ยุกติ มุกดาวิจิตร: คนละชนบทเดียวกัน : อ่านร่างงานวิจัยของ ดร. เก่งกิจ กิติเรียงลาภ

เมื่อได้ทราบว่าอาจารย์เก่งกิจทำวิจัยทบทวนวรรณกรรมด้านชนบทศึกษา โดยลงแรงส่วนหนึ่งอ่านงาน “ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย” (ต่อไปนี้จะเรียกว่า “ทบทวนภูมิทัศน์ฯ”) (อภิชาต ยุกติ นิติ 2556) ที่ผมมีส่วนร่วมกับนักวิจัยในทีมทั้งหมด 6 คนในตอนแรก และ 9 คนในช่วงทำวิจัยใหญ่ [1] ผมก็ตื่นเต้นยินดีที่นานๆ จะมีนักวิชาการไทยอ่านงานนักวิชาการไทยด้วยกันเองอย่างเอาจริงเอาจังสักที 

ผมได้ทั้งดูคลิปการนำเสนอของอาจารย์เก่งกิจ และการวิจารณ์ของ ผศ. ดร. อัจฉรา รักยุติธรรม และเพื่อความเข้าใจที่ชัดเจนขึ้น จึงได้ขอให้ ผศ. ดร. ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี ขอบทความที่อาจารย์เก่งกิจนำเสนอมาอ่าน ซึ่งอาจารย์เก่งกิจก็กรุณาส่งมาให้ในทันทีที่ขอ

ข้อเขียนนี้อาจจะดูเหมือนเป็นการ “ปกป้อง” งานวิจัยอยู่บ้าง แต่ก็ขอให้ถือว่าเป็นการแลกเปลี่ยนจากการอ่านงานชิ้นเดียวกันคนละมุมมองกัน และก็หวังว่าจะเป็นประโยชน์ต่อวงวิชาการอยู่บ้าง อีกประการหนึ่ง เมื่อเร็วๆ นี้ ผศ. ดร. จักรกริช สังขมณี (จักรกริช 2558) ได้วิจารณ์อาจารย์เก่งกิจไปหลายประเด็นแล้ว และผมก็เห็นด้วยกับทุกประเด็นที่อาจารย์จักรกริชเสนอ จึงขอข้ามหลายๆ ประเด็นที่ผมเองก็ไม่ได้มีความรู้เพียงพอ 

โดยสรุปแล้ว ผมเห็นว่าอาจารย์เก่งกิจเข้าใจประเด็นวิจัยและพัฒนาการของประเด็นศึกษาที่งานวิจัย “ทบทวนภูมิทัศน์ฯ” ต้องการศึกษาและพัฒนาบุกเบิกมาคลาดเคลื่อนหรืออย่างน้อยคือไม่ตรงกันกับที่ผมเข้าใจในหลายๆ ส่วนด้วยกัน ที่สำคัญคือ 1. โจทย์วิจัย 2. การศึกษาชนบท 3. การศึกษาการเลือกตั้ง 4. มโนทัศน์ชนชั้นกลางใหม่ และ 5. สุดท้ายผมมีข้อสังเกตปลีกย่อยแต่สำคัญบางประการ

1. คนละโจทย์วิจัยเดียวกัน

ประเด็นสำคัญที่อาจารย์เก่งกิจย้ำหลายครั้งในงานคือประเด็นที่งานวิจัย “ทบทวนภูมิทัศน์ฯ” เสนอว่า “ชนบท (เพิ่ง) เปลี่ยนไป” หากแต่คำถามที่ว่าชนบทเพิ่งเปลี่ยนไปหรือไม่นั้น ไม่ใช่ประเด็นของการศึกษางานทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทยเลย งานศึกษาตั้งโจทย์ในระยะแรกว่าใครคือคนเสื้อแดง แล้วก็ได้ข้อสรุปในเชิงสมมติฐานเพื่อทำวิจัยในระยะต่อไปว่า คนเหล่านี้คือ “ชนชั้นใหม่” ต่อมาในงานวิจัยชุดใหญ่ภายหลังจึงขยายคำถามว่า จะทำความเข้าใจขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบันได้อย่างไร คำตอบคือ ความขัดแย้งนี้เกิดจากความเปลี่ยนเปลงของภูมิทัศน์ด้านต่างๆ คือ ภูมิทัศน์ทางการเมือง เศรษฐกิจ และอุดมการณ์ ไม่ได้สนใจเพียงเรื่องชนบทโดยเฉพาะเลย  

หลักสำคัญของการทำวิจัยคือจะต้องวางตำแหน่งแห่งที่ของงานวิจัยให้ถูกต้อง เพื่อสร้างข้อเสนอที่ชัดเจน พูดง่ายๆ คือ จะเถียงกับใครกันแน่ต้องเอาให้ชัด การวางตำแหน่งแห่งที่ของงาน “ทบทวนภูมิทัศน์ฯ” คือการเถียงกับการศึกษาความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศไทยหลังทศวรรษ 2530 เป็นต้นมา ว่ามีใครเสนออะไรอย่างเป็นระบบและถูกอ้างอิงถึงมากบ้าง แล้วข้อเสนอเหล่านั้นยังให้คำอธิบายต่อความขัดแย้งในระยะหลังจากนั้นได้หรือไม่ หรือหากมีงานที่สามารถอธิบายปรากฏการณ์ใหม่ได้แล้ว เพียงพอไหม หากไม่เพียงพอ จะตั้งโจทย์อย่างไรเพื่อขยายความต่อยอดงานวิจัยที่มีอยู่แล้วแต่ยังไม่เพียงพอนั้น แล้วจึงออกแบบการวิจัย ออกแบบระเบียบวิธีวิจัย

