Skip to main content

งานวิจัยทางสังคมศาสตร์ที่ดี โดยเฉพาะงานทางมานุษยวิทยา มักมีแรงขับจากอารมณ์ใคร่บางอย่าง

แต่ละปี ผมสอนวิชาชั้นปริญญาตรีภาคละหนึ่งวิชา ตามปกติ ภาคที่ 2 ของแต่ละปี ผมจะสอนวิชาชื่อ “ชาติพันธ์ุนิพนธ์” (ethnography) ส่วนแรกของวิชา จะให้นักศึกษาอ่านงานเขียน มาถกเถียงกันถึงแนวคิดต่างๆ ที่วิพากษ์งานเขียนทางมานุษยวิทยา ส่วนหลัง จะให้นักศึกษาทำโครงการวิจัยของแต่ละคน โดยมีโจทย์ให้แต่ละสัปดาห์ต้องเขียนบันทึกภาคสนามด้านต่างๆ แล้วนำมาให้เพื่อนอ่านและวิจารณ์กันในชั้นเรียน ด้วยห้องเรียนขนาดค่อนข้างใหญ่ บางปี 35 คน ปีนี้มีถึง 65 คน ทำให้การจัดการชั้นเรียนเพื่อให้ได้วัตถุประสงค์แบบที่ผมต้องการทำได้อย่างยากเย็นมาก แต่สุดท้าย นักศึกษาในวิชานี้ก็มักจะผลิตผลงานดีๆ ออกมา

 

ปีนี้ นักศึกษาเริ่มเสนอหัวข้อวิจัยที่แต่ละคนอยากทำ มีหัวข้อที่น่าสนใจมากมาย เช่น ความคิดเกี่ยวกับร่างกายของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ต้องตัดเต้านม คนสูงอายุกับโลกเทคโนโลยีปัจจุบัน ความคิดเรื่องการรักสัตว์ของคนเลี้ยงหมา เมืองในสายตาคนขับแท็กซี่ ชีวิตข้ามพรมแดนของชาวซิกข์ ชีวิตชายที่เลือกเป็นพ่อบ้าน อัตภาวะของตัวตนคนพิการ ฯลฯ แต่ก็ยังมีนักศึกษาอีกมากที่ขณะนี้ยังคิดหัวข้อวิจัยไม่ออก 

 

เพื่อกระตุ้นให้นักศึกษาคิดหาหัวข้อวิจัย ผมเขียนข้อความต่อไปนี้ให้นักศึกษาอ่าน...

 

งานวิจัยที่ดีไม่จำเป็นต้องมาจากการอาศัยระเบียบวิธีวิจัยที่แข็งแกร่ง หรือความเคร่งครัดในการเก็บข้อมูลอย่างเข้มข้น ไม่ได้มาจากการใช้ทฤษฎีที่หรูหรา ยุ่งยากวกวนแต่อย่างใด

 

แต่งานวิจัยที่ดีมักมาจากแรงขับบางอย่าง มาจากความมุ่งมั่นบางอย่าง นักวิจัยที่มีประสบการณ์บางคนบอกว่า งานวิจัยที่ดีมาจาก passion ที่ผมอยากแปลว่า "อารมณ์ใคร่" หากคุณทำงานวิจัยด้วยความใคร่ งานวิจัยมักออกมาดี ความใคร่แบบไหนบ้างที่จะกระตุ้นให้เกิดงานวิจัยที่ดีได้

 

- curiosity ความใคร่รู้ใคร่เห็น สอดรู้สอดเห็น อยากเข้าใจ อยากรู้จัก อยากพูดคุยสนทนา อยากรู้เบื้องหลัง เบื้องลึก ของคนที่ยังไม่รู้จัก หรือแม้แต่ของคนที่รู้จักดีอยู่แล้ว นี่เป็นความใคร่พื้นฐานของการวิจัย

 

- adventurous ความตื่นเต้นท้าทาย เป็นความสนุกที่ได้คิด ได้ประลองทางปัญญา อยากทะเลาะโต้เถียงกับใคร อยากเขียนงานหรือวิจัยสิ่งที่ตนเองอยากอ่าน เนื่องจากยังไม่เห็นมีใครเขียนสิ่งที่ตนเองอยากอ่าน อยากรู้ หรือยังไม่เห็นมีใครใช้มุมมองแบบที่ตนเห็น เพื่ออธิบายสิ่งที่มักกล่าวถึงกันมามากแล้ว เป็นเสมือน “คนเห็นผี” ที่คนอื่นไม่เห็น นี่เป็นความใคร่พื้นฐานอีกข้อหนึ่งของนักผจญภัยทางปัญญา

 

- shock ตื่นตระหนกกับสิ่งแปลกใหม่ ตื่นตระหนกกับมุมมองใหม่ที่มีต่อสิ่งปกติประจำวัน หรือแม้กระทั่งไม่เฉื่อยชา ไม่ตายด้านกับสิ่งคุ้นเคย ไม่ take for granted กับสิ่งต่างๆ จนเห็นทุกอย่างเป็นเรื่องธรรมชาติไปเสียหมด นี่เป็นอารมณ์ใคร่แบบนักวิจัยทางสังคมโดยแท้

 

- empathy and sympathy เห็นอกเห็นใจ เอาใจใส่ อ่อนไหว ต้องการทำความเข้าใจคนอื่น ไม่ตัดสินคนอื่นจากอคติของตนเองแต่แรก ไม่มองข้ามความเฉพาะเจาะจงที่อาจมีเหตุผลแตกต่างรองรับความแปลกประหลาด นี่มักเป็นความใคร่แบบนักมานุษยวิทยา ที่มุ่งทำความเข้าใจชีวิตที่แตกต่าง

