Skip to main content

 

พอดีเมื่อสักครู่เพิ่งเห็นภาพภาพหนึ่ง เป็นภาพซอกตึกเมืองเล็กๆ ที่ไหนสักแห่ง มีคำบรรยายภาพว่า “Put down that map and get wonderfully lost.” “วางแผนที่นั่นเสียเถอะ แล้วหลงทางให้อัศจรรย์ใจ” ก็เลยคิดเรื่อยเปื่อยถึงความหมายของการหลงทาง

 

ประสบการณ์การหลงทางของผมหลายครั้งช่วยให้พบกับเสน่ห์ชวนประหลาดใจของเมืองได้จริงๆ แล้วก็ทำให้คิดขึ้นมาได้ว่า มีหลักปรัชญาสังคมบางอย่างที่ช่วยให้เข้าใจเรื่องการหลงทางอยู่บ้างเหมือนกัน 

 

ตอนไปญี่ปุ่น ผมหลงทางหลายครั้ง เหมือน sense of direction มันหายไปในเมืองที่มีวิธีจัดการพื้นที่แบบที่ผมไม่ค่อยคุ้นเคย ทั้งๆ ที่ปกติผมไม่ค่อยหลงทางแบบนี้บ่อยนัก 

 

แต่การหลงหลายครั้งในเกียวโตทำให้ผมได้เจอสถานที่น่าประทับใจ และที่ทำให้มักจดจำสถานที่เฉพาะที่ไป แต่ไม่สามารถหาเส้นทางกลับไปเจอสถานที่นั้นได้อีก มีครั้งหนึ่งเดินไปดึกดื่นกับเพื่อนอาจารย์คนหนึ่ง เรากำลังจะไปหาที่นั่งดื่มกินกันแบบที่ไม่ใช่ร้านนักท่องเที่ยวต่างชาติ ไปเจอร้านเล็กๆ ร้านหนึ่งโดยบังเอิญ ตั้งอยู่ข้างทางเดินเล็กๆ ริมลำธารเล็กๆ 

 

ร้านนี้มีสองตายายขายเหล้ากับของกินแกล้มเหล้า บรรยากาศเหมือนในหนังญี่ปุ่น ที่คนกินเหล้านั่งหน้าโต๊ะเล็กๆ แล้วเจ้าของร้านหันไปหันมาอยู่ข้างหน้า เจ้าของร้านโอภาปราศรัยดี ที่เด็ดมากคือ “ทาโกะยากิ” สูตรที่ผมไม่เคยเห็นไม่เคยกินมาก่อน (ที่จริงก็ไม่ใช่นักกินทาโกะยากิหรอก เพียงแต่แบบนี้ไม่เคยเห็นจริงๆ) 

 

เขาทำเหมือนเป็นไข่ตุ๋นทรงกลมนุ่มๆ ใจกลางใส่หมึกยักษ์ชิ้นพอประมาณ ราดด้วยมายองเนสบางๆ ไม่มีซ้อสเหนียวหนืด หวานๆ เค็มๆ มากลบรสไข่และกลิ่นหมึกยักษ์ เขาเสิร์ฟทาโกะยากิกลมดิกร้อนๆ แบบฟิวชั่นบนถาดเกลี้ยงๆ สีแดงแจ้ด สีไข่ตัดกับสีจานจัดจ้าน ไอควันโชยขึ้นมาเคล้ากลิ่นกรุ่นของทาโกะยากิ ลืมไม่ลงจริงๆ

 

ผมพยายามกลับไปควานหาร้านนี้หลายต่อหลายรอบในการกลับไปเกียวโตครั้งต่อๆ มา แต่หาทีไรก็หาไม่พบสักที

 

ก็เลยไปนึกถึงเพื่อนคนหนึ่งที่เพิ่งกลับจากฮานอย นึกถึงซอกตึกในฮานอย นึกถึงการ “หลงทาง” ทั้งอย่างจงใจและไม่จงใจ ซึ่งมักนำพาไปสู่สถานที่ที่น่าประหลาดใจ เช่นพบกับบ้านเรือนที่นึกไม่ถึงว่าจะมีในฮานอย มีครั้งหนึ่งเป็นช่วงปีใหม่เวียดนามนี่แหละ เดินหลงเข้าไปในซอยเล็กๆ แห่งหนึ่งกลางเมืองฮานอย แล้วพบบ้านหลังหนึ่ง มีบริเวณแคบๆ หน้าบ้าน ซึ่งปลูกต้นท้อขนาดย่อม ที่กำลังออกดอกบานสะพรั่งอยู่หน้าบ้าน