งาน “ทบทวนภูมิทัศน์ฯ” จึงไม่ได้เอาใจใส่กับประเด็น “ชนบทศึกษา” เลย ดังจะเห็นได้ในการทบทวนเอกสารทางวิชาการ จะเห็นว่า “ทบทวนภูมิทัศน์ฯ” แทบไม่ได้แตะเรื่องชนบทศึกษาเลย เพราะไม่ได้จะเถียงเรื่องเหล่านั้น หากจะเถียงกับประเด็นเหล่านั้น ก็ต้องไล่อ่านเอกสารต่างๆ จำนวนหนึ่งที่อาจารย์เก่งกิจและอาจารย์จักรกริช (2558) กล่าวถึง หากแต่ถ้าดูโจทย์วิจัยของ “ทบทวนภูมิทัศน์ฯ” ก็จะเห็นว่า งานนี้สนใจข้อถกเถียงเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยโดยรวมมากกว่า

2. เข้านอกออกในชนบท

สำหรับเรื่องการศึกษาชนบท แน่นอนว่า การศึกษาสังคมชนบท เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาของ “ทบทวนภูมิทัศน์ฯ” ทีมวิจัยศึกษาพื้นที่ชนบทในอุบลราชธานี ชัยภูมิ เชียงใหม่ นครปฐม และนครศรีธรรมราช

แต่นอกจากพื้นที่ชนบทและชาวชนบทแล้ว “ทบทวนภูมิทัศน์ฯ” ยังสนใจศึกษาคนเมือง ทั้งในต่างจังหวัดและในกรุงเทพฯ ทีมงานเก็บข้อมูล สัมภาษณ์เชิงลึก กับทั้ง “คนเสื้อเหลือง” และ “คนเสื้อแดง” ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ทีมวิจัยไปสัมภาษณ์นักกิจกรรมของคนเสื้อแดง คนเสื้อเหลือง สำหรับในกรุงเทพฯ นั้น สัมภาษณ์สมาคมมอร์เตอร์ไซค์รับจ้าง (ด้วยความอนุเคราะห์ของ ดร. Claudio Sopranzetti ที่อาจารย์เก่งกิจเองก็อ้างถึง ขณะนั้น ดร. ซอปรานเซ็ตติ เป็นนักศึกษาปริญญาเอก ทำวิจัยในฐานะนักวิจัยรับเชิญของคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) และยังได้สัมภาษณ์ชาวชุมชนคลองเตย ได้สัมภาษณ์แกนนำคนเสื้อแดงบางคนในชานเมืองกรุงเทพฯ ส่วนในต่างจังหวัด ได้สัมภาษณ์นักกิจกรรมมากมายทั้งคนเสื้อเหลืองและคนเสื้อแดงทั้งที่เชียงใหม่ อุบลราชธานี นครศรีธรรมราช สระแก้ว และนครปฐม นอกจากนั้น ส่วนหนึ่งของงานวิจัยยังเป็นการสัมภาษณ์ผู้มีอิทธิพล นักการเมือง ทั้งในท้องถิ่นและในเขตเมืองของหลายจังหวัด ข้อมูลจากการสัมภาษณ์เหล่านี้ถูกใช้ทั้งอ้างถึงชัดเจนและใช้ประมวลข้อสรุปเพื่อการอภิปรายตลอดงานวิจัย

จะว่าไปแล้ว ประเด็นหนึ่งที่ “ทบทวนภูมิทัศน์ฯ” ควรถกเถียงให้ชัดคือการมีอยู่ของชนบท ชนบทจะมีหรือไม่มีในเชิงภววิทยา (ontology) เป็นอีกเรื่องหนึ่ง “ทบทวนภูมิทัศน์ฯ” ไม่ได้สนใจเรื่องนั้นแน่ๆ [2] หากแต่ประเด็นที่ควรคิดต่อคือ การมีอยู่ของชนบทแยกขาดเป็นอิสระจากเมืองหรือไม่ ชนบทเป็นภาพตรงข้ามกับเมืองหรือไม่ อาจจะเป็นประเด็นที่ “ทบทวนภูมิทัศน์ฯ” ไม่ได้ให้ความสำคัญมากพอ อย่างไรก็ดี จากข้อมูลที่เก็บมาและก็ได้นำเสนอไปบ้างแล้วในรายงานวิจัย ก็คือการที่ชาวชนบทมีแหล่งที่มาของรายได้นอกภาคการเกษตรมากจนบางแห่งมากกว่ารายได้จากภาคการเกษตร ดังนั้น ชนบทไทยก็เชื่อมโยงกับพื้นที่นอกภาคการเกษตรมากแล้ว นอกจากนั้น ในมิติทางการเมือง “ทบทวนภูมิทัศน์ฯ” ก็ไม่ได้คิดขัดแย้งกับการเห็นภาพเชื่อมโยงเมือง-ชนบทดังกล่าว เพราะอย่างน้อยที่สุด การเมืองของชาวชนบทที่ก้าวข้ามพื้นที่เล็กๆ อันจำกัดในท้องถิ่น สู่การเลือกตั้งในระดับชาตินั้น ชี้ให้เห็นอยู่แล้วว่า “ทบทวนภูมิทัศน์ฯ” ไม่ได้มองชนบทแยกขาดจากเมือง หากแต่ก็ยังต้องระวังการเชื่อมโยงการเมืองท้องถิ่นกับการเมืองระดับชาติ เพราะจากข้อเท็จจริงที่พบคือ ผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในท้องถิ่นต่างๆ มีความเข้าใจว่า การเมืองท้องถิ่นมีลักษณะเฉพาะเจาะจง แตกต่างจากการเมืองระดับชาติ พวกเขาจึงใช้เกณฑ์ในการเลือกนักการเมืองท้องถิ่นต่างจากนักการเมืองระดับประเทศ

อย่างไรก็ดี ปฏิเสธไม่ได้ว่าการศึกษาชนบทเป็นประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งของงาน “ทบทวนภูมิทัศน์ฯ” ใน 2 ระดับด้วยกัน คือในระดับการเคลื่อนไหวทางการเมือง และในระดับงานวิชาการ

