Skip to main content

ถ้านับย้อนกลับไปถึงช่วงปีที่ผมเริ่มสนใจงานวิชาการจนเข้ามาทำงานเป็นอาจารย์ ก็อาจนับได้ไปถึง 25 ปีที่ผมเห็นความเปลี่ยนแปลงในโลกวิชาการไทย ความเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่สำคัญคือการบริหารงานในมหาวิทยาลัย แต่ขอยกเรื่องนั้นเอาไว้ก่อน เพราะหากค่อยๆ ดูเรื่องย่อยๆ ไปเรื่อยๆ แล้วก็น่าจะช่วยให้เห็นอะไรมากขึ้นว่า การบริหารงานวิชาการในขณะนี้วางอยู่บนระบบแบบไหน เป็นระบบที่เน้นสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการในเชิงปริมาณหรือคุณภาพกันแน่ 

 
ส่วนหนึ่งก็จะดูได้จากการพิมพ์งานวิชาการ ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่า ระบบการให้ตำแหน่งทางวิชาการนั้นผูกพันกับการตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการเป็นอย่างยิ่ง แต่โลกวิชาการไทยยังไม่จริงจังพอ หรือที่จริงควรกล่าวว่า โลกวิชาการไทยยังไม่เคยสนใจเรื่องการพิมพ์เลยอย่างเป็นระบบเลยด้วยซ้ำ
 
ขอเริ่มที่วารสารทางวิชาการ ทุกวันนี้มีการสร้างระบบการวัดคุณภาพของวารสารทางวิชาการ ซึ่งส่วนใหญ่ก็อิงกับเกณฑ์สากล แต่ของไทยเองก็มีหลายเกณฑ์มาก เช่น ของ สกว. ของ สกอ. ของ สมศ. ก็ไม่ทราบว่าทีอย่างนี้ทำไมถึงไม่ทำให้อยู่ในกรอบเดียวกันให้หมด เกณฑ์คร่าวๆ ก็เช่น จะต้องมีผู้ทรงคุณวุฒิจากต่างสถาบันอยู่ในกองบรรณาธิการในสัดส่วนเท่านั้นเท่านี้ จะต้องมีผลงานตีพิมพ์จากต่างสถาบันในสัดส่วนเท่านั้นเท่านี้ จะต้องมีผู้อ่านประเมินบทความอย่างน้อย 2 คน จากต่างสถาบันกันเท่าไหร่ก็ว่าไป จะต้องออกอย่างสม่ำเสมอ แต่ที่ตลกคือ จะต้องมีรูปเล่มแบบที่ทางราชการกำหนด แต่เอาล่ะ ก็ถือว่าเป็นการพยายามสร้างมาตรฐานการบริหารวารสารให้สูงขึ้น 
 
คำถามคือ จะสร้างมาตรฐานวารสารกันไปสูงๆ เพื่ออะไรกัน แล้วที่ยิ่งน่าตลกคือ หลายๆ สถาบันก็พยายามสร้างวารสารวิชาการกันขึ้นมามากมาย จะทำไปทำไมกันนักหนา ในเมื่อการประเมินตำแหน่งทางวิชาการแทบไม่ได้ให้ความสำคัญกับการพิมพ์ผลงานในรูปบทความวารสาร 
 
คำตอบคือ ก็เพราะการพิมพ์ผลงานบทความวารสารน่ะ ใช้นับในการประกันคุณภาพน่ะสิ ผลงานตีพิมพ์ในวารสารที่มีคณภาพสูง ก็จะได้คะแนนสูงตามไปด้วย การถูกอ้างอิงผลงานในวารสารคุณภาพสูง ก็จะได้คะแนนสูงเช่นกัน ผลอย่างหนึ่งก็คือ อาจารย์จึงได้รับแรงกดดันในพิมพ์ผลงานในวารสารทางวิชาการ ทั้งๆ ที่อาจจะนำมาใช้ประโยชน์ต่อการขำตำแหน่งไม่ได้ แต่ตำแหน่งก็ต้องขอนะครับ เพราะถ้าไม่ขอ ก็อาจถูกไล่ออกได้หากเกินระยะเวลาในสัญญา 
 