 

- anger ความโกรธ โกรธที่เห็นคนถูกเข้าใจผิด โกรธที่เห็นคนถูกดูถูก โกรธที่เห็นคนถูกละเมิด ถูกเอาเปรียบ โกรธที่คนไม่เข้าใจคนบางกลุ่ม ทนไม่ได้กับความบิดเบี้ยวของสังคม เกิดแรงบันดาลโทสะกับการเอารัดเอาเปรียบที่อยู่ต่อหน้า ทำให้อยากอธิบาย อยากเข้าใจ เพื่อช่วยเหลือ เพื่อให้สังคมยอมรับพวกเขา เพื่อให้สังคมเป็นธรรม นี่เป็นความใคร่ของนักวิจัยที่มีจุดยืนเชิงวิพากษ์สังคม

 

- resentment ความคับข้องใจ อึดอัดใจดับสภาพที่ตนเองหรือผู้อื่นถูกกดดัน หรือกับการที่ตนเองหรือผู้อื่นถูกกระทำอย่างอยุติธรรม จึงอยากเขียนงาน อยากวิจัย เพื่อให้คนเข้าใจ ให้สังคมเข้าใจ นี่เป็นงานวิจัยที่แสดงให้สังคมรับรู้และเข้าใจชีวิตของผู้วิจัยเอง

 

อาจมีอารมณ์ใคร่อื่นๆ อีกที่ทำให้คนทำวิจัย แต่ส่วนใหญ่ผมอาศัยอารมณ์ใคร่ต่างๆ ข้างต้นเพื่อการทำวิจัย งานแต่ละชิ้นอาจมาจากอารมณ์ใคร่คนละแบบกัน หรือหลายๆ แบบปะปนกัน แต่แทบทุกครั้งที่ผมทำวิจัย หรือเขียนงาน ผมทำด้วยอารมณ์ใคร่บางอย่างเสมอ 

 

หวังว่าจะได้อ่านงานวิจัยที่พวกคุณทำด้วยความใคร่

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
คำสำคัญ: sensory subjectivity, sensory categories, sensory bias, sensory ethnocentrism, sensory colonization (อธิบายไว้ท้ายข้อเขียน) คนทำเรื่องอาหารข้ามถิ่น ไม่ต่างจากการทำงานทางมานุษยวิทยา ที่ต้องตระหนักถึงการ ไม่นำเอา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ถ้าคุณไม่สามารถเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ได้แล้ว ก็โปรดอย่าถ่วงรั้งการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่เลย 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปาฐกถาในเวทีเสวนา “50 ปี 14 ตุลาฯ ยังตามหารัฐธรรมนูญใหม่” จัดโดยสมัชชาคนจน วันที่ 14 ตุลาคม 2566
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อ 24 กค. 65 ผู้จัดการแสดง #ฮิญาบ2022  ชวนผมไปดูการแสดงของคุณฟารีดา จิราพันธ์ ที่กาลิเลโอเอซิส แล้วผู้จัดจะชวนผมสนทนาหลังละคร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะเพื่อนร่วมวิชาชีพวิชาการ ในฐานะผู้ปกครองนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ และในฐานะคนรักศิลปะ ผมเขียนจดหมายนี้เพื่อตั้งคำถามต่อการที่ผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์จะตรวจสอบผลงานก่อการอนุญาตให้จัดแสดงผลงานของนักศึกษาภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นคนพูดถึงตัวละครในซีรีย์เกาหลีเอ่ยถึงจอร์จ บาไตล์ ในรูปนั่นน่ะครับ เป็นคอลเล็กชันจอร์จ บาไตล์บนชั้นหนังสือผมแบบเบาๆ ผมเก็บไว้ร่วม 20 ปีแล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายคนคงรู้ว่าวันนี้เป็นวันชาติเวียดนาม แต่น้อยคนคงรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในวันนี้กันแน่ แล้ววันนี้ในอดีตถูกกำหนดเป็นวันขาติจากเหตุการณ์ปีใด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จนถึงวันนี้ การต่อสู้ของประชาชนในขบวนการ “คณะราษฎร 63” ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า พลังของแสงดาวได้สร้างสรรค์สังคมไทยอย่างไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การที่อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาได้ออกมาแสดงความเห็นว่ามีการสร้างกระแสกดดันศาลต่างๆ นานา (ดู https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/2081366) มองในแง่ดี ผมคิดว่านี่คือการออกมาอธิบายกับสังคมอีกครั้งของผู้มีอำนาจในกระบวนการยุติธรรมอย่างชัดแจ้ง หลังจากที่มีการชี้แจงถึงเหตุผลการไม่ปล่อยตัวผู้ต้องหาคดีการเมืองโดยโฆษกศาลและโฆษกกระทรวงยุติธรรมก่อนหน้านี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อะไรที่ทำให้ดนตรีมีสถานะในการทำร้ายกันได้บ้าง ผมว่าอย่างน้อยที่สุดต้องเข้าใจก่อนว่า ดนตรีไม่ใช่แค่เสียง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
พอดีนั่งฟังเพื่อนนักวิชาการอ่านหนังสือ "กบฏชาวนา" ของรานาจิต คูฮา (1982) มาคุยให้ฟัง (แปลโดย ปรีดี หงษ์สต้น) ในเพจของสำนักพิมพ์ Illumination Editions เลยคิดถึงบันทึกที่เคยเขียนถึงหนังสือของ ดิเพช จักรบาร์ตี เรื่อง Provincializing Europe (2000)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรื่อง ถามถึงมโนธรรมสำนึกในความเป็นครูบาอาจารย์ของอาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์