่แตกต่าง

 

- anger ความโกรธ โกรธที่เห็นคนถูกเข้าใจผิด โกรธที่เห็นคนถูกดูถูก โกรธที่เห็นคนถูกละเมิด ถูกเอาเปรียบ โกรธที่คนไม่เข้าใจคนบางกลุ่ม ทนไม่ได้กับความบิดเบี้ยวของสังคม เกิดแรงบันดาลโทสะกับการเอารัดเอาเปรียบที่อยู่ต่อหน้า ทำให้อยากอธิบาย อยากเข้าใจ เพื่อช่วยเหลือ เพื่อให้สังคมยอมรับพวกเขา เพื่อให้สังคมเป็นธรรม นี่เป็นความใคร่ของนักวิจัยที่มีจุดยืนเชิงวิพากษ์สังคม

 

- resentment ความคับข้องใจ อึดอัดใจดับสภาพที่ตนเองหรือผู้อื่นถูกกดดัน หรือกับการที่ตนเองหรือผู้อื่นถูกกระทำอย่างอยุติธรรม จึงอยากเขียนงาน อยากวิจัย เพื่อให้คนเข้าใจ ให้สังคมเข้าใจ นี่เป็นงานวิจัยที่แสดงให้สังคมรับรู้และเข้าใจชีวิตของผู้วิจัยเอง

 

อาจมีอารมณ์ใคร่อื่นๆ อีกที่ทำให้คนทำวิจัย แต่ส่วนใหญ่ผมอาศัยอารมณ์ใคร่ต่างๆ ข้างต้นเพื่อการทำวิจัย งานแต่ละชิ้นอาจมาจากอารมณ์ใคร่คนละแบบกัน หรือหลายๆ แบบปะปนกัน แต่แทบทุกครั้งที่ผมทำวิจัย หรือเขียนงาน ผมทำด้วยอารมณ์ใคร่บางอย่างเสมอ 

 

