Skip to main content

 

แน่นอนว่าโฆษณาโปรแกรมเรียนภาษาไทย (บางคนบอกเป็นแค่ตลกล้อเลียน?) ที่เป็นข่าว 2-3 วันที่ผ่านมานั้น ตั้งอยู่บนอคติทางเพศ ดูถูกเพศหญิงว่าเป็นวัตถุทางเพศ ดูถูกเพศชายว่าจ้องเสพสุขทางเพศท่าเดียว (หรือหลายท่า?) สร้างภาพเหมารวมให้คนไทยและสังคมไทยไร้ศีลธรรม (ดูสิ เราออกจะเมืองพุทธ เมืองพระ) แต่ที่ยังน่าจะต้องทำความเข้าใจคือ ปฏิกิริยาที่คนไทยมีต่อวิดีโอล้อเลียนนี้ 

 
ไม่ว่าจะเรื่องอะไร เมื่อใครมาว่าเมืองไทยอย่างไร เรามักปฏิเสธ แถมยังขอให้เขาเข้าใจเราให้ถูกต้อง เรียกร้องหรือกระทั่งประท้วงให้เขายกเลิกคำพูดเหล่านั้น เช่น ฟอร์บว่าพระมหากษัตริย์ไทยเป็นกษัตริย์ที่มีทรัพย์สินมากที่สุดในโลก เราดีเฟนว่าไม่ถูก ไม่จริง (ทีอย่างนี้ทำไมจึงไม่ภูมิใจกันก็ไม่ทราบ) ทั่วโลกประณามการตัดสินจำคุก 10 ปีสมยศ พฤกษาเกษมสุข เราบอกว่าทั่วโลกไม่เข้าใจความเป็นไทย ประเทศหนึ่งในยุโรปเอาพระพุทธรูปไปประดับประตูห้องน้ำสาธารณะ คนไทยบอกทำร้ายจิตใจชาวพุทธ (ไม่เห็นชาวพุทธธิเบต อินเดีย จีน ลาว พม่า ซึ่งเคร่งครัดกว่าเรามากนักจะว่าอะไรเลย) จนกระทั่งกรณีโปรแกรมสอนภาษาล้อเลียนว่าไทยเป็นเมืองโสเภณี เราบอกทำภาพลักษณ์ไทยเสื่อมเสีย 
 
อะไรที่ทำให้คนไทยจำนวนหนึ่งเดือดร้อนกับคำพูดเหล่านั้น ความเห็นเหล่านั้นวางอยู่บนความเข้าใจชนิดไหนกัน ส่วนหนึ่งของปัญหานี้จึงไม่ใช่ปัญหาข้อเท็จจริง แต่ระบบคิดต่างหากที่เป็นปัญหา
 
ข้อแรก ผมคิดว่าคนไทยที่โกรธ โกรธเพราะคิดแบบฝรั่งเรื่อง "รัฐ-ชาติ" ในโลกทัศน์ของ "จินตกรรมรัฐ-ชาติ" ประเทศชาติถูกมองว่าเสมือนปัจเจกคนหนึ่ง ระบบคิดนี้ไม่ได้มีเพียงในวิธีคิดทางรัฐศาสตร์ แต่ยังอยู่ในวิธีคิดทางเศรษฐศาสตร์ อยู่ในวิธีคิดทางสังคม ที่ทำให้ "คนไทย" กลายเป็นกลุ่มก้อนเดียวกันไปหมด ยิ่งในโลกปัจจุบัน เป็นภาวะโลกาภิวัตน์ ผู้คนติดต่อกันข้ามชาติด้วยจินตกรรมว่า แต่ละประเทศเป็นปัจเจกบุคคลที่คบค้าติดต่อกัน 
 