นอกจากนั้น เนื่องจากการพิมพ์ผลงานวิชาการเป็นข้อผูกพันในการจบปริญญาโทและปริญญาเอก ไม่ว่าคุณจะจบด้วยการทำวิทยานิพนธ์หรือไม่ ทางหนึ่งที่ผลงานจะได้รับการตีพิมพ์ก็คือการพิมพ์งานในวารสารวิชาการ วารสารวิชาการในมหาวิทยาลัยจึงเกิดกันเป็นดอกเห็ด มากมายผิดหูผิดตากว่าเมื่อสิบกว่าปีก่อนนี้นัก บางคณะนี่ ผมได้ยินมาว่า พยายามสร้างวารสารวิชาการขึ้นมาใหม่เพื่อรองรับการพิมพ์ผลงานของนักศึกษาโดยเฉพาะเลยทีเดียว
 
ผลอย่างหนึ่งก็คือ อาจารย์มหาวิทยาลัยขณะนี้ อย่างน้อยก็ผมคนหนึ่งล่ะ ต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการอ่านประเมินผลงาน การเป็นกองบก. การสร้างงารสารวิชาการกันยกใหญ่ แต่ในทางตรงกันข้าม ต้นฉบับคุณภาพต่ำก็ผ่านตามาเป็นจำนวนมาก บางครั้งผมก็ให้แก้แล้วแก้อีก บางครั้งก็ไม่ให้พิมพ์ไปเลย ซึ่งเขาก็อาจจะได้รับพิมพ์ในที่สุดก็ได้ เพราะหากต้องผ่านผู้ประเมินอย่างน้อย 2 คน บก. เขาก็จะส่งให้คนอ่านสัก 3 คนก็ได้ ลุ้นเอาว่าอาจจะได้อนุมัติสัก 2 จาก 3 คน แต่ผลที่สุด เราจะเห็นอย่างหนึ่งว่า คุณภาพของงานทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการไทยตกต่ำลงเรื่องๆ และมีรูปแบบการนำเสนอที่แข็งทื่อ กลายเป็นรายงานวิจัยเชิงคุณภาพที่เขียนแบบเชิงปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ
 
ผลอีกอย่างคือ ทำให้วารสารวิชาการของเอกชนที่มีคุณภาพค่อยๆ ตายไป ทำให้วารสารวิชาการของมหาวิทยาลัยที่เคยทำกันด้วยใจ ปล่อยผลงานกันอย่างสุดฝีมือ บก. ออกแบบปกอย่างเท่ เพราะทำโดยไม่ได้เดินตามกรอบมาตรฐานที่กำหนดกันอย่างคร่ำครึ รวมทั้งวารสารที่สร้างตามสปิริตของวารสารวิชาการเอกชนก่อนหน้านี้ เช่น วารสารที่ยึดเอา "สังคมศาสตร์ปริทัศน์" เป็นต้นแบบ ก็จะค่อยๆ  ตายไป บางแห่งหาต้นฉบับยากขึ้นเรื่อยๆ เพราะไม่ได้อยู่ในกรอบมาตรฐานที่จะนำไปใช้ในการประกันคุณภาพได้ ทั้งๆ ที่มีบทความที่คุณภาพทางวิชาการสูงกว่า หรืองานหลายชิ้นส่งผลสะเทือนต่อวงวิชาการไทยและนานาชาติมากกว่า เมื่อเทียบกับบทความในวารสารวิชาการของมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่
 
