Skip to main content

ถ้านับย้อนกลับไปถึงช่วงปีที่ผมเริ่มสนใจงานวิชาการจนเข้ามาทำงานเป็นอาจารย์ ก็อาจนับได้ไปถึง 25 ปีที่ผมเห็นความเปลี่ยนแปลงในโลกวิชาการไทย ความเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่สำคัญคือการบริหารงานในมหาวิทยาลัย แต่ขอยกเรื่องนั้นเอาไว้ก่อน เพราะหากค่อยๆ ดูเรื่องย่อยๆ ไปเรื่อยๆ แล้วก็น่าจะช่วยให้เห็นอะไรมากขึ้นว่า การบริหารงานวิชาการในขณะนี้วางอยู่บนระบบแบบไหน เป็นระบบที่เน้นสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการในเชิงปริมาณหรือคุณภาพกันแน่ 

 
ส่วนหนึ่งก็จะดูได้จากการพิมพ์งานวิชาการ ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่า ระบบการให้ตำแหน่งทางวิชาการนั้นผูกพันกับการตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการเป็นอย่างยิ่ง แต่โลกวิชาการไทยยังไม่จริงจังพอ หรือที่จริงควรกล่าวว่า โลกวิชาการไทยยังไม่เคยสนใจเรื่องการพิมพ์เลยอย่างเป็นระบบเลยด้วยซ้ำ
 
ขอเริ่มที่วารสารทางวิชาการ ทุกวันนี้มีการสร้างระบบการวัดคุณภาพของวารสารทางวิชาการ ซึ่งส่วนใหญ่ก็อิงกับเกณฑ์สากล แต่ของไทยเองก็มีหลายเกณฑ์มาก เช่น ของ สกว. ของ สกอ. ของ สมศ. ก็ไม่ทราบว่าทีอย่างนี้ทำไมถึงไม่ทำให้อยู่ในกรอบเดียวกันให้หมด เกณฑ์คร่าวๆ ก็เช่น จะต้องมีผู้ทรงคุณวุฒิจากต่างสถาบันอยู่ในกองบรรณาธิการในสัดส่วนเท่านั้นเท่านี้ จะต้องมีผลงานตีพิมพ์จากต่างสถาบันในสัดส่วนเท่านั้นเท่านี้ จะต้องมีผู้อ่านประเมินบทความอย่างน้อย 2 คน จากต่างสถาบันกันเท่าไหร่ก็ว่าไป จะต้องออกอย่างสม่ำเสมอ แต่ที่ตลกคือ จะต้องมีรูปเล่มแบบที่ทางราชการกำหนด แต่เอาล่ะ ก็ถือว่าเป็นการพยายามสร้างมาตรฐานการบริหารวารสารให้สูงขึ้น 
 
คำถามคือ จะสร้างมาตรฐานวารสารกันไปสูงๆ เพื่ออะไรกัน แล้วที่ยิ่งน่าตลกคือ หลายๆ สถาบันก็พยายามสร้างวารสารวิชาการกันขึ้นมามากมาย จะทำไปทำไมกันนักหนา ในเมื่อการประเมินตำแหน่งทางวิชาการแทบไม่ได้ให้ความสำคัญกับการพิมพ์ผลงานในรูปบทความวารสาร 
 
คำตอบคือ ก็เพราะการพิมพ์ผลงานบทความวารสารน่ะ ใช้นับในการประกันคุณภาพน่ะสิ ผลงานตีพิมพ์ในวารสารที่มีคณภาพสูง ก็จะได้คะแนนสูงตามไปด้วย การถูกอ้างอิงผลงานในวารสารคุณภาพสูง ก็จะได้คะแนนสูงเช่นกัน ผลอย่างหนึ่งก็คือ อาจารย์จึงได้รับแรงกดดันในพิมพ์ผลงานในวารสารทางวิชาการ ทั้งๆ ที่อาจจะนำมาใช้ประโยชน์ต่อการขำตำแหน่งไม่ได้ แต่ตำแหน่งก็ต้องขอนะครับ เพราะถ้าไม่ขอ ก็อาจถูกไล่ออกได้หากเกินระยะเวลาในสัญญา 
 