ในระบบคิดแบบนี้ อย่าว่าแต่ "เรา" จะมองว่าเราเป็นเสมือนคนคนเดียวกันทั่วประเทศเลย "เขา" ก็มองว่าเราเป็นคนคนเดียวกันทั่วประเทศเช่นกัน ทั้งเราทั้งเขาต่างเหมารวม เวลาที่เขาล้อเลียนคนไทย เราก็เกิดเดือดร้อนไปด้วย ทั้งๆ ที่เขาไม่ได้ว่าเราที่เป็นตัวเราในชีวิตประจำวันสักหน่อย แต่เราที่เป็นตัวตนชาติเกิดเป็นเดือดเป็นร้อนขึ้นมา
 
ข้อที่สอง คนที่เดือดร้อน ที่จริงไม่ได้เดือดร้อนกับปัญหา แต่เดือดร้อนกับหน้าตาของ "พวกเขา" เท่านั้นมากกว่า เวลาที่ "เรา" ปกป้องภาพลักษณ์ของประเทศ "เรา" น่ะคือใครกัน เราปกป้องภาพลักษณ์ของใครกันแน่ หรือว่า "เรา" เหล่านั้นปกป้องภาพลักษณ์ของ "พวกคุณเองบางคนบางกลุ่ม" มากกว่าจะปกป้อง "เรา" ทั้งหลาย 
 
"เรา" "คนไทย" (แบบพวกคุณ) ไม่อยากให้ใครมาด่าทอดูถูกว่า วิธีที่เราแสดงความรักพระประมุข เป็นวิธีการที่ป่าเถื่อน ด้วยการลิดรอนสิทธิความเป็นมนุษย์และบิดเบือนหลักความยุติธรรม
 
"เรา" "คนไทย" (แบบพวกคุณ) เหล่านั้นปกป้องภาพเหล่า "คนดี" ปกป้องแต่หน้าตาของชนชั้นกลาง ชนชั้นนำมากกว่าคนทั้งหลาย คนทั้งประเทศแค่นั้นหรือเปล่า 
 
"เรา" "คนไทย" (แบบพวกคุณ) จึงรักชาติสุดใจอย่าให้ใครมาว่าไทยเป็นเมืองกะหรี่
 
ประการต่อมา เราไม่เพียงปฏิเสธภาพลักษณ์เลวร้ายที่ต่างชาติป้ายสีเรา แต่เรายังปฏิเสธที่จะตรวจสอบตนเองว่า มีอะไรทำให้เราถูกมองอย่างนั้น มันง่ายกว่าที่จะปฏิเสธและต่อต้านสิ่งที่คนอื่นเขาวิจารณ์เรา แต่มันยากที่จะตรวจสอบว่า เราทำอะไรให้เขาวิจารณ์ 
 
ทำไมเขาจึงจัดพระมหากษัตริย์เราว่าเป็นกษัตริย์ที่มีทรัพย์สินมากที่สุดในโลก ก็ไปดูในกฎหมายสิ ว่าเขากำหนดให้ใครเป็นผู้ตัดสินใจที่จะยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินได้ แล้วถ้าไม่ใช่ "เจ้าของ" แล้ว ใครจะทำได้ ทำไมทั่วโลกเขาถึงประณามการตัดสินคดีสมยศ ก็เพราะนานาอารยะชนเขาเห็นว่า การปล่อยให้ตีพิมพ์ข้อเขียนวิจารณ์ใครที่ไม่ได้ระบุชื่อ ไม่อาจทำร้ายใครได้ และไม่ได้จำเป็นต้องมีโทษจำคุกราวอาชญากรร้ายแรงถึง 10 ปีไง
 

ทำไมชาวโลกเขาถึงมองว่าเราเป็นเมืองโสเภณี ก็เพราะว่าเราเป็นไง ก็เพราะเราไม่เคยพยายามแก้ปัญหานี้อย่่างจริงจังไง ก็เพราะเราไม่มีปัญญาหาอาชีพที่ดีกว่านี้แล้วรายได้สูงเท่านี้ให้คนจำนวนมากได้ไง ก็เพราะส่วนหนึ่งของรายได้จากต่างประเทศของเราในอันดับต้นๆ มาจากการค้ากามไง ก็เพราะเรามือถือสากปากถือศีลไง 

