ยุกติ มุกดาวิจิตร: โลกวิชาการไทย (การทำวิจัย)

ก่อนเริ่มพูดเรื่องนี้ ผมอยากชี้แจงสักหน่อยนะครับว่า ที่เขียนนี่ไม่ใช่จะมาบ่นเรื่อยเปื่อยเพื่อขอความเห็นใจจากสังคม แต่อยากประจานให้รู้ว่าระบบที่รองรับงานวิชาการไทยอยู่เป็นอย่างไร ส่วนจะมีวิธีแก้ไขอย่างไร อย่าถามผมเลย เพราะผมไม่มีอำนาจ ไม่ต้องมาย้อนบอกผมด้วยว่า "คุณก็ก้มหน้าก้มตาทำงานไปให้ดีที่สุดก็แล้วกัน" เพราะถ้าไม่เห็นว่าสิ่งที่เล่าไปเป็นประเด็นก็อย่าสนใจเสียเลยดีกว่า

แล้วหากใครเพิ่งมาอ่าน ก็โปรดกลับไปอ่านตั้งแต่ "โลกวิชาการไทย (ตอนแรก)" ด้วยนะครับ ไม่อย่างนั้นจะไม่เข้าใจว่าผมเขียนไปเพื่ออะไร ทบทวนสักนิด ผมตั้งโจทย์ไว้ในตอนแรกว่า ทำไมงานวิชาการไทยอย่างน้อยในโลกสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์จึงไม่ค่อยติดระดับโลก ทั้งๆ ที่มีนักวิชาการจำนวนากที่ไปศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศ เป็นอย่างนี้มานานแล้วและจะยิ่งแย่ไปเรื่อยๆ ผมสาธยายมาตอนหนึ่งเรื่องภาระการสอน ว่ามันเป็นอุปสรรคต่อการทำงานผลิตความรู้อย่างไร เน้นเฉพาะมหาวิทยาลัยที่คุยโม้ว่าอยากเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยนะครับ


ทำไมอาจารย์บางท่านจึงสามารถเอาเวลาไปทำวิจัยได้ ขอยกตัวอย่างนักวิชาการคนหนึ่งที่ผมรู้จักดี เขาสอนแต่ละปี 8 วิชา หลังเรียนจบกลับมาได้ 7 ปี พิมพ์งานวิจัยแล้ว 2 เล่ม พิมพ์บทความวิชาการทั้งในวารสารและในหนังสือไม่ต่ำกว่า 30 ชิ้น มีงานพิมพ์เป็นภาษาต่างประเทศเฉลี่ยปีละชิ้น ทำงานบริหารต่อเนื่อง บรรยายสาธารณะเป็นประจำ รับเป็นอาจารย์ดูแลวิทยานิพนธ์สม่ำเสมอ ทำไมเขาทำได้ ผมบอกเลยว่าตลอด 7 ปีที่ทำงานมาเขาคนนี้นอนเฉลี่ยวันละ 5 ชั่วโมง เขาไม่มีลูก ไม่ต้องผ่อนบ้าน ใช้รถเก่าที่น้องทิ้งไว้ให้

ส่วนคนอื่นเป็นอย่างไร บางคนไม่รับงานบริหารเลย บางคนพยายามจำกัดการสอนอย่างยิ่ง บางคนติดป้ายหน้าห้องตลอดการทำงานจนเกือบเกษียณว่าไม่รับเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ แต่ทั้งหมดนั่นก็คือกรณียกเว้น อาจารย์ส่วนใหญ่มีภาระในชีวิตมากมาย แค่ภาระการสอนก็แย่แล้ว

ไม่ต้องมาใช้วิธีคิดแบบ methodological individualism ปัญหานี้ไม่ใช่เรื่องส่วนตัวชนิดที่ว่าปวดท้องถ่ายก็ไปเข้าส้วมแล้วจะได้หายปวด แต่เป็นปัญหาที่โครงสร้างระบบอุดมศึกษา ใครมีอำนาจไม่อยากแก้ก็ช่วยไม่ได้ แต่อย่ามาให้ความหวังกับสังคมแบบลมๆ แล้งๆ ว่าอุดมศึกษาไทยจะถึงระดับสากลได้ (บางมหาวิทยาลัยน่ะ ที่เขาได้อันดับโลกเพราะเขาทำงานวิชาการเก่งหรือเพราะเขาตบตาเก่งกันแน่)

หากเจียดเวลาแบ่งแรงกายมาได้ มีโอกาสแค่ไหนที่อาจาร์คนหนึ่งจะทำวิจัยได้ ต้องอาศัยเวลาวันหยุตสุดสัปดาห์ วันหยุดช่วงปิดภาคเรียน ซึ่งก็มีอยู่เพียงน้อยนิด หรือหากจะลาเพื่อเพิ่มพูนความรู้ (sabbatical leave ต้องวงเล็บภาษาอังกฤษ เพราะมันเป็นการลาแบบพิเศษ) ก็ 5-6 ปีถึงจะลาได้ครั้งหนึ่ง แล้วแต่มหาวิทยาลัย