การที่วารสารวิชาการไทยออกกันเป็นดอกเห็ดขณะนี้ทำให้ขาดสาระสำคัญของการทำวารสารคือ วาระสำคัญ หรือ agenda หลักของวารสารนั้นๆ แล้วตาม agenda นั้น จะต้องมีใครเป็นกอง บก. รูปลักษณ์ควรเป้นอย่างไร สาระของวารสารควรเน้นไปทางไหน วารสารในต่างประเทศหรือในไทยเองก็เถอะ สมัยก่อนจะมีวาระที่ชัดเจน เพราะไม่ใช่ต้องออกตามกรอบมาตรฐาน ไม่ใช่ต้องออกเพราะความจำเป็นของระบบประกันคุณภาพอย่างในปัจจุบันเท่านั้น นี่ยังไม่นับว่า อุดมการณ์บางอย่างที่บางวารสารของเอกชนยึดมั่นนั้น กำลังจะค่อยๆ กลายเป็นอุปสรรคในการจัดทำวารสารทางวิชาการมากยิ่งขึ้น ถึงจะละชื่อไว้ ใครที่เป็นนักอ่านก็คงนึกกันออกว่าผมหมายถึงวารสารอะไรบ้าง
 
มีเกร็ดทิ้งท้ายหน่อยนึงในประเด็นนี้คือ เรื่องวารสารนานาชาติที่สูญหายไป ผมเคยเล่าเรื่องนี้แล้ว ขอไม่ลรายละเอียด ทุกวันนี้ผมก็ยังงงๆ อยู่ แต่ก็ถือเป็นเรื่องขำๆ ผมเคยได้รับแต่งตั้งให้เป็นกองบรรณาธิการวารสารที่สำนักงานที่ทรงอิทธิพลทางวิชาการของไทยแห่งหนึ่ง เพื่อให้สร้างวารสารใหม่ฉบับหนึ่ง คนในกองบรรณาธิการล้วนเป็นศาสตราจารย์กันทั้งนั้น ผมน่ะเป็นลูกไล่อาจารย์เหล่านั้นแท้ๆ เลย ร่างกรอบกันมาหนึ่งปี แต่สุดท้ายเขาเงียบหายไป แล้วมาโผล่อีกทีกลายเป็นว่าเขาเปลี่ยนระบบโดยไม่ได้แจ้งอะไรกับกอง บก. เลย ไม่รู้ว่าด้วยเหตุใด แต่นี่ก็แสดงความไม่เอาไหนของโลกวิชาการไทยในการบริหารการผลิตความรู้ได้อีกอย่างหนึ่ง
 
ส่วนหนังสือเล่มล่ะ ยิ่งเละเทะกันไปใหญ่ โลกวิชาการไทยมีสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยอยู่ แต่สำนักพิมพ์เหล่านั้นบางทีอยู่ในสภาพโรงพิมพ์มากกว่าเป็นสำนักพิมพ์ เพราะไม่ได้มีอำนาจในการบริหารจัดการต้นฉบับ บทบาทในการผลิตหนังสือวิชาการของสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยกลายเป็นโรงพิมพ์ตีพิมพ์ตำราที่ใช้สอนกันในชั้นเรียน มากกว่าเป็นที่พิมพ์ผลงานวิชาการที่ส่งผลสะเทือนวงวิชาการหรือส่งผลสะเทือนต่อความเข้าใจสังคม
 
ในโลกภาษาอังกฤษ ซึ่งครองตลาดหนังสือโลกอยู่ สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยมีบทบาทหลักในการผลิตหนังสือวิชาการ การผลิตตำรากลับไม่ได้เป็นบทบาทหลักของสำนักพิมพ์มหาวิทยาลับเลยด้วยซ้ำ ลองไปเปิดดูได้ครับว่า "ตำรา" สอนวิชาต่างๆ นั้น ใครกันที่พิมพ์ ส่วนสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัย ที่มักมีชื่อว่า University of ... Press นั้น เขาพิมพ์หนังสือจากการพัฒนาวิทยานินพธ์เป็นหนังสือเล่มกัน (ซึ่งผมว่าอาจจะเป็นสัดส่วนใหญ่ที่สุดของหนังสือที่สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยพิมพ์ด้วยซ้ำ) เขาพิมพ์หนังสือวิชาการที่มาจากงานวิจัยกัน หรือพิมพ์หนังสือรวมบทความจากวารสารหรือจากบทความที่พัฒนาหลังการประชุมวิชาการ (ไม่ใช่ "proceeding" นะครับ) กันทั้งสิ้น สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยไทยแทบจะไม่มีบทบาทนี้
 