ในการเคลื่อนไหวทางการเมือง ประโยคที่ว่า “ชนบทเปลี่ยนไป” นั้น เป็นสำนวนที่เกิดขึ้นหลังจากที่ ผศ. ดร. อภิชาต สถิตนิรามัย กับผมนำงานวิจัยขั้นต้นที่ยังไม่เสร็จเรียบร้อยดีไปเสนอที่สมาคมนักข่าวฯ ตามคำเชิญของสมาคมฯ เมื่อปี 2553 แล้วนักข่าวจับประเด็นนี้มานำเสนอต่อ ผมเองนำไปใช้อีกครั้งก็ในการอภิปรายของ สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย (สปป.) ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในปี 2557 ประเด็นคือ การนำเสนอกับสาธารณะกับการนำเสนอต่อวงวิชาการนั้น ถึงจะไม่เป็นคนละเรื่องกันอย่างเด็ดขาด แต่หากนำมาปะปนกันก็จะทำให้การวิจารณ์งานวิชาการเต็มๆ ตกหล่นรายละเอียดของข้อเสนอต่างๆ ไปมากมาย อีกประการคือ โจทย์ของการเคลื่อนไหวทางการเมือง กับโจทย์ทางวิชาการ แม้จะเดินไปด้วยกันได้ แต่เมื่อต้องเสนอให้กระชับ และจับประเด็นเพื่อให้การศึกษาแก่ประชาชนอย่างเร็ว ก็จึงแตกต่างจากที่เสนอในงานวิจัย ดังนั้นหากถามว่า คำถาม “ชนบทเปลี่ยนไปหรือไม่” เป็นประเด็นทางการเมืองหรือเปล่า ทำไมจึงต้องสนใจชนบทเป็นพิเศษ เรืองนี้อาจารย์เก่งกิจก็ย่อมทราบดีว่า ก็เพราะงานวิจัยต้องการชี้ภาพชนบทที่แตกต่างไปจากภาพชนบทในจินตนาการของคนเมือง ซึ่งส่วนใหญ่ดูถูกคนชนบท แต่หากถามว่า ประเด็นนี้เป็นประเด็นสำคัญทางวิชาการที่งานวิจัย “ทบทวนภูมิทัศน์ฯ” เน้นเป็นพิเศษหรือเปล่า ก็ตอบได้ว่าไม่ใช่

อย่างไรก็ดี ประเด็น “ชนบท” ที่ “ทบทวนภูมิทัศน์ฯ” สนใจ แต่กลับไม่เป็นที่สนใจของอาจารย์เก่งกิจนั้น มีประเด็น 3 ใหญ่ หนึ่ง ข้อถกเถียงเรื่องระบบอุปถัมภ์ สอง ข้อถกเถียงเรื่องการเมืองของการเลือกตั้ง และสาม ข้อถกเถียงเรื่องความน้อยเนื้อต่ำใจและความเป็นพลเมือง ทุกข้อมีอยู่แล้วในหนังสือ “ทบทวนภูมิทัศน์ฯ” อาจารย์เก่งกิจสามารถกลับไปอ่านทวนใหม่ได้

ในที่นี้ขอยกมาอภิปรายเฉพาะประเด็นที่อาจารย์เก่งกิจกล่าวถึงแต่กลับไม่ได้นำเอาข้อเสนอของ “ทบทวนภูมิทัศน์ฯ” มาพิจารณาคือ เรื่องการศึกษาการเลือกตั้งในชนบทด้วยวิธีการและมุมมองทางมานุษยวิทยา งานวิจัยที่ศึกษาแนวนี้มีตั้งแต่งานของ Arghiros (2001) Nishizaki (2005) มาจนถึง Walker (2008) Bowie (2008a, 2008b) และล่าสุดที่ผมยังไม่ได้อ่านคืองานของ Prajak (2014) หากยกงานของอาจารย์ ดร. ประจักษ์ ก้องกีรติ ที่พิมพ์ออกมาหลัง “ทบทวนภูมิทัศน์ฯ” เอาไว้ก่อน ข้อเสนอสำคัญประการหนึ่งของ “ทบทวนภูมิทัศน์ฯ” คือข้อเสนอที่พยายามสร้างข้อสรุปทั่วไป และเชื่อมโยงบริบทใน “หมู่บ้าน” เข้ากับบริบทในระดับประเทศกับความขัดแย้งทางการเมืองล่าสุด ผมจะกล่าวถึงประเด็นนี้อีกสักหน่อยข้างหน้า

3. การเลือกตั้งที่ “เพิ่ง” ศึกษา

ประเด็นที่อาจารย์เก่งกิจตั้งว่า นักมานุษยวิทยาไทยไม่สนใจเรื่องการเลือกตั้งนั้น ข้อนี้งานวิจัย “ทบทวนภูมิทัศน์ฯ” ก็เห็นว่าเป็นปัญหาจริง แต่ไม่ทราบทำไมอาจารย์เก่งกิจจึงกล่าวถึงประเด็นนี้ราวกับว่า งานวิจัย “ทบทวนภูมิทัศน์ฯ” ไม่รู้จักทำวิจัยเรื่องนี้เลย หรือทำก็ทำล่าช้าตามหลังชาวโลกเขามากนัก ช้านักหนาจนแม้แต่นักรัฐศาตร์ยังต้องออกมาเตือน  

งาน “ทบทวนภูมิทัศน์ฯ” เห็นปัญหานี้เช่นกัน และจึงได้กล่าวไว้ในการทบทวนวรรณกรรมการศึกษาการเลือกตั้งเช่นกัน (นอกจากในหนังสือ “ทบทวนภูมิทัศน์ฯ” ยังอ่านเรื่องนี้ได้จาก ยุกติ 2553) และก็เพราะอย่างนี้นี่เองที่ “ทบทวนภูมิทัศน์ฯ” จึงต้องการร่วมขบวนบุกเบิกการศึกษาการเลือกตั้งโดยใช้วิธีการทางมานุษยวิทยาด้วยเช่นกัน อันที่จริงงานของอาจารย์ประจักษ์ที่อาจารย์เก่งกิจอ้างถึงนั้น แปลออกมาในระหว่างที่มีการทำวิจัย “ทบทวนภูมิทัศน์ฯ” ซึ่งก็เป็นช่วงที่ประเด็นการเลือกตั้งของชนบทเป็นที่ถกเถียงกันนั่นเอง แต่ในงานช้ินก่อนนั้นที่อาจารย์ประจักษ์ก็กล่าวถึงประเด็นนี้ (ประจักษ์ 2551) “ทบทวนภูมิทัศน์ฯ” ก็หยิบมาใช้ ในทางกลับกัน หากผู้อ่านสนใจประเด็นนี้จริงจังก็จะพบเช่นกันว่า นักรัฐศาสตร์ก็ไม่ได้สนใจการเลือกตั้งแบบที่นักมานุษยวิทยาสนใจเช่นกัน นักรัฐศาสตร์เมื่อลงพื้นที่หมู่บ้าน ก็ไปถึงปากประตูหมู่บ้าน หรือพบปะสนทนากับเฉพาะนักการเมือง แทบไม่ได้ศึกษาการเมืองจากมุมมองของชาวบ้าน ซึ่งก็ไม่แปลก เพราะเป็นวิธีวิจัยที่นักรัฐศาสตร์ส่วนใหญ่ไม่ถนัด กระนั้นก็ตาม นักมานุษยวิทยาก็แทบไม่สนใจการเมืองทางการ  