ในสหรัฐอเมริกา มหาวิทยาลัยวิจัยไม่ได้เป็นอย่างนี้ มหาวิทยาลัยให้อาจารย์ทำงาน 9-10 เดือน อีก 2-3 เดือนจะทำวิจัยหรือเขียนงานอะไรก็ทำไป หรือหากสามารถหาทุนได้ จะขอลาเมื่อไหร่ก็ได้ แต่อย่าลา 2 ปีติดกันก็แล้วกัน หากลา sabbatical leave ก็จะไม่ได้เงินเดือน ไปกินเงินจากทุนวิจัยหรือสถาบันที่ไปนั่งเป็น visiting scholar แทน 

ในอเมริกา บางครั้งภาควิชาในมหาวิทยาลัยวิจัยจึงแทบจะไม่มีอาจารย์เหลือสอนเลย อาจารย์บางคนสอนปีเว้นปีเพราะได้ทุนวิจัยตลอด บางทีภาควิชาก็จะจ้างคนมาสอนแทนอย่างที่ผมมาสอนที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซินปีนี้ ก็มีวิชาหนึ่งที่สอนแทนอาจารย์ที่สอนประจำอยู่แต่เขาได้ทุนไปทำวิจัย ข้อนี้อาจจะดูไม่ดีกับนักศึกษา แต่มหาวิทยาลัยชั้นนำเขาทำอย่างนี้กันถึงได้งานวิจัยเป็นกอบเป็นกำ

สำหรับทุนวิจัย มหาวิทยาลัยในไทยก็ใช่ว่าจะขาดแคลน ปัจจุบันอาจารย์มหาวิทยาลัยมีโอกาสได้ทุนวิจัยมากมาย ผมเคยบริหารกองทุนวิจัย บอกได้เลยว่าทุนมีมากกว่าที่อาจารย์ขอเสียอีก มีบ้างที่บางปีต้องสับหลีกกันบ้าง แต่นอกจากระดับคณะ ยังมีทุนระดับมหาวิทยาลัย ทุนของสถาบันสนับสนุนการวิจัยต่างๆ อีกมากมาย มีมากกว่าที่อาจารย์จะขอทุนกันเสียอีก 

แต่ทุนวิจัยมากมายนั้นก็กลับแทบจะไม่มีคนขอ เพราะถ้าไม่ใช่ว่าอาจารย์ไม่มีเวลา ไม่มีแรงคิดทำวิจัยแล้ว อาจารย์บางคณะมีโอกาสได้ทุนวิจัยจากเอกชนซึ่งให้รายได้มากกว่า ผลงานก็อาจจะไม่ต้องถูกตรวจสอบเข้มข้นเท่าทุนวิจัยทางวิชาการ ส่วนทุนวิจัยทางวิชาการนั้น ถึงจะมีให้ขอมาก แต่ทุนวิจัยก้อนหนึ่งก็จำนวนเล็กน้อย น้อยนิดจนแทบจะขยับทำอะไรไม่ได้ แล้วทุนของทางราชการส่วนมากก็ไม่มีค่าตอบแทนนักวิจัย อาจารย์บางท่านจึงไปทำวิจัยให้เอกชน เพราะได้ผลตอบแทนดีกว่าแถมได้งานวิจัยที่พอเอาไปกล้อมแกล้มขอตำแหน่งทางวิชาการได้อีก

ข้อนี้มีประเด็นประหลาดที่มหาวิทยาลัยไทยที่ผมทำงานอยู่ มหาวิทยาลัยนี้มีสถาบันวิจัยทางสังคมศาสตร์-มนุษยศาสตร์เก่าแก่อยู่ 4 สถาบัน หากเอ่ยชื่อใครๆ ก็จะต้องรู้จัก สี่สถาบันวิจัยนี้มีเงินสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยที่อยากเรียกตัวเองว่ามหาวิทยาลัยวิจัยแห่งนี้เพียงปีละ 1 ล้านบาท นี่น้อยกว่ากองทุนวิจัยที่คณะเล็กๆ อย่างคณะผมได้รับจากมหาวิทยาลัยเสียอีก แล้ว 1 ล้านบาทนี้ไม่ใช่ว่าแต่ละสถาบันมีอำนาจบริหารเอง ต้องขอทุนจากส่วนกลาง ให้มหาวิทยาลัยเป็นผู้พิจารณาว่าจะให้กับโครงการวิจัยไหนหรือไม่ 

นี่จะถือว่าแสดงอาการง่อยเปลี้ยของสถาบันวิจัยเหล่านั้น หรือจะเรียกว่าแสดงอาการปล่อยปละละเลยการวิจัยของมหาวิทยาลัยก็แล้วแต่ แล้วหากเอ่ยชื่อผู้อำนวยการสถาบันเหล่านั้นขึ้นมา อย่างน้อยสักคนหรือสองคนก็จะต้องเป็นที่รู้จักกันทั่ว เขาเหล่านั้นก็ทำงานกันไปโดยที่ไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ สุดท้ายก็ต้องพึ่งรายได้จากเอกชน ทำให้งานวิชาการของสถาบันที่เคยมีชื่อเสียงเหล่านั้นกลายเป็นงานรับใช้แหล่งทุนเอกชน ตอบโจทย์ที่ไม่ได้แสดงความก้าวหน้าทางวิชาการอีกต่อไป