ก็เพราะเราไม่ยอมรับกันอย่างตรงไปตรงมาไงว่า ก็ถ้าใครจะหารายได้ด้วยการขายบริการทางเพศแล้วทำไมคนอื่นต้องเดือดร้อนด้วย จิ๋มก็ของเขา จู๋ก็ไม่ใช่ของเรา จะเอามือไปอุดไว้ได้อย่างไร จะเอามาใส่ใจเราทำไม
 
ข้อสุดท้าย เวลาที่เราเรียกร้องให้ใครเขาเข้าใจเราอย่างถูกต้องตรงตามความจริง แล้วเราล่ะ เคยเข้าใจใครต่อใครเขาอย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริงหรือเปล่า เราเคยตรวจสอบวิธีมองคนอื่นของเราบ้างหรือเปล่า ไหนจะดูถูกคนลาว ไหนจะสร้างภาพยนตร์ส่งเสริมให้รังเกียจประเทศเพื่อนบ้าน ฯลฯ สรุปคือเราก็ไม่ได้เข้าใจเขาพอๆ กับที่เขายังไม่เข้าใจเรานั่นแหละ
 
กับสังคมอเมริกันเหมือนกัน พวกคุณที่ด่าทอคนอเมริกัน แล้วบอกว่าอเมริกันฟรีเซ็กส์น่ะ ไม่มีที่ไหนในอเมริกาที่คุณจะหาซื้อบริการทางเพศตามท้องถนนได้ง่ายดายแบบในประเทศไทยหรอกนะ หรือถ้าคุณเที่ยวไปชวนใครตามท้องถนนไปสมสู่ด้วยล่ะก็ ถ้าไม่ถูกตบคว่ำ ก็คงเพราะไปเจอคนสุภาพที่สุดในอเมริกาเข้า ซึ่งเขาก็จะไปพาตำรวจมาจับคุณส่งโรงบำบัดจิตแน่ 
 
ในปัจจุบัน การศึกษาทางสังคมวิทยาได้ข้อสรุปที่ชัดเจนว่า การร่วมเพศไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อการสืบเผ่าพันธ์ุเป็นหลักอีกต่อไป ลองถามตัวคุณเองที่ยังมีเพศสัมพันธ์อยู่ก็แล้วกัน ว่าคุณมีเพศสัมพันธ์เพื่อความบันเทิงหรือเพื่อการสืบเผ่าพันธ์ุ 
 
ฉะนั้นผมว่าดีออกที่ใครจะนึกถึงเมืองไทยว่าเมืองแห่งการร่วมเพศ เพราะมันคือความเป็นจริงของการมีเพศสัมพันธ์ในโลกปัจจุบัน และที่น่าภูมิใจคือ ภาษาไทยก็จะกลายเป็นภาษาโลกในสนามของความสุขทางเพศ ก็แล้วจะให้ผู้คนทั่วโลกเรียนภาษาไทยไปเพื่ออะไรกัน ถ้าไม่ใช่เพื่อมาหาความสุขทางเพศ

 