อย่างไรก็ดี การศึกษาแนวนี้ไม่ได้ “เพิ่ง” เกิดเฉพาะในประเทศไทย การศึกษาแนวนี้ก็ “เพิ่ง” เกิดในโลกวิชาการสากลเช่นกัน ไม่ว่าจะในแวดวงมานุษยวิทยาหรือในแวดวงรัฐศาสตร์ การศึกษาการเมืองของการเลือกตั้งด้วยวิธีการทางมานุษยวิทยาหรือวิธีการแบบชาติพันธ์ุนิพนธ์ (ethnography) นั้น ก็ถือว่าใหม่เช่นกันในทางรัฐศาสตร์ นักรัฐศาสตร์กระแสหลักมักจะไม่ใช้วิธีการศึกษาทางมานุษยวิทยา แต่จะใช้วิธีเชิงปริมาณและศึกษาเปรียบเทียบข้ามประเทศ ส่วนในทางมานุษยวิทยา การศึกษาการเมืองทางการของนักมานุษยวิทยานั้นเป็นแนวทางการศึกษาที่เป็นตัวเป็นตนขึ้นในต้นศตวรรษที่ 21 นี้เอง ในกลุ่มงานที่เรียกว่า “มานุษยวิทยาประชาธิปไตย” และงานศึกษาทางมานุษยวิทยาที่สนใจประเด็นการเมืองปัจจุบัน อย่างเรื่อง “indigenous democracy” (ดู ยุกติ 2555, 2556)  

การศึกษาการเลือกตั้งในประเทศไทยที่แตกต่างออกไปและเป็นแนวทางที่อาจารย์ประจักษ์ใช้ ก็คือแนวทางของนักมานุษยวิทยาหรือใช้วิธีการทางมานุษยวิทยาอย่าง Bowie (2008a[3], 2008b), Walker (2008), Aghiros (2001), Nishizaki (2005) ซึ่งทีมวิจัย “ทบทวนภูมิทัศน์ฯ” ก็ได้อาศัยงานซึ่งอาจารย์เก่งกิจกล่าวว่าศึกษาเข้าใจการเมืองในชนบทไทยได้ดีเหล่านี้เป็นแนวทางเช่นกัน ดังที่จะอ่านดูได้จากบททบทวนวรรณกรรมในหนังสือ “ทบทวนภูมิทัศน์ฯ” ตัวอย่างของการนำวิธีการทางมานุษยวิทยามาศึกษาประเด็นทางการเมืองการเลือกตั้งนั้น  นอกจากในหนังสือ “ทบทวนภูมิทัศน์ฯ” แล้ว ยังมีงานวิจัยของอาจารย์จักรกริช สังขมณี (Jakkrit 2014) และงานวิจัยผมทำเองเพิ่มขึ้นอีกขิ้นหนึ่งต่างหาก (ส่วนหนึ่งดังที่ได้สรุปไว้ในบทความแล้ว ดู ยุกติ 2555, 2556) ซึ่งเป็นการศึกษา “มานุษยวิทยาประชาธิปไตย” และให้ความสนใจต่อการวิเคราะห์สังคมและวัฒนธรรมของการเลือกตั้ง

แต่ยิ่งกว่านั้น “ทบทวนภูมิทัศน์ฯ” ยังเห็นอีกว่า การศึกษาการเลือกตั้งในประเทศไทยด้วยวิธีการทางมานุษยวิทยาที่ผ่านมามีข้อจำกัดตรงที่ไม่สามารถสร้างคำอธิบายทั่วไปได้ เพราะจำกัดการศึกษาพื้นที่เดียวเล็กๆ ระดับหมู่บ้านและกรณีเฉพาะมากเกินไป และในแง่ของวิธีวิจัย ที่ “ทบทวนภูมิทัศน์ฯ” ใช้ทั้งการวิจัยสำรวจทั่วประเทศและวิจัยสัมภาษณ์หลายพื้นที่ ประกอบกับความบ้าบิ่นของทีมวิจัยในการพยายามสร้างคำอธิบายทั่วไปของการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยทั้งๆ ที่มีข้อจำกัดถึงความแตกต่างของพื้นที่มากมาย งาน “ทบทวนภูมิทัศน์ฯ” จึงพยายามยกระดับคำอธิบาย จากคำอธิบายเชิงมานุษยวิทยา สู่เศรษฐศาสตร์การเมือง เพื่อเข้าใจสังคมในภาพกว้าง และสร้างข้อถกเถียงกับนักรัฐศาสตร์ในระดับโครงสร้างสังคมขนาดใหญ่