หวังว่าจะได้อ่านงานวิจัยที่พวกคุณทำด้วยความใคร่

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอแสดงความคารวะจากใจจริงถึงความกล้าหาญจริงจังของพวกคุณ พวกคุณแสดงออกซึ่งโครงสร้างอารมณ์ของยุคสมัยอย่างจริงใจไม่เสแสร้ง อย่างที่แม่ของพวกคุณคนหนึ่งบอกกล่าวกับผมว่า "พวกเขาก็เป็นผลผลิตของสังคมในยุค 10 ปีที่ผ่านมานั่นแหละ" นั่นก็คือ พวกคุณได้สื่อถึงความห่วงใยต่ออนาคตของสังคมไทยที่พวกคุณนั่นแหละจะต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อไปให้สังคมได้รับรู้แล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปฏิกิริยาของสังคมต่อการกักขังนักศึกษา 14 คนได้ชี้ให้เห็นถึงการก้าวพ้นกำแพงความกลัวของประชาชน อะไรที่กระตุ้นให้ผู้คนเหล่านี้แสดงตัวอย่างฉับพลัน และการแสดงออกเหล่านี้มีนัยต่อสถานการณ์ขณะนี้อย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในโลกนี้มีสังคมมากมายที่ไม่ได้นับว่าตนเองเป็นกลุ่มชนเดียวกัน และการแบ่งแยกความแตกต่างของกลุ่มคนนั้นก็ไม่ได้ทาบทับกันสนิทกับความเป็นประเทศชาติ ชาว Rohingya (ขอสงวนการเขียนด้วยอักษรโรมัน เพราะไม่เห็นด้วยกับการออกเสียงตามภาษาพม่า) ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของกลุ่มคนที่ไม่ได้มีขอบเขตพื้นที่ที่อาศัยครอบครองอยู่ทาบกันสนิทกับขอบเขตพื้นที่ประเทศใดประเทศหนึ่ง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงเวลาของการสัมภาษณ์นักศึกษาใหม่ในแต่ละปีถือเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ที่ผมจะใช้อัพเดทความเปลี่ยนแปลงของสังคมหรือทำความเข้าใจสังคม จากมุมมองและประสบการณ์ชีวิตสั้นๆ ของนักเรียนที่เพิ่งจบการศึกษามัธยม ปีที่ผ่านๆ มาผมและเพื่อนอาจารย์มักสนุกสนานกับการตรวจสอบสมมติฐานของแต่ละคนว่าด้วยประเด็นต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องความขัดแย้งทางการเมือง บางทีก็ตรงกับที่มีสมมติฐานไว้บ้าง บางทีก็พลาดไปบ้าง 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (31 พค. 58) ผมไปเป็นเพื่อนหลานสาววัย 13 ปี ที่ชวนให้ไปเที่ยวงานเทศกาลการ์ตูนญี่ปุ่นที่โรงแรมแห่งหนึ่งแถวถนนสุขุมวิท ผมเองสนับสนุนกิจกรรมเขียนการ์ตูนของหลานอยู่แล้ว และก็อยากรู้จักสังคมการ์ตูนของพวกเขา ก็เลยตอบรับคำชวน เดินทางขึ้นรถเมล์ ต่อรถไฟฟ้าไปกันอย่างกระตือรือล้น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
สนามบินที่ไหนๆ ก็ดูเหมือนๆ กันไปหมด อยู่ที่ว่าจะออกจากไหน ด้วยเรื่องราวอะไร หรือกำลังจะไปเผชิญอะไร ในความคาดหวังแบบไหน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"ปับ เจียน ความ เจ้า ปัว ฟ้า" แปลตามตัวอักษรได้ว่า "หนังสือ เล่า เรื่อง เจ้า กษัตริย์ (แห่ง)ฟ้า" ซึ่งก็คือไบเบิลนั่นเอง แต่แปลเป็นภาษาไทดำแล้วพิมพ์ด้วยอักษรไทดำ อักษรลาว และอักษรเวียดนาม เมื่ออ่านแล้วจะออกเสียงและใช้คำศัพท์ภาษาไทดำเป็นหลัก
ยุกติ มุกดาวิจิตร
กรณีการออกเสียงชื่อชาว Rohingya ว่าจะออกเสียงอย่างไรดี ผมก็เห็นใจราชบัณฑิตนะครับ เพราะเขามีหน้าที่ต้องให้คำตอบหน่วยงานของรัฐ แต่ผมไม่เห็นด้วยกับการออกเสียงให้ตายตัวเบ็ดเสร็จว่าควรจะออกเสียงอย่างไรกันแน่ ยิ่งอ้างว่าออกเสียงตามภาษาพม่ายิ่งไม่เห็นด้วย ตามเหตุผลดังนี้ครับ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (7 พค. 58) ผมสอนวิชา "มานุษยวิทยาวัฒนธรรม" ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซินเป็นวันสุดท้าย มีเรื่องน่ายินดีบางอย่างที่อยากบันทึกไว้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
มันคงมีโครงสร้างอะไรบางอย่างที่ทำให้ "ร้านสะดวกซื้อ" เกิดขึ้นมาแทนที่ "ร้านขายของชำ" ได้ ผมลองนึกถึงร้านขายของชำสามสี่เมืองที่ผมเคยอาศัยอยู่ชั่วคราวบ้างถาวรบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อปี 2553 เป็นปีครบรอบวันเกิด 80 ปี จิตร ภูมิศักดิ์ มีการจัดงานรำลึกใหญ่โตที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเอ่ยถึงจิตรทีไร ผมก็มักเปรยกับอาจารย์ประวัติศาสตร์จุฬาฯ ท่านหนึ่งว่า "น่าอิจฉาที่จุฬาฯ มีวิญญาณของความหนุ่ม-สาวผู้ชาญฉลาดและหล้าหาญอย่างจิตรอยู่ให้ระลึกถึงเสมอๆ" อาจารย์คณะอักษรฯ ที่ผมเคารพรักท่านนี้ก็มักย้อนบอกมาว่า "ธรรมศาสตร์ก็ต้องหาคนมาเชิดชูของตนเองบ้าง"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันที่ 30 เมษายน 2558 เป็นวันครบรอบ 40 ปี "ไซ่ง่อนแตก"Ž เดิมทีผมก็ใช้สำนวนนี้อยู่ แต่เมื่อศึกษาเกี่ยวกับเวียดนามมากขึ้น ก็กระอักกระอ่วนใจที่จะใช้สำนวนนี้ เพราะสำนวนนี้แฝงมุมมองต่อเวียดนามแบบหนึ่งเอาไว้