Skip to main content


การตัดสินคดีของสมยศ พฤกษาเกษมสุขและอีกหลายๆ คดีก่อนหน้านี้ด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 (ม.112) ชี้ให้เห็นยิ่งขึ้นทุกวันว่า รัฐไทยกำลังสร้างความรักด้วยการใช้กำลังข่มเหงให้ประชาชนรักประมุขของประเทศ หาใช่การส่งเสริมให้เกิดความรักประมุขจากใจจริงของประชาชนไม่

ที่ว่า "รัฐไทย" โดยรวมเพราะองค์กรที่ข่มเหงให้คนรักประมุขของประเทศนี้ไม่ได้มีเพียงหน่วยงานของรัฐเพียงองค์กรใดองค์กรหนึ่ง แต่เป็นองคาพยพด้านต่างๆ ของรัฐ อันได้แก่ เจ้าหน้าที่ตำรวจ อัยการ ศาล และไม่เว้นแม้กระทั่งผู้คุมนักโทษ ตลอดจนนักการเมืองที่อาศัย ม.112 เพื่อกลั่นแกล้งศัตรูทางการเมือง ไม่เลือกว่าจะเป็นนักการเมืองฝ่ายใด

นักวิเคราะห์สังคมที่ยังก้าวทันโลกวิชาการปัจจุบันเย่อมเห็นพ้องกันว่า อำนาจในการปกครองของสังคมที่ก้าวหน้าไม่ใช่อำนาจกีดกัน บังคับ กดทับ (exclusion) หากแต่เป็นอำนาจที่เปิดกว้างให้เกิดการยอมรับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชุมชนทางการเมือง (inclusion) ในสังคมที่ก้าวหน้าแล้ว ย่อมไม่ปกครองด้วยอำนาจจากการทำให้ผู้คนเกรงกลัว และที่ยิ่งจะต้องไม่ทำใหญ่คือ การข่มขืนใจให้ประชาชนรักศูนย์รวมจิตใจของประเทศ ด้วยอำนาจที่เหี้ยมโหด ป่าเถื่อน ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยเหตุผลปกติ
 
นักสังคมศาสตร์ทั่วไปรู้กันดีว่า ข้อเขียนจากคุกของอันโทนิโอ กรัมชี่ (Antonio Gramsci 1891-1937) เสนอว่า การปกครองนั้นอาศัยเครื่องมือสองด้าน คือการข่มเหงประชาชนด้วยกำลังด้านหนึ่ง กับการยินยอมพร้อมใจของประชาชนด้วยตนเองอีกด้านหนึ่ง สำหรับสังคมในศตวรรษที่ 20 กรัมชี่เห็นว่าอำนาจลักษณะหลังต่างหากที่ทำงานอยู่ ส่วนอำนาจลักษณะแรกแทบจะไม่มีให้เห็นแล้ว 
 
ส่วนนักประวัติศาสตร์แนววิพากษ์สังคมอย่างมิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault 1926-1984) เห็นว่า การปกครองที่แยบยลที่สุดก็คือการปกครองที่ผู้คนยินยอมพร้อมใจจนกระทั่งไม่รู้สึกถึงการถูกปกครองอยู่ อำนาจที่แยบยลคืออำนาจที่คนไม่รู้สึกถึงการใช้อำนาจ ต่างจากอำนาจในยุคก่อนสมัยใหม่ ที่ยังป่าเถื่อน ต้องมีการประหัตประหารอย่างโหดเหี้ยม ต้องแสดงความรุนแรงของบทลงโทษ ต้องประจานความผิด ต้องบังคับข่มเหง
 
หากแต่ผู้มีอำนาจในรัฐไทยกลับไม่เข้าใจ ใจแคบ ใช้อำนาจแบบดิบเถื่อน โหดเหี้ยม จึงทำให้สังคมไทยตลอดจนประชาคมโลกมองว่า ขณะนี้รัฐไทยมุ่งปกป้องเกียรติยศของประมุข เหนือการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน 
 