ยิ่งกว่านั้นในอีกแง่คือ งานของ Walker และ Bowie ไม่ได้โยงกับการเมืองของคนเสื้อแดง คนเสื้อเหลือง หรือกระทั่งงานของ Keyes ก็ไม่ได้โยงชัดเจน หากมีพาดพิง ก็ไม่โยงแบบภาพรวม ในการเสวนาที่อาจารย์ Keyes (2010) มานำเสนอที่ธรรมศาสตร์ ซึ่งอาจารย์เก่งกิจอ้างถึงนั้น ผมเองก็ได้ซักถามอาจารย์ถึงการเชื่อมโยงคนอีสานในหมู่บ้านที่อาจารย์ศึกษากับขบวนการคนเสื้อแดง แต่อาจารย์ก็ไม่ได้กล่าวถึงได้ชัดเจน หรือกล่าวให้ชัดคือ Walker, Bowie, Keyes ไม่ได้โยงกับความขัดแย้งในปัจจุบัน ไม่ได้ศึกษาคนเสื้อเหลือง หรือแม้แต่คนเสื้อแดง ฯลฯ อย่างชัดเจน ทั้งหมดนั่นไม่ได้ทำให้งานของพวกเขาใช้ไม่ได้ แต่ขอบเขตของงานเหล่านั้นจำกัด ซึ่งงาน “ทบทวนภูมิทัศน์ฯ” ได้พยายามต่อยอดขึ้นไป

4. ใครคือชนชั้นกลางใหม่  

ถ้างาน “ทบทวนภูมิทัศน์ฯ” จะยังไม่ชัด หรือประเด็นที่งาน “ทบทวนภูมิทัศน์ฯ” สนใจ และนำมาเป็นข้อเสนอ แต่กลับยังไม่ได้ทำความเข้าใจเพียงพอ ก็น่าจะเป็นมโนทัศน์เรื่อง “ชนชั้นกลาง” นั่นเอง และนี่เป็นใจกลางของการศึกษาของ “ทบทวนภูมิทัศน์ฯ” เลยด้วยซ้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มโนทัศน์ “ชนชั้นกลางใหม่”  

เมื่อเร็วๆ นี้มีผู้เขียนบทวิจารณ์ “ทบทวนภูมิทัศน์ฯ” ท่านหนึ่ง ซึ่งผลงานเขากำลังจะพิมพ์ในวารสาร “ฟ้าเดียวกัน” ผู้วิจารณ์ท่านนี้ได้ส่งบทวิจารณ์มาให้ผมอ่าน เขาได้ชี้ประเด็นนี้ไว้อย่างน่าสนใจ มีประเด็นหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้คือ บทวิจารณ์นั้นชี้ว่า การศึกษาชนชั้นกลางใหม่กำลังเกิดขึ้นพร้อมๆ กันในที่ต่างๆ ทั่วโลก นี่แสดงว่าน่าจะมีปรากฏการณ์อะไรบางอย่างที่เปลี่ยนแปลงในระดับสากล ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทย หากแต่งาน “ทบทวนภูมิทัศน์ฯ” มีข้อจำกัดสำคัญคือ ยังไม่ได้ค้นคว้าเปรียบเทียบไปไกลถึงขนาดนั้น ก็ขอให้ใครที่สนใจติดตามอ่านบทความดังกล่าวต่อไป

อย่างไรก็ดี ในแง่ของตัวชี้วัดชนชั้นกลางใหม่เรื่องระดับรายได้ “ทบทวนภูมิทัศน์ฯ” ไม่ได้ใช้รายได้เป็นตัวชี้ขาดความเป็นชนชั้นกลางใหม่เพียงตัวชี้วัดเดียว แน่นอนว่ามีการใช้ระดับรายได้เป็นตัวชี้วัด แต่ก็เป็นดัชนีหนึ่งเท่านั้น ทีมวิจัยตระหนักเสมอว่า การรวมตัวของคนเสื้อเหลือและคนเสื้อแดงมีลักษณะข้ามชนชั้นทางเศรษฐกิจ การที่อาจารย์เก่งกิจกล่าวถึงข้อเสนอของอาจารย์ปิ่นแก้วว่าแตกต่างจากข้อเสนอของ “ทบทวนภูมิทัศน์ฯ” นั้น ประหนึ่งว่างานของอาจารย์ปิ่นแก้วอยู่นอกการวิจัย “ทบทวนภูมิทัศน์ฯ” หรืออาจารย์เก่งกิจอาจจะไม่ทราบแน่ชัดว่าอาจารย์ปิ่นแก้ว ซึ่งเสนอในงานอีกชิ้นที่พิมพ์ต่างหากนั้น ก็ร่วมทีมวิจัย “ทบทวนภูมิทัศน์ฯ” อยู่ด้วย เพียงแต่ด้วยเงื่อนไขจำเป็นบางอย่างที่ทำให้อาจารย์ปิ่นแก้วต้องพิมพ์งานต่างหากออกไป ประเด็นลักษณะข้ามชนชั้นของคนเสื้อแดงจึงไม่ได้เป็นอื่นในงานของทีม “ทบทวนภูมิทัศน์ฯ” เลย และหากอาจารย์เก่งกิจพอจะได้อ่านงานของผมที่ถกเถียงกับศาสตราจารย์ ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์เรื่อง “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” ของคนเสื้อแดง (ยุกติ 2552) ซึ่งก็นำมาใช้เป็นพื้นฐานส่วนหนึ่งของงาน “ทบทวนภูมิทัศน์ฯ” ด้วยอยู่บ้าง ผมก็กล่าวชัดเจนอยู่แล้วว่า คนเสื้อแดงไม่ได้มีแต่คนมีรายได้น้อยเท่านั้น มีลักษณะข้ามชนชั้นในการรวมตัวของคนเสื้อแดง