นอกจากนั้น เนื่องจากการพิมพ์ผลงานวิชาการเป็นข้อผูกพันในการจบปริญญาโทและปริญญาเอก ไม่ว่าคุณจะจบด้วยการทำวิทยานิพนธ์หรือไม่ ทางหนึ่งที่ผลงานจะได้รับการตีพิมพ์ก็คือการพิมพ์งานในวารสารวิชาการ วารสารวิชาการในมหาวิทยาลัยจึงเกิดกันเป็นดอกเห็ด มากมายผิดหูผิดตากว่าเมื่อสิบกว่าปีก่อนนี้นัก บางคณะนี่ ผมได้ยินมาว่า พยายามสร้างวารสารวิชาการขึ้นมาใหม่เพื่อรองรับการพิมพ์ผลงานของนักศึกษาโดยเฉพาะเลยทีเดียว
 
ผลอย่างหนึ่งก็คือ อาจารย์มหาวิทยาลัยขณะนี้ อย่างน้อยก็ผมคนหนึ่งล่ะ ต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการอ่านประเมินผลงาน การเป็นกองบก. การสร้างงารสารวิชาการกันยกใหญ่ แต่ในทางตรงกันข้าม ต้นฉบับคุณภาพต่ำก็ผ่านตามาเป็นจำนวนมาก บางครั้งผมก็ให้แก้แล้วแก้อีก บางครั้งก็ไม่ให้พิมพ์ไปเลย ซึ่งเขาก็อาจจะได้รับพิมพ์ในที่สุดก็ได้ เพราะหากต้องผ่านผู้ประเมินอย่างน้อย 2 คน บก. เขาก็จะส่งให้คนอ่านสัก 3 คนก็ได้ ลุ้นเอาว่าอาจจะได้อนุมัติสัก 2 จาก 3 คน แต่ผลที่สุด เราจะเห็นอย่างหนึ่งว่า คุณภาพของงานทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการไทยตกต่ำลงเรื่องๆ และมีรูปแบบการนำเสนอที่แข็งทื่อ กลายเป็นรายงานวิจัยเชิงคุณภาพที่เขียนแบบเชิงปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ
 
ผลอีกอย่างคือ ทำให้วารสารวิชาการของเอกชนที่มีคุณภาพค่อยๆ ตายไป ทำให้วารสารวิชาการของมหาวิทยาลัยที่เคยทำกันด้วยใจ ปล่อยผลงานกันอย่างสุดฝีมือ บก. ออกแบบปกอย่างเท่ เพราะทำโดยไม่ได้เดินตามกรอบมาตรฐานที่กำหนดกันอย่างคร่ำครึ รวมทั้งวารสารที่สร้างตามสปิริตของวารสารวิชาการเอกชนก่อนหน้านี้ เช่น วารสารที่ยึดเอา "สังคมศาสตร์ปริทัศน์" เป็นต้นแบบ ก็จะค่อยๆ  ตายไป บางแห่งหาต้นฉบับยากขึ้นเรื่อยๆ เพราะไม่ได้อยู่ในกรอบมาตรฐานที่จะนำไปใช้ในการประกันคุณภาพได้ ทั้งๆ ที่มีบทความที่คุณภาพทางวิชาการสูงกว่า หรืองานหลายชิ้นส่งผลสะเทือนต่อวงวิชาการไทยและนานาชาติมากกว่า เมื่อเทียบกับบทความในวารสารวิชาการของมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่
 
การที่วารสารวิชาการไทยออกกันเป็นดอกเห็ดขณะนี้ทำให้ขาดสาระสำคัญของการทำวารสารคือ วาระสำคัญ หรือ agenda หลักของวารสารนั้นๆ แล้วตาม agenda นั้น จะต้องมีใครเป็นกอง บก. รูปลักษณ์ควรเป้นอย่างไร สาระของวารสารควรเน้นไปทางไหน วารสารในต่างประเทศหรือในไทยเองก็เถอะ สมัยก่อนจะมีวาระที่ชัดเจน เพราะไม่ใช่ต้องออกตามกรอบมาตรฐาน ไม่ใช่ต้องออกเพราะความจำเป็นของระบบประกันคุณภาพอย่างในปัจจุบันเท่านั้น นี่ยังไม่นับว่า อุดมการณ์บางอย่างที่บางวารสารของเอกชนยึดมั่นนั้น กำลังจะค่อยๆ กลายเป็นอุปสรรคในการจัดทำวารสารทางวิชาการมากยิ่งขึ้น ถึงจะละชื่อไว้ ใครที่เป็นนักอ่านก็คงนึกกันออกว่าผมหมายถึงวารสารอะไรบ้าง
 