"คดีหมิ่นฯ" ที่ผ่านมา ไม่ได้มีความใกล้เคียงแต่ประการใดกับการที่ผู้ต้องหาสามารถที่จะประทุษร้ายพระประมุขได้ หากแต่เป็นเพียงคดีที่สงสัยในความผิดอันเนื่องมาจาก "คำพูด" "ข้อความ" หรือ "ท่าทาง" ดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาตรร้ายพระประมุขเท่านั้น ทว่าผู้ต้องหาล้วนเข้าสู่กระบวนการดำเนินคดีและได้รับการตัดสินลงโทษอย่างโหดเหี้ยม ผิดจากมาตรฐานของนานาอารยะประเทศในปัจจุบัน รัฐไทยจึงดูล้าหลัง ป่าเถื่อนกว่านานาอารยะประเทศ
 
ในรัฐประชาธิปไตย จะต้องคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนไม่น้อยไปกว่าความมั่นคงของรัฐ สิทธิในการได้รับการประกันตัวเพื่อต่อสู้คดี สิทธิที่จะได้รับการปฏิบัติเยี่ยงผู้บริสุทธิ์จนกว่ากระบวนการยุติธรรมจะพิสูจน์ด้วยหลักฐานได้ว่าผิด จะต้องได้รับการคุ้มครอง แต่ดูเหมือนในการดำเนินคดีตามมาตรา 112 รัฐไทยเลือกที่จะละเลยการเคารพสิทธิเหล่านั้่น จนถึงกับอาจจะละเมิดสิทธินั้น เพียงเพื่อปกป้องไม่ให้ใครใช้ "คำพูด" หมิ่นประมุขของรัฐ
 
ยิ่งกว่านั้น ในบางกรณีชวนให้สงสัยว่า รัฐไทยไม่ได้ใช้หลักเหตุผลปกติ แต่กลับบิดเบือนหลักเหตุผลเพื่อเอาผิดกับผู้ต้องหาคดีหมิ่นฯ ให้ได้ ดังเช่นที่บางครั้ง เจ้าหน้าที่ของรัฐใช้ถ้อยคำสบประมาทประชาชนที่ถูกดำเนินคดี แสดงทัศนะราวกับตัดสินผู้ต้องหาล่วงหน้าก่อนแล้ว ชวนให้ประชาชนสงสัยว่า หรือแม้กระทั่งว่าหากใช้เหตุผลแบบปกติแล้ว หลักฐาน พยานต่างๆ ก็ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าผู้ต้องหาเป็นผู้ใช้ "คำพูด" นั้นๆ เองหรือไม่ ดังเช่นการทำให้ผู้ที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าผู้ต้องลงมือเขียนข้อความด้วยตนเองหรือไม่ กลับกลายเป็นผู้กระทำผิดไป เพราะเจ้าหน้าที่เชื่อว่า คนผิดย่อมปิดบังความผิดของตนเอง หรือหากรู้ทั้งรู้ว่าผู้นั้นไม่ใช่ผู้กระทำผิดเองโดยตรง เจ้าหน้าที่รัฐก็ยังหาทางสร้างเงื่อนไขให้ความผิดครอบคลุมไปถึงผู้ต้องหา เพื่อทำให้เขากลายเป็นผู้กระทำผิดไปได้ ดังเช่นการทำให้พนักงานคนหนึ่งของสำนักพิมพ์ที่อาจไม่รู้เห็นกับการตีพิมพ์ข้อความหมิ่นฯ ด้วยตนเองด้วยซ้ำ ต้องกลายเป็นผู้กระทำผิดไป
 
อันที่จริงหากผู้มีอำนาจสำเหนียกต่อความเปลี่ยนแปลงของสังคมอย่างแท้จริง เฝ้าสังเกตประชาชนอย่างใกล้ชิดอย่างแท้จริง ก็ย่อมทราบดีว่า ในปัจจุบัน แม้ว่าอุดมการณ์ประชาธิปไตยจะแผ่อิทธิพลกว้างขวางและเริ่มฝังลึกจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมทางการเมืองในสังคมไทย แต่ก็ไม่ได้ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่จงเกลียดจงชังองค์พระประมุขของประเทศแต่อย่างใด หากแต่การเติบโตของ "คดีหมิ่น" เกิดขึ้นจากงื่อนไขเฉพาะทางการเมืองในปัจจุบัน
 