 

พอหลงคิดมาทางนี้แล้ว ก็นึกถึงหนังสือสนุกที่ต้องอ่านหลายต่อหลายรอบ ของนักอะไรก็ไม่รู้ว่าจะเรียกเขาได้คนหนึ่ง ชื่อมิเชล เดอร์ แซร์โท (Michel De Certeau) เล่มหนึ่ง ชื่อ “ปฏิบัติการของชีวิตประจำวัน” (The Practice of Everyday Life, 1980 แปลเป็นภาษาอังกฤษปี 1984) บทหนึ่งในนั้น ที่ผมใช้ในห้องเรียนเสมอ ชื่อ “Walking in the City” 

 

เดอร์ แซร์โทเปรียบเทียบการเดินในเมืองของคนทั่วไป ว่าเหมือนการพูดในชีวิตประจำวัน ที่ไม่มีคนไหนพูดตามระเบียบแบบแผน ตามกฎเกณฑ์ของภาษาอย่างเป๊ะๆ ชัดเจนตายตัว สำหรับชาวเมืองนั้นๆ  แม้จะเป็นเมืองที่ถูกจัดแบ่งเป็นบล็อคๆ มีชื่อถนนแต่ละเส้นเป็นตัวเลข ยากที่จะหลงทางแบบเมืองนิวยอร์ค คนเมืองก็ไม่ได้จำเป็นต้องเดินแบบเดียวกับที่นักผังเมืองวางไว้เสมอ

 

ผมมีโอกาสได้ไปนิวยอร์คครั้งเพียงเดียว แต่ก็คิดว่า หากต้องไปอีก แม้จะเอาแผนที่ไปก็คงจะต้องหลงทาง เพราะคนที่พาเดินในนิวยอร์คตอนนั้นเชี่ยวชาญ ช่ำชองชีวิตในนิวยอร์ค พามุดขึ้น-ลงรถไปใต้ดิน ต่อรถเมล์ เดินไปเดินมา กระทั่งผมเองที่เป็นนักเดินทางตามแผนที่ ก็ยังเปิดแผนที่ตามไม่ทัน

 

แผนที่ดูจะมีอำนาจไม่เพียงในระดับของการแบ่งเขตแดนจริงๆ เพราะในระดับชีวิตประจำวัน ผมก็ยังเคยอิงอำนาจของแผนที่ในการเดินทางบนรถแท็กซี่ในฮานอย ในปีแรกๆ ของการอยู่ฮานอย ไปไหนมาไหนยังไม่คล่อง ขึ้นแท็กซี่ประจำ ผมมักถือแผนที่ในมือ เวลาขึ้นแท็กซี่ก็ยกขึ้นมาขู่คนขับ แล้วออกเสียงชื่อถนนชัดๆ คอยไล่ดูเทียบกับแผนที่ตลอด ส่วนใหญ่วิธีนี้สามารถขู่แท็กซี่ฮานอยได้บ้าง อย่างน้อยก็ในอดีต จนต่อมา ผมดูแผนที่พวกนี้จนกระทั่งจำได้ขึ้นใจอยู่พักหนึ่งว่า ถนนสายหลักๆ สายไหนอยู่ตรงไหน ไปอย่างไร พอปีหลังๆ เพื่อนต่างชาติคนไหนผ่านไปผ่านมาที่ฮานอย มักเขียนมาถามผมว่าอะไรอยู่ตรงไหนเสมอๆ

 

สำหรับเดอร์ แซร์โท แผนที่ วิธีมองโลกแบบแผนที่ และวิธีจัดการพื้นที่แบบแผนที่ เป็นวิธีการของอำนาจแบบครอบงำอย่างแท้จริง เป็นการมองแบบครอบครอง มองกวาด มองแบบจ้องจัดการ เดอร์แซร์โทจึงขยายความคิดเรื่องการเดินในเมือง ให้ไปไกลสู่การต่อต้าน “แบบ” “แผน” ที่แม้ไม่สามารถนำไปสู่จุดหมายของการเปลี่ยนแปลงสังคมได้อย่างเป็นระบบ แต่เชื่อเถอะว่า สังคมจะเปลี่ยนเข้าสักวัน