มีเกร็ดทิ้งท้ายหน่อยนึงในประเด็นนี้คือ เรื่องวารสารนานาชาติที่สูญหายไป ผมเคยเล่าเรื่องนี้แล้ว ขอไม่ลรายละเอียด ทุกวันนี้ผมก็ยังงงๆ อยู่ แต่ก็ถือเป็นเรื่องขำๆ ผมเคยได้รับแต่งตั้งให้เป็นกองบรรณาธิการวารสารที่สำนักงานที่ทรงอิทธิพลทางวิชาการของไทยแห่งหนึ่ง เพื่อให้สร้างวารสารใหม่ฉบับหนึ่ง คนในกองบรรณาธิการล้วนเป็นศาสตราจารย์กันทั้งนั้น ผมน่ะเป็นลูกไล่อาจารย์เหล่านั้นแท้ๆ เลย ร่างกรอบกันมาหนึ่งปี แต่สุดท้ายเขาเงียบหายไป แล้วมาโผล่อีกทีกลายเป็นว่าเขาเปลี่ยนระบบโดยไม่ได้แจ้งอะไรกับกอง บก. เลย ไม่รู้ว่าด้วยเหตุใด แต่นี่ก็แสดงความไม่เอาไหนของโลกวิชาการไทยในการบริหารการผลิตความรู้ได้อีกอย่างหนึ่ง
 
ส่วนหนังสือเล่มล่ะ ยิ่งเละเทะกันไปใหญ่ โลกวิชาการไทยมีสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยอยู่ แต่สำนักพิมพ์เหล่านั้นบางทีอยู่ในสภาพโรงพิมพ์มากกว่าเป็นสำนักพิมพ์ เพราะไม่ได้มีอำนาจในการบริหารจัดการต้นฉบับ บทบาทในการผลิตหนังสือวิชาการของสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยกลายเป็นโรงพิมพ์ตีพิมพ์ตำราที่ใช้สอนกันในชั้นเรียน มากกว่าเป็นที่พิมพ์ผลงานวิชาการที่ส่งผลสะเทือนวงวิชาการหรือส่งผลสะเทือนต่อความเข้าใจสังคม
 
ในโลกภาษาอังกฤษ ซึ่งครองตลาดหนังสือโลกอยู่ สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยมีบทบาทหลักในการผลิตหนังสือวิชาการ การผลิตตำรากลับไม่ได้เป็นบทบาทหลักของสำนักพิมพ์มหาวิทยาลับเลยด้วยซ้ำ ลองไปเปิดดูได้ครับว่า "ตำรา" สอนวิชาต่างๆ นั้น ใครกันที่พิมพ์ ส่วนสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัย ที่มักมีชื่อว่า University of ... Press นั้น เขาพิมพ์หนังสือจากการพัฒนาวิทยานินพธ์เป็นหนังสือเล่มกัน (ซึ่งผมว่าอาจจะเป็นสัดส่วนใหญ่ที่สุดของหนังสือที่สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยพิมพ์ด้วยซ้ำ) เขาพิมพ์หนังสือวิชาการที่มาจากงานวิจัยกัน หรือพิมพ์หนังสือรวมบทความจากวารสารหรือจากบทความที่พัฒนาหลังการประชุมวิชาการ (ไม่ใช่ "proceeding" นะครับ) กันทั้งสิ้น สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยไทยแทบจะไม่มีบทบาทนี้
 
แล้วใครล่ะที่พิมพ์หนังสือวิชาการไทยที่ไม่ใช่ตำรา ในประเทศไทยบทบาทนี้เป็นของสำนักพิมพ์เอกชน หรือไม่ก็สถาบันวิชาการที่ไม่ใช่มหาวิทยาลัย แต่การพิมพ์โดยสถาบันวิชาการเหล่านี้ก็ไม่แน่นอน ขึ้นๆ ลงๆ ตามวาระของผู้บริหาร เช่น สถาบันทางวิชาการหนึ่งที่ผมเคยรู้จักดี เดี๋ยวนี้แทบไม่รู้จักกันแล้ว สถาบันนี้เคยผลิตงานวิจัยและพิมพ์งานวิชาการดีๆ เดี๋ยวนี้ก็เลิกไปแล้ว เพราะผู้บริหารใหม่ไม่ให้ความสำคัญกับงานวิชาการ สถาบันนี้มีเงินงบประมาณจากภาษีพวกเราปีละเป็นร้อยๆ ล้าน เดี๋ยวนี้เขาเอาเงินพวกเราไปสร้างส้วมให้ผู้บริหาร เอาไปตกแต่งสำนักงานใหม่ เอาไปขึ้นเงินเดือนให้ผู้อำนวยการสถาบันจนสูงยิ่งกว่านายกรัฐมนตรี เอาไปจ้างรองผู้อำนวยการที่ทำงานวิชาการไม่เป็นด้วยเงินเดือนหลักแสน
 
ส่วนการผลิตหนังสือวิชาการโดยสำนักพิมพ์เอกชนกลับมีบทบาทสูงกว่า แต่ก็ทำกันตามมีตามเกิด ไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ บางสำนักพิมพ์มีเงินสนับสนุนจากองค์การระหว่างประเทศ บางสำนักพิมพ์ก็ระดมทุนกันเองในครอบครัว ส่วนคุณภาพผลงานที่ผลิตออกมาก็จึงต้องมีความก้ำกึ่ง ระหว่างการนำเสนอประเด็นที่สำนักพิมพ์ให้ความสำคัญ กับการประเมินตลาดว่าจะขายได้หรือไม่ หนังสือที่เป็นตำราสรุปความรู้ที่มีอยู่แล้วหรือนำเข้าความรู้จากต่างประเทศจึงมักจะได้รับการตีพิมพ์ ส่วนต้นฉบับที่เป็นงานวิจัย ที่เป็นการรวมเล่มบทความวิชาการ จึงมีโอกาสได้รับการพิจารณาน้อยกว่า เพราะมักมีตลาดแคบกว่าตำราเรียน 
 
โดยรวมๆ แล้ว นี่แสดงว่ารัฐไม่ได้ใส่ใจโลกของการพิมพ์อย่างเป็นระบบเลย แล้วจะทำให้วงวิชาการไทยทัดเทียมโลกวิชาการสากลได้อย่างไร ทุกวันนี้เหมือนกับว่า ผู้มีอำนาจในการบริหารงานวิชาการต่างทุ่มเทพลังงานและอำนาจไปกับการจัดการการประกันคุณภาพ แต่ไม่ได้สร้างระบบที่สร้างคุณภาพกันขึ้นมาเลย ระบบการประกันคุณภาพสร้างได้แต่ระบบวัดผลงาน แต่ระบบประกันคุณภาพจะมีส่วนในการสร้างระบบที่ผลิตผลงานอย่างไร ระบบที่ขับเคลื่อนการผลิตผลงานทั้งในจำนวนและคุณภาพที่สูงนั้นควรเป็นอย่างไร แล้วจึงค่อยมาตรวจสอบผลผลิตด้วยการประกันคุณภาพอย่างไรน่ะ มีใครเคยคิดกันบ้างไหม