ไม่ต้องกล่าวย้ำกันอีกมากมายก็ทราบกันดีอยู่แล้วว่า "คดีหมิ่น" ในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดเพียงในระยะที่มีความขัดแย้งทางการเมืองในช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมานี้เอง และยิ่งเพ่ิมยิ่งขึ้นเมื่อเกิดเหตุรุนแรง มีการสลายการชุมนุมจนมีคนเสียชีวิตเกือบร้อยคน มีคนบาดเจ็บร่วมสองพันคน และมีคนถูกจับกุมคุมขังกลายเป็นนักโทษการเมืองอีกนับพันคน เมื่อปี 2553 ความขัดแย้งและความรุนแรงทางการเมืองในลักษณะนี้ไม่เคยเกิดขึ้นในขนาด ความกว้างขวาง และครอบคลุมแทบทุกอนูขงสังคมไทยมากเท่านี้มาก่อน 
 
พูดง่ายๆ คือ คดีม.112 เติบโตขึ้นในภาวะทางสังคมที่ไม่ปกติ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น 
 
นัยหนึ่ง เป็นผลมาจากการใช้กฎหมายนี้เพื่ือกลั่นแกล้งศัตรูทางการเมือง ข้อนี้เห็นได้ไม่ยากจากการที่ ศอฉ. กุเรื่อง "ผังล้มเจ้า" ขึ้นมา จนในท้ายที่สุดเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบเรื่องนี้กลับออกมายอมรับเองว่า ผังล้มเจ้าเป็นเรื่องที่กุกันขึ้นมาโดยไม่มีหลักฐานข้อเท็จจริงรองรับใดๆ ทั้งสิ้น
 
แต่อีกนัยหนึ่ง เกิดจากความอึดอัดคับข้องใจของผู้คนที่มีต่อความไม่ยุติธรรมของระบบการเมืองไทย เป็นปฏิกิริยาต่อการรัฐประหาร ต่อการใช้กำลังทหารยึดอำนาจด้วยการสนับสนุนทางการเมืองของมวลชนคนกลุ่มน้อยซึ่งแพ้เลือกตั้ง คนทั่วไปอึดอัดกับการที่พวกกบฎสามารถกลายเป็นรัฐบาลปกครองประเทศ ฉีกรัฐธรรมนูญ แล้วเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ได้อย่างลอยนวล คนทั่วไปอึกอัดกับการที่ไม่มีใครสามารถทัดทานพวกกบฏได้ และจึงมีประชาชนจำนวนมากต้องการส่งเสียงสะท้อนให้พระประมุขเข้าใจถึงความอึดอัดคับข้องใจของตน
 
อีกนัยหนึ่ง ในภาวะของความรุนแรงทางการเมือง ภาวะทรราช คนทั่วไปคาดหวังต่อบทบาทของพระประมุข ว่าจะช่วยปกป้องคุ้มครองผู้คนจากรัฐบาลที่กลายเป็นทรราชไล่ฆ่าประชาชนกลางถนนได้ ดังในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ผ่านมา และในความรุนแรงทางการเมืองครั้งนี้ ประชาชนก็คาดหวังเช่นนั้น ปฏิกิริยาที่ประชาชนมีต่อพระประมุข จึงเป็นเพียงเสียงสะท้อนเพื่อให้พระประมุขได้ยิน
 
เราๆ ท่านๆ ย่อมรู้กันดีอยู่่แก่ใจว่า ความเสื่อมหรือเจริญขึ้นของประมุขของรัฐใด ไม่ได้อยู่ที่ "คำพูด" หรือ "ข้อความ" หรือ "ท่าทางบอกใบ้" ใดๆ เพราะหากเป็นเช่นนั้น ประมุขของรัฐทั่วโลกคงดิ้นพล่านไปมา นอนไม่หลับ กินไม่ได้ กระสับกระส่าย อยู่ทุกๆ วินาที เพราะประมุขของรัฐใดก็ตามย่อมถูกวิพากษ์วิจารณ์ ถูกนินทาว่าร้าย อยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะปรากฏในที่สาธารณะหรือเป็นที่รับรู้ของคนหมู่มากแค่ไหนก็ตาม เนื่องจากประมุขของรัฐเป็นบุคคลสาธารณะ เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อสารทุกข์สุขดิบของประชาชนทั่วไป 
 