แต่จะว่าไป ทุนวิจัยของรัฐบาลก็ใช่ว่าจะไม่เป็นอุปสรรค โจทย์วิจัยของแหล่งทุนของรัฐมักจะเป็นโจทย์ที่ต้องตอบสนองนโยบายของรัฐ อย่างน้อยที่สุด ก็จะต้องเป็นโครงการวิจัยที่ตอบให้ได้ว่า ทำวิจัยไปแล้วจะให้ประโยชน์อะไรกับประเทศชาติ จุดเน้นที่ national interest นี้กลายเป็นข้อจำกัดไปอีก เช่น หากผมจะทำวิจัยเรื่องประเพณีประดิษฐ์ของรัฐเวียดนาม โดยขอทุนสถาบันวิจัยของรัฐไทย ผมก็จะต้องตอบโจทย์ให้ได้ว่า แล้วจะเป็นประโยชน์กับประเทศไทยอย่างไร 

ก็เพราะอย่างนี้แหละที่งานวิจัยของนักวิจัยไทยจึงหาทางไปตอบโจทย์ในระดับสากลได้ยาก เพราะนักวิชาการไทยจะต้องคอยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติอยู่ตลอดเวลา นี่กลับไปประเด็นเรื่องเสรีภาพทางวิชาการ ถึงที่สุดแล้ว ความรู้ในประเทศไทยยังจะต้องตอบโจทย์ที่นักวิชาการไม่ได้ตั้งเอง ต้องตอบโจทย์ของเอกชนที่จ้าง หรือไม่ก็ต้องตอบโจทย์ของรัฐที่ให้ทุน

สรุปแล้ว ตอนนี้คงพอให้ภาพได้บ้างนะครับว่า นอกจากภาระการสอนจะเป็นอุปสรรคแล้ว โอกาสหาเวลาไปทำวิจัยก็ยากเย็นเมื่อเทียบกับในประเทศที่ผลิตงานวิจัยชั้นนำ นอกจากนั้นยังมีข้อจำกัดเรื่องทุน แต่อะไรก็ไม่เท่ากับว่า แหล่งทุนสำคัญๆ ของไทยยังไม่ส่งเสริมการทำวิจัยขั้นพื้นฐาน ยังปิดกั้นเสรีภาพทางวิชาการ ทำให้ไม่สามารถมีอิสระในการค้นคว้าได้เต็มที่ 

ทุนวิจัยอีกประเภทหนึ่งที่มีน้อยคือทุนทำวิทยานิพนธ์ ซึ่งส่วนมากก็เป็นการวิจัยพื้นฐาน แต่รัฐไทยก็กลับไม่ลงทุน แต่ผมเขียนมายืดยาวแล้ว การให้ทุนทำวิทยานิพนธ์มีเรื่องเฉพาะของตัวเอง เก็บเอาไว้เล่าตอนต่อไปดีกว่า

ยุกติ มุกดาวิจิตร: ฮิญาบ ที่เปิดโปงในปกปิด

เมื่อ 24 กค. 65 ผู้จัดการแสดง #ฮิญาบ2022  ชวนผมไปดูการแสดงของคุณฟารีดา จิราพันธ์ ที่กาลิเลโอเอซิส แล้วผู้จัดจะชวนผมสนทนาหลังละคร

ยุกติ มุกดาวิจิตร: จดหมายเปิดผนึกถึงคณะวิจิตรศิลป์ มช. และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ในฐานะเพื่อนร่วมวิชาชีพวิชาการ ในฐานะผู้ปกครองนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ และในฐานะคนรักศิลปะ ผมเขียนจดหมายนี้เพื่อตั้งคำถามต่อการที่ผู้บริหารคณะวิจิตรศิลป์จะตรวจสอบผลงานก่อการอนุญาตให้จัดแสดงผลงานของนักศึกษาภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ

ยุกติ มุกดาวิจิตร: Georges Bataille ในซีรียส์เกาหลี

เห็นคนพูดถึงตัวละครในซีรีย์เกาหลีเอ่ยถึงจอร์จ บาไตล์ ในรูปนั่นน่ะครับ เป็นคอลเล็กชันจอร์จ บาไตล์บนชั้นหนังสือผมแบบเบาๆ ผมเก็บไว้ร่วม 20 ปีแล้ว

ยุกติ มุกดาวิจิตร: วันชาติเวียดนามกับการพ่ายแพ้ของญี่ปุ่น

หลายคนคงรู้ว่าวันนี้เป็นวันชาติเวียดนาม แต่น้อยคนคงรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในวันนี้กันแน่ แล้ววันนี้ในอดีตถูกกำหนดเป็นวันขาติจากเหตุการณ์ปีใด