บล็อกของ ยุกติ มุกดาวิจิตร

ยุกติ มุกดาวิจิตร
การดีเบตระหว่างนักเรียนกับรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการที่หน้ากระทรวงฯ เมื่อวาน (5 กย. 63) ชี้ให้เห็นชัดว่า หากยังจะให้คนที่มีระบบคิดวิบัติแบบนี้ดูแลกระทรวงศึกษาธิการอยู่ ก็จะยิ่งทำให้การศึกษาไทยดิ่งลงเหวลึกไปยิ่งขึ้น
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ประเด็น "สถาบันกษัตริย์" ในประเทศไทยปัจจุบันไม่ใช่เรื่องศีลธรรมและไม่ใช่แค่เรื่องความรู้สึก แต่เป็นเรื่องของสถาบันทางการเมืองและการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมการเมืองไทย ถ้าไม่เข้าใจตรงกันแบบนี้ก่อนก็จะไม่สามารถนั่งนิ่งๆ ฟัง/อ่านข้อเสนอของนักศึกษา/ประชาชนที่เสนอในการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อวานนี้ได้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ปีนี้ผมอายุ 52 ผมคิดอยู่ตลอดว่า ถ้าพ่อแม่เสียไป ผมจะดัดแปลงบ้านที่อยู่มายังไง จะรื้ออะไร ย้ายอะไร ผมไม่มีลูก ม
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การยุบพรรคอนาคตใหม่อย่างที่สาธารณชนและแม้แต่นักกฎหมายเองก็เห็นว่าไม่สมเหตุสมผลทั้งในทางกฎหมายและในทางการเมือง และความเหลวแหลกของกลไก เกม และสถาบันการเมืองในขณะนี้ คือเงื่อนไขเฉพาะหน้าที่ทำให้เยาวชนจำนวนมาก ซึ่งเป็นคนหน้าใหม่ของการเมืองไทย ในหลายพื้นที่กระจายไปทั่วประเทศ ลุกขึ้นมาแสดงออกทางการเมืองอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนนับตั้งแต่มีความขัดแย้งรอบใหม่ในกลางทศวรรษ 2540 เป็นต้นมา 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วินาทีที่พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ ความสำคัญไม่ใช่ว่าพรรคการเมืองหนึ่งถูกยุบไปหรอก แต่ความสำคัญอยู่ที่ว่า ผู้มีอำนาจกำลังสร้างความแตกร้าวครั้งใหม่ที่พวกเขาอาจจะพบปฏิกิริยาโต้ตอบที่ไม่เหลือเศษซากอะไรให้กอบกู้โลกเก่าของพวกเขากลับมาได้อีกต่อไป
ยุกติ มุกดาวิจิตร
ข้อสังเกตจากการแถลงของ ผบทบ. ล่าสุด แสดงการปัดความรับผิดชอบของผู้นำกองทัพไทยอย่างเห็นได้ชัดดังนี้
ยุกติ มุกดาวิจิตร
จากเหตุการณ์ #กราดยิงโคราช เราเห็นอะไรเกี่ยวกับทหารไทยบ้าง
ยุกติ มุกดาวิจิตร
การเสียสละกับการรักษาหลักการมักถูกนำมาใช้อ้างหรือมากกว่านั้นคืออาจมีส่วนใช้ในการตัดสินใจ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
พวกคุณไม่ได้เพียงกำลังทำลายพรรคการเมืองใดพรรคหนึ่ง หรือกลุ่มการเมืองฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่พวกคุณกำลังทำลายความหวังที่คนจำนวนมากมีต่อความก้าวหน้าของประเทศชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรุ่นใหม่ที่เริ่มสนใจประเทศชาติ
ยุกติ มุกดาวิจิตร
อาวเบี๋ยนเป็นศิลปินอาวุโสชาวไต/ไท ในเวียดนาม ผมรู้จักกับท่านมาร่วม 15 ปีแล้ว ตั้งแต่เมื่อพบกันครั้งแรกๆ ก็ถูกชะตากับท่าน ผมจึงเพียรไปหาท่านหลายต่อหลายครั้ง ที่ว่าเพียรไปหาไม่ใช่แค่เพราะไปพบท่านบ่อย แต่เพราะการไปพบท่านเป็นเรื่องยากลำบากมาก เมืองที่ท่านอยู่ชื่อเมืองล้อ หรือเรียกแบบสยามๆ ก็เรียกว่าเมืองลอก็ได้ 
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วันนี้เป็นวันระลึก "เหตุการณ์ 28 กุมภาพันธ์" 1947 หรือเรียกกันว่า "228 Incident" เหตุสังหารหมู่ประชาชนทั่วประเทศไต้หวัน โดยรัฐบาลที่เจียงไคเชกบังคับบัญชาในฐานะผู้นำก๊กมินตั๋งในจีนแผ่นดินใหญ่
ยุกติ มุกดาวิจิตร
มีเพื่อนขอให้ผมช่วยแนะนำร้านอาหารในฮานอยให้ แต่เห็นว่าเขาจะไปช่วงสั้นๆ ก็เลยแนะนำไปไม่กี่แห่ง ส่วนร้านเฝอ ขอแยกแนะนำต่างหาก เพราะร้านอร่อยๆ มีมากมาย เอาเฉพาะที่ผมคุ้นๆ แค่ 2-3 วันน่ะก็เสียเวลาตระเวนกินจนไม่ต้องไปกินอย่างอื่นแล้ว