วิญญูชนย่อมทราบดีว่า ลำพังประชาชนเพียงหยิบมือไม่มีทางที่จะทำลายเกียรติยศของประมุขประเทศใดได้ และลำพังคำพูด ท่าทางบอกใบ้ ข้อความ ไม่สามารถทำลายเกียรติยศของประมุขรัฐใดในโลกนี้ได้ หากแต่ผู้มีอำนาจควรพยายามทำความเข้าใจว่า ปฏิกิริยาเหล่านั้นสะท้อนอะไรในประชาคมการเมืองนั้นๆ กันแน่ 
 
แต่หากพวกท่านไม่เข้าใจ คนทั่วโลกเขาก็ตั้งข้อสงสัยได้เช่นกันว่า แล้วการลงโทษด้วยวิธีรุนแรงจะสามารถทำให้ผู้คนรักประมุขอย่างสนิทใจได้อย่างไร หากประชาคมทางการเมืองใดจะมีประชาชนไม่รักประมุขของรัฐหนึ่งสักเพียงหยิบมือหนึ่ง เราจะต้องข่มเหงพวกเขาเพียงหยิบมือหนึ่งนั้นอย่างเหี้ยมโหด เพื่อขืนให้เขาฝืนใจหันหน้ามารักประมุขให้ได้ อย่างนั้นหรือ
 