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อวาน (4 ตุลาคม 2560) นิสิตมหาวิทยาลัยหนึ่งโทรศัพท์มาสัมภาษณ์เรื่องการพิมพ์คำ "คะ" "ค่ะ" ผิดๆ ในโซเชียลมีเดียและการส่งข้อความต่างๆ บอกว่าจะเอาไปลงวารสารของคณะเธอ เธอถามว่าการใช้คำผิดแบบนี้มีนัยทางสังคมอย่างไร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อคืนวาน (30 กันยายน 2560) นักศึกษาปริญญาโทชั้นเรียนมานุษยวิยาคนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้เขียนบทละครเรื่อง "The Dark Fairy Tales นิทานเรื่องนี้ไม่เคยเล่า" ชวนไปดูและร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นหลังละครจบ ช่วยให้คิดอะไรเกี่ยวกับการอ่านนิทานได้อีกมากทีเดียวจึงอยากบันทึกไว้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การสนทนาอย่างออกรสไม่ได้จะต้องอยู่ในบรรยากาศเคร่งขรึมในห้องเรียน ห้องสัมมนาเสมอไป ด้วยเหตุนี้ผมจึงเชื่อว่า การใช้เวลานอกห้องเรียน นอกห้องสัมมนาวิชาการ สำคัญไม่น้อยไปกว่าการใช้เวลาในห้องสี่เหลี่ยมที่มีระเบียบต่างๆ ควบคุมการสนทนาอย่างเคร่งครัดเกินไป
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จากเหตุการณ์เข้ามาคุกคามพื้นที่ทางวิชาการของคณะทหารในการประชุมไทยศึกษานานาชาติครั้งที่ 13 ที่เชียงใหม่ จนทำให้นักวิชาการที่มาร่วมประชุมกลุ่มหนึ่งแสดงออกด้วยการชูป้าย "เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร" แล้วท้ายสุดมีนักวิชาการ 5 คนถูกตั้งข้อหาว่าเป็นคนนอกเข้ามายุยงให้ต่อต้านรัฐบาล
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันแม่นำความกระอักกระอ่วนใจมาให้ผมตั้งแต่ยังเด็ก เพราะแม่ในเพลง "ค่าน้ำนม" ที่เด็กในกรุงเทพฯ รุ่นผมถูกให้หัดร้องตามจนแทบจะจำเนื้อได้ทั้งเพลงมาตั้งแต่จำความได้ ไม่ตรงกับแม่ในชีวิตจริงของผม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะอาจารย์มหาวิทยาลัยคนหนึ่ง ผมไม่อาจยอมรับการกระทำของอาจารย์ต่อนิสิตด้วยความรุนแรงดังที่เกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยอันทรงเกียรติแห่งหนึ่งได้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้เกิดความผิดพลาดบางอย่างทำให้บทแนะนำอาจารย์แคทเธอรีน บาววี องค์ปาฐกคนหนึ่งของงานประชุมไทยศึกษาปีนี้ที่จังหวัดเชียงใหม่ ไม่ได้ถูกนำเสนอในงานประชุม ในเมื่อผมเตรียมไปพูดแล้วแต่ไม่ได้พูด ก็ขอนำบันทึกที่ร่างไว้นี้มาเผยแพร่ในที่นี้แทนก็แล้วกัน 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
"ฟ้าข้างในนี้กว้างกว่าข้างนอก ฟ้าในนี้กว้างจนแทบจะเห็นขอบฟ้า"
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ช่วงนี้คงเป็นช่วงเขียนรายงาน เขียนวิทยานิพนธ์ของหลายๆ คน ผมเองช่วงนี้เป็นช่วงต้องอ่านงานนักศึกษามากมาย ที่สาหัสที่สุดคืองานวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาปริญญาโทและเอก 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมอ่านงานจิตรครั้งแรกๆ ก็ตอนที่เรียนมหาวิทยาลัยระดับปริญญาตรี ตอนนั้นเมื่อออกจากโลกโรงเรียนก็รู้สึกว่า โลกหนังสือของห้องสมุดธรรมศาสตร์ช่างกว้างใหญ่มาก กว้างใหญ่กว่าห้องสมุดแห่งชาติที่สมัยเรียนมัธยมผมชอบไปสิงอยู่มากนัก นี่กล่าวเฉพาะหนังสือที่น่าอ่านเกี่ยวกับสังคม วัฒนธรรม ปรัชญา และศาสนา
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้ (3 พค. 60) ผมไปวิจารณ์งานนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยซึ่งคณะราษฎรมีส่วนก่อตั้งเช่นกัน แต่สำคัญผิดกันไปว่าผู้อื่นมีบุญคุณมากกว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บางทีนามสกุลกับบทบาทความเป็นครูของครูฉลบชลัยย์ พลางกูร คงไม่ทำให้คนสนใจครูฉลบเกินบทบาทไปกว่าการเป็นภรรยาของนายจำกัด พลางกูร และเป็นผู้ให้กำเนิดโรงเรียนดรุโณทยาน