แล้วใครล่ะที่พิมพ์หนังสือวิชาการไทยที่ไม่ใช่ตำรา ในประเทศไทยบทบาทนี้เป็นของสำนักพิมพ์เอกชน หรือไม่ก็สถาบันวิชาการที่ไม่ใช่มหาวิทยาลัย แต่การพิมพ์โดยสถาบันวิชาการเหล่านี้ก็ไม่แน่นอน ขึ้นๆ ลงๆ ตามวาระของผู้บริหาร เช่น สถาบันทางวิชาการหนึ่งที่ผมเคยรู้จักดี เดี๋ยวนี้แทบไม่รู้จักกันแล้ว สถาบันนี้เคยผลิตงานวิจัยและพิมพ์งานวิชาการดีๆ เดี๋ยวนี้ก็เลิกไปแล้ว เพราะผู้บริหารใหม่ไม่ให้ความสำคัญกับงานวิชาการ สถาบันนี้มีเงินงบประมาณจากภาษีพวกเราปีละเป็นร้อยๆ ล้าน เดี๋ยวนี้เขาเอาเงินพวกเราไปสร้างส้วมให้ผู้บริหาร เอาไปตกแต่งสำนักงานใหม่ เอาไปขึ้นเงินเดือนให้ผู้อำนวยการสถาบันจนสูงยิ่งกว่านายกรัฐมนตรี เอาไปจ้างรองผู้อำนวยการที่ทำงานวิชาการไม่เป็นด้วยเงินเดือนหลักแสน
 
ส่วนการผลิตหนังสือวิชาการโดยสำนักพิมพ์เอกชนกลับมีบทบาทสูงกว่า แต่ก็ทำกันตามมีตามเกิด ไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ บางสำนักพิมพ์มีเงินสนับสนุนจากองค์การระหว่างประเทศ บางสำนักพิมพ์ก็ระดมทุนกันเองในครอบครัว ส่วนคุณภาพผลงานที่ผลิตออกมาก็จึงต้องมีความก้ำกึ่ง ระหว่างการนำเสนอประเด็นที่สำนักพิมพ์ให้ความสำคัญ กับการประเมินตลาดว่าจะขายได้หรือไม่ หนังสือที่เป็นตำราสรุปความรู้ที่มีอยู่แล้วหรือนำเข้าความรู้จากต่างประเทศจึงมักจะได้รับการตีพิมพ์ ส่วนต้นฉบับที่เป็นงานวิจัย ที่เป็นการรวมเล่มบทความวิชาการ จึงมีโอกาสได้รับการพิจารณาน้อยกว่า เพราะมักมีตลาดแคบกว่าตำราเรียน 
 
โดยรวมๆ แล้ว นี่แสดงว่ารัฐไม่ได้ใส่ใจโลกของการพิมพ์อย่างเป็นระบบเลย แล้วจะทำให้วงวิชาการไทยทัดเทียมโลกวิชาการสากลได้อย่างไร ทุกวันนี้เหมือนกับว่า ผู้มีอำนาจในการบริหารงานวิชาการต่างทุ่มเทพลังงานและอำนาจไปกับการจัดการการประกันคุณภาพ แต่ไม่ได้สร้างระบบที่สร้างคุณภาพกันขึ้นมาเลย ระบบการประกันคุณภาพสร้างได้แต่ระบบวัดผลงาน แต่ระบบประกันคุณภาพจะมีส่วนในการสร้างระบบที่ผลิตผลงานอย่างไร ระบบที่ขับเคลื่อนการผลิตผลงานทั้งในจำนวนและคุณภาพที่สูงนั้นควรเป็นอย่างไร แล้วจึงค่อยมาตรวจสอบผลผลิตด้วยการประกันคุณภาพอย่างไรน่ะ มีใครเคยคิดกันบ้างไหม