กระนั้นก็ตาม ตัวเลขที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ คนเสื้อแดงรายได้น้อยกว่าคนเสื้อเหลืองโดยเฉลี่ย แต่การพิจารณาระดับรายได้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเกณฑ์การแบ่งความเป็นชนชั้นใหม่ ไม่ใช่ตัวชี้วัดทั้งหมด หากพิจารณาคุณสมบัติทางเศรษฐกิจอย่างเดียว นอกจากระดับรายได้เฉลี่ยที่แตกต่างกันแล้ว ส่วนใหญ่แล้วคนเสื้อแดงประกอบอาชีพอิสระ อาชีพที่ไม่มีความมั่นคง มากกว่าคนเสื้อเหลือง ที่มักมีรายได้ประจำ ทำงานบริษัทหรือราชการมากกว่า ซึ่งข้อสรุปนี้ก็ได้แสดงไว้อยู่แล้วในหนังสือ “ทบทวนภูมิทัศน์ฯ” นอกจากนั้น “ทบทวนภูมิทัศน์ฯ” ยังกล่าวถึงความแตกต่างกันของภูมิทัศน์ทางการเมืองและภูมิทัศน์ทางอุดมการณ์ ของชนชั้นกลางเก่าและชนชั้นกลางใหม่ ประเด็นเหล่านี้ยังไม่ได้รับการพิจารณาร่วมกับระดับรายได้ในข้อเขียนของอาจารย์เก่งกิจเพียงพอเลย ส่วนในบทวิจารณ์อีกชิ้นหนึ่งที่ผมเพิ่งเอ่ยถึงนั้น ผู้วิจารณ์ได้เสนอทางเลือกของดัชนี้ชี้ความเป็นชนชั้นกลางใหม่ เช่นมีการศึกษาว่าให้พิจารณา การบริโภค การเป็นหนี้ ฯลฯ ตัวชี้วัดอื่นๆ นี้อาจใช้วัดระดับชนชั้นทางเศรษฐกิจได้ดีกว่าเพียงระดับรายได้ ข้อนี้ถือได้ว่าเป็นข้อเสนอที่สามารถต่อยอดจากงานวิจัย “ทบทวนภูมิทัศน์ฯ” ได้เป็นอย่างดี

นอกจากนั้น ถึงแม้ว่าจะมีบางตอนดังที่อาจารย์เก่งกิจหยิบมาแสดงให้เห็นว่า “ทบทวนภูมิทัศน์ฯ” มีแนวโน้มที่จะมองว่า ชนชั้นใหม่คือกลุ่มคนที่มีรายได้ดีขึ้น แล้วเมื่อรายได้ดีขึ้น ก็จึงสนใจการเมืองมากขึ้น หากแต่ การที่ชนชั้นใหม่สนใจการเมืองนั้น งานวิจัย “ทบทวนภูมิทัศน์ฯ” ได้กล่าวถึงกระบวนการอันซับซ้อนที่ระบบสังคมเปลี่ยนจาก “ระบบอุปถัมภ์” (หากจะเคยมี) ไปเป็นระบบที่ชาวชนบทเป็นอิสระทางเศรษฐกิจและสังคมมากขึ้น การตัดสินใจทางการเมืองจึงเป็นอิสระขึ้น ผู้คนเคลื่อนย้ายมากขึ้นอันเห็นได้จากแหล่งรายได้นอกภาคการเกษตรสูงขึ้น คนอพยพแรงงานมากขึ้น มีความเชื่อมต่อกับเมืองมากขึ้น เข้าสู่เมืองมากขึ้น จึงนำไปสู่การสนใจตัวตนในระดับกว้างขึ้น จินตนาการสังคมกว้างขึ้น ประเด็นเหล่านี้ได้กล่าวไว้ในมิติอื่นๆ ที่นอกเหนือจากรายได้ หากแต่อาจารย์เก่งกิจอาจจะยังไม่ได้ให้ความสนใจเพียงพอ

5. ข้อสังเกตปลีกย่อย

ในระหว่างที่อ่านบทความอาจารย์เก่งกิจ ผมเห็นถ้อยคำหลายถ้อยคำที่ไม่ควรกล่าวในลักษณะรวบรัดเช่นนั้น หรือหากจะกล่าวอย่างนั้น ก็จะต้องมีการอ้างอิงงานวิจัยและมีหลักเหตุผลที่รัดกุม

ยกตัวอย่างเช่น ในตอนหนึ่งอาจารย์กล่าวว่า งาน “ทบทวนภูมิทัศน์ฯ” ได้รับ “อิทธิพลโดยตรง” จากงานของ Walker และ Keyes (หน้า 12) และ “เดินตาม [สองนักวิชาการนั้น] อย่างแข็งขัน” (หน้า 16) ผมสงสัยว่า การเห็นอะไรคล้ายๆ กัน จำเป็นต้อง “เดินตามอย่างแข็งขัน” หรือเปล่า เป็นไปได้หรือไม่ว่าเราเห็นอะไรคล้ายๆ กันตั้งแต่ต้น และเราแลกเปลี่ยนความเห็นและต่างก็ต่อเติมความเห็นกันไปมา งานวิจัยเสื้อแดงเริ่มตั้งแต่ปี 2552 (2009) ระหว่างการปราบปรามปี 2553 (2010) ทีมวิจัย “ทบทวนภูมิทัศน์ฯ” ยังอยู่ในหมู่บ้านกันเลย แล้วงานลากมาจนกว่าจะเสร็จแล้วตีพิมพ์ ก็ล่วงไปถึงในปลายปี 2556 (2013) ระหว่างนั้นหนังสือของ Walker (2012) ก็เพิ่งจะออกมาในระหว่างที่ทีมวิจัยกำลังเขียนรายงานการวิจัยกัน อย่างไรก็ดี ในระหว่างช่วงต่างๆ ของการวิจัย ทีมวิจัยได้ทั้งพิมพ์งานและนำเสนองานต่อสาธารณะหลายครั้ง จึงเป็นไปได้เช่นกันที่ความคิดและข้อมูลของทีมวิจัยก็ได้ส่งความเห็นกลับไปยังโลกวิชาการสากล ดังเช่นที่ Thabchumphon and McCargo (2010) ได้นำเอางานวิจัย “ทบทวนภูมิทัศน์ฯ” ระยะแรกไปใช้

หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง ที่อาจารย์เก่งกิจสรุปว่า “ทบทวนภูมิทัศน์ฯ” “ละเลยเมืองและกลุ่มแรงงานเมืองในอุตสาหกรรม” (หน้า 22) นั่นก็ถูกต้อง แต่ยังไม่ทั้งหมด เพราะ “ทบทวนภูมิทัศน์ฯ” ก็ไม่ได้ศึกษาข้าราชการระดับสูง ไม่ได้ศึกษาชาวเขา ไม่ได้ศึกษาแรงงานต่างด้าว ไม่ได้ศึกษาสถาบันกษัตริย์ ไม่ได้ศึกษาอะไรอีกมากมาย และยังไม่ได้ศึกษาอย่างเป็นระบบแม้กระทั่งการก่อตัวของขบวนการเสื้อแดงเลยด้วยซ้ำ แต่ประเด็นก็คือ อาจารย์เก่งกิจจะต้องอภิปรายต่อว่า การเข้าใจเมืองและกลุ่มแรงงานอุตสาหกรรมจะช่วยให้เข้าใจโจทย์ที่ “ทบทวนภูมิทัศน์ฯ” สนใจ คือโจทย์ความขัดแย้งของสังคมไทยปัจจุบันได้แตกต่างไปจากที่งานวิจัย “ทบทวนภูมิทัศน์ฯ” เสนอไว้อย่างไร แล้วหากไม่เข้าใจเรื่องนี้แล้ว งานวิจัย “ทบทวนภูมิทัศน์ฯ” พลาด มองข้ามอะไรไป นอกจากนั้น ผมก็เริ่มสงสัยว่า งานวิจัยชุดหนึ่งจะต้องมีขอบเขตแค่ไหนที่จะสามารถอธิบายสังคมได้ทั้งหมด ทุนวิจัยและทีมวิจัยจะต้องชับเคลื่อนอย่างไรจึงจะศึกษาได้ครบทุกด้าน แล้วเมื่อไหร่จะอธิบายอะไรได้ งานวิจัยหนึ่งๆ ก็จะเริ่มจากจุดๆ หนึ่ง แล้วรอการต่อยอดของงานชิ้นต่อๆ มา โลกวิชาการก็เพียงเท่านั้นเอง

สุดท้าย ผมก็เฝ้ารอให้อาจารย์เก่งกิจผลิตงานวิจัยของตนเองในเรื่องที่อาจารย์สนใจมาเนิ่นนานแล้วบ้าง คือเรื่องแรงงาน (หรือจะเพิ่มความสนใจเรื่องชนบทด้วยก็ได้) ด้วยการพัฒนาจากงานทบทวนวรรณกรรมนี้ออกมาในเร็วๆ นี้นะครับ เพราะด้านหนึ่งผมก็อยากเข้าใจชนบทในลักษณะที่แตกต่างไปจากที่เคยๆ ทำกันมาอย่างซ้ำซากบ้าง และอีกด้านหนึ่งผมและสังคมวิชาการไทยก็โหยหาการศึกษาเรื่องแรงงานโดยเฉพาะที่ทำวิจัยทางมานุษยวิทยาหรือสังคมวิทยาซึ่งขาดแคลนเป็นอย่างยิ่งเช่นกัน

 
เชิงอรรถ
 
[1] ช่วงแรกตั้งแต่ปลายปี 2552-2553 ประกอบด้วย อภิชาต สถิตนิรามัย, ยุกติ มุกดาวิจิตร, นิติ ภวัครพันธ์ุ, และ วรรณวิภางค์ มานะโชติพงษ์, ประภาส ปิ่นตบแต่ง, และ นฤมล ทับจุมพล ช่วงหลัง ตั้งแต่ปี 2553-2556 นฤมล ทับจุมพล ไม่ได้ร่วมวิจัย แต่เพิ่ม เวียงรัฐ เนติโพธิ์, อนุสรณ์ อุณโณ, ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี, และ จักรกริช สังขมณี เข้ามา
 
[2] ไม่อย่างนั้นก็คงต้องย้อนรอยกลับไปเถียงกับงานเรื่อง “อ่านวัฒนธรรมชุมชน” (ยุกติ 2548) แต่ถ้าใครจะนำประเด็นนั้นเข้ามาถกเถียงกับงาน “ทบทวนภูมิทัศน์ฯ” ก็ต้องคิดต่อด้วยว่า การสงสัยว่าชนบทยังมีอยู่หรือไม่ จะช่วยให้เข้าใจความขัดแย้งเสื้อแดงเสื้อเหลืองซึ่งเป้นประเด็นหลักของงาน “ทบทวนภูมิทัศน์ฯ” หรือเปล่า จะช่วยอย่างไร ซึ่งนั่นก็อาจทำได้ แต่ก็ไม่ใช่ทิศทางที่ “ทบทวนภูมิทัศน์ฯ” สนใจ แต่หากจะวิจารณ์ว่า เพราะไม่สนใจถกเถียงเรื่องนี้ก่อนจึงพลาด ไม่เข้าใจ 1, 2, 3, 4 อันนั้นจึงจะน่าสนใจ ซึ่งก็ต้องอภิปรายมา
 
[3] ผมมีโอกาสได้อ่านต้นฉบับบทความนี้และได้แลกเปลี่ยนกับแคทเธอรีน บาววี่ ตั้งแต่ก่อนผลงานตีพิมพ์แล้ว กล่าวได้ว่าบทความนี้มีอิทธิพลต่อการคิดเรื่องการศึกษาการเลือกตั้งในหมู่บ้านของงานวิจัย “ทบทวนภูมิทัศน์ฯ” มากเช่นกัน ส่วนการอ่านงานของแอนดรู วอร์คเกอร์นั้น มาจากความสนใจถกเถียงเรื่อง “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” กับอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ (2534) ในบทความของผม (ยุกติ 2552) ผมจึงได้สืบสาวต่อมายังบทความนี้ของแอนดรู วอร์คเกอร์
 
 
เอกสารอ้างอิง
 
จักรกริช สังขมณี (2558) “ตำแหน่งแห่งที่ของชนบท กับตำแหน่งแห่งที่ของงานวิชาการ” ประชาไท (สืบค้นเมื่อ 25 มกราคม 2558) http://www.prachatai.com/journal/2015/01/57489.
 
ประจักษ์ ก้องกีรติ.(2551). นิทานสอนใจว่าด้วยความโง่ จน เจ็บ ของผู้เลือกตั้งชนบท: มายาคติของนักรัฐศาสตร์ไทย. ฟ้าเดียวกัน, 6(4), 140-155.
 
นิธิ เอียวศรีวงศ์. (2534). รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทย. ศิลปวัฒนธรรม, 13(1), 266-284.
 