 
 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
หากผมจะเลิกเรียกอาจารย์ว่าอาจารย์เสีย ก็คงไม่มีใครใส่ใจอะไร เพียงแต่ผมเองต่างหากที่ยังใส่ใจว่า อาจารย์เคยสอนหนังสือผม และอาจารย์ก็ยังเป็นนักวิชาการรุ่นอาวุโสที่อยางน้อยก็มีศักดิ์ทางวิชาการที่โลกวิชาการในสายอาชีพเดียวกับผมเขายกย่องนับถือกัน ไม่อย่างนั้นอาจารย์ก็คงไม่ได้รับการยกย่องมาจนทุกวันนี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันสุดท้ายของการเดินทางในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของเวียดนาม คณะเราเดินทางกลับฮานอย แต่เส้นทางที่กลับผ่านดินแดนในตำนานสำคัญที่ผมไม่เคยแวะมาก่อน คือศาลเจ้าหุ่งม์เวือง (Đền Hùng Vương) ที่เชื่อมโยงกับตำนานไข่ร้อยฟองและกำเนิดของกลุ่มชาติพันธ์ุไต
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จากเมืองไลและเมืองซอมา ผมกับเพื่อนร่วมทางมุ่งหน้าไปจุดหมายต่อไปคือไปพักที่เมืองถาน (Than Uyên) เมืองสำคัญของชาวไตดำอีกเมืองหนึ่ง เพื่อที่วันรุ่งขึ้นจะได้เดินทางต่อไปยังเมืองลอ (Nghĩa Lộ) โดยผ่านนาขั้นบันไดในถิ่นของชาวม้งที่อำเภอ หมู่ กัง จ่าย (Mù Căng Chải) และถิ่นฐานชาวเย้าที่ทำนา ณ เมืองลุง (Tú Lệ) แล้วพักค้างคืนที่เอียน บ๋าย (Yên Bái) ก่อนมุ่งหน้าสู่ฮานอยในอีกวันหนึ่ง ตลอดเส้นทางนี้ผมใจหายกับความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตลอดการเดินทาง สิ่งหนึ่งที่หนักหนาเสมอคือการดื่มกินกับคนพื้นเมือง ในการเดินทางครั้งนี้ มื้อที่แสนสาหัสที่สุดคือมื้อที่ต้องทั้งประคองตัวเอง ทั้งไม่ให้เสียน้ำใจ และทั้งไม่ให้เพื่อนร่วมทางเหน็ดเหนื่อยเกินกว่าจะร่วมทางกันต่อไปได้อย่างสนุกสนานเพลิดเพลิน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมืองไลเป็นเมืองสำคัญอย่างไรในประวัติศาสตร์เวียดนาม สยาม และฝรั่งเศส คงเป็นคำถามที่ไม่มีใครสนใจนัก เพราะเมืองไลปัจจุบันกำลังกลายเป็นอดีตที่ถูกกลบเกลื่อนลบเลือนไปจนเกือบหมดสิ้น ทั้งจากน้ำเหนือเขื่อน และจากการจัดการปกครองในปัจจุบัน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมืองแถงมนดั่งขอบกระด้ง เมืองคดโค้งเยี่ยงเขาควาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อสักเกือบ 15 ปีก่อน ผมไปเสาะหาบ้านนาน้อยอ้อยหนูที่เมืองแถง (เดียนเบียนฟู) กับอาจารย์คำจอง นักชาติพันธ์ุวิทยาชาวไตดำ/เวียดนาม 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมืองลา (Sơn La) ไม่ใช่เมืองท่องเที่ยว แทบไม่มีใครรู้จักเมืองลาแม้ว่าเมืองนี้จะมีประวัติศาสตร์สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเดียนเบียนฟู เนื่องจากเจ้าอาณานิคมฝรั่งเศสใช้เป็นฐานในการปกครองเมืองคนไต แต่เดียนเบียนฟูโด่งดังขึ้นมาจากการที่ฝรั่งเศสแพ้พวกคอมมิวนิสต์เวียดนามอย่างราบคาบ ทำให้คนไม่ได้ทันสนใจว่า ก่อนหน้านั้นฝรั่งเศสปกครองเมืองคนไตอย่างไร แล้วมีฐานที่มั่นสำคัญอยู่ที่ไหนก่อนที่จะไปอยู่ที่เมืองแถงหรือเดียนเบียนฟู
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมมาเมืองมุน (Mai Châu, Hoà Bình) ครั้งแรกเมื่อปี 1998 มาเป็นผู้ช่วยวิจัย ตอนนั้นมาเดือนกุมภาพันธ์ อากาศหนาวมากแล้วเตรียมตัวไม่พอ ยังไม่รู้จักความหนาว เมื่อมาถึงที่นี่ ได้แต่นั่งผิงไฟ ขณะนั้นเมืองมุนเริ่มเปิดให้นักท่องเที่ยวมาพัก มีโฮมสเตย์อยู่สัก 5-6 หลัง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทุนมหาวิทยาลัยเกียวโตนี่ดีกว่าที่ผมคิด เดิมทีแค่รู้ว่าได้ทุนมาเพื่อทำวิจัย ซึ่งก็จะทำอะไรก็ทำไปเถอะ ตามข้อเสนอขอทุนที่เขียนไปไม่ถึงหนึ่งหน้ากระดาษ งานที่รับผิดชอบคือเสนองานสักสองครั้ง แล้วพยายามพิมพ์อะไรออกมาก็โอเคแล้ว นี่จึงถือว่าเป็นทุนชั้นยอด
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาผมเดินทางด้วยรถไฟชินคันเซนจากเกียวโตไปโตเกียว มีเรื่องราวมากมายที่น่าบันทึกไว้ ณ ที่นี่ แต่เบื้องต้นขอเล่าเพียงตลาด Tsukiji ก่อน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตกใจเหมือนกันที่ Divas Cafe จะเลิกออกอากาศแล้ว อยากบันทึกสั้นๆ ว่าผมดีใจ ภูมิใจ ปลื้มใจ ที่เคยได้เป็นแขกในรายการดีว่าส์ คาเฟ่ เป็นรายการที่ไปคุยด้วยสนุกมาก พิธีกรรุกเร้ามาก เวลาสั้นจนต้องปรับจังหวะการพูดให้เร็วมาก แถมบางครั้งยังต้องหาจังหวะแย่งพิธีกรพูดอีก