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปาฐกถาในเวทีเสวนา “50 ปี 14 ตุลาฯ ยังตามหารัฐธรรมนูญใหม่” จัดโดยสมัชชาคนจน วันที่ 14 ตุลาคม 2566
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เมื่อ 24 กค. 65 ผู้จัดการแสดง #ฮิญาบ2022  ชวนผมไปดูการแสดงของคุณฟารีดา จิราพันธ์ ที่กาลิเลโอเอซิส แล้วผู้จัดจะชวนผมสนทนาหลังละคร
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ในฐานะเพื่อนร่วมวิชาชีพวิชาการ ในฐานะผู้ปกครองนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ และในฐานะคนรักศิลปะ ผมเขียนจดหมายนี้เพื่อตั้งคำถามต่อการที่ผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์จะตรวจสอบผลงานก่อการอนุญาตให้จัดแสดงผลงานของนักศึกษาภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เห็นคนพูดถึงตัวละครในซีรีย์เกาหลีเอ่ยถึงจอร์จ บาไตล์ ในรูปนั่นน่ะครับ เป็นคอลเล็กชันจอร์จ บาไตล์บนชั้นหนังสือผมแบบเบาๆ ผมเก็บไว้ร่วม 20 ปีแล้ว
ยุกติ มุกดาวิจิตร
หลายคนคงรู้ว่าวันนี้เป็นวันชาติเวียดนาม แต่น้อยคนคงรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในวันนี้กันแน่ แล้ววันนี้ในอดีตถูกกำหนดเป็นวันขาติจากเหตุการณ์ปีใด 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จนถึงวันนี้ การต่อสู้ของประชาชนในขบวนการ “คณะราษฎร 63” ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า พลังของแสงดาวได้สร้างสรรค์สังคมไทยอย่างไร 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การที่อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาได้ออกมาแสดงความเห็นว่ามีการสร้างกระแสกดดันศาลต่างๆ นานา (ดู https://www.thairath.co.th/news/local/bangkok/2081366) มองในแง่ดี ผมคิดว่านี่คือการออกมาอธิบายกับสังคมอีกครั้งของผู้มีอำนาจในกระบวนการยุติธรรมอย่างชัดแจ้ง หลังจากที่มีการชี้แจงถึงเหตุผลการไม่ปล่อยตัวผู้ต้องหาคดีการเมืองโดยโฆษกศาลและโฆษกกระทรวงยุติธรรมก่อนหน้านี้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อะไรที่ทำให้ดนตรีมีสถานะในการทำร้ายกันได้บ้าง ผมว่าอย่างน้อยที่สุดต้องเข้าใจก่อนว่า ดนตรีไม่ใช่แค่เสียง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
พอดีนั่งฟังเพื่อนนักวิชาการอ่านหนังสือ "กบฏชาวนา" ของรานาจิต คูฮา (1982) มาคุยให้ฟัง (แปลโดย ปรีดี หงษ์สต้น) ในเพจของสำนักพิมพ์ Illumination Editions เลยคิดถึงบันทึกที่เคยเขียนถึงหนังสือของ ดิเพช จักรบาร์ตี เรื่อง Provincializing Europe (2000)
ยุกติ มุกดาวิจิตร
เรื่อง ถามถึงมโนธรรมสำนึกในความเป็นครูบาอาจารย์ของอาจารย์เอนก เหล่าธรรมทัศน์
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ทัศนะล่าสุดของอาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ต่อการชุมนุม 16 ตค. 63 ย้อนแย้งกับสมัยที่อาจารย์ให้ความเห็นต่อการชุมนุม กปปส. ในขณะนั้นอาจารย์อธิบายยืดยาวว่าการชุมนุมของ กปปส. ใช้สันติวิธี
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ขอให้อาจารย์หยุดใช้ถ้อยคำสร้างความเกลียดชังในสังคม