ยุกติ มุกดาวิจิตร (2556). พลังชุมชนของชนบทใหม่ในกระแสโลกาภิวัติน์: กรณีศึกษา “บ้านสหกรณ์” อำเภอจัตุรัส จังหวังชัยภูมิ รายงานการวิจัยในชุดโครงการทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย. กรุงเทพฯ:  สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), แผนงานสร้างเสริมการเรียนรู้กับ สถาบันอุดมศึกษาไทยเพื่อการพัฒนานโยบายสาธารณะที่ดี (นสธ.), สถาบันศึกษานโยบาย สาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (PPSI).
___________. (2555). “เงินไม่ใช่ปัจจัยชี้ขาดการเลือกตั้ง: มานุษยวิทยาการเมืองของการซื้อเสียง” ใน วสันต์ ปัญญาแก้ว (บก.) การเมืองของราษฎรไทยยุคหลัง (หลัง) ทักษิณ: รวมบทความว่าด้วยเรื่อง ชนชั้น นํา การเลือกตั้ง ผู้มีอิทธิพล คนเสื้อแดง และประชาธิปไตย 100%. เชียงใหม่: โครงการ ประชาธิปไตยท้องถิ่น ศูนย์วิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่: 29-50.
___________. (2553). “ชนชั้นใหม่ ชนบทใหม่ และท้องถิ่นใหม่: บททบทวนวรรณกรรมว่าด้วยการเมืองไทยใน ทศวรรษ 2530-2550” ฟ้าเดียวกัน. 8(2).
___________. (2552). “คนเสื้อแดงกับรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทย.” วิภาษา 3(2):5-13.
___________. (2548). อ่าน ‘วัฒนธรรมชุมชน’: วาทศิลป์และการเมืองของชาติพันธุ์นิพนธ์แนววัฒนธรรมชุมชน. กรุงเทพฯ: ฟ้าเดียวกัน.
 
อภิชาต สถิตนิรามัย ยุกติ มุกดาวิจิตร นิติ ภวัครพันธ์ุ วรรณวิภางค์ มานะโชติพงษ์ ประภาส ปิ่นตบแต่ง นฤมล ทับจุมพล (2553). รายงานเบื้องต้นโครงการวิจัยการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจและ
สังคมของชนชั้นใหม่. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), ภายใต้แผนงานสร้างเสริมการเรียนรู้กับสถาบันอุดมศึกษาไทยเพื่อการพัฒนานโยบายสาธารณะที่ดี (นสธ.), สถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (PPSI).
 
อภิชาต สถิตนิรามัย ยุกติ มุกดาวิจิตร และนิติ ภวัครพันธ์ุ. (2556). ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย. เชียงใหม่: แผนงานเสริมนโยบายสาธารณะที่ดี (นสธ.) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.). (http://www.tuhpp.net/files/PoliticsBook.pdf)
 
Arghiros, D. (2001). Democracy, Development and Decentralization in Provincial Thailand. Richmond: Curzon.
 
Bowie, K. A. (2008a). Standing in the Shadows: Of Matrilocality and the Role of Women in a Village Election in Northern Thailand. American Ethnologist 35(1): 136-153.
_______. (2008b). Vote Buying and Village Outrage in an Election in Northern Thailand: Recent Legal Reforms in Historical Context. Journal of Asian Studies 67(2): 469-511.
 
Jakkrit Sangkhamanee. (2014). Democracy of the Desired: Everyday Politics and Political Aspiration of Contemporary Thai Countryside. Asian Democracy Review 2 (2013): 5-37.
 
Naruemon Thabchumphon and Duncam McCargo. (2010). Urbanized Villagers in the 2010 Thai Redshirt Protests Not Just Poor Farmers? Asian Survey 51(6):993–1018. 
 
Nishizaki, Y. (2005). The Moral Origin of Thailand’s Provincial Strongman: The Case of Banharn Silpa-archa. The Southeast Asia Research Centre (SEARC), 13(2), 184-234.
 
Prajak Kongkirati (2014). The Rise and Fall of Electoral Violence in Thailand: Changing Rules, Structures and Power Landscapes, 1997–2011. Contemporary Southeast Asia 36(3): 386–416.
 
Walker, A. (2008) . The Rural Constitution and the Everyday Politics of Elections in Northern Thailand. Journal of Contemporary Asia 38(1): 84–105.
_______. (2012). Thailand’s Political Peasants: Power in the Modern Rural Economy. Madison: The University of Wisconsin Press.
 
 

ยุกติ มุกดาวิจิตร: ฮิญาบ ที่เปิดโปงในปกปิด

เมื่อ 24 กค. 65 ผู้จัดการแสดง #ฮิญาบ2022  ชวนผมไปดูการแสดงของคุณฟารีดา จิราพันธ์ ที่กาลิเลโอเอซิส แล้วผู้จัดจะชวนผมสนทนาหลังละคร

ยุกติ มุกดาวิจิตร: จดหมายเปิดผนึกถึงคณะวิจิตรศิลป์ มช. และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ในฐานะเพื่อนร่วมวิชาชีพวิชาการ ในฐานะผู้ปกครองนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ และในฐานะคนรักศิลปะ ผมเขียนจดหมายนี้เพื่อตั้งคำถามต่อการที่ผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์จะตรวจสอบผลงานก่อการอนุญาตให้จัดแสดงผลงานของนักศึกษาภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ

ยุกติ มุกดาวิจิตร: Georges Bataille ในซีรียส์เกาหลี

เห็นคนพูดถึงตัวละครในซีรีย์เกาหลีเอ่ยถึงจอร์จ บาไตล์ ในรูปนั่นน่ะครับ เป็นคอลเล็กชันจอร์จ บาไตล์บนชั้นหนังสือผมแบบเบาๆ ผมเก็บไว้ร่วม 20 ปีแล้ว

ยุกติ มุกดาวิจิตร: วันชาติเวียดนามกับการพ่ายแพ้ของญี่ปุ่น

หลายคนคงรู้ว่าวันนี้เป็นวันชาติเวียดนาม แต่น้อยคนคงรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในวันนี้กันแน่ แล้ววันนี้ในอดีตถูกกำหนดเป็นวันขาติจากเหตุการณ์ปีใด