 

บางทีใครต่อใครที่หวังดี หรือตัวเราเอง อาจอยากให้เราต้องเดินตามทาง เดินตามแผนที่ ตาม road map อะไรก็แล้วแต่ที่ราวกับว่าจะกำหนดกะเกณฑ์ถึงปลายทางได้ชัดเจน แต่แน่ใจหรือว่า road map เหล่านั้นจะพาเราไปสู่ปลายทางที่เราคาดหวังได้จริงๆ หรือแน่ใจหรือว่า ปลายทางนั้นคือปลายทางที่เราคาดหวังจริงๆ

 

แน่นอนว่าการหลงทางมีราคาที่ต้องจ่าย มีความเสี่ยงรออยู่ ทางที่หลงไปมักน่ากลัวในเบื้องต้น จนบางคนคิดว่าตนเองไม่น่าจะหลงทางมาเลย แต่การหลงทางอาจพาเราไปสู่เส้นทางที่เราจับพลัดจับผลูเดินไปจนได้ดีขึ้นมา บางทีเราต้องกล้าหลงทาง หรือบางทีเราต้องยอมรับว่าเราหลงทาง แล้วหาความหมายให้กับทางที่หลงมาให้เจอ

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา หลายคนคงเป็นแบบผม คือพยายามข่มอารมณ์ฝ่าฟันการสบถของท่านผู้นำ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ตั้งแต่ที่ผมรู้จักงานฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์มา มีปีนี้เองที่ผมคิดว่ากิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่มีความหมาย
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปี 2558 เป็นปีที่คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีอายุครบ 50 ปี นับตั้งแต่เริ่มเป็นแผนกอิสระในคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์มาตั้งแต่ปี 2508
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เปิดภาคการศึกษานี้มีเรื่องน่าตื่นเต้นคือ วันแรกที่ไปสอน (ผมสอนอังคาร, พฤหัสบดี ครั้งละ 1 ชั่วโมง 15 นาที) มีนักเรียนมาเต็มห้อง เขากำหนดโควต้าไว้ที่ 34 คน แต่หลังจากผมแนะนำเค้าโครงการบรรยาย คงเพราะงานมาก จุกจิก ก็มีคนถอนชื่อออกไปจำนวนหนึ่ง คืนก่อนที่จะไปสอนครั้งที่สอง ผมก็เลยฝันร้าย คือฝันว่าวันรุ่งขึ้นมีนักเรียนมาเรียนแค่ 3 คน แล้วเรียนๆ ไปนักเรียนหนีหายไปเหลือ 2 คน แต่พอตื่นไปสอนจริง ยังมีนักเรียนเหลืออีก 20 กว่าคน
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อได้ทราบว่าอาจารย์เก่งกิจทำวิจัยทบทวนวรรณกรรมด้านชนบทศึกษา โดยลงแรงส่วนหนึ่งอ่านงาน “ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย” (ต่อไปนี้จะเรียกว่า “ทบทวนภูมิทัศน์ฯ”) (อภิชาต ยุกติ นิติ 2556) ที่ผมมีส่วนร่วมกับนักวิจัยในทีมทั้งหมด 6 คนในตอนแรก และ 9 คนในช่วงทำวิจัยใหญ่ [1] ผมก็ตื่นเต้นยินดีที่นานๆ จะมีนักวิชาการไทยอ่านงานนักวิชาการไทยด้วยกันเองอย่างเอาจริงเอาจังสักที 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จะให้ผมเขียนเรื่องอุปสรรคขัดขวางโลกวิชาการไทยต่อการก้าวขึ้นสู่ความเป็นเลิศในระดับนานาชาติไปอีกเรื่อยๆ น่ะ ผมก็จะหาประเด็นมาเขียนไปได้อีกเรื่อยๆ นั่นแหละ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ถ้านับย้อนกลับไปถึงช่วงปีที่ผมเริ่มสนใจงานวิชาการจนเข้ามาทำงานเป็นอาจารย์ ก็อาจนับได้ไปถึง 25 ปีที่ผมเห็นความเปลี่ยนแปลงในโลกวิชาการไทย ความเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่สำคัญคือการบริหารงานในมหาวิทยาลัย แต่ขอยกเรื่องนั้นเอาไว้ก่อน เพราะหากค่อยๆ ดูเรื่องย่อยๆ ไปเรื่อยๆ แล้วก็น่าจะช่วยให้เห็นอะไรมากขึ้นว่า การบริหารงานวิชาการในขณะนี้วางอยู่บนระบบแบบไหน เป็นระบบที่เน้นสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการในเชิงปริมาณหรือคุณภาพกันแน่ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
บอกอีกครั้งสำหรับใครที่เพิ่งอ่านตอนนี้ ผมเขียนเรื่องนี้ต่อเนื่องกันมาชิ้นนี้เป็นชิ้นที่ 5 แล้ว ถ้าจะไม่อ่านชิ้นอื่นๆ (ซึ่งก็อาจชวนงงได้) ก็ขอให้กลับไปอ่านชิ้นแรก ที่วางกรอบการเขียนครั้งนี้เอาไว้แล้ว อีกข้อหนึ่ง ผมยินดีหากใครจะเพิ่มเติมรายละเอียด มุมมอง หรือประสบการณ์ที่แตกต่างออกไป แต่ขอให้แสดงความเห็นแบบ "ช่วยกันคิด" หน่อยนะครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อันที่จริงวิทยานิพนธ์เป็นส่วนน้อยๆ ของโลกวิชาการอันกว้างใหญ่ และเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเป็นนักวิชาการ แต่วิทยานิพนธ์ก็เป็นผลงานที่อาจจะดีที่สุดของนักวิชาการส่วนใหญ่ แต่สังคมวิชาการไทยกลับให้คุณค่าด้อยที่สุด พูดอย่างนี้เหมือนขัดแย้งกันเอง ขอให้ผมค่อยๆ อธิบายก็แล้วกันครับ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ก่อนเริ่มพูดเรื่องนี้ ผมอยากชี้แจงสักหน่อยนะครับว่า ที่เขียนนี่ไม่ใช่จะมาบ่นเรื่อยเปื่อยเพื่อขอความเห็นใจจากสังคม แต่อยากประจานให้รู้ว่าระบบที่รองรับงานวิชาการไทยอยู่เป็นอย่างไร ส่วนจะมีวิธีแก้ไขอย่างไร อย่าถามผมเลย เพราะผมไม่มีอำนาจ ไม่ต้องมาย้อนบอกผมด้วยว่า "คุณก็ก้มหน้าก้มตาทำงานไปให้ดีที่สุดก็แล้วกัน" เพราะถ้าไม่เห็นว่าสิ่งที่เล่าไปเป็นประเด็นก็อย่าสนใจเสียเลยดีกว่า
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ผมขอเริ่มที่เรืองซึ่งถือได้ว่าเป็นยาขมที่สุดของแวดวงมหาวิทยาลัยไทยเลยก็แล้วกัน ที่จริงว่าจะเขียนเรื่องการผลิตความรู้ก่อน แต่หนีไม่พ้นเรื่องการสอน เพราะนี่เป็นอุปสรรคใหญ่ต่อการทำงานวิชาการในไทยมากถึงมากที่สุดเลยก็ว่าได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อผมมาสอนหนังสือถึงได้รู้ว่า วันครูน่ะ เขามีไว้ปลอบใจครู ก็เหมือนกับวันสตรี เอาไว้ปลอบใจสตรี วันเด็กเอาไว้หลอกเด็กว่าผู้ใหญ่ให้ความสำคัญ แต่ที่จริงก็เอาไว้ตีกินปลูกฝังอะไรที่ผู้ใหญ่อยากได้อยากเป็นให้เด็ก ส่วนวันแม่กับวันพ่อน่ะอย่าพูดถึงเลย เพราะหากจะช่วยเป็นวันปลอบใจแม่กับพ่อก็ยังจะดีเสียกว่าที่จะให้กลายเป็นวันฉวยโอกาสของรัฐไทยอย่างที่เป็นอยู่นี้